การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


     ทรัพย์สินทางปัญญา คือผลงานประดิษฐ์คิดค้นใหม่ที่อาจจับต้องได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ เครื่องหมายการค้า รูปแบบแผงวงจรรวม พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรืออาจจับต้องไม่ได้ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพลง ดนตรี ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็น "ทรัพย์สิน" ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของผูกขาดการใช้และแสวงหาประโยชน์ได้

     ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินแท้จริงในความหมายเดียวกับทรัพย์สินทั่วไป เพราะทรัพย์สินอื่นๆ นั้นไม่สามารถ "ผลิตซ้ำ" ได้ เช่น ที่ดินแปลงหนึ่งไม่สามารถ "ผลิตซ้ำ" เป็นสองแปลงที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่างได้ แต่ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถ "ผลิตซ้ำ" ไดเป็นจำนวนมากๆ อย่างง่ายดายด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ

     นอกจากนี้ทรัพย์สินทั่วไปจะคงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่เจ้าของยังถือครองและใช้ประโยชน์ แต่ทรัพย์สินทางปัญญามี "วันหมดอายุ" เช่น 20 ปี ซึ่งเมื่อพ้นอายุแล้ว ผู้อื่นก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จำกัด นัยหนึ่ง ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอำนาจผูกขาดที่มีอายุความจำกัด

    สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมโดยรวมได้มากขึ้นไปอีก ถ้าสาธารณชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยไม่มีการกีดกัน เช่น กระบวนการผลิตใหม่ หรือวัตถุดิบแบบใหม่ ฉะนั้น รัฐจึงให้ "อำนาจผูกขาด" ของผู้ประดิษฐ์รายแรกมีผลอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เพียงพอที่จะตักตวงผลตอบแทน "อย่างเหมาะสม"

     สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังค่อนข้างอ่อนแอและไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิของผู้ประดิษฐ์ การป้องกันการละเมิด การชดเชยความเสียหาย และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้นักประดิษฐ์และธุรกิจไทยไม่มีแรงจูงใจที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการประดิษฐ์คิดค้นอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2167เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2005 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท