ไม่มี ทิฏฐิสามัญญตา ความเห็นจึงแตกต่าง เกิดเป็นรอยร้าวขึ้นในพุทธศาสนา


ไม่มี ทิฏฐิสามัญญตา ความเห็นจึงแตกต่าง เกิดเป็นรอยร้าวขึ้นในพุทธศาสนา 

กล่าวสำหรับพระพุทธศาสนา  ถ้าเราจะสอบสวนถึงต้นรากแห่งการมีนิกายแล้ว  ก็ไม่อาจที่จะลืมนึกถึงหลักใหญ่ๆ สามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้  นั่นคือ



1. หลักของการศึกษาเล่าเรียนให้เกิดความรู้  เรียกว่าปริยัติหนึ่ง  


2. หลักของการกระทำตนให้ดำเนินตามธรรมที่ตนรู้  เรียกว่าปฏิบัติหนึ่ง  


3. และผลที่ได้รับจาการปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิเวธอีกหนึ่ง



หลักสามประการนี้มีความสำคัญเกี่ยวโยงกันอยู่  คือ


ปริยัติเปรียบดังแผนที่ชี้ทางที่จะให้ถึงแหล่งขุมทรัพย์

ปฏิบัติเปรียบการเดินทางออกค้นหาขุมทรัพย์นั้นตามแผนที่  

ปฏิเวธเหมือนการเดินทางถึงที่หมาย  


ขาดหลักใดหลักหนึ่งความสำเร็จผลย่อมมีหาได้ไม่  



การที่มีนิกายความเห็นแตกต่างกันออกไปนั้น  ก็เป็นเพราะความบกพร่องขาดหลักใดหลักหนึ่งไป  และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ  ได้ขาดหลักประการที่สาม  “ปฏิเวธธรรม”   ไปเสีย

เราจะพิจารณาสังเกตเห็นได้ว่า  ปางเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์สั่งสอนเวไนยนิกรอยู่  ปรากฏมีผู้บรรลุถึงอริยภาพ  คือมีผู้ตรัสรู้ธรรมกันมากมาย  


การปริยัติและปฏิบัติดำเนินร่วมกันในทางเดียว  อริยมรรคเมื่อมีผู้เจริญกันอริยผลก็บังเกิดเป็นเงาตามตัว  


เมื่อต่างคนต่างได้ชมเชยอริยผลนั้นด้วยตนของตนเองแล้ว  ทรรศนะคือความเห็นก็ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


-->>  แต่เมื่อพ้นยุคนี้มาแล้ว  กลับปรากฏว่าอริยมรรคเป็นแต่เพียงเรื่องปรัชญา  อันน่าเรียนน่ารู้ที่บรรจุอยู่ในพระคัมภีร์เท่านั้น  


จะหาผู้มุ่งปฏิบัติตนอย่างสมัยแรกได้น้อยลง  ทุกคนส่วนมากมุ่งกันแต่จะเรียน  และจำทรงพระพุทธพจน์กันเป็นปิฎก ๆ อริยผลจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น  


เมื่อผู้ทรงศาสนามิได้เป็นพระอริยะ  และเมื่อความคิดในการปริยัติเฟื่องฟูขึ้นถึงขีดสุด  จนบางทีกลายไปเป็นลัทธิแปลกๆ มีสัทธรรมปฏิรูปเข้ามาเจือปน  ผู้ร่ำเรียนก็ตีความหมายตลอดจนอรรถาธิบายสัจธรรมด้วยปุถุชนอัตโนมัติ

ความคิดความเห็นของคนแต่ละคนที่มีต่อคัมภีร์อันตนได้ร่ำเรียนนั้นแตกแยกออกเป็นมติ  


ต่างคนต่างเข้าใจอย่างหนึ่ง  อีกคนหนึ่งเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงกัน  


และต่างฝ่ายก็ยึดถือมติของตนว่าถูกต้องของผู้อื่นผิด

เพราะปุถุชนเรานั้นมักเข้าข้างตนเองเสมอโดยมิใคร่จะคำนึงถึงเหตุผลอะไรนักและเมื่อตนถือมติใด  ก็อดไม่ได้ที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบกับมติของฝ่ายอื่น  จึงได้มีการโต้วาทะระหว่างกันและกันว่าใครจะดีกว่าใคร  หนักเข้าก็เลยแตกสามัคคี  


แล้วนิกายก็เป็นเงาตามเข้ามาทันที  เรื่องเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชมพูทวีปแล้ว  มักมีการคัดค้านโต้คารมกันในข้อธรรมอย่างเอาจริง  บางทีถึงกับวางชีวิตของตนไว้เป็นเดิมพัน  ว่าถ้าหากแพ้แล้วจักยอมให้บั่นเศียรหรือเป็นข้าทาสตลอดชีพ  


ประชาชนตลอดจนพระราชาก็นิยมการใช้เหตุผลเอาแพ้เอาชนะกันด้วยวิธีตีฝีปากเช่นนี้  ปรากฏว่าถ้าคณาจารย์ใดพ่ายแพ้ในสงครามโอษฐ์  ลัทธิของคณาจารย์ผู้นั้นก็พลอยอับแสงลง  เพราะพระราชาและประชาชนไม่เคารพนับถือ  บางทีถูกขับไล่ไสส่งออกนอกบ้านเมืองเลยทีเดียว

เมื่อสถานการณ์แวดล้อมเป็นเช่นนี้  ก็ย่อมจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของกันและกัน  


ซึ่งแม้จะเป็นลัทธิศาสนาเดียวกันก็ตาม  ให้เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง  


ต่างฝ่ายต่างพยายามยกลัทธิของตนให้สูงส่งเด่นด้วยวิธีนานัปการ  ฉะนั้นการโต้คารมเพื่อทำลายมติฝ่ายค้านจึงยากที่จะหลบหลีกได้  และพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลังจึงได้สมบูรณ์ด้วยเรื่องทำนองนี้ทุกประการ



>>>   จะยกตัวอย่างให้เห็นในข้อแตกต่างทางมติเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนิพพานและจิตต์ภายในวงการพระพุทธศาสนาของสยามซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาทล้วนๆ แต่ก็ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องต้องกันได้


     นักธรรมะบางพวกเห็นว่านิพพานเป็นอนัตตา  ซึ่งทั้งนี้อาศัยพระพุทธภาษิตข้อว่า  สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา  ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนเป็นข้ออ้าง  


     บางพวกเห็นว่าที่พระพุทธเจ้าสอนอนัตตาก็เพื่อจะให้เรารู้จักอัตตานั่นเอง  แต่อัตตาที่นี้ไม่ใช่อัตตาขันธ์ห้า  ขันธ์ห้าเป็นอนัตตา  ส่วนธรรมของจริง  คือพระนิพพานนั้นเป็นอัตตาตัวจริงของเรา  มีพระพุทธภาษิตเป็นหลักฐานว่า  อตฺตา  หิ  อตฺตโน  นาโถ  ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน  ถ้าไม่มีตนเสียแล้ว  เหตุไรพระองค์จึงสอนให้เอาตนเป็นที่พึ่งเล่า ?  


      บางพวกเห็นว่าจิตต์นี้เป็นธรรมชาติเกิดเร็วดับเร็วไม่มีแก่นสาร  


      อีกพวกหนึ่งเห็นว่าจิตต์แท้นั้นเป็นธรรมชาติไม่เกิดดับ  ที่เกิดดับเป็นอารมณ์ต่างหาก  


-->>  แต่ละฝ่ายล้วนมีเหตุผล  ซึ่งอาจแสดงให้เห็นชัดด้วยกันทั้งนั้น  และแต่ละฝ่ายก็อ้างพระพุทธภาษิตเป็นหลัก  


ตัวอย่างนี้ล้วนเป็นมูลของการแตกแยกนิกาย  ซึ่งถ้าเป็นสมัยโบราณเจ้าของผู้ให้กำเนิดแต่ละฝ่ายอยากจะตั้งเป็นนิกายขึ้นก็อาจจะได้  


และพระพุทธศาสนาในเมืองเราก็จะมี  

นิกายอนฺตตานิพฺพานวาท  

นิกายอตฺตานิพฺพานวาท  

และนิกายจิตฺตอนิจฺจวาท  

นิกายจิตฺตอมตวาทกันขึ้นบ้างเป็นแน่

-->>  เรื่องเช่นนี้แม้ในสมัยพุทธกาลก็เหมือนกัน  ดังในสุตตันตปิฎกปรากฏมีภิกษุบางรูป  มีความเห็นในพระธรรมตามความเข้าใจของตนผิดๆ หรือถูกแต่ก็ไปถือรั้นเอาข้างเดียว  



เช่นพระยมกะที่มีทิฏฐิเห็นว่า  พระอรหันต์ตายแล้วสูญ  จนพระสารีบุตรต้องเทศนาให้กลับใจ  


และพระสาติเกวัฏฏบุตรผู้กล่าวว่า  “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว  อย่างนั้น  โดยความว่า  “วิญญาณนี้นั่นเองมิใช่อื่นวิ่งไปแล่นไป”  จนพระศาสดาต้องแสดงมหาตัณหาสังขยสูตร  แก้ความเข้าใจผิดของเธอ



-->>  บางองค์สดับเรื่องมรณัสสติกัมมัฏฐาน  ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะให้เรามีสติไม่หลงมัวเมาในชีวิต  แต่กลับเข้าใจผิดไปว่าสอนให้เบื่อหน่ายต่อชีวิต  ถึงกับกระทำอัตตวินิบาตกรรม  และจ้างให้เขาประหารชีวิตตนเองก็มี  



-->>  ธรรมะบางข้อที่พระพุทธเจ้าแสดง  โดยจำแนกบ้าง  โดยรวบยอดบ้าง  แต่ผู้สดับไม่อาจกระทำการแบ่งแยกให้ดี  บางครั้งเกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน  

ดั่งในพหุเวทนิยสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย  ท่านอุทายีกล่าวว่า  พระศาสดาตรัสสอนเวทนาไว้ ๓ ประการ  คือ  สุขเวทนา  ทุกขเวทนา  และอุเบกขาเวทนา  

แต่ช่างไม้กล่าวค้านว่า  พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ๓ ประการเลย  พระองค์ตรัส ๒ เท่านั้น  คือสุขเวทนาและทุกขเวทนา  ส่วนอุเบกขาเวทนานั้นสงเคราะห์ลงในสุขอันละเอียดประณีต


ภายหลังความทราบไปถึงพระศาสดาตรัสว่า  เรื่องเวทนานั้นเราได้แสดงไว้โดยปริยายต่างๆ บางทีก็มีสอง  สาม  ห้า  สิบแปด  สามสิบหก  จนถึงร้อยแปดประการ  ผู้ที่ไม่สำเหนียกก็ต้องทะเลาะวิวาทกันอย่างนี้  



-->>  ในอภิธรรมปิฎกเหตุปัจจัยนิทานของฝ่ายเหนือมีเรื่องหนึ่งว่า  กาลครั้งหนึ่งพระอานนท์ได้เดินทางจาริกถึงป่าไผ่แห่งหนึ่ง  

พระผู้เป็นเจ้าได้สลับเสียงสาธยายพระธรรมบทคาถา  ของภิกษุที่อาศัยในป่าว่า  “มนุษย์แม้มีอายุได้ร้อยปี  หากไม่ได้เห็นนกหงส์ทะเลไซร้(ก็เปล่าปราศจากประโยชน์)  ผิดกับที่ถึงแม้มีชีวิตแต่เพียงวันเดียวหากได้เห็นนกนั้น (ประโยชน์ของชีวิตจึงจะได้)”  


ท่านอานนท์ได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปทักภิกษุผู้สวดนั้นว่า  “นี้หาใช่พระพุทธภาษิต  เธอจงมนสิการตั้งใจให้ดี  เราจักกล่าว(ที่ถูก)ให้เธอฟัง  “ถ้ามนุษย์มีอายุถึงร้อยปี  แต่ไม่รอบรู้ในธรรมที่เกิดแลดับไซร้ (ก็เปล่าประโยชน์)  ผิดกับที่ถึงแม้มีชีวิตแต่เพียงวันเดียว  หากได้รอบรู้ในธรรมนั้น”  



ภิกษุผู้สวดได้ฟังแล้วก็นำไปบอกเล่าให้อาจารย์ของตนฟัง  ภิกษุผู้อาจารย์รูปนั้นได้ฟังแล้วกล่าวว่า  “พระอานนท์เป็นผู้ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว  คำพูดอะไรๆ ของท่านก็มักผิด ๆ พลาด ๆ  ไม่ควรจะเชื่อถือ  เธอจงสวดไปตามเดิมของเธอเถิด”

-->>  ที่เกี่ยวกับพระวินัยก็มีผู้ตีความผิดไปจากประสงค์เดิม  

เช่นเรื่องวิกาลโภชน์  ในกิฏาคิรีสูตรแห่งมัชฌิมปัณณาสก์เล่าว่า  ภิกษุผู้ชื่ออัสสชิและปุนัพพสุกะ  เกิดทิฏฐิวิปริตเข้าใจ  คำว่าวิกาลหมายแต่เพียงราตรี  


แล้วแนะนำพวกทั้งคณะให้ฉันอาหารได้ในเวลาเย็น  กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้ฉันอาหารมื้อที่สามว่า  สามารถทำให้เป็นผู้มีร่างกาย แข็งแรง  โรคน้อย  สุขสำราญ  พวกภิกษุอื่นกล่าวตักเตือนก็ไม่ฟัง  


ภายหลังทราบไปถึงพระศาสดาก็ทรงบริภาษว่าไม่ควรจะเข้าใจไปเช่นนั้น  แล้วทรงแสดงธรรมบรรยายโปรด  



-->>  ในสังยุตตนิกายเล่าว่า  สมัยหนึ่ง ณ  นครราชคฤห์ขณะที่มีการประชุมประชาชนกันในราชบริษัทอยู่  ได้มีคำกล่าวขึ้นในที่ประชุมว่า  

ทองและเงินควรแก่สมณศากยบุตร  สมัยนั้นมีพ่อค้าบ้านมณิจูฬกะผู้เป็นอุบาสกสำคัญนั่งอยู่ด้วย  ได้กล่าวคัดค้านขึ้น  แต่ไม่สามารถยังบริษัทให้ยินยอมเห็นตามได้  


ภายหลังนายบ้านผู้นั้นได้เข้าเฝ้ากราบทูลอธิกรณ์เหตุแด่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ปัญจกามคุณควรแก่ผู้ใด  เงินทองก็ควรแก่ผู้นั้น  เรากล่าวอย่างนี้ว่า  ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า  ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้  แต่มิได้กล่าวว่าสมณศากยบุตรพึงยินดี  พึงแสวงหาเงินทองโดยปริยายอะไรๆ เลย

-->>  จากเหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้รู้ว่า  แม้ในสมัยพุทธกาลพุทธศาสนิกมณฑล  ก็ได้มีการแตกแยกความเห็นกันขึ้นแล้ว  


แม้ในนครราชคฤห์อันปรากฏว่าเป็นเมืองที่ประชาชนล้วนแล้วแต่เป็นสัมมาทิฏฐิเองก็ตาม  แต่การที่แตกแยกเท่านั้นเป็นไปในทางความเห็นส่วนตนที่เข้าใจผิดในธรรมวินัยบางข้อเท่านั้น  


และเพราะเหตุที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์ประทับเป็นประธานคอยตัดสินความถูกผิดอยู่  จึงไม่ปรากฏมีนิกายอะไรแตกต่างผิดแผกออกไปอย่างโจ่งแจ้ง



-->>  ถ้าจะมีก็เห็นจะได้แก่พวกของพระเทวทัตเท่านั้น  แต่นั่นก็ดูเหมือนจะแยกออกไปเพื่อตั้งตนเป็นศาสดาแข่งกับพระพุทธเจ้า  (ในตำราฝรั่งว่าพวกพระเทวทัตบูชาแต่พระพุทธเจ้าที่ล่วงแล้วสามองค์  ไม่บูชาพระศากยมุนี)  และมาภายหลังพระเทวทัตและพวกก็กลับตัวได้หันเข้ามาสู่ใต้บารมีของพระพุทธองค์อีก...




*************************************************************

ข้อมูลจาก  หนังสือ  “ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา”  โดยอาจารย์ เสถียร  โพธินันทะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 215960เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท