ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๕)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๕) 

สิ่งสำคัญที่ลักษณะการเป็นปัจจัยนี้แสดงให้เห็น  ก็คือ  การที่เงื่อนไขที่คงตัวของความเป็นปัจจัยทำให้เกิดผลตามมาเสมอ.  ตัวอย่างเช่น  เราผสมสีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน.  บังเอิญ  ได้สีที่ปรากฏออกมาสวยงามมาก  เราต้องการสีนั้นเพิ่มเติม.เนื่องจากว่า ไม่ได้สังเกตว่า  ตอนผสม  เราใส่สีใดเท่าไหร่,  ใช้น้ำมากน้อยแค่ไหนจึงไม่สามารถได้สีเช่นเดิมอีก   ลักษณะเช่นนี้คงคล้ายการบังเอิญค้นพบกฎใหม่ ๆ ของนักวิทยาศาสตร์  ความพึงพอใจต่อผลที่เกิดขึ้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามหาเงื่อนไขที่ทำให้เกิดผลนั้นอีกครั้งหนึ่ง.

 

ปัจจัยจำนวนหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลอย่างหนึ่งสม่ำเสมอทำให้เกิดเป็น วิถีหรือ  “นิยามของสิ่งนั้น.  เรารู้จักสิ่งนี้ในฐานะเป็น  นิยามของธรรมชาติ,” หรือที่เรียกกันว่า
กฎทางธรรมชาติ”  ข้อสรุปที่เราได้เป็นพื้นฐานในที่นี้ก็คือ  การมีกลุ่มปัจจัยที่เหมือนกันทำให้เกิดผลเช่นเดียวกัน.ข้อสรุปนี้อาจเป็นการยืนยันว่า   ธรรมชาติมีความสม่ำเสมอ  ก็เพราะในปัจจัยเช่นนั้น.  (มีปัจจัยเหมือนกันทุกอย่าง)   จำเป็นต้องก่อให้เกิดผลเช่นนั้น.

การที่พุทธศาสนาได้แสดงปัจจัยไว้อย่างละเอียดเช่นนี้ทำให้มองเห็นได้ว่าสายของการเกิดขึ้น  เปลี่ยนแปลง  และการแตกสลายเป็นเพียงสายของการเป็นปัจจัยของกันและกัน  เป็นความจริงที่การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอาจไม่มีผลกระทบต่ออีกส่วนหนึ่งก็ได้  เช่น  เราเดินไปห้องน้ำ    อาจไม่มีปัจจัยสัมพันธ์กับผลของการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ   แต่ถึงกระนั้นก็ตาม  แต่ละส่วนจะมีปัจจัยของตนเองให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับอีกเหตุการณ์หนึ่งก็ได้  หรืออาจไม่เกี่ยวโยงก็ได้.  แต่โดยสภาพรวม  สรรพสิ่งต่างมีความสัมพันธ์ กันอย่างใดอย่างหนึ่ง.

ความเป็นปัจจัยในระบบกลไกลของจักรวาล

หากเรากลับมาพิจารณาในระบบกลไกลว่า  ปฏิจจสมุปบาทมีบทบาทอย่างไรก็จะเห็นคำตอบดังนี้.   เนื่องจากธาตุที่มีคุณลักษณะของตนเองมาเชื่อมต่อกัน โดยการที่ลักษณะของธาตุแต่ละส่วนจะประสานหรือขัดแย้งกัน   ทำให้เกิดผลกระทบที่แผ่ขยายไปยังธาตุส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง    ธาตุที่อยู่ใกล้เคียงย่อมแปรเปลี่ยนตนเอง,ขณะเดียวกัน  ก็ส่งผลกระทบไปสู่ธาตุอื่น ๆ  หรือสังขตธรรมอื่นที่เกิดขึ้น  ผลกระทบดังกล่าวจะแผ่ขยายออกไปภายนอกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และรวมทั้งที่ตัวธาตุดั้งเดิมจะได้รับผลกระทบนั้นอีกครั้งหนึ่ง   สรรพสิ่งจึงค่อย ๆ  ปรากฏรูปร่างขึ้นมา เช่น  ที่เราเห็นเป็นจักรวาล  มนุษย์  สัตว์   และสรรพสิ่ง

จักรวาลจึงเป็นผลรวมของปัจจัยที่สั่งสมกันมากมายและตลอดเวลาอันยาวนานอันไม่มีที่สิ้นสุด. วินาทีที่เรากำลังรับรู้นี้เป็นผลของการสั่งสมเหตุปัจจัยอันยาวนานเกินกว่าที่เราจะรับได้  ในปรากฏการณ์ที่มีเหตุผลและปัจจัยอย่างเดียวกันย่อมก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกันกลายเป็นวัฏสงสาร  ที่หมุนวนไปไม่สิ้นสุด  นี่คือส่วนที่พุทธศาสนาเรียกว่า  นิยามของธรรมชาติ,” หรือที่เรียกชื่อในระบบกลไกลนี้ว่า ฐานะ และ อฐานะของธรรมชาติ.

แม้ว่า  แนวอธิบายข้างต้นอาจดูเรียบง่าย   และไม่ปรากฏเป็นรูปร่างชัดเจนเหมือนเช่นบางทฤษฏี เช่น  ทฤษฎี   Big  Bang  และ  Super  Nova   เป็นต้น  แต่ด้วยสมมติฐานของพุทธศาสนาก็อาจเป็นตัวช่วยให้เราสามารถเข้าใจทฤษฎีดังกล่าวได้ไม่ยากนัก  เพราะจริง ๆ   แล้ว  ทฤษฎีดังกล่าวเป็นการอธิบายการกำเนิดจักรวาลนี้  

ตามหลักกลไกลที่ปรากฏอยู่ใน  หลักการของพุทธศาสนาอยู่แล้ว.

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นผลจากการมองในแง่ของการเป็นปัจจัยตามทัศนะของพุทธศาสนา  ก็คือ   การมีอยู่ ของสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นเพียงการมีอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กันให้เกิดสิ่งอื่นตามมา,  หรือตัวมันเองเป็นผลจากปัจจัยจากส่วนอื่น.จักรวาลของเราจึงอาจมีการประกอบกันเช่นเดียวกับโครงสร้างภายในอะตอมหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นตัวอธิบายว่าทำไมจึงมีการเกิด,  การแปรเปลี่ยนและการสลายของจักรวาลได้.

การปฏิเสธแนวความคิดร่วมสมัยและเสมอวิถีแห่งพุทธ

ได้กล่าวแล้วว่าเพราะอาศัยพื้นฐานจากแนวความคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้เองที่ทำให้พุทธศาสนาเริ่มต้นการเสนอรูปแบบความคิดของตนเองอย่างโดดเด่นและเป็นระบบ.  ส่วนที่เป็นผลตามมาที่สำคัญที่สุด  คือ  เป็นการวิพากษ์แนวความคิดร่วมสมัย.  พระพุทธโฆษาจารย์,   ปราชญ์เอกของพุทธศาสนาผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคและอรรถกถาอีกมากมาย,  ได้กล่าวไว้ว่า

ก็และ   พระมุนีเจ้า  เมื่อตรัสอย่างนี้

ก็เป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นสัสสตวาทะ  เป็นต้น  ด้วยบทหน้า (บทว่า ปฏิจจ)
และทรงแสดง  ความแย้งต่ออุจเฉทวาทะเป็นต้น  ด้วยบทหลัง   (บทว่า  สมุปบาท)
และได้ทรงแสดงวิถีทางที่ถูกต้องด้วยบททั้งสอง

อรรถาอธิบายแห่งคำประพันธ์นี้มีว่า


คำว่า  ด้วยบทหน้า  (บทว่า  ปฏิจจ) มีความหมายว่า  ลัทธิสัสสตวาท  ที่แยก
ออกเป็นกลุ่มสัสสตวาท  (กลุ่มที่เชื่อว่า  อัตตา  และโลกที่เที่ยงแท้  ไม่สูญไปไหน)

กลุ่มอเหตุกวาท  (แนวความคิดที่เชื่อว่า  เหตุปัจจัยของความเศร้าหมอง  และความบริสุทธิ์  เป็นต้น  ของสัตว์ไม่มี  แต่เป็นไปตามโชคเคราะห์  )

กลุ่มวิสมเหตุกวาท (แนวความคิดที่เชื่อว่า ความเป็นไปของโลกเป็นไปตามอำนาจของประกฤติอณู   และกาล  เป็นต้น)  

กลุ่มวสวัตติวาท  (กลุ่มความเชื่อที่ถือว่า  มีพระเจ้า  เช่นพระอิศวร  ปรมาตมัน   พระพรหม   เป็นต้น  เป็นผู้ควบคุมบันดาล  )

เป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยบท  ปฏิจจที่แสดงถึงความพร้อมเพรียงของปัจจัยเฉพาะความเป็นไปทั้งมวลมีความเนื่องอยู่กับความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย  แต่สำหรับสิ่งที่เป็นสัสสตะ (มีความเที่ยงแท้)   และสิ่งที่เป็นอเหตุ  (ไร้เหตุ)   แล้ว  คงไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความพร้อมเพรียง แห่งปัจจัย  

ส่วนคำว่า   และด้วยบทหลัง   (บทว่า  สรุปบาท)  มีความ หมายว่า  ลัทธิอุจเฉทวาท  (แนวความคิดที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ )  

กลุ่มนัตถิกวาท (แนวความคิดที่เชื่อว่าไม่มีผลของสิ่งใด   ๆ   มีอยู่จริง )  

อกิริยวาท  (กลุ่มความคิดที่เชื่อว่า  ทำอะไรไปก็ไม่มีผลใด  ๆ  สักแต่ว่าทำ)  ก็ถูกปัดไป

เพราะความเกิดขึ้นของผลทั้งหลาย  เพราะความพร้อมเพรียงแห่งเหตุปัจจัย  ดังนั้น   ก็เท่ากับได้ทรงแย้งต่อลัทธิอุจเฉทวาท  เป็นต้นด้วยบท  สมุปบาท  ซึ่งยืนยันถึงความเกิดขึ้นของผลทั้งหลาย  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  เมื่อสิ่งทั้งหลายต่างเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่มีมาก่อน  สัทธิอุจเฉทวาท  ลัทธินัตถิกวาท     และลัทธิอกิริยาวาทก็ไม่เป็นความจริง.

เมื่อแสดงเหตุผลที่ทำให้ยอมรับแนวคิดอื่นไม่ได้แล้ว,  พระพุทธโฆษาจารย์ได้
แสดงให้เห็นว่า  ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาทนี้  พุทธศาสนาได้กำหนดหลักการแห่งความคิดของพุทธศาสนาอย่างไร.  ท่านกล่าวต่อไปว่า  

คำว่า  บททั้งสอง  (คำว่า  ปฏิจจ+สมุปบาท)   มีคำอธิบายว่า  ความถูกต้อง กล่าวคือมัชฌิมาปฏิปทา  ถือเป็นการละวาทะที่ถือว่า  คนนั้นทำ  คนนั้นได้รับผลไปไม่มีสิ้นสุดเป็นการละวาทะที่ถือว่า  คนอื่นทำคนอื่นได้รับผล  เป็นความไม่ยึดมั่นในภาษาท้องถิ่น  การไม่ละเลยที่จะยอมรับต่อสมัญญา  (สมมติบัญญัติ)   เป็นอันทรงแสดงด้วยคำว่า  ปฏิจจสมุปบาท หมดทั้งคำ   เพราะหลักสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ขัดแย้งกับความสืบเนื่องกับความพร้อมเพรียงของปัจจัยนั้น.

ด้วยพื้นฐานจากหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ พุทธศาสนาจึงหันมาเสนอแนวทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา  (ทางที่ยอมรับถึงความสัมพันธ์กันเกิดขึ้น)  และปฏิเสธแนวความคิดแบบอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับหลักเหตุและผล  เช่น  สัสสตวาท,  อเหตุวาท, และปฏิเสธแนวความคิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลักผลของการกระทำที่ถือว่าไม่มีผลอะไร หรือขาดสูญ เช่น  อุจเฉทวาท,  อกิริยาวาท.

หลักปฏิจจสมุปบาทยังดำเนินควบคู่ไปกับการยอมรับตามสมมติทางภาษาของแต่ละท้องที่และการยอมตามบัญญัติแห่งโลก  ข้อสังเกตทั้ง  ๒  ประการหลังนี้น่าจะเป็นรากฐานที่ดีของพุทธศาสนาต่อการศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของความหมายและระบบของการวิเคราะห์ภาษา.

ตอนนี้เห็นได้ชัดเจนว่าพื้นฐานทางอภิปรัชญาตามหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นนี้มีผลต่อการเสนอความคิดในเรื่องต่าง ๆ  ในพุทธศาสนาอย่างไร.

หมายเลขบันทึก: 215574เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท