ที่สถิตอยู่ของผู้ทรงสภาวะนิพพาน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ที่สถิตอยู่ของผู้ทรงสภาวะนิพพาน 

อายตนะนิพพานนั้น   เป็นที่ประทับของพระนิพพาน คือ  พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก  ที่เข้าอนุปาทิเสสนิพพานไปแล้วนั่นเอง  มีสัณฐานกลมรอบตัว  ขาวใสบริสุทธิ์จนกระทั่งรัศมีปรากฏ



ในอายตนะนิพพาน  เป็นสถานที่โล่งว่างปราศจากสิ่งกำบังใด ๆ  ทั้งสิ้น  สว่างไสวไปด้วยรัศมีธรรมอันโชติช่วง  ปราศจากความสว่างจากรัศมีอื่นใด  แต่เป็นธรรมรังสีที่เกิดจากความใสสะอาดบริสุทธิ์  ปราศจากกิเลส  อวิชชา  เครื่องเศร้าหมองทั้งปวงนั่นเอง  ดังพระพุทธดำรัสว่า


“วิญฺญาณํ  อนิทสฺสนํ อนนฺตํ  สพฺพโต  ปภํ
เอตฺถ   อาโป  จ  ปฐวี  จ เตโช วาโย  น  คาธติ
เอตฺถ  ทีฆญฺจ  รสฺสญฺจ อนํ  ถูลํ  สุภาสุภํ
อตฺถ  นามญฺจ  รูปญฺจ อเสสํ อุปรุชฺฌติ
วิญฺญาณสฺส  นิโรเธน เอตฺเถตํ  อุปรุชฺฌติ.”


แปลความว่า


“ธรรมชาติที่พึงรู้แจ้ง  มองด้วยตาไม่เห็น  ไม่มีที่สุด   สว่างแจ้งทั่วทั้งหมด อาโปธาตุ  ปฐวีธาตุ  เตโชธาตุ  และวาโยธาตุ   ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้,อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น  ละเอียดและหยาบ  ที่งามและไม่งาม ตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้,  นามและรูปดับไปหมดไม่เหลือในธรรมชาตินี้,  เพราะวิญญาณดับ  นามรูปจึงดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้.”



ถ้าจะอธิบายลักษณะของนิพพานตามที่ ผู้ถึงธรรมกายได้รู้เห็นเทียบเคียงกับบาลีพระพุทธภาษิตดังกล่าวนี้แล้ว   ก็จะเห็นได้ชัดเจนดังต่อไปนี้


ประการที่ ๑  ได้ทรงยืนยันว่า   “อตฺถิ  ภิกฺขเว  ตทายตนํ,”  แปลความว่า   “ภิกษุทั้งหลายอายตนะ (นิพพาน)  นั้นมีอยู่.”


ประการที่ ๒  จากผลของการปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย  เมื่อผู้ถึงธรรมกายซ้อนสับทับทวีจนสุดกายหยาบกายละเอียด  เพื่อชำระธาตุธรรมให้ใสสะอาดบริสุทธิ์  แล้วเจริญสมาบัติ  ๘  โดยอนุโลมและปฏิโลม  ๗  เที่ยว  ปล่อยกายตกศูนย์เข้าอายตนะนิพพานแล้ว  จะพบว่าอายตนะนิพพานอยู่พ้นภพ  ๓ เหนือขอบจักรวาลขึ้นไป  มิใช่อยู่ที่ดิน  น้ำ ไฟ ลม  ใด ๆ ทั้งสิ้น.


อายตนะนี้ก็มิใช่อรูปภพใด ๆ,  ทั้งมิใช่โลกนี้หรือภพนี้  และก็มิใช่โลกอื่น.  ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์ก็มิใช่,  แล้วก็ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม  ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์  ในอายตนะนี้แต่ประการใดเลยอีกด้วย, ลักษณะของอายตนะนิพพานดังที่ว่านี้  ตรงกับบาลีพระพุทธภาษิตว่า

 

“ยตฺถ  เนว  ปฐวี  น อาโป   น เตโช  น วาโย  น อากาสานญฺจายตนํ  น
วิญฺญานญฺจายตนํ   น อากิญฺจญายตนํ  น เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ   นายํ  โลโก  
น  ปโร  โลโก  น  อุโภ  จนฺทิมสุริยา.”


แปลความว่า


ที่ดิน  น้ำ ไฟ  ลม  ไม่มีแล,  อากาสานัญจายตนะ  วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็มิใช่,  โลกนี้ก็มิใช่  โลกอื่นก็มิใช่  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์  ทั้งสองก็มิใช่.”


ประการที่ ๓
 ในอายตนะนิพพานนั้น มีแต่พระนิพพานคือ  ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ขอพระพุทธเจ้าและพระอรหันตขีณาสพที่เข้าอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว   คือเบญจขันธ์แตกทำลาย (ตาย) แล้ว  ประทับเข้านิโรธสงบตลอดกันหมด  ไม่มีการไปมาหาสู่กันดังเช่นสัตว์โลกทั้งหลายที่เห็นกันอยู่ในภพ  ๓  นี้ ลักษณะดังกล่าวนี้  ตรงกับบาลีพระพุทธภาษิตที่ว่า


“ตมหํ ภิกฺขเว  เนว  อาคตึ  วทามิ  น  คตึ  น ฐิตึ  น  จุตึ   น  อุปฺปตฺตึ.”


แปลความว่า


“อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย  เราไม่กล่าวเลย  ซึ่งอายตนะนั้นว่า  เป็นการมา  เป็น การไป  เป็นการตั้งอยู่   เป็นการจุติ   เป็นการอุบัติ.”


เนื่องจากพระนิพพานคือ  ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้วนั้น  เป็นธรรมขันธ์ที่ปราศจากตัณหา ราคะ  ใด ๆ  เป็นแต่วิราคธาตุ  วิราคธรรมล้วน ๆ จึงไม่ตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ  เหมือนธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย  กล่าวคือ  ไม่เป็นอนิจจัง  ไม่เป็นทุกขัง  และก็ไม่เป็นอนัตตา  เป็นอมตธรรมคือ  ธรรมที่ไม่ตาย  จึงไม่มีการเกิด  แก่  เจ็บ  และตาย  ต่อไปอีก  นั่นก็คือพระนิพพานมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับเบญจขันธ์อันเป็นสังขารธรรมโดยสิ้นเชิง  คือ มีพระวรกายที่ยั่งยืน  (ธุวํ)  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแปรผันต่อไปอีก  เป็น นิจจัง  กลับ มีความสุขที่เหนือความสุขทางโลกทั้งสิ้น  ดังพระบาลีที่ว่า  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ


แปลความว่า  นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง  จึงได้ชื่อว่าเป็น สุขัง  และก็เพราะความ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกแล้วนั้นจึงเป็นตัวตน  (อตฺตา)  เป็นธรรมมีแก่นสาร  (ธมฺมสารํ)  อย่างแท้จริง  เรียกว่า  อัตตา  นั่นเอง

ประการที่ ๔  อายตนะนิพพานนั้น ผู้ใดจะชี้หรือกำหนดที่ตั้งให้ผู้อื่นรู้ตาม  ว่า ตั้งอยู่ที่ไหนอย่างไร  ก็ไม่ได้  เพราะอายตนะนี้จะสามารถเข้าถึง   เห็นได้  สัมผัสรู้ได้  ก็แต่โดยอายตนะที่ละเอียดเสมอกัน   คือ ธรรมกายที่สุดละเอียดเท่านั้น  ลำพังแต่กายมนุษย์ละเอียด  กายทิพย์หยาบ  ทิพย์ละเอียด  กายรูปพรหม  รูปพรหมละเอียด  และกายอรูปพรหม  อรูปพรหมละเอียด     ก็เข้าถึงไม่ได้และการที่จะเข้าถึงอายตนะที่ว่านี้  จะกระทำได้ก็แต่โดยการปฏิบัติธรรม  โดยมัชฌิมาปฏิปทา  คือ  อริยมรรค มีองค์  ๘  ประการ  หรือจะกล่าวโดยย่อ  ก็ได้แก่  ศีล  สมาธิ  และปัญญาเท่านั้น


ในทางปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติภาวนาธรรม ชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์  โดยรวมใจหยุดนิ่งถูกส่วน  ก็จะถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์   หรือดวงปฐมมรรคเสียก่อน  เมื่อหยุดในหยุดต่อไปอีก  ก็จะถึงดวงอธิศีล  ดวงอธิจิต  และดวงอธิปัญญา   ดวงวิมุตติ   และ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ตามลำดับ   แล้วก็จะถึงกายมนุษย์ละเอียด   เมื่อถึงแล้วก็ดำเนินไปในแบบเดิมอีก  ผ่านกายโลกิยะ อีก ๖  คือ  กายทิพย์หยาบ  ทิพย์ละเอียด  กายรูปพรหม  รูปพรหมละเอียด  และ กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด  แล้วจึงจะถึงกายธรรมที่เรียกว่า   ธรรมกาย  ซึ่งเป็นกายที่  ๙  และถึงกายธรรมที่ละเอียด  ๆ  เป็นกายที่  ๑๐  ๑๑  ๑๒.....ต่อ ๆ ไป  จนถึงธรรมกายพระอรหัตละเอียด   รวมเป็น  ๑๘  กายเป็นอย่างน้อย  เมื่อถึงธรรมกายพระอรหัตที่ละเอียด  ๆ แล้ว  ก็ให้ธรรมกายนั้นเอง  เจริญฌานสมาบัติ  ๘  โดยอนุโลมและปฏิโลม    ๗  เที่ยว  หรือทำนิโรธดับสมุทัย   ปหาอกุศลจิตของกายในภพ  ๓  จนเป็นแต่ธรรมกายที่ใสบริสุทธิ์ล้วน ๆ ละเอียดที่สุด  ปล่อยอุปาทานในขันธ์  ๕  และความยินดีในฌาน  ธรรมกายที่หยาบก็ตกศูนย์  ธรรมกายที่สุดละเอียดก็จะปรากฏในอายตนะนิพพานได้


แปลว่า  จะสามารถรู้เห็นอายตนะนี้ได้ ก็แต่โดยธรรมปฏิบัติ  รวมใจให้หยุดในหยุด  กลางของหยุดในหยุด  ลงไปที่กลางศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายในกาย   นับตั้งแต่กายมนุษย์ไปจนถึงกายธรรมพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุดนั่นเอง


ด้วยเหตุนี้  จึงกล่าวว่า  อายตนะนิพพานนั้น  ไม่สามารถจะชี้หรือกำหนดให้ผู้อื่นรู้เห็นตามได้ว่า  ตั้งอยู่กับอะไร  ที่ตรงไหน  เหมือนอย่างเราชี้หรือกำหนดให้ผู้อื่นรู้เห็นตามว่า  ของสิ่งนั้นตั้งอยู่บนหรือในอะไร  เป็นต้น  หรือจะชี้ไปว่าอายตนะนี้ตั้งอยู่บนท้องฟ้าหรือบนพื้นดินหรือบนดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ก็ไม่ใช่


พระนิพพาน  คือ  ธรรมกาย  ที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้วนี้  เป็นอมตธรรมคือ ธรรมที่ไม่ตายจึงไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอย่างเช่นที่ยังติดอยู่ในสังสารจักรต่อไปอีก  และก็ไม่มีกิจกรรมอื่นใดที่จะต้องกระทำต่อไปอย่างเช่นที่สัตว์โลกทั้งหลายในภพ   ๓  เขามี  เขาทำกัน   แม้แต่การแสวงหาพระนิพพาน  หรือพรหมจรรย์   ก็มิต้องกระทำอีก  นอกจากทรงประทับเข้านิโรธ  สงบตลอดกันหมดทุกพระองค์   จึงไม่มีความเป็นไปใด ๆ ในอายตนะนี้


และเนื่องจากพระนิพพาน  เป็นธรรมขันธ์ที่เป็นวิราคธาตุ  วิราคธรรม  และประทับเข้านิโรธสงบหมดดังที่กล่าวมาแล้ว  จึงไม่มีอารมณ์รัก  โกรธ  เกลียด  ชอบ ชัง  สุข หรือ  ทุกข์  อย่างที่ชาวโลกเขามีกัน  ลักษณะดังที่กล่าวนี้    ตรงกับบาลีพระพุทธภาษิตที่ว่า



“อปฺปติฏฐํ  อนฺปวตฺตํ  อนารมฺมณเมว  ตํ เอเสวนฺโต  ทุกฺขสฺส.”


แปลความว่า
“อายตนะนั้น  หาที่ตั้งมิได้  มิได้เป็นไป  หาอารมณ์มิได้  นั่นแล  ที่สิ้นสุด แห่ง
ทุกข์.”




นอกจากนี้ยังมีบาลีพระพุทธภาษิต  กล่าวอีกว่า

“คมฺภีโรจายํ   ธมฺโม  ทุทฺทโส   ทุรานุโพโธ   สนฺโต  ปณีโต  อตกฺกาวจโร  นิปุโณ  ปณฺฑิตเวทนิโย.”



แปลความว่า “ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยาก ตรัสรู้ได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต คิดเดาไม่ได้ ละเอียด  เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้.”


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  ก็เป็นเรื่องราวของอายตนะนิพพาน  ว่ามีลักษณะเช่นไรตามที่รู้เห็นจากการปฏิบัติธรรมตามแนววิชชาธรรมกาย  ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ  ได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องอายตนะนี้ในที่อเนกสถาน

ที่สถิตอยู่ของผู้ทรงสภาวะนิพพาน


คือสถานที่อันไม่จุติ  เป็นสถานที่ๆ พระอรหันต์ไปแล้วไม่เศร้าโศก นี้ได้ในพระพุทธดำรัส,  ภาษิตของพระธรรมสังคาหกาจารย์,  เถรคาถาและอรรถกถา  ว่ามีปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา  มากแห่งด้วยกัน  ดังต่อไปนี้


(๑) พระพุทธดำรัส  ว่า

สทฺธา  พีชํ  ตโป  วุฏฺฐิ       ปญฺญา  เม  ยุคนงฺคลํ
หิริ  อีสา  มโน  โยตฺตํ        สติ  เม  ผาลปาจนํ
กายคุตฺโต  วจีคุตฺโต          อาหาเร  อุทเร  ยโต
สจฺจํ  กโรมิ  นิทฺทานํ          โสรจฺจํ  เม  ปโมจนํ
วิริยํ  เม  ธุรโธรยฺหํ          โยคกฺเขมาธิวาหนํ
คจฺฉติ  อนิวตฺตนฺตํ             ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจติ
เอวเมสา  กสี  กฏฺฐา          สา  โหติ  อมตปฺผลา
เอตํ  กสึ  กสิตฺวาน             สพฺพทุกฺขา  ปมุจฺจตีติ.

สํ.ส. ๑๕/๖๗๔/๒๕๔ , ขุ.สุ. ๒๕/๒๙๘/๓๔๑


แปลความว่า :  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ศรัทธาของเราเป็นพืช  ความเพียรของเราเป็นฝน  ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ  หิริของเราเป็นงอนไถ  ใจของเราเป็นเชือก  สติของเราเป็นผาลและปฏัก  เราคุ้มครองกาย  คุ้มครองวาจาแล้ว  เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร  เราทำการดายหญ้า (คือวาจาสับปรับ) ด้วยคำสัตย์  ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน  ความเพียรของเราเป็นสภาพนำธุระไป  นำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ  ไปไม่หวนกลับมา(ถึงสถานที่ที่เป็นอสังขตธรรม  นามว่าพระนิพพาน) ที่ (ชาวนาเช่นเราตถาคต) ไปแล้วไม่เศร้าโศก  เราทำนาอย่างนี้  นาที่เราทำนั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ  บุคคลทำนานี้แล้ว  ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.


ตามพระพุทธดำรัส  ว่า  “ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจติ” นี้   พระพุทธโฆษาจารย์ ได้อรรถาธิบายไว้ในคัมภีร์ สารัตถัปปกาสนี และ ปรมัตถโชติกา มีข้อความที่คล้ายกัน  คือ :-


ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจติ   ยตฺถ  สติปาจเนน  เอตํ  วิริยธุโธรยฺหํ  โจเทนฺโต  คนฺตฺวา มาทิโส  กสฺสโก  อโสโก  วิรโช  หุตฺวา  น  โสจติ,  ตํ  สพฺพโสกสลฺลสมุคฺฆาตภูตํ  นิพฺพานํ  นาม  อสงฺขตํ  ฐานํ  คจฺฉติ.


แปลความว่า   :  บาทพระคาถาว่า   ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจติ  (เป็นที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก) พึงทราบอธิบายว่า   ชาวนาเช่นเราตถาคต  เตือนการนำธุระไปด้วยความเพียรนั่นด้วยปฏักคือสติ  เป็นผู้ไม่เศร้าโศก  ปราศจากมลทิน  ไปสถานที่ใด  แล้วไม่เศร้าโศก,   ย่อมถึงสถานที่นั้น  ที่เป็นอสังขตธรรมนามว่าพระนิพพาน  อันเป็นสถานที่ถอนลูกศร  คือความโศกทั้งปวง.

(๒) พระพุทธดำรัส   ว่า

อหึสกา  เย  มุนโญ           นิจฺจํ  กาเยน  สํวุตา
เต  ยนฺติ   อจฺจุตํ  ฐานํ        ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจเร.

ขุ.ธ. ๒๕/๒๗/๔๕


แปลความว่า  :  พระมุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน  สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์  พระมุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่อันไม่จุติที่(พระอเสขมุนีทั้งหลาย) ไปแล้ว  ไม่เศร้าโศก.



พระพุทธดำรัส นี้   พระพุทธโฆษาจารย์ ได้อรรถาธิบายไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา   ว่า

อจฺจุตนฺ ติ   สสฺสตํ.  ฐานนฺ ติ   อกุปฺปฏฺฐานํ  ธุวฏฺฐานํ.  ยตฺถา ติ  ยสฺมึ  คนฺตฺวา   น  โสจนฺติ  น  วิหญฺญนฺติ,  ตํ   นิพฺพานฏฺฐานํ  คจฺฉนฺตี ติ  อตฺโถ.

ธมฺม. อฏ. ๖/๑๐๘


แปลความว่า  : บทว่า   อจฺจุตํ   คือเที่ยง.  บทว่า   ฐานํ   ได้แก่  สถานที่ อันไม่กำเริบ  คือ   สถานที่อันยั่งยืน.   บทว่า   ยตฺถ   เป็นต้น  มีความว่า  พระมุนีทั้งหลายย่อมไปสู่ สถานที่  คือพระนิพพานที่(พระอเสขมุนีทั้งหลาย)ไปแล้วไม่เศร้าโศก   คือ  ไม่เดือดร้อน.


(๓)   พระพุทธดำรัส  ว่า


อตฺถิ  ภิกฺขเว  ตทายตนํ  ยตฺถ  เนว  ปฐวี  น  อาโป  น  เตโช  น  วาโย  น  อากาสานญฺจายตนํ  น  วิญฺญายตนํ  น  อากิญฺจญฺญายตนํ  น  เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ  นายํ  โลโก  น  ปรโลโก  น  อุโภ  จนฺทิมสุริยา  ตมหํ  ภิกฺขเว  เนว  อาคตํ  วทามิ  น  คตึ  น  ฐิตึ  น  จุตึ  น  อุปฺปตฺตึ  อปฺปติฏฐํ  อปฺปวตฺตํ  อนารมฺมณเมว  ตํ  เอเสวนฺโต  ทุกฺขสฺส.

ขุ.อุ. ๒๕/๑๕๘/๒๐๖-๒๐๗


แปลความว่า  :  ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ(นิพพาน)นั้นมีอยู่  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  อากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ  อากิญจัญญายตนะ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  โลกนี้  โลกหน้า  พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะ(นิพพาน)ใด  ภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะ(นิพพาน) นั้น  ว่าเป็นการมาเป็นการไป  เป็นการตั้งอยู่  เป็นการจุติ  เป็นการอุบัติ  อายตนะ(นิพพาน) นั้น  หาที่ตั้งอาศัยมิได้  มิได้เป็นไป  หาอารมณ์มิได้  นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์.



-->>  อธิบาย
 


คำว่า “อายตนะ”  แปล/หมายความว่า  “ที่สถิตอยู่” (วาสฏฺฐาน) ดังปรากฏในพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา  ว่า


อายตน  ศัพท์เป็นไปในอรรถ  คือ  ๑. ประเทศที่เกิด (สญฺชาติเทส),  ๒. เหตุ (เหตุ) , ๓. ที่สถิตอยู่ (วาสฏฺฐาน), ๔. บ่อเกิด (อากร), ๕. ที่ประชุม (สโมสรณฏฺฐาน),  ๖. ยังบท  ให้เต็ม (ปทปูรณ)

(พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  วัดราชบพิธ, พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา,  พิมพ์ครั้งที่ ๓ [กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐], หน้า ๒๒๖)


ส่วนคำว่า  “คนฺตฺวา (ไปแล้ว)”  ในบาทคาถา  “ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจติ  หรือ  ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจเร”  เป็นคำที่ระบุถึงคำว่า  “อจฺจุตํ  ฐานํ”  ในบาทคาถาก่อนว่าเป็น  “สถานที่”  เนื่องจากกิริยาการไปเป็นสภาพที่เกี่ยวข้องกับสถานที่  ถ้าไม่ปรากฏมีสถานที่ที่จะไป  พระพุทธองค์จะไม่ตรัสคำว่า  “คนฺตฺวา”  เข้ามาในบาทพระคาถานี้เลย


ดังนั้น  พระอรรถกถาจารย์จึงได้อรรถาธิบายพระพุทธพจน์นี้ว่า  “นิพฺพานํ  นาม  อสงฺขตํ  ฐานํ  คจฺฉติ  (ชาวนาเช่นเราตถาคต  ย่อมถึงสถานที่อันเป็นอสังขตธรรม  นามว่าพระนิพพาน)”  และว่า  “นิพฺพานฏฺฐานํ  คจฺฉนฺติ (พระมุนีทั้งหลายย่อมไปสู่สถานที่  คือพระนิพพาน)”


การไปในความหมายนี้  มิใช่กิริยาไปที่ปรากฏมีในสังขาร/สังขตธรรม (ธรรมที่เป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ  กามาวจรภูมิ  รูปาวจรภูมิ  และอรูปาวจรภูมิ  เพราะเป็นกิริยาการไปที่เกี่ยวเนื่องด้วยสังขาร/สังขตธรรม  เช่น  การไปจากสถานที่หนึ่งสู่สถานที่หนึ่ง  หรือการไปด้วยฤทธิ์ที่มีฌานสมาบัติเป็นบาทเป็นต้น)  แต่เป็นการไปด้วยญาณธรรมกายของพระอเสขมุนีทั้งหลายนั่นเอง.


อนึ่ง  ตามพระพุทธดำรัสที่ยกมาแสดงไว้นี้  พระพุทธองค์ตรัสหมายถึงสถานที่สถิตอยู่ของพระนิพพานธาตุ  อันเป็นอมตธรรมของพระอเสขมุนี  คือของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งดับเบญจขันธ์แล้วเข้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นั่นเอง


พระนิพพานนั้น  เป็นสภาวะที่สูญแต่กิเลส  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  และสูญจากสังขารเท่านั้น  จึงชื่อว่า  “อัคคสูญ”  คือ  ความสูญอันเป็นเลิศจากตน(โลกิยอัตตา)  และสิ่งที่เนื่องด้วยตนนั้น  และอีกอย่างหนึ่ง  คือสูญจากสังขาร (ความปรุงแต่ง) ทั้งปวง (ปฏิสํ. อฏ. ๒/๒๗๙) นี้ได้  ในกรณีพระอเสขมุนีผู้บรรลุ  “สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”  แต่ยังครองเบญจขันธ์อยู่  และชื่อว่า  “ปรมัตถสูญ”  คือความสูญอันเป็นประโยชน์สูงสุดเพราะไม่มีสังขารทั้งปวง(ปฏิสํ. อฏฺ. ๒/๒๘๐)  กล่าวคือ  ไม่มีทั้งความปรุงแต่งและทั้งเบญจขันธ์   นี้ได้ในกรณีพระอเสขมุนีผู้ดับเบญจขันธ์  และเข้าปรินิพพานด้วย  “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”  อันเป็นอมตธรรม  ที่ไม่มีทั้งความ  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  อีกต่อไป  จึงชื่อว่า  เป็นสภาพ “เที่ยง (นิจจํ)”  “เป็นบรมสุข (ปรมํ  สุขํ)” และ   “ยั่งยืน/มั่นคง (ธุวํ/สสฺสตํ)”


พระนิพพานธาตุ  ผู้ทรงสภาวะนิพพาน  หาได้สูญสิ้นหมดไปด้วยไม่  อุปมาดังเรือนว่าง  หม้อว่าง  มิได้หมายความว่า  เรือนและหม้อไม่มี  คือสูญสิ้นหมดไป  เพียงแต่ว่า  เรือนหรือหม้อนั้น  ว่างจากสิ่งอื่นอันไม่มีแก่นสารสาระในความเป็นเรือนหรือหม้อนั้น  เท่านั้น  (ดูอรรถกถาธิบาย    ปฏิสํ.  อฏ.  ๒/๒๗๘-๒๗๙)


เมื่อมีนิพพานธาตุ  ผู้ทรงสภาวะนิพพาน  อันเป็นอมตธรรม  ก็จักต้องมีที่สถิตอยู่ของพระนิพพานธาตุนั้นด้วย   เพราะเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า   “ยตถฺ  คนฺตฺวา  น  โสจติ   และ เตยนฺติ  อจฺจุตํ  ฐานํ  ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจเร”


สถานที่นั้นอยู่พ้นภพภูมิอันเป็นโลกิยะทั้งสิ้น   จึงชื่อว่า   “โลกุตตรภูมิ”  อันไม่มีภพภูมิใด  ทั้งไม่มีโลกนี้  โลกหน้า  และทั้งไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้ง ๒  ในอายตนะ (นิพพาน) นั้น


การเข้าถึง   และ   รู้-เห็นอายตนะ (นิพพาน) นั้น  ได้ก็แต่โดยด้วยอายตนะ (เครื่องเชื่อมต่อ) ที่ละเอียดเสมอกัน   ได้แก่  ญาณธรรมกายที่ละเอียด  บริสุทธิ์ผ่องใส  ตั้งแต่ระดับโคตรภูญาณขึ้นไป  ถึงธรรมกายที่บรรลุมรรคผลนิพพาน (ธาตุ) แล้วเท่านั้น  อายตนะอื่น  ได้แก่  จักขุวิญญาณของมนุษย์  ทิพย์  พรหม  อรูปพรหม  ไม่อาจเข้าถึง  และรู้-เห็นอายตนะนี้ได้เลย   พระพุทธองค์จึงได้ตรัสมีคำว่า


อธิคโต  โข  มยายํ  ธมฺโม  คมฺภีโร  ทุทฺทโส  ทุรนุโพโธ  สนฺโต  ปณีโต  อตกฺกาวจโร  นิปุโณ  ปณฺฑิตเวทนีโย.

วินย. ๔/๗/๘


แปลความว่า   :   ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้แล  เป็นสภาพลึกซึ้ง  เห็นได้ยาก  ตรัสรู้ตามได้ยาก  เป็นธรรมสงบระงับ  ประณีต  ไม่เป็นวิสัย  ที่หยั่งลงได้ด้วยตรรกะ  เป็นธรรมละเอียด  อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.   ดังนี้เป็นต้น

(๔)    พระธรรมสังคาหกาจารย์   ว่า

เอวํ  วินีตา  สทฺธมฺเม        มาตุคามาปิ  อีตรา
ตา  ยนฺติ   อจฺจุตํ  ฐานํ       ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจเร.

วิ. ๗/๖๑๓/๓๗๘

แปลความว่า   :  แม้มาตุคามเหล่าอื่น  ที่ทรงฝึกแล้วในพระสัทธรรมอย่างนี้  พวกเธอย่อมไป สู่สถานที่อันไม่จุติ  ซึ่งไปแล้วไม่เศร้าโศก.


(๕)   พระโคตมเถระ   ว่า

วธํ  จริมฺห  เต  กาม            อนณาทานิ  เต  มยํ
คจฺฉามทานิ  นิพฺพานํ        ยตฺถ  คนฺตวา  น  โสจติ.

ขุ.เถร. ๒๖/๒๖๖/๒๘๙

แปลความว่า  :  ดูก่อนกาม  เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อฆ่าท่าน  บัดนี้เราไม่เป็นหนี้ท่านอีก  บัดนี้   เราไปถึงพระนิพพานอันเป็นสถานที่ที่พระอริยบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก.


(๖)  มัณฑุกเทพบุตร  กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า   ว่า

เย  จ  เต  ทีฆมทฺธานํ       ธมฺมํ  อสฺโสสุ  โคตม
ปตฺตา  เต  อจลฏฺฐานํ      ยตฺถ  คนฺตฺวา  น  โสจเร.

ขุ.วิมาน. ๒๖/๕๑/๙๐

แปลความว่า  : ข้าแต่พระโคดม  ก็ชนเหล่าใดได้ฟังธรรมของพระองค์สิ้นกาลนาน  ชนเหล่านั้นพึงบรรลุ (พระนิพพาน)  อันเป็น สถานที่ไม่หวั่นไหว  ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก.


คำว่า   “อจลฏฺฐานํ”   นี้   พระธรรมปาละเถระ ได้อรรถาธิบายไว้ในคัมภีร์ ปรมัตถทีปนี   ว่า

อจลฏฺฐานนฺติ  นิพฺพานํ.

วิมาน.อฏ ๒๕๒

แปลความว่า : บทว่า   อจลฏฺฐานํ  (สถานที่ไม่หวั่นไหว) คือ   พระนิพพาน.

ข้อมูลจาก  หนังสือทางมรรคผลนิพพาน  ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน  โดยพระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 215489เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท