ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๘)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๘) 


หลักปฏิจจสมุปบาท   :   การตอบรับต่อหลักอนัตตา

เนื่องจากพุทธศาสนาได้ยืนยันว่า  สรรพสิ่งว่างเปล่าจากตัวตน,  คำตอบของพุทธศาสนาที่มีต่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง  ก็คือ  การดำรงอยู่ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้.  สรรพสิ่งดำรงอยู่ด้วยการอาศัยซึ่งกันและกัน,  โดยการเป็นเหตุปัจจัยของกันและกันอย่างต่อเนื่องไม่มีขาดสาย  โดยลักษณะเช่นนี้  การเกิดขึ้นเป็นเพียงการแปรเปลี่ยนอย่างหนึ่งของปัจจัย  การเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงการเคลื่อนไหว,และการแตกสลายก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพใหม่.  การมีอยู่หรือไม่มีอยู่จึงไม่ใช่การยืนยันสรรพสิ่งที่ถูกต้อง

หลักปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นจุดคลี่คลายต่อปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นในระบบความสัมพันธ์และความเป็นไปของจักรวาล.  อาจจำแนกประเด็นปัญหาต่าง ๆออกได้ดังนี้

ประการแรก  ปฏิจจสมุปบาทจะให้คำตอบว่า  สรรพสิ่งมีการรวมตัวกันอย่างไร.  จักรวาลและสรรพสิ่งกำเนิด.  เคลื่อนไหว และแตกสลายไปอย่างไร.  เราได้เห็นมาแล้วว่า  ได้มีการพยายามนำหลักการทางปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายกำเนิดของโลกและจักรวาล.  แม้ว่าผลที่ปรากฏออกมาจะไม่น่าพึงพอใจมากนัก แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างมีค่ายิ่ง  คือ  พื้นฐานจากการยอมรับความเป็นเหตุและผล.

จริง ๆ  แล้ว  ภายใต้หลักปัจจยาการนี้  ทำให้แนวความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับ เรื่องโลกและจักรวาลเป็นสิ่งที่อยู่เหนือคำตอบที่จะตอบได้.  ลองพิจารณาว่า  ถ้าหากสรรพสิ่งมีความสัมพันธ์อย่างนี้ต่อกันในความเปลี่ยนแปลงอันยาวนาน  เราไม่สามารถที่จะแสวงหาได้ว่าความสัมพันธ์นั้นมีมายาวนานแค่ไหน.ดังนั้น  คำตอบที่ได้รับมาก็คือ  ประวัติความเป็นมายาวนานเกินกว่าที่เราจะรู้ตามได้.  พุทธศาสนาใช้  คำว่าสังสารวัฏนี้มีที่มาเบื้องต้นและเบื้องปลายที่ใครผู้ไปตามอยู่ไม่สามารถรู้ได้”  จริงอยู่ เราอาจใช้ความพยายามเพื่อจะรู้ความเป็นมาส่วนหนึ่งของจักรวาล  แต่นั้นเป็นเพียงระยะสั้นมากในประวัติแห่งความสัมพันธ์ที่หาที่เริ่มต้นมิได้.

แม้ว่าหลักปฏิจจสมุปบาทจะเป็นแกนสำคัญในการอธิบายการเกิดขึ้นของโลกแต่ก็ยังมีส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย  คือ  ธาตุ,  หลักการเรื่องอายตนะ, และเรื่องฐานะ และอฐานะ  หลักปฏิจจสมุปบาทคือแกนกลางที่รวมหลักการเหล่านั้นไว้ด้วยกัน,ก่อกำเนิดจักรวาลและสรรพสิ่งขึ้นมา,

ประการที่สองเป็นคำตอบเรื่องธาตุพื้นฐาน  กาลและอากาศ  และวิญญาณ.ในตอนก่อน,  ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า  พุทธศาสนาจำเป็นต้องยอมรับถึงความมีอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้.

ประการที่สาม  ให้คำตอบว่า มนุษย์มีกำเนิดมาได้อย่างไร?  การอธิบายถึงกำเนิดของมนุษย์เป็นผลพวงประการหนึ่งจากการค้นพบหลักปฏิจจสมุปบาท.

อย่างไรก็ตาม  มีข้อที่น่าสังเกต  ก็คือ  ภายใต้หลักปฏิจจสมุปบาท. เราอาจอธิบายกำเนิดของมนุษย์ได้เป็น  ๒  แนวทาง.  แนวทางแรก  การพยายามอธิบายโดยอาศัยข้อมูลจากพุทธศาสนา.  ปราชญ์ทางพุทธศาสนา  ได้พยายามประยุกต์หลักฐานเท่าที่มี  (แม้ว่าในบางครั้ง  อาจเป็นข้อมูลคนละส่วนด้วยซ้ำไป)  มาประยุกต์เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้.   ผลที่ออกมาจึงอาจอ่อนทางหลักฐานไปบ้าง.

ส่วนในแนวทางที่สอง  เป็นการยึดหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน  แต่อาศัยข้อมูลในเรื่องนี้อย่างอิสระ  ความพยายามในข้อนี้ไม่ใช่การนำเอาแนวความคิดดั้งเดิมมาประยุกต์อย่างขาดไม่ได้  เพราะการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างอิสระจะให้ความเป็นไปได้มากกว่า.  อย่างไรก็ตาม  งานในส่วนนี้ของปราชญ์ทางพุทธศาสนาไม่ได้มีการเริ่มต้นกันมากนัก. จริง ๆ  แล้ว  กลับไปปรากฏในแนวคิดทางตะวันตกแทน  เช่น  การพยายามอธิบายเรื่องวิวัฒนาการของชาร์ล  ดาร์วิน  เป็นต้น. พุทธศาสนาควรได้ยอมรับแนวความคิดเช่นนี้ในฐานะเป็น ตัวอย่างหนึ่ง”  ของการอธิบายตามหลักปฏิจจสมุปบาท.

 

ประการที่สี่  สรรพสิ่งดำเนินไปอย่างไร?  ปฏิจจสมุปบาทจะบอกเราได้ว่าการดำเนินไปของสรรพสิ่งในขณะหนึ่งเป็นผลมาจากอดีต  และขณะเดียวกันจะก่อให้เกิดผลต่อสิ่งข้างหน้าต่อไป.   ความแตกต่างของการเคลื่อนไหวอาจเกิดขึ้นโดยขึ้นอยู่กับว่า  การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างอิสระตามขบวนการทางธรรมชาติหรือจากเจตจำนงของมนุษย์เท่านั้นเอง  อย่างไรก็ตาม  ทั้ง ๒   ส่วนยังอยู่ภายใต้หลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

ประการที่ห้า  สรรพสิ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างไร?  แม้ว่า  จริง ๆ แล้ว  หลักปฏิจจสมุปบาทอาจไม่ได้อธิบายถึงรายละเอียดปลีกย่อยของระบบความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งว่ามีอย่างไรมากนักก็ตาม  แต่พื้นฐานตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้มีความสำคัญยิ่งนัก.  ดังนั้น  พุทธศาสนาไม่มีความอึดอัดใจใด ๆ  เลย  ที่จะยอมรับถึงกฎแห่งผลกระทบทางธรรมชาติที่เราได้ค้นพบในสมัยหลัง.   ไม่มีความรู้สึกที่ทำให้มีความคิดว่า  เป็นการขัดแย้งกับหลักการของพุทธศาสนา  จริง ๆ แล้ว ส่วนนี้ คือ  สิ่งที่พุทธศาสนายอมรับในฐานะเป็น  “นิยามของธรรมชาติ

ประการที่หก  เราดำรงอยู่อย่างไร?  คำตอบสำคัญในข้อนี้  คือ  การที่เรายอมรับบัญญัติต่าง ๆ อย่างเข้าใจ  โดยพื้นฐานแห่งความเป็นอนัตตา  ทำให้มองเห็นสัจธรรมแห่งโลกและสรรพสิ่งว่าเป็นอย่างไร  ในขณะเดียวกันหลักภาวะสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เรายอมรับกระบวนการแห่งการสมมติ,รวมทั้งภาษาได้.

ข้อที่นับได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุด   ซึ่งก็คือ การแสดงหาหลักการทางจริยธรรมเพื่อการใช้เป็นหลักในการดำรงตนให้สอดคล้องกับหลักสัจธรรมข้างต้น.

ทั้งหมดนี้เป็นจุดคลี่คลายปัญหาบางประการที่อาจเกิดขึ้นภายใต้มูลบทที่ว่าสรรพสิ่งเป็นอัตตา.  โดยสรุป จะเห็นได้ว่าภายใต้สมมติฐานเช่นนั้น ไม่ได้มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์เลย,  ผลลัพธ์ประการเดียวที่เกิดขึ้น คือ  การที่ความทุกข์ไม่สามารถบีบคั้นจิตใจมนุษย์ได้อีกต่อไป.

ปฏิจจสมุปบาทกับความอยู่อย่างสัมพันธ์

ข้อสรุปที่สำคัญของหลักปฏิจจสมุปบาทต่อปัญหาเรื่องความมีอยู่  ก็คือปฏิจจสมุปบาทยืนยันว่า  สรรพสิ่งอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยสัมพันธ์กัน,  ดังนั้น  การมีอยู่ของสิ่งหนึ่งจะไร้ความหมาย  หรือเท่ากับไม่มีอยู่จริงถ้าหากไร้ความสัมพันธ์กับวสิ่งใด.  โดยข้อสรุปอาจอาศัยความเป็นจริงเรื่องธาตุพื้นฐาน,  อวกาศ  และวิญญาณ เพื่อแสดงความจริงนี้,  

ประเด็นที่มีความสำคัญ  ที่จะกล่าวถึงในที่นี้  ก็คือ  ส่วนของภาษา  และทางตรรกวิทยา.  ทั้งนี้เนื่องจากว่าไม่มีอะไรที่จะมีอยู่อย่างมีความหมายหากไม่มีความสัมพันธ์ กับสิ่งอื่น, ดังนั้น ในทางตรรกนัย  การยืนยันความมีอยู่ของสิ่งใดๆ  จะมีความหมายก็เมื่อมีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นด้วย.

ตัวอย่าง เช่น เรามีคำว่า กา,” มีคำว่า บิน”  และมีคำว่า  เร็ว”  แต่ละส่วนเป็นบัญญัติที่ไม่มีความหมายใดๆ  บางท่านอาจคิดว่าเมื่อเราได้ยินคำว่ากาก็มีความหมาย เพราะเราอาจนึกถึง  กา”  ในฐานะเป็นสัตว์, หรือกาน้ำ  เป็นต้น. สังเกตให้ดีว่า  เราคิดว่า  เราเข้าใจ  นั่นเพราะเราได้มองความสัมพันธ์ของกากับสิ่งอื่นเรียบร้อยแล้ว.  หากไม่มีความสัมพันธ์เช่นนั้น  คำเหล่านี้ก็หามีความหมายไม่.

เมื่อเอาคำข้างต้นมาเชื่อมกันตามหลักอายตนะ  เป็น กาบินเร็ว”  ก็จะแสดงความหมายบางส่วนให้ปรากฏ. การนำมาเชื่อมอย่างสัมพันธ์กันมีความสำคัญยิ่งเพราะทำให้ข้อความนี้มีความหมาย  การเชื่อมต่ออย่างผิดพลาด  หรือไร้สัมพันธภาพทำให้ข้อความนี้ไร้ความหมาย,  เหมือนกับเรากล่าวว่า  เร็วบินกา

ในตรรกวิทยาสมัยใหม่  ที่พยายามแก้ปัญหาในการยืนยันความมีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้มีการเสนอให้ใช้คำว่า  x (x  คือ สัตว์ชนิดหนึ่ง และ x มีสีดำ,  บินได้ )  ซึ่งหมายความว่า  มีบางสิ่ง, ซึ่งก็คือ  กา.  ความหมายของการยืนยันนี้ คือ   กา คือบางสิ่ง.  ข้อยืนยันนี้ไม่ได้ยืนยันการมีอยู่ให้กับกาอย่างแท้จริง.  ถ้าเราจะเข้าใจความมีอยู่ของกาได้ นั้นก็เพราะเราได้เข้าอยู่ในหลักปัจจัยสัมพันธ์แล้ว.

ปัญหาที่เราจะคิดถึงก็คือการอ้างหลักความสัมพันธ์ก็หาได้ยืนยันความจริงอะไรแกเราไม่,ตัวอย่างเช่น  เรายืนยันว่า  สัตว์ที่มีอำนาจพิเศษชนิดหนึ่งสร้างจักรวาลนี้”  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่กลมกลืนและมีการเชื่อมต่อที่ดี  เราจำเป็นต้องยอมรับว่า  ข้อความนี้มีความเป็นจริงหรือ?  จริง ๆ แล้ว  หลักสัมพันธ์ไม่ได้ยืนยันว่าสิ่งที่มีความสัมพันธ์อันถูกต้องจะเป็นความจริง  เพียงแต่บอกว่ามันมีความเป็นเหตุผล. การพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จจึงต้องการหลักฐานะและอฐานะเป็นตัวตัดสิน.เราอาจยอมรับว่าข้อ ความนี้มีเหตุผล, เช่นเดียวกับที่เราอธิบายการเกิดขึ้นของจักรวาลที่แม้เราจะไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ,  แต่เรายอมรับว่ามีเหตุผล.

การนำหลักการทางภาษาและตรรกวิทยามากล่าวโดยให้สัมพันธ์กับหลักปฏิจจสมุปบาทอาจเป็นความคิดที่เหลวไหล.  ผู้เขียนเพียงแต่มีความรู้สึกว่า  หลักการทางภาษาในพุทธศาสนาโดยเฉพาะภาษาบาลีเป็นฐานรองรับทฤษฎีเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างชัดเจน.  ผู้ที่เรียนภาษาบาลีต้องรู้ความสัมพันธ์ของแต่ละคำที่อยู่ในข้อความเดียวกัน,  ตัวอย่างเช่น  เมื่อเรากล่าวว่า อิทานิ  ฟรงฺสฺส ราชา  มุณฑสีโสโหติ”  ซึ่งหมายความว่า  กษัตริย์ของฝรั่งเศสพระองค์ปัจจุบันนี้มีพระเศียรล้าน (เช่น ที่รัสเซล ได้ยกตัวอย่าง). คำแต่ละคำจะมีความสัมพันธ์ที่เราสามารถบอกความสัมพันธ์นั้นได้.  อิทานิ  จะเป็น  “กาลสัตตมี”  ในคำว่า  โหติ,  ฟรงฺสสฺส  เป็น สามีสัมพันธะในคำว่า   ราชา,  ราชา เป็น สยกัตตา”  ในคำว่า  โหติ,  โหติ,  เป็น  อาขยาตบทกัตตุวาจก,”  มุณฑสีโส  เป็น  วิกติกัตตา”  ในคำว่า  โหติ.  ความสัมพันธ์จะเป็นการเชื่อมธาตุของข้อความที่มารวมกันทำให้เกิดความหมายที่ชัดเจนในตัวเอง.เมื่อเราต้องการปฏิเสธ  เราจำเป็นต้องระบุว่าการปฏิเสธมีความสัมพันธ์กับส่วนใด, เช่น  ไม่ใช่เป็นผู้มีพระเศียรล้าน  หรือไม่มีกษัตริย์ในตอนนี้  หรือว่าไม่มีกษัตริย์ที่มีพระเศียรล้านเป็นกษัตริย์ของฝรั่งเศสในตอนนี้.

ข้อสังเกตนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะให้เห็นระบบกลไกในพุทธศาสนาที่เป็นพื้นฐานทางตรรกวิทยา,  

ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายให้เห็นว่า  ในการยืนยันความมีอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยสัมพันธ์มีความสำคัญอย่างไร,  ไม่ใช่เฉพาะในโลกแห่งวัตถุ,  แต่รวมไปถึงระบบภาษาด้วย.

รูปแบบ ๒ อย่างของปฏิจจสมุปบาท

จากการศึกษาหลักการต่าง ๆ  ในแนวความคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาททำให้สามารถแบ่งนัยการอธิบายตามหลักปฏิจจสมุปบาทออกได้เป็น ๒ กลุ่ม, โดยแยกออกเป็นดังนี้

กลุ่มแรก  หลักปฏิจจจสมุปบาท  เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วน ๆ หลักเหตุและผลในที่นี้จะเป็นการอธิบายธรรมชาติของสิ่งที่เป็นไปตามเงื่อนไขปัจจัยของมันเอง.   สิ่งที่สำคัญในส่วนนี้  ก็คือ  กฎเกณฑ์ และความคงตัวแห่งธรรมชาติ.ในวิถีทางธรรมชาติ  จะแฝงไปด้วยกฎเกณฑ์และวิถีต่าง ๆ ของสรรพสิ่ง,  ตัวอย่าง เช่น  กฎทางการละเหยกลายเป็นไอของน้ำ,  การแข็งตัว  แรงโน้มถ่วง, การเปลี่ยนเป็นพลังงาน เป็นต้น.  ดังนั้น  การที่เราจะรู้ธรรมชาติได้มากที่สุด ก็คือ  เมื่อเราได้เข้าใจกฎเกณฑ์ของมันมากที่สุดด้วย.  สรรพสิ่งแปรเปลี่ยนไปตามกฎของตัวเองอย่างอิสระ  ระบบความสัมพันธ์ในส่วนนี้จะปรากฏในหลักการเรื่องฐานะและอฐานะ  โดยมีส่วนที่เด่นชัด  คือ  หลักการเรื่องนิยามของธรรมชาติ.

ในส่วนนี้ยังรวมไปถึงการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ในเชิงกายภาพด้วย  เช่น การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย,  การเกิดดับของจิต  เป็นต้น.

กลุ่มที่สอง  หลักปฏิจจสมุปบาทที่มีเจตจำนง  หรือเจตนาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย.ข้อนี้คือจุดมุ่งหมายสำคัญที่ต้องการแยกให้เห็นอย่างชัดเจน  ได้กล่าวแล้วว่าหลักปฏิจจสมุปบาท คือ  หลักการที่จะอธิบายความเป็นไปของสรรพสิ่ง,  อย่างไรก็ตามในส่วนของมนุษย์  แม้จะเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท  แต่ก็มีส่วนพิเศษที่เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ  นั่นก็คือ  เจตนาของมนุษย์  ตรงจุดนี้เอง  ที่หลักกรรมเข้ามามีอิทธิพลอย่างยิ่งใหญ่ในระบบอภิปรัชญาของพุทธศาสนา.  จริงแล้ว  แม้ว่า  จุดมุ่งหมายของการนำหลักกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอาจมีมนุษย์เท่านั้นเป็นจุดศูยน์กลางแต่นี้ก็เป็นจุดหนึ่ง  ที่มีผลตามหลักปัจจยาการข้างต้น. แม้ว่ากรรมเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทในส่วนแรก,  แต่ที่แยกออกก็เพื่อชี้ให้เห็นความพิเศษของปัจจัยที่มีเจตนาของมนุษย์เข้าไปเป็นตัวกำหนดด้วย.

ในกลุ่มที่สองนี้  เจตนาจะถูกใช้โดยผสมผสานกับกฎและความสม่ำเสมอทางธรรมชาติที่เรารับรู้มา.  ยิ่งเรามีความรู้ต่อกฎและความสม่ำเสมอทางธรรมชาติมากเท่าไหร่,  เราก็สามารถใช้ความจงใจของเราได้โดยสอดคล้องกับกฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้มากเช่นนั้น.

ความแตกต่างระหว่างหลักปฏิจจสมุปบาทใน  ๒ กลุ่มนั้นก็คือ  เราอาจยืนยันความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งภายนอกได้อย่างตรงไปตรงมา, เช่น  เราสามารถยืนยันได้ว่า  เมื่อต้มน้ำบริสุทธิ์ที่ความสูงระดับน้ำทะเลและเมื่ออุณหภูมิ ๑๐๐   องศา  น้ำจะเดือด  แต่เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าถ้ามนุษย์คนหนึ่งหิวและเขามีข้าว, เขาจะต้องกินเสมอไป  เพราะเขาอาจมอบอาหารนั้นให้แก่คนอื่นที่หิวกว่าได้.

แท้ที่จริงแล้ว  การแบ่งแยกเช่นนี้หาได้มีผลใด ๆ ต่อหลักปฏิจจสมุปบาทไม่เพียงแต่ทำให้เราสามารถเข้าใจระบบอภิปรัชญาของพุทธศาสนาได้สมบูรณ์มากขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 215570เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท