ลีลาปรินิพพาน...


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ลีลาปรินิพพาน



ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน  พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำธรรมมิกถาบทหนึ่งแก่ภิกษุทั้งหลายเป็นสำคัญซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง



“ศีลมีอยู่ด้วยประการฉะนี้  สมาธิมีอยู่ด้วยประการฉะนี้  ปัญญามีอยู่ด้วยประการฉะนี้  สมาธิอันศีลอบรมแล้วมีผลมากมีอานิสงส์มาก  ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วมีผลมากมีอานิสงค์มาก  จิตอันปัญญาอบรมแล้วก็หลุดพ้นด้วยดีโดยแท้จากอาสวะทั้งหลายกล่าวคือกามาสวะ ภาสวะ  อวิชชาสวะ  ดังนี้”



เท่ากับทรงเน้นสรุปในการประพฤติปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นสู่พระนิพพานแดนเกษม  เป็นปัจฉิมบทด้วย  ศีล   สมาธิ   ปัญญา  จิต  ญาณ เป็นองค์สำคัญที่จะแปรสภาพสู่  ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์   วิมุตติขันธ์   วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ เป็นการดับเบญจขันธ์   รูป  เวทนา สังขาร  วิญญาณได้อย่างสิ้นเชิง   โดยหลุดขาดจากอาสวะ  3  (สภาวะอันหมักดองสันดาน, สิ่งที่มอมพื้นจิต,  กิเลสที่ไหลซึมซ่านไปย้อมใจเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ)  คือหลุดขาดจากกามาสวะ   (อาสวะคือกาม)   ภวาสวะ   (อาสวะคือภพ)   อวิชชาสวะ  (อาสวะคืออวิชชา)   อย่างสิ้นซาก



และได้ตรัสพุทธพจน์เกี่ยวกับ   “ความตาย  ความสลาย”   ไว้เป็นสำคัญ


“คนเหล่าใดทั้งเด็กผู้ใหญ่  ทั้งพาล  ทั้งบัณฑิต  ทั้งมั่งมี   ทั้งขัดสน   ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า  ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำทั้งเล็กทั้งใหญ่  ทั้งสุกทั้งดิบ  ทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุดฉันใด  ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น”

(พระไตร.อรรถ.แปลมหามกุฏ  เล่มที่ 13  หน้า 290-291)


“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก  ผู้ใหญ่  โง่  ฉลาด   มั่งมี  และยากจน  ล้วนต้องตาย  ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว   เล็กบ้างใหญ่บ้าง   สุกบ้าง   ดิบบ้าง   ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด”
(พระไตร.ภาษาไทย  มหาจุฬาลงกรณ์  เล่ม 10  หน้า  131 - 132)



สัตว์ทั้งหลายตายดับทั้งนั้น  แม้บัณฑิตคือผู้ฉลาด  ผู้มีปัญญา  นักปราชญ์   ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาล้วนต้องตายต้องดับทั้งสิ้น


แม้กระทั่งองค์สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าในนามรูปเบญจขันธ์แห่งสัตว์โลก   ภาคสอุปาทิเสสนิพพานธาตุก็ต้องมีอันดับไปในที่สุดด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ   เป็นการดับสิ้น  ละขาดจากขันธ์ 5  อันเป็นอัตตาตัวตนอย่างสิ้นเชิง


แต่พระพุทธองค์มิได้ทรงตายเพราะกายแตกแฉกเช่นสัตวโลกทั้งหลายทั่ว ๆ  ไป  พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยมหาสติในพุทธวิสัยอันมิมีใครจะเทียบได้  ทรงดับเบญจขันธ์แห่งนามรูป  คือ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ทรงดับเบญจขันธ์อันกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวแห่งศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตติขันธ์  วิมุตติญาณทัสสนขันธ์  ด้วยพุทธสติในฌานสมาบัติ  8  นิโรธสมาบัติ  1  แล้ว ปฏิโลมย้อนกลับมาถึงปฐมฌาน  ทรงออกจากปฐมฌานแล้วเลื่อนขึ้นโดยอนุโลมไปตามลำดับจนถึงระหว่างรูปฌานและอรูปฌาน  (ฌาน 4  และฌาน  5 )  ขึ้นสู่ญาณวิปัสสนาแล้วจึงเสด็จปรินิพพาน  ดังลีลาพิสดาร  (อย่างละเอียด)   ต่อไปนี้

 

ลีลาปรินิพพาน



“พระปัจฉิมวาจา”


ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า



“ดูก่อนภิกษุทั้งกลาย   บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า  สังขารทั้ง  หลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด  นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต”


ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าปฐมฌาน   ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าทุติยฌาน  ออกจากทุติยฌานแล้วเข้าตติยฌาน  ออกจากตติยฌานแล้วเข้าจตุตถฌาน   ออกจากจตุตถฌานแล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ  ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้วเข้า วิญญาณัญจายตนะ   ออกจากวิญญาณณัญจายตนสมาบัติแล้วเข้าอากิญจัญญายตนะ  ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้วเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ   ออกจากเนวสัญญานาสัญยายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ


ครั้งนั่นท่านพระอานนท์ได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วหรือ   ท่านพระอนุรุทธะกล่าวว่าอานนท์ผู้มีอายุ  พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จปรินิพพาน  ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ


ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วเข้าเนวสัญญายตนะ  ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้วเข้าอากิจจัญญายตนะ  ออกจากอากิญจัญญายตน สมาบัติแล้วเข้าวิญญาณัญจายตนะ   ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้วเข้าอากาสานัญจายตนะ   ออกจากอากาสานัญจายตน  สมาบัติแล้วเข้าจตุตถฌาน  ออกจากจตุตถฌานแล้วเข้าตติยฌาน  ออกจากตติยฌานแล้วเข้าทุติยฌาน  ออกจากทุติยฌานแล้วเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าทุติยฌาน   ออกจากทุติยฌานแล้วเข้าตติยฌาน  ออกจากตติยฌานแล้วเข้าจตุตถฌาน  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากจตุตถฌานแล้วเสด็จปรินิพพานในลำดับ   (แห่งการพิจารณาองค์จตุตฌานนั้น)



-->>  จะเห็นว่าพระมหาสติของพระพุทธเจ้าทรงบริบูรณ์อยู่ครบถ้วนทุกระยะตลอดเวลาด้วยอนุปุพพปฏิปทา  (การปฏิบัติตามลำดับ)   ในอนุปุพพวิหาร  ธรรมเครื่องอยู่ที่ประณีตต่อกันขึ้นไปโดยลำดับนับตั้งแต่รูปฌาน  4  ขึ้นไปสุดอรูปฌาน  4  (สมาบัติ  8 )  ต่อขึ้นไปอีกถึงนิโรธสมาบัติ เป็นอนุปุพพวิหารสมาบัติ  9  ทรงเข้าถึงสภาวะสงบประณีตสุดยอดแล้วทรงถอนย้อนกลับลงมาพิจารณาองค์ฌานแต่ละองค์ตั้งแต่ฌาน  8  ลงมาถึงฌาน 1  และทรงเข้าฌานที่สูงขึ้นไปตามลำดับอีกวาระหนึ่งจนถึงจตุตถฌาน   (ฌาน  4)  พิจารณามรรคผลแห่งจตุตถฌาถ่องแท้แล้วออกจากจตุตถฌาน   ทรงอยู่ที่ระหว่างรูปฌาน และอรูปฌาน  (ระหว่างฌาน  4  และฌาน  5)  และระหว่างฌานกับ ญาณ  คือ ปัจจเวกขณญาณ  (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวนตรวจตรามรรคและนิพพานเป็นญาณวิปัสสนา)   ดุจเป็นเส้นทางสายกลาง เป็นมัชฌิมมรรค   หรือมัชฌิมาปฏิปทา  ทรงหยั่งลงสู่ภวังค์เป็นภวังคจิตที่เป็นอัพยากฤต  พื้นฐานจิตกลาง ๆ   ปราศจากอารมณ์และไร้แล้วซึ่งกิเลสทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นปัจจัยแห่งสังขารขันธ์
จึงดับสิ้นขันธ์  5  อันได้แก่  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ และสังขาร  3 คือ  วจีสังขาร   กายสังขาร   จิตตสังขาร  ไม่มีเหลือเลย  เข้าสู่ปรินิพพาน เป็นปรินิพพานอายตนะด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ   (ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ)   เป็นที่สุด



ปรินิพพานอายตนะ  (เครื่องรู้ในนิพพาน)

ในนิพพานมีอายตนะดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้ว


“อายตนะนั้นมีอยู่  ในอายตนะนั้นไม่มี  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ไม่มีอากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ   อากิญจัญญายตนะ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  ไม่มีโลกนี้  ไม่มีโลกอื่น ไม่มีพระจันทร์   ไม่มีพระอาทิตย์ทั้งสอง  เราย่อมกล่าวอายตนะนั้นว่ามิใช่การมา  มิใช่การไป  มิใช่การตั้งอยู่  มิใช่การจุติ   มิใช่การเกิดขึ้น   ไม่มีที่ตั้ง   ไม่มีความเป็นไป  ไม่มีอารมณ์นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์”



พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานมิได้สิ้นพระชนม์  (ตาย)  แบบสัตว์โลกทั้งหลาย  เป็นการดับขันธ์ไปตามกิเลสตัณหาซึ่งดับไปก่อนแล้วตั้งแต่ตรัสรู้  พระองค์ทรงดับขันธ์ด้วยพระสติที่กำกับกำหนดอยู่ในโลกกุตตรธรรมทุกระยะด้วยปรินิพพานญาณ ขันธ์ทั้งหลายดับไปโดยธรรมเพราะปราศจากกิเลสตัณหาอันเป็นที่ตั้งแห่งสังขารขันธ์อีกต่อไป  มีใช่เป็นความแตกแห่งขันธ์เช่นการตายของสัตว์โลก  จริงอยู่การดับขันธ์ของพระองค์เป็นการดับเบญจขันธ์เช่นเดียวกับการตายของสัตวโลก  แต่การตายของสัตวโลกจะต้องมีการเกิดใหม่รับช่วงสืบทอดกันไป  ส่วนการดับขันธ์ของพระองค์เป็นการดับเข้าสู่ปรินิพพาน ไม่เกิดอีกจึงไม่ใช่เป็นการตาย



ตามความเป็นจริง   พระพุทธเจ้าเริ่มเป็นพระพุทธเจ้าตั้งแต่ตรัสรู้  พระพทธองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า   คือเป็นพระอรหันต์ที่ตรัสรู้เองโดยชอบตั้งแต่บัดนั้น  ภพ  ชาติ  ของพระองค์ไม่มีอีกแล้ว  ดับลงไปแล้ว  เมื่อชาติ  (การเกิด)  ดับ  ชรามรณะ  (การตาย)  จึงดับ  หรือชรามรณะดับเพราะชาติดับตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท  (การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้นและดับลง)  พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ตายมาตั้งแต่เริ่มเป็นพระพุทธเจ้า
  เมื่อถึงคราวดับขันธ์ในที่สุดเป็นการดับพุทธสรีระที่เสื่อมสลายโดยธรรมชาติและอารมณ์ทั้งปวงจึงไม่ใช่เป็นการตายของพระพุทธเจ้า



ตามอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรแห่งพระไตรปิฎก  อธิบายลีลาปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในตอนสุดท้ายว่า  



“...ในคำนี้ว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากจตุตถฌานในลำดับมาเสด็จปรินิพพานคือในลำดับทั้ง  2  คือในลำดับแห่งฌาน ในลำดับแห่งปัจจเวกขณญาณ


ผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากฌานแล้วหยั่งสู่ภวังค์แล้วปรินิพพานในระหว่างนั้น  ชื่อว่าระหว่างฌานในลำดับ  2  นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากฌานในระหว่างนั้นนั่นแหละ  ชื่อว่าอีก  หยั่งลงสู่ภวังค์แล้วปรินิพพานในระหว่างนั้นนั่นแหละ  ชื่อว่าระหว่างปัจจเวกขณญาณ


แม้ทั้ง 2 นี้ก็ชื่อว่าระหว่างทั้งนั้นก็เพราะผู้มีพระภาคเจ้าเข้าฌาน  เสด็จออกจากฌาน  พิจารณาองค์ฌานแล้วปรินิพพานด้วยภวังคจิตเป็นอัพยากฤตเป็นทุกขสัจจะสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกอย่างต่ำมดดำ  มดแดง  ต้องกระทำกาละด้วยภวังค์จิตที่เป็นอัพยากฤต  เป็นทุกขสัจทั้งนั้นแล....”




อรรถกถานี้แสดงถึงการกระทำกาละ  (การตาย)  ของเหล่าสัตว์ทั้งหลายในโลก  ซึ่งแม้พระพุทธเจ้าหรือพระสาวก   (พระอรหันต์)  ในส่วนที่มีเบญจขันธ์เหลือเช่นเดียวกับสัตว์โลก  ก็เป็นส่วนของสัตวโลก  เช่นกัน  เมื่อถึงที่สุดย่อมเป็นสภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลายเนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยต่อเนื่องเป็นความหมายแห่งทุกขสัจคือทุกข์ในข้อ  1  แห่ง  อริยสัจ  4



-->>  โดยปรมัตถสัจจะ
 ความจริงแม้โดยความหมายสูงสุดพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกซึ่งยังมีเบญจขันธ์เหลือนั้นทรงจิตอยู่ด้วยโลกุตตรจิต  (กุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นอยู่เหนือโลก)  คือจิตของพระอรหันต์ดังได้กล่าวมาแล้ว  แม้ขณะดับขันธ์ซึ่งเป็นไปตามทุกขสัจจะแห่งอริยสัจ  4  นั้นก็ตาม  พระอรหันต์จะไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจอันเป็นความทุกข์ตามความหมายในพระไตรลักษณ์  (อนิจจัง  ทุกขัง   อนัตตา)  แต่ประการใดเลย  เพราะพระอรหันต์ซึ่งแม้จะยังดำรงอยู่ด้วยอินทรีย์  5  (ศรัทธา วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญาในเบญจขันธ์)อันยังจะประสบสิ่งที่น่าพอใจบ้าง   ไม่น่าพอใจบ้าง  เสวยสุขบ้าง  ทุกข์บ้างก็ตามแต่ก็เป็นผู้สิ้นแล้วซึ่ง   ราคะ  โทสะ  โมหะ  แม้ความเป็นทุกข์จากทุขสัจอันเกิดขึ้นจากการถูกบีบคั้นให้ดับสลายจะเข้ากระทบ  แต่จิตพระอรหันต์จะไม่กระเทือนเลย  เป็นภวังคจิต  เป็นกลาง ๆ  ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล  (เป็นอัพยากฤต)  หลุดพ้นสู่ปรินิพพาน  ต่างกับจิตของสัตวโลกอื่นๆ  ที่  ราคะ  โทสะ  โมหะ  ยังไม่สิ้นย่อมมีความเป็นทุกข์  จากทุกขสัจ  เป็นความหลง  เป็นอวิชชา  เป็นปัจจัยให้เกิดอีกต่อไป

พิจารณาบททวนอรรถกถาใน  2  วรรคสุดท้ายที่กล่าวว่า


“ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าฌาน  เสด็จออกจากฌาน  พิจารณาองค์ฌานแล้วปรินิพพานด้วยภวังคจิตเป็นอัพยากฤตเป็นทุกขสัจจะ
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก อย่างต่ำมดดำ  มดแดง   ต้องกระทำกาละด้วยภวังคจิตที่เป็นอัพยากฤตเป็นทุกขสัจทั้งนั้นแล”



ถ้าไม่พิจารณาแยกแยะความหมายของคำใหม่ถ่องแท้ชัดแจ้งปุถุชนทั้งหลายอาจมีความเห็นเข้าใจว่าตามอรรถกถา  2  วรรคสุดท้ายดังกล่าวเป็นเสมือนการยืนยันย้ำว่า   ไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกหรือสัตวโลกอื่น ๆ  ทั้งหลายต้องตายด้วยจิตที่เป็นทุกข์ทั้งนั้น


แต่ความเป็นจริงมิได้หมายความเช่นนั้น


คำว่า  “ทุกขสัจจะ   หรือทุกขสัจ”  ตามอรรถกถาหรือ  “ทุกข์”   ในข้อ  1  แห่งอริยสัจจ  4  ซึ่งมีทุกข์  ทุกขสมุทัย  ทุกขนิโรธ   ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  คำว่าทุกข์ตามข้อ  1  แห่งอริยสัจจ  4  นั้นจะเรียกว่า “ทุกขทุกข์”  ก็ย่อมได้เพราะมีความหมายว่า  “ความเสื่อมและดับไปอันเป็นทุกข์”   ซึ่งตามความหมายอย่างละเอียดในพจนานุกรมประมวลศัพท์ประมวลธรรมพุทธศาสน์ของ  พระธรรมปิฎก  ปยุทธ์  ปยุตโต  กล่าวไว้ว่า


“สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก   สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลายเนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ไม่ขืนต่อตัวมัวเอง (ประการหนึ่ง)  หรือความทุกข์  สภาพที่ทนได้ยาก  สภาวะที่บีบคั้น  ขัดแย้ง   บกพร่อง  ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง (ประการที่สอง )  ได้แก่  ชาติ  ชรา  มรณะ  การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก  การพลัดพรากจากสิ่งที่รักความปรารถนาไม่สมหวัง  โดยย่อว่าอุปาทานขันธ์   5  เป็นทุกข์”  คือความทุกข์อันเป็นทุกข์นั่นเอง


หมายความว่าพระพุทธเจ้า  พระอรหันตสาวกและสัตวทั้งหลายในโลกต้องดับไปหรือตายไปด้วยสภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลายเนื่องจากต้องไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเองเป็นหลักธรรมดาดังที่อรรถกถา แสดงไว้เป็นประการแรกตามพจนานุกรม  พระธรรมปิฎกเท่านั้น


พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์  ซึ่งแม้จะยังมีเบญจขันธ์เหลือก็ดีขันธ์บางอย่างของท่าน  เช่นวิญญาณ  หรือจิตเป็นขันธ์ที่ข้ามพ้นโลกไปแล้ว  เรียกว่า  โลกุตตรจิต
 พ้นทุกข์พ้นสุขไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตรัสรู้ไม่มีความทุกข์สุขเหลืออยู่เนื่องจากสิ้นแล้วซึ่งราคะ   โทสะ  โมหะ  เมื่อถึงคราวดับขันธ์ในที่สุด  แม้ความเป็นทุกข์จากทุกขสัจจะเข้าไปกระทบแต่โลกุตตรจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ก็ไม่กระเทือนเลย


พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จึงไม่มีความเป็นทุกข์ตามประการที่  2  ในพจนานุกรมฯ  พระธรรมปิฎกในขณะดับขันธ์แต่ประการใด



แม้พระพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานเป็นทุกขสัจ   แต่พระพุทธองค์มิได้ทรงเป็นทุกข์เลยขณะดับขันธ์  การดับขันธ์ของพระพุทธเจ้าจึงไม่เป็นการตาย (กระทำกาละ)  เช่นสัตวโลกอื่น ๆ  ซึ่งจะต้องเป็นทุกข์เป็นความหลงทั้งสิ้น  เพราะความตายแปลว่าความเป็นทุกข์  ตามความหมายในอริยสัจ  4  ข้อ  1  และปฏิจจสมุปบาทข้อ  12  


สำหรับบุคคลภายนอกผู้อื่นที่เห็นหรือทราบการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  ปุถุชนที่เลื่อมใสนับถือและภิกษุที่ยังไม่ปราศจากราคะ  (ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์)  ก็พากันเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ  รำพันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเจ้าปรินิพพานเร็วนัก  พระสุคตปรินิพพานเร็วนัก  พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลกอันตรธานเร็วนัก  ปุถุชนและภิกษุที่ยังไม่ปราศจากราคะก็ยังกล่าวว่า



“ปรินิพพานเป็นการอันตรธาน”



ส่วนภิกษุเหล่าใดปราศจากราคะ  ภิกษุเหล่านั้นมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นอยู่  เพียงรำพึงสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ   ข้อนั้นจะหาได้ในสังขารนี้แต่ที่ไหน


พระอรหันตสาวกเป็นต้นว่า  พระมหากัสสปเถระได้แต่เปล่งธรรมสังเวชด้วยความเคารพยิ่งในพระบรมศาสดา  พิจารณาเห็นจริงตามสภาพของสังขารเมื่อมีอันเกิดขึ้นแล้วย่อมมีอันดับไปเป็นธรรมดาแล้ววางใจเป็นปกติได้ด้วยอารมณ์แห่งพระอรหันต์มิได้รำพันรำพึงแต่ประการใด


พระพุทธองค์เพียงแต่เสด็จดับขันธ์อันตราธานจากโลกิยภพเข้าสู่มหาปรินิพพานอันเกษม

พิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาท

“ปฏิจจสมุปบาท”  คือสภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น  การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น   การที่ทุกข์เกิดขึ้น  การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา  หรือสภาพอาศัยปัจจัยดับลงต่อเนื่องกันไป  


เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาในปัจฉิมยามแห่งราตรีตรัสรู้ด้วยอาสวักขยญาณ  (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)  และหลังจากตรัสรู้แล้วเสวยวิมุตติสุข (สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์)  7 สัปดาห์  ณ  บริเวณที่ตรัสรู้และบริเวณใกล้เคียง  เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่เจ็ดเสด็จกลับไปประทับใต้ต้น  อชปาลนิโครธ  (ร่มไม้ไทร)  ซึ่งเคยประทับเมื่อสัปดาห์ที่  5  ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้  คือปฏิจจสมุปบาทและนิพพานอีกวาระหนึ่งแล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรมเป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา (เพื่อให้ทรงแสดงธรรม)


ปฏิจจสมุปบาทธรรมดา  มีองค์คือหัวข้อ  12  ดังนี้

1.  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
2.  เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
3.  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
4.  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ (อายตนะ)  จึงมี
5.  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
6.  เพราะปัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
7.  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
8.  เพราะตัณเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
9.  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
10.  เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
11. เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  จึงมีพร้อม

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้  ในทางกลับกัน การแสดงฝ่ายนิโรธ  (ความดับ)  เป็นปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท  แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์  ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไปดังนี้


1. เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือสังขารจึงดับ
2. เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ
ดับต่อไปเรื่อย ๆ  ตามลำดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ
ความโศก  ความคร่ำครวญ  ทุกข์  โทมนัส  ความคับแค้นใจก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้



พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว  เป็นพระอรหันต์ประเภทสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  คือ
ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ  เรียกว่ากิเลสปรินิพพานดับไปในส่วนที่เป็นกิเลส  เมื่อได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ  ใน 12  ข้อแห่งปฏิจจสมุปบาท ปัจจัยข้อใดที่เป็นกิเลสก็จะดับไปเช่น อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน -->  เป็นกิเลสวัฏฏ์  สังขาร  ภพ  -->  เป็นกรรมวัฏฏ์  อันเกิดขึ้นจากกิเลส  วิญญาณ  นามรูป   สฬายตนะ  (อายตนะ)  ผัสสะ  เวทนา  ชาติ  ชรา  มรณะ  โสกะ   ปริเทวะ   ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส -->  เป็น วิปากวัฏฏ์  ผลของกรรมอันเกิดจากกิเลสในส่วนที่ไม่ใช่ขันธ์หรือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดราคะ  โทสะ  โมหะ  ก็จะดับไป


พิจารณาโดยละเอียด  “ชรามรณะ”  ควรแยกออกเป็น  2  คือ   “ชรา” และ  “มรณะ”   ชราเป็นส่วนของรูปขันธ์  ไม่อาจดับลงไปได้  ก่อนดับขันธปรินิพพานจึงเหลืออยู่  และเมื่อดับขันธ์ดับชรา  จิตของพระอรหันต์เป็นโลกุตตรจิต  แม้จะรู้ความทุกข์นั้นได้จริงอยู่แต่พระอรหันต์ไม่รับเอาความทุกข์ดังกล่าวไว้ในอารมณ์ให้เป็นทุกข์เลยในส่วนที่เป็นมรณะซึ่งเป็นความตายอันเป็นทุกข์  เป็นกิเลส  เป็นราคะ   โทสะ  โมหะ  ย่อมดับไปตั้งแต่ตรัสรู้  จึงกล่าวรวมกันว่า

“เพราะชาติดับ  ชรา  มรณะจึงดับ”


ถึงอย่างไรก็ดี  กองทุกข์ตามปฏิจจสมุปบาท  ตัวที่  12  คือชรามรณะย่อมควบไปกับความโศก  ความคร่ำครวญ  ทุกข์  โทมนัส   ความคับแค้นใจเป็นกิเลสเป็นความหลง  เป็นอวิชชาทำให้เกิดในภพใหม่ต่อไป  เป็นข้อสรุปได้ว่า



“ความตายที่ไม่เป็นทุกข์  หรือที่ไม่เป็นความหลงนั้นไม่มี”

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่มีทุกข์  ไม่มีความหลง  จึงเป็นผู้ไม่มีความตาย



การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์จึงมิใช่เป็นการตาย


แม้พระพุทธองค์จะต้องทรงดับขันธ์ที่คาอยู่เพราะมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  พระองค์ก็ทรงมีปฏิปทา  (ข้อปฏิบัติ)   พร้อมอยู่แล้วดังลีลาอย่างพิสดารในการปรินิพพานอันปรากฏ  มิใช่ปล่อยให้ขันธ์แตกดับไปเองโดยธรรมชาติด้วยปรินิพพานญาณ  แต่เมื่อล่วงเข้าปรินิพพานสมัยพระพุทธองค์ทรงกระทำ   “ปรินิพพานบริกรรม”   ด้วยปรินิพพานญาณเสด็จดับขันธ์อย่างสิ้นเชิง  เป็นทางดำเนินเฉพาะพระพุทธองค์




แม้พระอรหันต์ทั้งหลายก็ดับขันธ์เป็นขันธปรินิพพานเช่นกันแต่วิธีการอาจแตกต่างตามทางปฏิบัติของแต่ละรายที่ดำเนินมาสู่ความเป็นพระอรหันต์
 เช่น  พระอรหันต์ประเภท  สุกขวิปัสสก  ท่านผู้มิได้ฌาน  สำเร็จอรหัตด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วน ๆ   อาศัยเพียงอุปจารสมาธิเจริญวิปัสสนาไปจนถึงที่สุด  แต่เมื่อจะสำเร็จอรหัตนั้นก็เป็นผู้ได้ปฐมฌานโดยธรรม  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วิปัสสนายานิก  หรือ  สุทธิวิปัสสนายานิก  ผู้มีวิปัสสนาล้วน ๆ เป็นยาน  หรือพระอรหันต์ประเภท  สมถยานิก   ผู้มีสมถะเป็นยาน คือเจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต  ดังเช่นองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  การดับขันธ์จึงเป็นไปตามลีลาของพระอรหันต์แต่ละประเภทตามปฏิปทาที่ได้ดำเนินมาดังกล่าวนั้นแต่ก็ด้วยปรินิพพานญาณเหมือนกัน




กล่าวสรุปได้ว่า
 การดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก  รวมถึงพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายมิใช่การตายเช่นสัตวโลกทั้งปวง  เป็นภาวะปรินิพพาน  หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ  เพียงเท่านั้นไม่ควรกล่าวว่าเป็นอาการตายของพระพุทธเจ้าหรือการตายของพระอรหันต์เพิ่มพ่วงเข้ามาด้วย  ดังปรากฏอยู่ตลอดมาเช่นนั้นเทอญ

**************************************************************************

ข้อมูลในการเรียบเรียง  :  ธรรมบัญชา  โดย  บัญช์  บงกช

 

 

หมายเลขบันทึก: 215484เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พลศักดิ์ วังวิวัฒน์

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

"พระนิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรอืไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิตตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไประหว่างรูปฌานและอรูปฌาน เป็นการดับขันธ์ ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง

หลวงปู่ดูลย์ อตโล

"....พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่งคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันปกติของมนุษย์ ครอบพร้อมทั้งสติ และสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป้นภาวะแห่งตนเองอย่างสมบูรณ์ ภาวะนันเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักรวาลเดิม หรือเรียกกว่า นิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ......

สรุป

นิพพานเป็นภาวะระหว่างรูปและอรูป หรือภาวะระหว่างภพต่างๆซึ่งเป็นสมมุติ คือ ภวังคจิต ต้องทำจิตให้มีสติ สัมปขัญญะ มีอารมณ์เป็นกลาง = ไม่มีอารมณ์ใดๆ(อัพยากฤต) แล้วออกไปในระหว่างรูปภพต่างๆ หรือระหว่างรูปภพกับอรูปภพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท