ทฤษฎีว่าด้วยนิพพาน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ทฤษฎีว่าด้วยนิพพาน

ผู้ที่ฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานจนมรรคญาณปรากฏขึ้น บรรลุพระโสดาบัน  พระสกทาคามีพระอนาคามีแล้วเท่านั้น   จึงจะมีปัญญาเข้าใจนิพพานได้อย่างถูกต้อง  และพระอรหันต์เท่านั้นที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะแห่งนิพพาน  และสัมผัสนิพพานได้อย่างแท้จริง   สำหรับปุถุชนทั่วไปย่อมไม่มีใครที่จักสามารถเข้าใจซาบซึ้ง  และรู้รสชาติแห่งนิพพานได้อย่างแน่นอน  จริงอยู่มีผู้พยายามอธิบายถึงลักษณะของนิพพานว่า  มีลักษณะเป็นอย่างนั้น  อย่างนี้ ก็ว่ากันไปตามสติปัญญาและจินตนาการ  คาดคะเนเอาตามความนึกคิดของตน

นิพพานนั้น  แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภท คือ นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
(สอุปาทิเสสนิพพาน)  อย่างหนึ่งกับนิพพานของพระอรหันต์ที่ดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว   (อนุปาทิเสสนิพพาน)  อีกอย่างหนึ่ง

นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า  พระอรหันต์ทั้งหลาย  กิเลสสังโยชน์ของท่านดับหมดแล้วแต่ร่างกายและจิตของท่านยังมีอยู่  เรียกว่า   ยังมีขันธ์  ๕  เหลืออยู่ คือ มีรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ   แต่มีความบริสุทธิ์ยิ่งกว่าคนธรรมดาสามัญ  จิตที่เป็นอกุศลไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย  ร่างกายยังมีความต้องการอาหาร  พักผ่อนหลับนอนมีการเจ็บป่วยอยู่  แต่จิตใจของท่านเป็นอุเบกขา  บริโภคอาหารด้วยความต้องการของร่างกาย  มิใช่ความอยากที่เจือปนไปด้วยกิเลส  ตัณหา  เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ก็มีทุกขเวทนาทางกายเท่านั้น  ทุกขเวทนาทางจิตแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี  จิตของพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเป็นแต่เพียงอาศัยกายเท่านั้น  เหมือนนกอาศัยรัง  ไม่ถือว่ารังเป็นตัวตนของนก  จิตจึงมีแต่ความผ่องแผ้วอยู่เป็นนิจ   เป็นชีวิตที่เกษมสันต์บริสุทธิ์  นอกจากนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเข้าสู่อรหัตตผลสมาบัติ  น้อมเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้ตามปรารถนาระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่

นิพพานของพระอรหันต์ที่ดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้วนั้น  เป็นกรณีที่พระอรหันต์ดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว  จึงปราศจากร่างกายและจิต  ที่เรียกว่า   ปราศจากขันธ์   ๕  คือ รูป  เวทนา   สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ซึ่งดับสนิทไม่มีเหลือแล้ว   จึงแตกต่างจากนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

ตามปกติ ผู้ที่มิใช่พระอรหันต์เมื่อถึงแก่ความตายแล้วจิตยังไม่ดับสนิท  ต้องไปเกิดในภพภูมิต่าง ๆ อีก  ตามอำนาจแห่งผลกรรม  ตามอำนาจแห่งกรรมอารมณ์  กรรมนิมิตอารมณ์คตินิมิตอารมณ์  หรือตามสภาวะพลังจิตของตน  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  พระอรหันต์เท่านั้น  เมื่อดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว  จิตหรือขันธ์  ๕ จึงจะดับสนิท  ไม่ต้องไปเกิดตามอำนาจแห่งผลกรรมอีก  เป็นการดับสนิทที่แท้จริงตลอดกาลนิรันดร

ปัญหามีว่า  แล้วนิพพานนั้นคืออะไร ?  นิพพานนั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง  ที่จิตของพระอริยะหรือพระอรหันต์เท่านั้นที่จะสัมผัสได้ จิตของปุถุชนไม่อาจสัมผัสได้เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เยือกเย็น  ความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิท เป็นความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง  จึงไม่มีลักษณะเกิดขึ้น  ตั้งอยู่   แล้วดับไปเหมือนสิ่งต่าง ๆ มีลักษณะคงที่และนิรันดร  แต่มิใช่บ้านเมือง  โลก  ภพภูมิต่าง ๆ  

นิพพานไม่ใช่จิต แต่จิตของพระอริยะหรือพระอรหันต์สัมผัสได้  นิพพานไม่ใช่สิ่งประกอบเข้ากับจิต  ที่เรียกว่า  เจตสิก

เพราะสิ่งที่ประกอบเข้ากับจิตทั้งหลาย  เช่นปีติ  สุข  อุเบกขา เป็นต้น  เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วก็ดับไปได้ไม่คงที่  ไม่เป็นที่นิรันดร

นิพพานนั้นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ใกล้ตัวเรา ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  จึงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย  มีลักษณะคงที่  และนิรันดร จิตที่สัมผัสนิพพานได้จะเป็นจิตที่เยือกเย็น  ความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิท  เป็นความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  แต่จิตที่จะสัมผัสนิพพานได้นั้น   จะต้องเป็นจิตที่ฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน  จนมรรคญาณปรากฏ  กิเลสและสังโยชน์ทั้งหลายดับสนิทหมดแล้ว   ความจริงจิตที่ดับกิเลสและสังโยชน์ได้สนิทแล้ว   ก็เป็นจิตที่เยือกเย็นความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิท   และเป็นความสุขอัดยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงอยู่ในตัวเองแล้ว  สภาวะที่จิตสัมผัสอยู่ดังกล่าวนั้นเอง  เรียกว่านิพพาน

จิตที่มีกิเลสและสังโยชน์ย่อมจะมีความทุกข์  ความเร่าร้อน  ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยตัณหา  อุปาทานเป็นจิตที่ไม่อาจสัมผัสความเยือกเย็น  และความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  และนิรันดร  อย่างพระนิพพานได้

จิตที่ได้รับการฝึกอบรมสมาธิหรือสมถกรรมฐาน  จะเป็นจิตที่เริ่มบริสุทธิ์ผุดผ่องมากขึ้น  จิตจะเริ่มรู้รสของปราโมทย์ปีติ  ความสงบระงับ  (ปัสสัทธิ)  สุข  ที่ปราศจากอามิส  อุเบกขา  ความว่าง  (อากาสานัญจายตนะ)  เป็นต้น  อันเกิดจากอำนาจของสมาธิ  หรือสมถกรรมฐาน  แต่ธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยปรุงแต่ง  จึงเป็นสภาวะชั่วคราว  ไม่คงทนถาวร  เกิดขึ้นตั้งอยู่  แล้วก็ดับไป  เมื่อออกจากฌานสมาบัติ  จิตเสื่อม  สภาวะดังกล่าวก็หายไปจากจิตได้  สภาวะจิตดังกล่าวจึงไม่อาจสัมผัสนิพพาน  ซึ่งมีลักษณะคงทนถาวร  และไม่มีปัจจัยปรุงแต่งได้จึงต้องฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ให้จิตเกิดปัญญาญาณเพิ่มมากขึ้น   จนมรรคญาณปรากฏ  บรรลุพระโสดาบัน  พระสกทาคามี พระอนาคามี  และพระอรหันต์  ในที่สุด  ในขณะที่  มรรคญาณและผลญาณปรากฏขึ้นนั้นเอง  จิตได้สัมผัสกับนิพพานซึ่งเป็นธรรมชาติที่เยือกเย็นความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิทและเป็นความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง   และหลังจากนั้นก็จะสามารถสัมผัสกับนิพพานได้ตามปรารถนา  โดยการกำหนดจิตเข้าสู่ผลญาณสมาบัติ

ความจริงเรื่องนิพพาน  แม้นิพพานในปัจจุบัน(สอุปาทิเสสนิพพาน)  ก็เป็นการยากที่ปุถุชนจะเข้าใจได้  เพราะเป็นสิ่งที่ลุ่มลึก  ยากที่จะเห็น  ยากที่จะรู้  ไม่ใช่สิ่งที่จะหยั่งถึงได้ด้วยการคาดคะเน  นึกคิด  จินตนาการเอาตามความเข้าใจของตนเองได้เลย

หมายเลขบันทึก: 216114เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท