แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของเครือข่ายเภสัชกรเพื่อสังคมไทย


เครือข่ายเภสัชกรเพื่อสังคมไทย

          สังคมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะความตึงเครียด โดยมีสถานการณ์บ่งชี้หลายประการ ประกอบด้วย การชุมนุมแสดงความเห็นคัดค้านการดำรงตำแหน่งต่อไปของนายกรัฐมนตรี ความสงสัยในระบบการตรวจสอบอำนาจของผู้บริหารประเทศและสมดุลย์การตรวจสอบขององค์การอิสระต่างๆภายใต้รัฐธรรมนูญ  ความไม่มั่นใจในระบบและผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น  ภาวะความแตกต่างทางความคิดของประชาชนที่นำไปสู่ความแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ภาวการณ์เหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจโน้มนำประเทศไปสู่วิกฤตและเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประชาชนไทยทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

            เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการแสดงบทบาทและหน้าที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร  ความไม่ไว้วางใจของสังคมต่อการทำหน้าที่ของนายกทักษิณที่อาจเกี่ยวพันธ์กับผลประโยชน์ของกิจการที่นายกฯ มีความเกี่ยวข้อง ตลอดจนการเคลือบแคลงในการหลบเลี่ยงภาษีจำนวน 7 หมื่นสามพันล้านบาทได้นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นไว้ใจในการให้ทำหน้าที่บริหารประเทศของนายกฯ โดยองค์กร กลุ่มประชาชนสาขาต่างๆและประชาชนจำนวนมากตลอดมา นำไปสู่การชุมนุมแสดงความเห็นคัดค้านการดำรงตำแหน่งต่อไปของรักษาการนายกรัฐมนตรีที่ต่อเนื่องและขยายตัวไปสู่มวลวิกฤต การแสดงบทบาทของภาคประชาชนสะท้อนถึงความตระหนักกังวลต่อเหตุการณ์ปัจจุบันของประเทศที่ประชาชนในสังคมต้องมีส่วนร่วมและร่วมกันคลี่คลาย
            แม้การยุบสภาจัดการให้มีการเลือกตั้งในวันที่  2 เมษายน 2549 กลับเพิ่มปัญหานานัปการ อาทิ การที่มีผู้รับจ้างสมัครรับเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองเฉพาะกิจ การที่พรรคไทยรักไทยจะครอบครองตำแหน่งทั้งหมดในสภาเป็นสภาผูกขาด การที่สภาไม่สามารถมีผู้แทนครบจำนวนจนต้องมีการเลือกตั้งต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ข้อครหาเรื่องการโกงการเลือกตั้ง ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของสังคมต่อสภาผู้แทนราษฏรที่จะทำหน้าที่เป็นเสาหลักด้านนิติบัญญํติในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดวงจรความไม่ไว้วางใจและนำไปสู่การต่อต้านตัวนายกรัฐมนตรีไม่มีที่สิ้นสุด
           คณะบุคคลเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมที่ได้พร้อมใจกันลงนามท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ได้ตระหนักถึงบทบาททั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะเภสัชกรซึ่งเป็นบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพที่มีบทบาทต่อสุขภาวะของสังคม จึงมีข้อเสนอร่วมกันต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล ตลอดจนบุคคลและองค์กรผู้รับผิดชอบ ในการดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยเสนอผ่านสาธารณะ ดังนี้
1.        เรียกร้องให้รักษาการนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและคณะรัฐมนตรีรักษาการแสดงภาวะผู้นำพลิกวิกฤตของตนเป็นโอกาสของประเทศ  โดยการลาออกก่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549
2.        เรียกร้องให้เลื่อนกำหนดการเลือกตั้งออกไป โดยต้องให้เกิดความเป็นธรรมและความพร้อมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งพรรคการเมือง กลไกการควบคุมและส่งเสริมการเลือกตั้ง และ พลังประชาสังคมประชาธิปไตย
3.        สนับสนุนการชุมนุมอย่างสงบและสันติของพลเมืองต่อการแสดงเจตจำนงค์แก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่เกิดจากวิกฤตผู้นำ โดยเรียกร้องให้ระบบของรัฐตั้งมั่นและจริงใจในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในการชุมนุมของประชาชน
โดยที่เครือข่ายเภสัชกรเพื่อสังคมตระหนักในประโยชน์ของการแสดงบทบาทเพื่อความคลี่คลายของสถานการณ์ นักวิชาการและวิชาชีพในเครือข่ายเภสัชกรรมเพื่อสังคมไทยจะเข้าร่วมกับสถาบัน องค์กร กลุ่ม เครือข่ายต่างๆ ทั้งภาคีวิชาชีพ นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อผลักดันข้อเสนอที่มีร่วมกันให้บรรลุผลโดยเร็ว  ทั้งนี้การดำเนินการของเครือข่ายเภสัชกรรมเพื่อสังคมไทยและบุคคลในเครือข่ายจะไม่ผูกพันธ์กับองค์กรการงานอาชีพที่บุคคลสังกัดอยู่แต่อย่างใด
                        จึงเรียนมาสู่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนไทยด้วยความเคารพในเจตจำนงค์ประชาธิปไตยและการสร้างสรรค์สังคมไทย
                   เครือข่ายเภสัชกรเพื่อสังคม
                   วันพุธที่ 29 มีนาคม 2549

หมายเลขบันทึก: 21640เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท