เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ...เสนอโครงการพัฒนาประเทศ


เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ...เสนอโครงการพัฒนาประเทศ  

เสนอโครงการพัฒนาประเทศ


ไม่เพียงแต่จะอุทิศชีวิตเพื่อสืบต่ออายุพระบวรพุทธศาสนาเท่านั้น  หลวงพ่อของเราท่านยังมีความห่วงในในประเทศชาติและพระราชวงศ์อีกด้วย  ที่ข้าพเจ้าทราบเพราะท่านเคยปรารภให้พวกที่ได้ธรรมกายฟังเสมอ ๆ  ท่านต้องการให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาเทียมทันอารยประเทศ  หลวงพ่อท่านเคยเสนอแนะโครงการพัฒนาประเทศแก่ ฯ  ฯ ฯพณฯ  จอมพล ป. พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ครั้งที่ ฯ  ฯพณฯ จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม มาวางศิลาฤกษ์สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมภาวนานุสนธิ์  ในปี พ.ศ.  ๒๔๙๓



โครงการพัฒนาประเทศที่หลวงพ่อได้เสนอแนะมีดังนี้



๑.       ให้สร้างอาคารสงเคราะห์เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยของตนเอง  โดยใช้เงินที่ได้จากการขายสลากกินแบ่ง

๒.     ให้จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรได้ใช้ทำมาหากินโดยทั่วถึงกันอย่างน้อยคนละ  ๒๕ ไร่

๓.     ให้ประกาศเลิกสูบฝิ่น

๔.     ให้เลิกโสเภณี

๕.     ให้ตัดถนนหนทางเพิ่มขึ้นเพื่อสะดวกแก่การคมนาคม  การค้าขาย


เราจะเห็นว่าโครงการพัฒนาประเทศที่หลวงพ่อท่านได้เสนอแนะแก่คณะรัฐบาลในสมัย
นั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก  และมีหลายโครงการที่ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินการ

 

ด้านการพัฒนาการศึกษา


หลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่รักและเห็นความสำคัญของการศึกษา  สมัยที่ท่านอยู่วัดพระเชตุพนฯ  ท่านก็เคยจัดตั้งโรงเรียนขึ้นโดยใช้กุฏิของท่านเป็นที่สอนหนังสือแก่พระภิกษุสามเณร  ท่านเคยพูดเสมอว่า คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่าประณีตกว่าผู้อื่น  คนมีวิชชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิกินใช้ไม่หมด  



ท่านพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในสมัยที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำใหม่ ๆ  มีเด็ก  ๆ  ลูกชาวบ้านไม่ได้รับการศึกษาเข้ามาเล่นเอะอะ   ยิงนกตกปลาในวัดเสมอ ๆ หลวงพ่อท่านเป็นห่วงอนาคตของเด็ก ๆ  พวกนี้มากเกรงว่าไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนแล้วจะกลายเป็นเด็กเกเรและเป็นอันธพาลไปในที่สุด  ท่านจึงคิดจะช่วยเด็กเหล่านี้ให้มีที่เรียน  



ท่านจึงก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดโดยหาทุนค่าจ้างครูเอง  ได้รับอุปการะจากท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้  สุจริตกุล)  หลวงฤทธิ์ณรงค์รอญ   นายต่าง  บุญยมานพ  พระภิรมย์ราชาและผู้มีจิตศรัทธาอื่น ๆอีกหลายคน   หลวงพ่อท่านไม่เรียกเก็บค่าเล่าเรียน  เริ่มต้นมีนักเรียนเพียงไม่กี่คนแล้วเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนมีนักเรียนถึงสามร้อยเศษ  ต่อมาทางการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น  มีการสร้างโรงเรียนให้เยาวชนมีสถานศึกษาเล่าเรียนจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ  จนมีนักเรียนถึงสามร้อยเศษ  



ต่อมาทางการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น  มีการสร้างโรงเรียนให้เยาวชนมีสถานศึกษาเล่าเรียนโดยทั่วถึงกัน  ระยะนั้นหลวงพ่อท่านต้องไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดขุนจันทร์ด้วย ท่านจึงย้ายโรงเรียนไปสอนที่วัดขุนจันทร์  หลังจากนั้นได้มอบให้ทางการดำเนินการ

 

เมื่อหมดภาระจากโรงเรียนสอนเด็ก ๆ ลูกชาวบ้านแล้ว หลวงพ่อท่านจึงหันมาจัดการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม เพราะท่านมุ่งจะพัฒนาคนเป็นงานใหญ่   ท่านไม่ยอมให้พระภิกษุสามเณรในวัดอยู่ว่าง ๆ  พระภิกษุสามเณรทุกรูปต้องศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและสั่งสอนคฤหัสถ์ได้อีกด้วย  



พระภิกษุต้องเป็นที่พึ่งทางใจของฆราวาสได้ สำหรับหลวงพ่อแล้วการศึกษาด้านปริยัติอย่างเดียวยังไม่พอ  พระภิกษุสามเณรในวัดทุกรูปต้องปฏิบัติธรรมด้วย  ดังคำที่ว่า  ปริยัติเป็นยาทาวิปัสสนาเป็นยากิน  พระภิกษุรูปที่ชราภาพมากแล้วเท่านั้นที่ไม่ต้องศึกษาด้านปริยัติ  แม่ชีและศิษย์วัดก็เช่นกันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ต้องศึกษาเล่าเรียน แม่ชีต้องเรียนธรรมศึกษาและฝึกปฏิบัติด้วย

 

หลวงพ่อท่านก็มิใช่เป็นแต่เพียงวิปัสสนาจารย์อย่างเดียว  ท่านเคยศึกษาพระปริยัติธรรมจนมีความรู้เชี่ยวชาญมาแล้ว  พระธรรมทัศนาธร  อดีตอธิบดีสงฆ์วัดชนะสงครามได้เล่าเรื่องความรู้ทางด้านปริยัติของหลวงพ่อไว้ดังนี้


ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมมีความรู้นับว่าเชี่ยวชาญพอสมควรในพระปริยัติ  ถ้าหากจะเข้าแปลภาษาบาลีในยุคนั้นก็คงจะได้เป็นมหาเปรียญกับเขาบ้าง  แต่ท่านก็หาได้แปลไม่ เพราะมีความมุ่งหมายเล่าเรียนเพื่อจะให้เป็นนิสสรณปริยัติ  คือ  เป็นปริยัติที่จะนำตนของตนให้พ้นทุกข์   หรือเพื่อที่จะแนะนำสั่งสอนประชาชนหรือเพื่อที่จะเป็นแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกทาง  ท่านไม่ปรารถนาที่จะใช้ความรู้ของท่านเพื่อใบประกาศนียบัตรหรือเพื่อลาภยศอันใด  แต่ก็เคยได้ศึกษาถ้าจะเทียบความรู้ของท่าน  ท่านได้ศึกษาในชั้นเปรียญ  ๓ ประโยค  ๔ ประโยค และ ๕  ประโยค  เมื่อท่านได้ศึกษามีความรู้อย่างดีแล้ว  ท่านก็สะสมวิชาทางวิปัสสนา



ด้วยปณิธานอย่างจริงจังที่จะยกระดับชีวิตของบุคคล  ส่งเสริมให้คนมีการศึกษา หลวงพ่อจึงได้ตั้งโรงเรียนสอนปริยัติขึ้น  เป็นเรือนไม้มีครูสอนไม่กี่รูป  ต่อมามีผู้เรียนมากขึ้นหลวงพ่อจึงคิดขยายโรงเรียนให้ใหญ่โตเพียงพอที่จะรับนักเรียนมาก ๆ ดังนั้นในปี พ.ศ.  ๒๔๙๐  วัดปากน้ำจึงเป็นสำนักเรียนด้านปริยัติมีพระครูพิพัฒน์ธรรมคณีเป็นอาจารย์ใหญ่มีการสอนภาษาบาลี  นักธรรมธรรมศึกษาและสามัญศึกษา แผนกภาษาบาลีนั้นทำการสอนตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ถึง ป.ธ.   ๖  ประโยคที่สูงกว่านี้ยังไม่สามารถเปิดสอนได้เพราะขาดบุคลากร  หลวงพ่อต้องส่งไปศึกษายังสำนักอื่น ๆ เช่นวัดมหาธาตุ  ฯ วัดพระเชตุพนฯ  วัดกัลยาณมิตร  วัดประยูรวงศ์  วัดอนงคาราม  เป็นต้น

 

หลวงพ่อท่านมิได้เพียงแต่จัดการศึกษาแก่พระภิกษุ   สามเณรเฉพาะภายในวัดปากน้ำเท่านั้น  แต่ท่านยังเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุ  สามเณรที่วัดอื่นด้วย คือในสมัยที่พระพิมลธรรม  (ช้อย ฐานทัตตเถร)  ดำริที่จะปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์ทั่วประเทศโดยจัดในรูปของวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  ๕   พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้และวิจารณญาณกว้างขวางและให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์  พระองค์ได้ทรงวางแนวทางการจัดหลักสูตรไว้ดังนี้  “เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชชาชั้นสูง  อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลในการเผยแพร่พุทธธรรม สถาบันแห่งนี้ในส่วนแห่งมหานิกายให้ชื่อว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”  พระองค์ได้พระราชทาน  พระนามของพระองค์เป็นชื่อวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์



ในเบื้องต้นนั้นคณะสงฆ์ไม่อาจสนองพระราชดำริได้ทันที  จวบสมัยที่พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตเถร)  ดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ จึงคิดสนองพระราชดำริคิดจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ขึ้น  แต่งานนี้เป็นงานใหญ่ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก  เป็นภาระที่พระพิมลธรรมหนักใจอย่างยิ่ง  ท่านจึงเรียกประชุมเถรานุเถระเพื่อปรึกษาหาวิธีการและ
หลวงพ่อของเราก็เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่พระพิมลธรรมเชิญประชุมด้วย



หลวงพ่อท่านได้เสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในการหาทุนทรัพย์  กล่าวคือให้ถือว่าการปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ตามพระราชดำรินี้เป็นภาระหน้าที่ของคณะสงฆ์ทั่วทั้งสังฆมณฑลเพราะสถาบันนี้เป็นแหล่งผลิต  ศาสนทายาท  ให้ออกมาเผยแพร่พุทธธรรมรับช่วงจากพวกเรา  การศึกษาของพระภิกษุ สามเณรจะเป็นเครื่องชี้ชะตากรรมของพระพุทธศาสนาในอนาคตกาลได้ จึงเป็นการสมควรที่พระเดชพระคุณทั้งหลายจะต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นไปตามพระราชดำริ  การก่อสร้างอาคารเรียนนั้นต้องทนใช้ทุนทรัพย์มากก็จริงแต่ถ้าได้ความพร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจกันของพระสังฆาธิการทั่วสังฆมณฑล  ถึงจะเป็นงานใหญ่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้  โดยที่พระเดชพระคุณซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการปกครองมีบัญชาขอความร่วมมือให้พระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสขึ้นไปจัดผ้าป่าขึ้นวัดละ  ๑ กอง   เพื่อสมทบทุนก่อสร้างอาคารเรียนของวิทยาลัยสงฆ์  โดยวิธีการเช่นนี้การก่อสร้างและการจัดการศึกษาคงเป็นไปได้ตามพระราชดำริ




นับว่าหลวงพ่อของเราท่านเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งของพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตเถร) มาตั้งแต่เริ่มต้นโดยเฉพาะการจัดหาทุนและดำเนินงานก่อตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทยให้ยั่งยืนมาตราบเท่าทุกวันนี้เรื่องนี้  มิใช่ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวที่ทราบ  แต่เป็นที่ทราบกันดีในคณะศิษย์ของหลวงพ่อ  ท่านเจ้าคุณพระอุดรคณาภิรักษ์  (กิตฺติวุฑโฒ)  ก็ได้เคยเล่าเรื่องนี้เมื่อคราวแสดงธรรมเทศนาในการบำเพ็ญกุศลถวายพระครูประกาศสมาธิคุณ  ณ  วัดมหาธาตุ เมื่อวันศุกร์ที่  ๑๗  สิงหาคม   พ.ศ. ๒๕๒๗  เวลา  ๑๙.๓๐ น.

 

หลังจากนั้นหลวงพ่อท่านก็คิดจะปรับปรุงสำนักเรียนวัดปากน้ำให้ได้มาตรฐาน พระภิกษุสามเณรไม่ต้องเดินทางไปศึกษาที่สำนักอื่นอีกต่อไป  เพราะสมัยนั้นการเดินทางลำบากมากต้องนั่งเรือยนต์หรือเรือจ้าง  หลวงพ่อจึงดำริที่จะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตและทันสมัยเพียงพอที่จะรับพระภิกษุ   สามเณรเข้าศึกษาได้มาก ๆ เพราะขณะนั้นวัดปากน้ำมีพระสงฆ์จำพรรษาถึง ๖๐๐  รูปเศษ  และยังมีพระภิกษุ  สามเณรจากวัดใกล้เคียงมาศึกษาด้วย โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่หลวงพ่อดำริขึ้นนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  สูง ๓  ชั้น ยาว ๒๙  วา ๒ ศอก (๕๒ เมตร)  กว้าง ๕ วา  ๑ ศอก  (๑๐  ๑/๒ เมตร)    ชั้น ๑  และชั้น ๒  เป็นที่เรียนปริยัติ  ชั้น ๓เป็นที่ฝึกนั่งภาวนา  (ในปัจจุบันชั้น ๓ ด้านหนึ่งเป็นห้องประชุมอีกด้านหนึ่งเป็นที่ศึกษาปริยัติของพระนวกภิกษุ)  โรงเรียนหลังนี้สามารถรับนักเรียนได้เป็นจำนวน  ๑,๐๐๐  รูป  คุณหลวงวิศาลและ พ.อ. หลวงบุรกรรมโกวิทเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง  สิ้นงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด  ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙   บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์)



เมื่อหลวงพ่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนในระยะแรก ๆ  นั้น  ศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อต่างพากันหนักใจแทนหลวงพ่อ  เพราะทุกคนตระหนักดีว่าหลวงพ่อท่านไม่มีทุนทรัพย์เลยเพราะลำพังค่าภัตตาหารในโรงครัวก็เป็นภาระหนักที่ท่านต้อง รับผิดชอบอยู่แล้ว และยังต้องมีค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ค่าก่อสร้างปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ  เพราะนับวันจะมีพระภิกษุ  สามเณร  แม่ชี    อุบาสก  อุบาสิกา  ศิษย์วัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงกระนั้นหลวงพ่อท่านก็หาได้วิตกกังวลกับภาระเหล่านี้ไม่ ท่านยังมีดำริที่จะรับพระภิกษุ สามเณรให้จำพรรษาในวัดได้ถึง  ๑,๐๐๐ รูป

 

นอกจากจะยังไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอแล้ว  หลวงพ่อท่านก็ยังไม่ขวนขวายหาเงินด้วย  ท่านอยู่แต่ในวัดปฏิบัติกิจต่าง ๆตามปกติของท่าน  คือคุมพระภิกษุ  สามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถและให้โอวาทสั่งสอนพระภิกษุ  สามเณร ๒ เวลา  เช้า เย็น  ในวันพระและวันอาทิตย์ลงแสดงธรรมในพระอุโบสถเอง  ถ้าวันใดไม่แสดงเอง  ท่านก็จะนั่งเป็นประธาน  ออกรับแขก  ๒ เวลาทุกวันคือตอนฉันภัตตาหารเพลและเวลาเย็น   ๑๗.๐๐ น.



เวลานอกจากนี้ท่านจะปฏิบัติกิจภาวนาและควบคุมพระภิกษุ  สามเณร  แม่ชี  ให้ปฏิบัติรวมอยู่กับท่าน  ทุกวันพฤหัสบดีเวลาบ่าย ๒ โมงลงสอนการนั่งภาวนาแก่พระภิกษุ  สามเณร  อุบาสก  อุบาสิกา  ทั้งในวัดและต่างวัดที่ศาลาการ เปรียญ  เวลานอกจากนี้ท่านจะปฏิบัติกิจภาวนาและควบคุมพระภิกษุ  สามเณร  แม่ชีให้ปฏิบัติอยู่กับท่าน  ถ้าไม่จำเป็นไม่รับนิมนต์ไปนอกวัด  ไปแต่กิจที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปค้างคืนนอกวัดเป็นปฏิเสธเด็ดขาด  เพราะท่านได้ตั้งสัจจะไว้แล้ว ไม่ว่าผู้ใดมีความสำคัญขนาดไหนมานิมนต์  ท่านจะแจ้งให้ทราบว่าท่านได้ตั้งสัจจะไว้แล้วว่าจะไม่ไปท่านให้เหตุผลว่าท่านเป็นห่วงงาน

 

วันหนึ่งท่านพระครูวิเชียรธรรมโกวิท  เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ปัจจุบันและท่านพระครูปรีชายัติกิจเจ้าอาวาสวัดศิลามูล อำเภอบางเลน  จังหวัดนครปฐม  ได้นัดหมายกับพระภิกษุอีกประมาณ ๘ รูป  เข้าไปพบหลวงพ่อเพื่อกราบเรียนถามเรื่องการหาเงินสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม  เพราะเห็นว่าตอนนั้นหลวงพ่อได้สั่งซื้อเสาเข็มเป็นจำนวนมาก  มากองไว้ตรงที่เป็นถนนข้างหอเจริญวิปัสสนาในปัจจุบัน  พระภิกษุทั้ง ๑๐  รูปนี้ได้ไปปวารณาตัวรับใช้สนองพระเดชพระคุณหลวงพ่อในการช่วยหาเงิน  โดยการออกไปแสดงพระธรรมเทศนาในวัดต่าง ๆ  ตามต่างจังหวัดที่มีลูกศิษย์หลวงพ่ออยู่มาก ๆ ท่านเหล่านี้เสนอว่า  จะจัดทำซองเป็นชุด ๆ เพื่อใสเงินที่ได้รับจากการบริจาคติดกัณฑ์เทศน์ของญาติโยม  และจะนำซองนั้นมาให้ไวยาวัจกรเปิดนับเงินกันที่วัดปากน้ำ



หลวงพ่อท่านนั่งฟังโครงการหาเงินมาสร้างโรงเรียนของลูกศิษย์ของท่านจนจบไม่คัดค้านว่ากระไร  แล้วท่านก็กล่าวขอบใจในความมีน้ำใจของพระคุณเจ้าเหล่านั้น  ท่านบอกว่ามีหน้าที่เรียนก็เรียนไป  ให้ตั้งใจเรียนให้ได้ประโยค  ๙  จะมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วประเทศทีเดียวเพราะในสมัยนั้นถ้าพระภิกษุ  สามเณรรูปใดเรียนจบประโยค ๙  จะได้รับการประกาศเกียรติคุณไปทั่วทุกจังหวัด  หลวงพ่อท่านต้องการให้พระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดเรียนให้จบประโยค  ๙ เพราะจะได้มาช่วยสอนในสำนักเรียนของท่าน  ท่านมุ่งมั่นที่จะสั่งสอนให้พระภิกษุ สามเณรมีความรู้แตกฉานทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ  เพื่อจะได้นำความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ถ้าพระภิกษุ  สามเณรรูปใดเรียนจบชั้นสูงสุดในวัดแล้วท่านจะเป็นภารธุระนำไปฝากเรียนตามสำนักต่าง ๆด้วยตัวของท่านเอง พระรูปใดสอบผ่านประโยคต่าง ๆ   แต่ละประโยคท่านจะกล่าวชมเชยทั้งต่อหน้าและลับหลังอีกทั้งจัดหารางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้อีกด้วย



หลวงพ่อท่านย้ำกับพระคุณเจ้าเหล่านั้นว่า “ข้าจะอยู่ในวัดเฉย ๆ อย่างนี้แหละ  แล้วจะหาเงินมาสร้างโรงเรียนเอง  สร้างได้ซี่น่ะเลี้ยงพระยังเลี้ยงได้  แล้วสร้างโรงเรียนทำไมจะสร้างไม่ได้ เรื่องจะไปเทศน์หาเงินน่ะหรือ  เทศน์จนตายก็ยังไม่ได้เงินถึงล้านหรอก”

 

ในทีสุดหลวงพ่อก็สามารถสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำเร็จ  เชิญ ฯพณฯ จอมพล  ป. และท่านผู้หญิงละเอียด   พิบูลสงครามมาเป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ.  ๒๔๙๗  เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ใหญ่โตที่สุดในสมัยนั้น  มีอุปกรณ์การศึกษาครบครัน  หลวงพ่อของเราริเริ่มทำได้สำเร็จเป็นคนแรก  



โรงเรียนหลังนี้นอกจากเป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของสำนักเรียนวัดปากน้ำ แล้ว  ยังให้เป็นสนามสอบของพระนวกะและเป็นสถานที่สอบธรรมสนามหลวงประจำปีของพระภิกษุ  สามเณรเขตภาษีเจริญและเขตหนองแขม  หลวงพ่อท่านตั้งชื่อโรงเรียนหลังนี้ว่า  โรงเรียนภาวนานุสนธิ์
 ท่านมีโครงการจะฉลองโรงเรียนเป็นงานใหญ่ในปีพ.ศ.  ๒๕๐๐   อันเป็นปีที่รัฐบาลจัดงานฉลอง  ๒๕  พุทธศตวรรษด้วย ท่านจะนิมนต์พระภิกษุ  ๒๕๐๐  รูป มาเจริญพระพุทธมนต์และถวายสำรับภัตตาหารคาวหวานรวมทั้งเครื่องสมณบริขารจัดเป็นชุดถวายทุกรูป  ท่านเคยพูดกับสมเด็จป๋าว่า  “แกคอยดูจะสนุกกันใหญ่”  แต่เผอิญท่านอาพาธในปีพ.ศ.  ๒๔๙๙  โครงการฉลองโรงเรียนจึงต้องระงับไป

น.ส. ตรีธา  เนียมขำ  ผู้เล่า
พันเอกหญิงทัศนศรี  ไตรยคุณ  บันทึกและเรียบเรียง
พระศรีศาสนวงศ์ (สุชาติ  ธมฺมตโน  ป.ธ. ๙)  ตรวจทานภาษาบาลี

จากหนังสือ  :  ตรีธาเล่าเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ

คุณครู  ตรีธา  เนียมขำ  ปัจจุบันยังอยู่ประจำที่วัดปากน้ำ  รับหน้าที่นายกสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ  ม.ส.จ.  ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชชาธรรมกายผู้หนึ่ง  ถึงกับได้รับหน้าที่หัวหน้าเวรทำวิชชาฝ่ายอุบาสิกาจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ (หัวหน้าเวร มีเพียง ๖ ท่านในยุคนั้น)


หนังสือตรีธาเล่าเรื่องหลวงพ่อและวัดปากน้ำนี้ได้พิมพ์ครั้งแรกจำนวน  ๕,๐๐๐  เล่ม  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗  แจกในงานฉลองอายุ ๑๐๐ ปี   ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด  จันทสโรเถระ) หลวงพ่อวัดปากน้ำ  วันที่  ๒๓-๒๕  พฤศจิกายน  ๒๕๒๗

หมายเลขบันทึก: 215646เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วเพิ่มเติมความรู้ได้ดีมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท