พรรณนาญาณทัสสนวิสุทธิในเรื่องทางและมิใช่ทาง


พรรณนาญาณทัสสนวิสุทธิในเรื่องทางและมิใช่ทาง

 

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส
(พรรณนาญาณทัสสนวิสุทธิในเรื่องทางและมิใช่ทาง)

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้    มีนัยวิจิตรและสุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก   ข้าพเจ้าได้พิจารณาโดยตลอดแล้ว   เห็นเป็นเรื่องยากที่จะประมวลมาแต่เพียงย่นย่อให้ได้ความบริบูรณ์ตามที่ท่านพรรณนาไว้  อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าจะพยายามถือเอาสาระสำคัญอันเป็นมุขแห่งการปฏิบัติมาไว้  ณ  ที่นี้ให้พอแก่ความต้องการ

มัคคามัคคญาณนี้จะเกิดขึ้น   ภายหลังที่วิปัสสนูปกิเลส   คือ   เครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนามีแสงสว่างเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลผู้บำเพ็ญเพียร   เพราะวิปัสสนูปกิเลสนี่เองมายั่วยวนให้ผู้บำเพ็ญเพียรหลงทาง  ถ้าละวิปัสสนูปกิเลสได้ก็แปลว่าเดินเข้าทางถูก   ถ้าหลงใหลในวิปัสสนูปกิเลส  ก็แปลว่าได้เดินพลาดทางเสียแล้ว

ปริญญา   ๓

ก่อนอื่นควรทราบปริญญา   ๓   ก่อน   คือ

๑.  ญาตปริญญา   การกำหนดรู้ขันธ์  ๕     ถึงลักษณะของมัน    เช่นกำหนดรู้ว่า   รูป   มีลักษณะแตกทำลาย   เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์    สุข  ทุกข์   และไม่ทุกข์ไม่สุข   สัญญามีลักษณะจำ  สังขาร   มีลักษณะปรุงแต่ง   วิญญาณ   มีลักษณะรู้อารมณ์

๒.  ตีรณปริญญา   กำหนดรู้ว่า  รูป  เวทนา   สัญญาสังขารและวิญญาณ    ไม่เที่ยง   เป็นทุกข์   เป็นอนัตตา

๓.  ปหานปริญญา   กำหนดรู้ขันธ์   ๕   โดยการละนิจจสัญญา   สุขสัญญา    และอัตตสัญญา  

จากหลักปาหานปริญญานี้   ควรขยายไปถึงการละอาสวธรรมอื่น  ๆ   อีกคือ

- เมื่อเห็นไม่เที่ยงก็ละความสำคัญหมายว่าเที่ยง

- เมื่อเห็นเป็นทุกข์ก็ละความสำคัญหมายว่าสุข

- เมื่อเห็นอนัตตาก็ละความสำคัญหมายว่าเป็นอัตตา

- เมื่อเบื่อหน่ายก็ละความยินดี

- เมื่อขยะแขยงก็ละความกำหนัด

- เมื่อดับก็ละเหตุก่อ

- เมื่อสละคืนก็ละความยึดมั่นถือมั่น

ต่อจากนี้  ท่านสอนให้พิจารณาขันธ์   ๕   โดยอาการ  ๔๐  มีโดยความเป็นโรค   เป็นหัวผี  
เป็นเหมือนลูกศร  เป็นสิ่งนำความคับแค้นมาให้   ฯลฯ   ตลอดถึงมีความขุ่นหมองเป็นธรรมดา

ข้าพเจ้าเห็นว่ามีมากเกินไป   จึงมิได้นำมาลงในที่นี้

ต่อแต่นั้นท่านแสดง   อนิจจานุปัสสนา   ๕๐      โดยแยกออกไปขันธ์ละ   ๑๐  คือ   โดยไม่เที่ยง  โดยต้องประลัย   โดยง่อนแง่น   โดยผุพังเป็นต้น    ตลอดจนถึงโดยมีความตายเป็นธรรมดาท่านแสดงอนัตตานุปัสสนา  ๒๕  โดยแยกออกเป็นขันธ์  ๕  คือ

- โดยเป็นอย่างอื่น

- โดยว่าง

- โดยเปล่า

- โดยสูญ

- โดยมิใช่ตน



ทุกขานุปัสสนา  ๑๒๕   โดยแยกออกเป็นขันธ์ละ  ๒๕   เช่นโดยเป็นทุกข์และโดยมีโรค  เป็นต้น

ต่อจากนั้นท่านแสดงกัมมัชรูป     คือ  รูปที่เกิดแต่กรรม  ๓๐   และจิตตัชรูป   คือรูปอันเกิดแต่จิตอีกเป็นอเนกปริยายท่านผู้ต้องการพึงหาดูจากวิสุทธิมรรคฉบับพิสดารนั้นเถิด

ต่อไปแสดงรูปที่เกิดแต่อาหาร
 (อาหารรัชรูป)   รูปที่เกิดแต่ฤดู   (อุตุชรูป)

เมื่อผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณารูปต่าง  ๆ   โดยยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์   คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาอยู่บ่อย ๆ   ข้อความดังต่อไปนี้ย่อมปรากฏอย่างแจ่มแจ้งคือ...

สุข  ทุกข์   ชีวิต   อัตตภาพ  ทั้งมวล   ประกอบกันเสมอด้วยจิตดวงเดียว  ขณะย่อมเป็นไปพลัน  แม้เทพเจ้าซึ่งมีอายุยืนเป็นพันปี   หมื่นปี   ก็หามีชีวิตอยู่ด้วยจิต  ๒  ดวงไม่  คงอยู่ด้วยจิตดวงเดียวนั่นเอง  เมื่อจิตเกิดขึ้น   สัตว์ชื่อว่าเกิดขึ้น   เมื่อจิตดับสัตว์ชื่อว่าตายแล้ว   นี่เป็นบัญญัติโดยปรมัตถ์  ฯลฯ

ข้อความทั้งหมดนี้   แสดงถึงความเกิดดับแห่งจิตแสดงถึงความไม่เที่ยงแห่งจิต  ว่าจิตนั้นเกิดดับอยู่ทุกขณะมิได้เที่ยงแม้ยั่งยืนอะไรเลย   เมื่อจิตดับครั้งหนึ่งแสดงว่าสัตว์ตายไปครั้งหนึ่ง

มหาวิปัสสนา   ๑๘

การที่ผู้บำเพ็ญเพียร   ตามพิจารณารูปโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น   เรียกว่ามหาวิปัสสนา  ในที่นี้ท่านแสดงไว้  ๑๘   ประการดังนี้

๑.   เมื่อเห็นอนิจจัง (ความไม่เที่ยง)  ย่อมละนิจสัญญาความสำคัญหมายว่าเที่ยง

๒.  เมื่อเห็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญา   ความสำคัญหมายว่าสุข

๓.   เมื่อเห็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญา   ความสำคัญหมายว่าเป็นตัวตน

๔.  เมื่อเจริญนิพพิทา ความเบื่อหน่าย  ย่อมละนันทิความเพลิดเพลิน

๕.  เมื่อเจริญนิราคานุปัสสนา ย่อมละราคะความกำหนัด

๖.   เมื่อเจริญนิโรธานุปัสสนา ย่อมละสมมุทัยคือเหตุเกิดแห่งทุกข์

๗.  เมื่อเจริญนิโรธานุปัสสนา (การสละคืน)  ย่อมละอาทานะความยึดมั่นถือมั่น

๘.    เมื่อเจริญขยานุปัสสนา (ความสิ้น)   ย่อมละฆนสัญญา   ความสำคัญหมายว่าเป็นก้อนเป็นแท่ง

๙.    เมื่อเจริญวยานุปัสสนา (ความเสื่อม)    ย่อมละอายูหนะความพอกพูนขึ้น

๑๐.  เมื่อเจริญอนิมิตตานุปัสสนา (ความเปลี่ยนแปลง)  ย่อมละธุวสัญญาความสำคัญหมายว่ายั่งยืน

๑๑.  เมื่อเจริญอนิมิตตานุปัสสนา   (ความไม่มีเครื่องหมาย)ย่อมละนิมิตความมีเครื่อง หมาย  

๑๒.  เมื่อเจริญอัปปณิหิตานุปัสสนา        (ไม่มีที่ตั้ง)    ย่อมละปณิธิความเห็นว่ามีที่ตั้ง

๑๓.   เมื่อเจริญสุญญตานุปัสสนา           (ความว่าง)    ย่อมละอภินิเวสความยึดมั่นถือมั่น

๑๔.   เมื่อเจริญอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา    (ธรรมคือปัญญายิ่ง)   ย่อมละสาราทานาภินิเวสะ  ความยึดว่าเป็นแก่นสาร

๑๕.   เมื่อเจริญยถาภูตญาณทัสสนะ         (เห็นตามเป็นจริง)  ย่อมละสัมโมหาภินิเวสะ   ความนับถือมั่นเพราะความหลง


๑๖.   เมื่อเจริญอาทีนวานุปัสสนา  (เห็นโทษ) ย่อมละอาลยาภินิเวสะ   ความยึดมั่นเพราะอาลัย    

๑๗.   เมื่อเจริญปฏิสังขานุปัสสนา    ย่อมละอัปปฏิสังขะ   ความไม่เข้าใจ

๑๘.    เมื่อเจริญวิวัฏฏานุปัสสนา     (ปราศจากวัฏฏะ)   ย่อมละสังโยคาภินิเวสะ   ความยึดมั่นในกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ



อนุปัสสนาที่มีความหมายเหมือนกัน

ในมหาวิปัสสนาทั้ง   ๑๘  ประการนี้  อนุปัสสนาที่มีความหมายเหมือนกันคือ

๑.    อนิจจานุปัสสนา  กับ   อนิมิตตานุปัสสนา

๒.   ทุกขานุปัสสนา    กับ   อัปปณิหิตานุปัสสนา

๓.    อนัตตานุปัสสนา กับ   สุญญาตานุปัสสนา


วิปัสสนูปกิเลส ๑๐

เมื่อผู้บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนาอยู่โดยชอบธรรมถูกทาง  มิใช่เดินผิดทาง  และยังมิได้สำเร็จมรรคผลนั่นเอง ทำไปๆ วิปัสสนูปกิเลส  คือธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนาจะเกิดขึ้น  วิปัสสนูปกิเลส ๑๐  คือ

๑. โอภาส  =  แสงสว่าง  บางท่านเกิดขึ้นเพียงแต่บัลลังก์ที่นั่ง  บางท่านไกลออกไปทั่วห้อง  บางท่าน ๒ โยชน์  ๓  โยชน์  บางท่านก็สว่างมากกว่านั้น

๒. ปีตี  =  ความเอิบอิ่ม

๓. ปัสสัทธิ  =  ความสงบกาย  กายสงบนุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง  ไม่เหน็ดเหนื่อย

๔. อธิโมกขะ  =  ความน้อมใจเชื่อ  หรือศรัทธาอันแรงกล้า

๕. ปัคคหะ  =  ความพียรอันรุดไปข้างหน้าไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

๖. ญาณ  =  ความรู้ใหม่ๆ

๗. สุข  =  ความสบายกายสบายใจ

๘.  อุปัฏฐานะ  =  ความปรากฏแห่งสิ่งต่างๆ ซึ่งต้องการรู้เห็นเหมือนได้ทิพจักษุ

๙. อุเบกขา  =  ความวางเฉย

๑๐. นิกันติ  =  ความใคร่  ความพอใจ


เมื่อวิปัสสนูปกิเลส  ๑๐  ประการนี้เกิดขึ้น  ผู้บำเพ็ญเพียรมักเข้าใจผิดว่าตนได้บรรลุมรรคผลแล้ว  และมักหลงใหลเพลิดเพลินอยู่กับวิปัสสนูปกิเลสนั้น  ในที่สุดก็พลาดจากทาง

ส่วนพระโยคีผู้มีสติสัมปชัญญะดี  คอยพิจารณาอยู่เสมอว่านี้มิใช่ทาง  แล้วพยายามละวิปัสสนูปกิเลสนั้นเสีย  ทำความเพียรรุดหน้าต่อไป  นี่คือ  มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิความบริสุทธิ์แห่งการเห็นวาอะไรคือทาง  อะไรมิใช่ทาง

**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  สาระสำคัญแห่ง  วิสุทธิมรรค  โดย  วศิน  อินทสระ

 

หมายเลขบันทึก: 216082เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท