ปรินิพพานญาณ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปรินิพพานญาณ


จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฎฯ อรรถกถาแปลเล่มที่  68  หน้า 895-898  พระสูตรขุททกนิกาย  ปฏิสัมภิทามรรค   เล่มที่  7  ภาคที่  1  กล่าวถึงคำว่า  “ปรินิพพานญาณ”  ไว้ว่า


“ความเป็นไปแห่งตานี้แลของสัมปชาน  บุคคล  (ผู้รู้ตัว)  ผู้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  (ดับกิเลสและดับขันธ์)   ย่อมสิ้นไป  และความเป็นไปแห่งตาอื่นย่อมไม่เกิดขึ้น   ความเป็นไปแห่งหู  ฯลฯ  ความเป็นไปแห่งจมูก  ฯลฯ  ความเป็นไปแห่งลิ้น  ฯลฯ   ความเป็นไปแห่งกาย  ฯลฯ  ความเป็นไปแห่งใจนี้แล  ของสัมปชานบุคคลผู้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุย่อมสิ้นไป   และความเป็นไปแห่งใจอื่นย่อมไม่เกิดขึ้น  ปัญหาแห่งความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ของสัมปชานบุคคลนี้เป็น  “ปรินิพพานญาณ”


ชื่อว่าญาณเพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้นชื่อว่าปัญญาเพราะอรรถรู้ว่าชัด   เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า


“ปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ของบุคคลผู้รู้สึกตัวเป็นปรินิพพาน”



อรรถกถาปรินิพพานญาณ


พึงทราบวินิจฉัยในปรินิพพานญาณนิทเทส  (คำอธิบาย)    ดังต่อไปนี้


....สัมปชาโน   คือผู้รู้สึกตัว เป็นการรู้สึกตัวด้วยสัมปชัญญะ 4  เหล่านี้ คือ

สาตถกสัมปรัชญะ ความรู้ตัวในกิจที่เป็นประโยชน์แก่ตัว  1

สัปปยสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในปัจจัยที่สบาย  1

โคจรสัมปรัชญะ ความรู้ตัวในธรรมอันเป็นโคจร 1

อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในความไม่หลงงมงาย  1


ดังกล่าวข้างต้นคำว่า   ปรินิพพานนั้นเป็นคำกล่าวของท่านพระสารีบุตรเถระ  แสดงถึงปัจจเวกขณญาณ  (ในการดับขันธ์ด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ    (ญาณพิจารณาด้วยความรู้สึกตัวอยู่ทุกขั้นตอนใน  4  ประการดังกล่าว  ขณะที่ทำปรินิพพานบริกรรมเพื่อดับขันธ์  5   อันรัดดึงอยู่เป็นครั้งสุดท้าย )   เป็นการรู้ตัวที่มีจุดหมายแน่นอนเพื่อหลุดพ้นความเกษม  ไม่มีความทุกข์  ไม่มีความหลงเหลือเจือปนอยู่เลย


จึงไม่มีลักษณะเหมือนอาการตายหรือตายแต่ประการใด  กลับตรงกันข้ามกับอาการตายหรือตายของสัตว์โลกทั้งหลายจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว   เมื่อได้พิจารณาเปรียบเทียบลักษณะของอาการตายหรือตายดังต่อไปนี้

 

มรณะ  หรือ ตาย



สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ  ประทับอยู่ที่โคนไม้โพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราที่ตำบลอุรุเวลา   พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด  7  วัน  พอสัปดาห์นั้นล่วงไปพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธิได้ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท อันเป็นอนุโลมด้วยดีตลอดปฐมยามแห่งราตรีดังนี้ว่า   เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้ก็มี   เพราะสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้จึงเกิด  คือเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร  เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป  เพราะนามรูปเป็นปัจจัยมีสฬายตนะ  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัยมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ   เพราะชาติเป็นปัจจัย  จึงมีชรา  มรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์   โทมนัส  และอุปายาส  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้...



เป็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก  ในลักษณะปฏิจจสมุปบาท  คือเมื่อมรณะคือตายจะต้องมีความโศกเศร้า  เป็นทุกข์   เป็นความหลง  เป็นบ่อเกิดแห่งอวิชชาให้ไปเกิดสังขารใหม่อีก  



ตามพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏ ฯ  อรรถกถาแปลเล่มที่  44  หน้า   67  พระสูตร  ขุททกนิกายอุทาน  ภาคที่  3  อรรถกถาปฐมโพธิสูตรไว้ว่า



มรณะ  (ตาย)  มีจุติ   (การเคลื่อนไปเกิดใหม่)  เป็นลักษณะ  มีการพลัดพรากเป็นกิจ  มีการอยู่ปราศจากคติ  (ทางไป)  เป็นอาการปรากฏ


โสกะ  มีความหม่นไหม้ในภายในเป็นลักษณะ  มีความตรมตรอมใจเป็นกิจ  มีความเศร้าโศกเป็นอาการปรากฏ


ปริเทวะ   มีความบ่นเพ้อเป็นลักษณะ  มีระบุถึงคุณและโทษเป็นกิจ  มีความสลดใจเป็นอาการปรากฏ


ทุกข์   มีการบีบคั้นกายเป็นลักษณะ มีความทุรพลทางกายและรั้งเอาโทมนัสทุกข์ทางใจมาเป็นกิจ  มีอาพาธทางกายเป็นอาการปรากฏ


โทมนัส  มีการบีบคั้นจิตเป็นลักษณะ  มีความคับแค้นใจเป็นกิจ  มีพยาธิทางใจเป็นอาการปรากฏ


อุปายาส  มีความตรมตรอมใจเป็นลักษณะ  มีความทอดถอนถึงเป็นกิจ  ปราศจากความแช่มชื่นใจเป็นอาการปรากฏ



ปัจจัยธรรมมีอวิชชาเป็นต้นเหล่านี้



จะเห็นได้ชัดว่า  มรณะ  หรือการตายของสัตว์โลก   เป็นสัมโมหะเป็นความหลง  เป็นความทุกข์เทวษทวี  เป็นอวิชชา  เป็นปัจจัยที่จะนำไปเกิดเป็นสังขารใหม่ต่อไปตามกรรมดีกรรมชั่วอีก


จึงกล่าวได้ว่า  “ปรินิพพาน”  หรือ  “นิพพาน”  ไม่ใช่เป็นอาการตายหรือตาย  แต่กลับมีธรรมลักษณะตรงข้ามกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือฉะนั้น



จิตสุดท้ายของปรินิพพานกับการตาย



จริมกจิต  เป็นจิตดวงสุดท้ายซึ่งจะดับไปเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


จุติจิต  เป็นจิตดวงสุดท้ายแห่งการตายของสัตว์โลกซึ่งจะต้องเคลื่อนจากภพปัจจุบันไปเกิดในภพใหม่  (เป็นปฏิสนธิจิตอีก)



จิตดวงสุดท้ายที่จะดับขันธปรินิพพานกับการตายก็เป็นคนละดวงกัน
  พระอรหันต์ผู้รู้สึกตัวด้วยสัมปชัญญะ  4   เพื่อทำปรินิพพานบริกรรมด้วยปรินิพพานดังกล่าว   จิตดวงสุดท้ายเป็นจริมกจิตซึ่งเมื่อดับไปแล้วไม่มีเชื้อแห่งกรรมแพร่ออกไป   ไม่เป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณธาตุธรรมชาติที่จะเข้าเกาะเกี่ยวได้จึงไม่มีสิ่งใดจะปรุงแต่งนำไปปฏิสนธิในเกิดในภพใหม่ต่อไป



ส่วนจิตดวงสุดท้ายของการตายแห่งสัตว์โลกเป็นจุติจิต  ซึ่งเมื่อดับไปยังมีกรรมแพร่ออกไปให้เป็นที่ตั้งของวิญญาณธาตุที่มีอยู่ทั่วไปเข้าเกาะเกี่ยวปรุงแต่งตามผลของกรรมดีกรรมชั่วนั้นแล้วนำไปปฏิสนธิเกิดในภพใหม่เป็นสัตว์ใหม่ต่อไปอีก



การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าและการดับขันธปรินิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลายจึงมิใช่เป็นอาการตายหรือตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์แต่อย่างใด

พระอานนท์เมื่อยังไม่บรรลุอรหันต์  ก็เข้าใจว่านิพพานคือตาย



คราวเมื่อท่านพระสารีบุตรเถระดับขันธปรินิพพาน  หรือ  นิพพาน  (สมัยพุทธกาลเรียกการนิพพานของพระอรหันต์ว่าปรินิพพาน  บ้าง  นิพพานบ้าง)


สมัยนั้นพระอานนท์ทราบข่าวการปรินิพพานของพระสารีบุตรก็โศกเศร้า  ได้เข้าและกราบทูลพระพุทธองค์ว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  สามเณรจุนทะรูปนี้ได้บอกอย่างนี้ว่าท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว  นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป  แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์  แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เพราะได้ฟังว่าท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว


พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า


-->>  “ดูก่อนอานนท์   สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์   สมาธิขันธ์   ปัญญาขันธ์  วิมุตตติขันธ์  หรือวิมุตญาณทัสสนขันธ์  ปรินิพพานไปด้วยหรือ”


พระอานนท์กราบทูลว่า
“หามิได้พระเจ้าข้า”



เพราะพระอานนท์ยังมีความรู้สึกอยู่ว่าปรินิพพานก็เหมือนการตายนั่นเองจึงเศร้าโศกเสียใจ  พระพุทธองค์จึงทรงกล่าวเตือนสติให้รำลึกได้ว่า  การปรินิพพานมิใช่การตายที่จะต้องโศกเศร้าเสียใจดังที่พระอานนท์เป็นอยู่  จึงทรงยกสภาวะของความเป็นพระอรหันต์ของพระสารีบุตรซึ่งทรงเป็นด้วย  ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์   วิมุตติขันธ์   และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์   ขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า   สภาวะของอรหันตสารีบุตรนั้นยังอยู่ครบถ้วน  มิใช่ตายไปดังที่พระอานนท์เข้าใจว่าปรินิพพานก็คือการตายนั่นเอง




เป็นการทรงให้สติพระอานนท์ว่า  ปรินิพพานมิใช่ตายดังกล่าวที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจ

อริยวาสธรรม
ธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า  10  ประการ




จากหนังสือ  “ปุจฉาวิสัชนา”
  ว่าด้วยการปฏิบัติธรรมซึ่งชมรมพุทธศาสตร์เอสโซ่พิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ  5  ปี  ของชมรม     2521-2526  มีตอนหนึ่งซึ่งผู้ปุจฉา  (ผู้ถาม)  ใช้อักษรย่อว่า  ผ.  ผู้วิสัชนา  (ผู้ตอบ)   ใช้อักษรย่อว่า  ฝ.  ได้ถามตอบกันดังต่อไปนี้



(ผ)   พูดว่า  นึก ๆ  ก็น่าอัศจรรย์ใจเรื่องพระนิพพาน   สังขารทั้งหลายดับไปหมดแล้วจะไม่มีอะไรที่ไม่ใช่สังขาร   คือสิ่งที่เหลืออยู่เพราะพระนิพพานนั้นเป็นวิสังขาร  ข้าพเจ้าไม่ใส่ใจในเรื่องพระนิพพานเพราะนึกถึงแล้วทำใจให้ฉงนสนเท่ห์   ตกลงประพฤติปฏิบัติเรื่อย ๆ  ไปถึงพระนิพพาน เมื่อไหร่ก็รู้ได้เอง



(ฝ)  พูดว่าพระนิพพานไม่ใช่สูญ  คือการเก่าดับไปของใหม่เกิดแทน  เช่นพระโสดาบันละสังโยชน์  3  ได้หมด   ทุกข์มีชาติเป็นต้นก็ดับไปได้มาก  และมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา  เป็นผู้มีอริยมรรคกำหนดแน่แล้ว  มีอันจะตรัสรู้ได้เองในเบื้องหน้าเพราะละสักกายทิฏฐิหมดไปจึงมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแทนและละวิจิกิจฉาหรือสีลัพพตปรามาสหมดไปจึงมีอจลสัทธามาแทน  เช่นพระสกทาคามีทำราคะ   โทสะ  โมหะ  ให้เบาบางจะมาเกิดในโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น  ก็จะถึงที่สุดแห่งทุกข์นี่เรียกว่าทำของเก่าให้หมดไปจึงมีของใหม่เกิดขึ้นแทน   คือคุณธรรมที่ยิ่งกว่าพระโสดาบันขึ้นไป  


ส่วนพระอนาคามีละสังโยชน์  5  เบื้องต่ำได้แล้วเกิดในสุทธาวาสพรหมโลกและจักปรินิพพานในที่นั่นเรียกว่าทำกิเลสและชาติภพซึ่งเป็นของเก่าให้หมดไปของใหม่เกิดขึ้นแทน  คือ ท่านสิ้นไปจากกามราคะสังโยชน์จึงถึงพร้อมด้วยองค์คุณกล่าวคือใจที่สงัดจากกามมาแทนและท่านสิ้นไปจากปฏิฆะสังโยชน์จึงถึงพร้อมด้วยองค์คุณคือ  เมตตา  กรุณา  มาเกิดแทน  


พระอริยสาวกที่ได้บรรลุเสขคุณแล้วชื่อว่าสอุปาทิเสสนิพพาน   ส่วนพระอรหันต์ละตัณหาความอยากสิ้นแล้ว   สิ้นอาสวะอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  ปลงภาระแล้วจึงมีประโยชน์ตนถึงโดยลำดับแล้วสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว   พ้นวิเศษแล้ว   เพราะรู้ทั่วถึงด้วยอาการอันชอบ  ส่วนกิเลสอาสวะที่พระอรหันต์ได้หมดสิ้นเชิงและสิ้นชาติไม่มีปฏิสนธิในภพ   คืออนุปาทิเสสปรินิพพานนี้ชื่อว่าทำของเก่าคือสมุทัยกับทุกข์ให้หมดไปของใหม่เกิดขึ้นแทนนั้นคือถึงพร้อมด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า อริยวาสธรรม  คือ  ธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า   10  ประการ



1.  ปญฺจงฺควิปฺปหิโน  มีองค์  5   คือนิวรณ์อันละเสียแล้ว

2.  ฉฬงฺคสมนฺนาคโต  ประกอบด้วยองค์  6  คือฉฬังคุเบกขา

3.  เอการกโข  มีธรรมรักษาทั่วกันอันหนึ่งคือสติ

4.  จตุราปสเสโน  มีธรรมดั่งพนักเป็นที่อิง  4  อย่าง  คือพิจารณาแล้วจึงส้องเสพ   อดทน   ถ่ายถอน

5.  ปนุณณปจเจกสจโจ  มีของจริงเฉพาะอันหนึ่งบรรเทาเสียแล้ว คือละมิจฉาทิฏฐิ  10  อันเป็นอพยาตวัตถุมีเห็นรูปเที่ยงเป็นต้น

6.  สมวยสฏเฐสโน   มีความแสวงหาอันให้สะเทือนละเสียโดยชอบแล้ว  คือละความแสวงหา   3  อย่าง  กาม 1 ภพ 1  พรหมจรรย์ 1

7.  อนาวิลสงกปโป   มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว   คือละความดำริที่ประกอบด้วยกิเลสกาม  วัตถุกาม   และวิตกที่ประกอบด้วยพยาบาท  และวิเหสา

8.  ปสสทธกายสงขาโร  มีกายสังวร   คือลมอัสสาสะระงับแล้ว คือ  บรรจุจตุตถญาณ

9.  สุวิมุตตจิตโต   มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว   คือมีจิตพ้นจากราคะ  โทสะ  โมหะ  

10.สุวิมุตตปญโญ  มีปัญญาพ้นวิเศษแล้ว  คือรู้ชัดว่า  ราคะ  โทสะ  โมหะ  เราละเสียหมดแล้วดังนี้



(ผ)   กล่าวว่า   สาธุ  ท่านอธิบายธรรมชั้นสูงให้ข้าพเจ้าเข้าใจได้แจ่มแจ้งดีในเรื่องพระนิพพานคือของเก่าได้แก่สมุทัยกับทุกข์ดับไปจึงมีคุณธรรมของใหม่เกิดขึ้นแทน  ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่กำเริบเพราะมิใช่สังขาร   เพราะฉะนั้นพระนิพพานจึงไม่สูญ  ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความสามารถรอบรู้ในธรรมที่ละเอียดเหล่านั้นกะท่านด้วย[/b]


คำว่า  พระนิพพานไม่สูญตามปัจฉาวิสัชนานี้หมายถึง   การดับขันธนิพพานด้วยอนุปทิเสสนิพพานธาตุ  เป็นการสูญสิ้นไปแห่งขันธ์  5  คือ  รูป   เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  แต่มีสิ่งที่ไม่สูญสิ้นไปคือ  ธรรมขันธ์  5  ได้แก่  ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์   วิมุตติขันธ์  และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์   ยังคงอยู่เป็นพระอรหันต์ที่วิสุทธิ์แน่แท้ความครบถ้วนบริบูรณ์


ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า
 ปรินิพพานหรือนิพพานมิใช่การสูญเปล่าซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิแบบอุจเฉททิฏฐิ   ซึ่งมีความเห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้แล้วขาดสูญ  และมิใช่เป็นอาการตายหรือตายซึ่งจะต้องเกิดอีกเหมือนสัตว์โลกที่ยังยึดมั่นอยู่ในอัตภาพไม่รู้จบอันเป็นมิฉาทิฏฐิแบบสัสสตทิฏฐิ   คือความเห็นว่าเที่ยงเช่นเห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้วร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป  ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตที่เรียกว่าวิญญาณแล่นไปท่องเที่ยวไปเกิดใหม่

ทรงสู่นครอมตมหาปรินิพพาน


ในวันปรินิพพาน  (เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส  นิพพานธาตุ)  พระพุทธองค์ทรงรำลึกว่า


“วันนี้  เดี๋ยวนี้เราจะเข้าไปสู่นครอมตมหาปรินิพพานที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์เข้าไปแล้ว”  

(อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร  พระไตรปิฎกมหามกุฏฯ  เล่มที่ 13  หน้า 411)



พระพุทธเจ้าองค์แท้คือองค์ธรรม  ทรงละพุทธสรีระขันธ์  5  เสด็จเข้าสู่อมตมหาปรินิพพานซึ่งเปรียบเหมือนมหานครแห่งความเกษมที่เป็นอมตะ  (แต่ไม่ใช่เป็นนครที่เป็นอัตตาตัวตน)   ส่วนจะเป็นสภาวะอย่างใดนั้นไม่อาจอธิบายได้   เป็นการพ้นวิสัยของปุถุชน   เพียงแต่รับรองได้ตามพุทธพจน์ที่ตรัสว่า



“ในนิพพาน อายตนะมีอยู่   (อายตนะคือเครื่องรู้และสิ่งที่รู้)”



คงพิจารณาได้ว่าในสภาวะที่เปรียบเทียบเสมือนอมตนครนั้นมีความเกษมที่แน่แท้ไม่มีวันหมดไม่มีวันกลับมาทุกข์อีกเลยตลอดนิรันดร์กาล



-->> พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ปรากฏมีมาแล้วนับหลายแสนและพระอรหันต์ทั้งหลายอีกจำนวนมากสถิตเสถียรในลักษณะ  อนัตตธรรมอสังขตธรรมเป็นอมตธรรมอยู่ที่นั่นมิได้ตายดังที่มีกล่าวคลาดเคลื่อนกัน

หมายเลขบันทึก: 215480เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เวทคู ดิถีศรีวรกุล

17 เมษายน 2553

อยากถามว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 2,500 กว่าปี ในขณะนี้พระพุทธเจ้ายังมีขันธ์ 5 อยู่หรือเปล่า มีแดนเกิด มีภพที่อยู่หรือเปล่า และมีอัตตาหรือเปล่า ผู้รู้ช่วยตอบหน่อย....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท