บ้านหลังน้ำท่วม


มีข้อมูลหนังสือน่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบ้านหลังน้ำท่วมซึ่งเขียนขึ้นโดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์

ในช่วงปีนี้พี่น้องภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางหลายพื้นที่ต่างพากันประสบภัยจากน้ำท่วมกันถ้วนหน้า ภาครัฐก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสภาพชุมชน สาธารณูปโภคให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว ในขณะเดียวกันประชาชนคนเดินดินก็ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของตนเองเพื่อการดำเนินชีวิตต่อไป

มีข้อมูลหนังสือน่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบ้านหลังน้ำท่วมซึ่งเขียนขึ้นโดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และท่านได้มอบลิขสิทธิ์ให้สมาคมฯ และผู้สนใจทั่วไปจัดพิมพ์ขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และก็ยังเป็นข้อมูลที่ใช้ได้เสมอไม่ตกยุค วันนี้จึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้เพื่อแก้ปัญหาบ้านหลังน้ำท่วมมาบอกเล่าให้ทราบกันครับ

ประเด็นตรวจสอบแก้ไขบ้านหลังน้ำท่วมที่น่าสนใจมีดังนี้ครับ

1)       ระบบไฟฟ้า ขณะน้ำท่วมทุกบ้านคงจะปิดวงจรไฟฟ้า (Cut-out) ทั่วทั้งบ้าน ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าเดินในระบบ ซึ่งลดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย และแก้ปัญหาจากไฟฟ้าลัดวงจรได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อน้ำลดลงควรตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านของท่านดังนี้ครับ

·        เปิด Cut out ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา ถ้าปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งในระบบยังเปียกชื้นอยู่ Cut out จะตัดไฟและฟิวส์จะขาดให้เปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้ 1 วันให้ความชื้นระเหยออกไปแล้วลองทำใหม่ หากยังเป็นเหมือนเดิมคงต้องตามช่างไฟมาแก้ไขดีกว่าเสี่ยงชีวิตครับ

·        เมื่อทดสอบผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุดและทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กว่ามาปกติหรือไม่ด้วยไขควงทดสอบไฟ หากทุกจุดทำงานได้ก็สบายใจได้ หากมีปัญหาอยู่ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน ถ้ายังมีปัญหาก็คงต้องตามช่างมาแก้ไขหรือเปลี่ยนปลั๊ก/ สวิช์เหล่านั้นครับ

·        ลองดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิด Cut out ไว้แล้งววิ่งไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านท่านอาจจะรั่วได้ ให้รีบตามช่างไฟมาดูแลโดยเร็วครับ

·        หากพอมีงบประมาณสำหรับปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านของท่าน แนะนำให้ตัดปลั๊กไฟในระดับต่ำๆ ในบ้านชั้นล่างออกให้หมด (ถ้าคิดว่าน้ำท่วมอีกแน่ๆ ) แล้วปรับตำแหน่งปลั๊กไฟไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.10 เมตร หลังจากนั้นควรแยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2-3 วงจร คือ 1. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นล่าง (ที่น้ำอาจท่วมถึง) 2. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นบนขึ้นไป (ที่น้ำท่วมไม่ถึง) 3. วงจรสำหรับเครื่องปรับอากาศ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ท่านควบคุมการเปิด-ปิดวงจรไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอิสระ และง่ายต่อการซ่อมแซมบำรุงรักษาครับ

2)       ระบบประปา เป็นอีกระบบที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย มีแนวทางตรวจสอบระบบประปาในบ้านหลังน้ำท่วมดังนี้ครับ

·        ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง พึงระลึกเสมอว่าน้ำที่ท่วมเป็นน้ำสกปรกเสมอ ดังนั้นควรล้างทำความสะอาดถังน้ำ และบ่อน้ำให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยของท่านและสมาชิกในบ้าน โดยไม่เสียดายน้ำ แล้วจึงปล่อยน้ำประปาใหม่ลงเก็บไว้ใช้งานอีกครั้งหนึ่งครับ

·        บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำควรตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำ และถังอัดความดันว่าใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิม (ก่อนน้ำท่วม) หรือไม่ หลังจากนั้นตรวจสอบดูว่าถังอัดความดันทำความดันได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติควรตรวจสอบด้วยการแกะ แงะ ไข ว่ามีเศษผง สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่

·        หากปั๊มน้ำที่บ้านท่านถูกน้ำท่วม ให้เดาไว้ก่อนว่าน่าจะเสียหายและหากใช้งานต่อไปเลยอาจเกิดอันตรายจากความชื้นในมอเตอร์ได้ ควรเรียกหาช่างมาทำให้แก้งเสียห่อนตามกรรมวิธีทางเทคนิคที่ไม่ใช่นำไปตากแดดแบบเนื้อเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ในตัวมอเตอร์ได้ครับ

3)       อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้แก่เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ และอาจรวมไปถึงรถยนต์ก็ได้ เป็นเครื่องจักรกลที่เราท่านไม่น่าประมาท หรือหาทางแก้ไขซ่อมแซมเอง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเพิ่งใช้เด็ดขาด เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้เมื่อโดนน้ำท่วม ก็แสดงว่าน้ำไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าเจ้าอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้จะป่วยไข้ เสียหายแค่ไหน การนำไปตากแดดแล้วมาใช้งานต่อเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตท่าน และอัคคีภัยในบ้านท่านมากจากการลัดวงจรของระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องกลของเครื่องเหล่านั้น แต่ถ้าหากจะยังใช้งานจริงๆ ก็มีข้อแนะนำดังนี้ครับคือ

·        ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีคนอยู่ด้วยเสมอ เผื่อเวลาฉุกเฉินจะได้ปิดเครื่อง ดึงปลั๊กได้ทันที

·        ที่ Cut out ไฟฟ้าหลักของบ้านท่าน ต้องมีฟิวส์คุรภาพติดตั้งเสมอ หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเมื่อใด ต้องแน่ใจว่าวงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออกทันที

·        เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำไปแก้ไขซ่อมแซมโดยช่างผู้รู้ทันทีครับ

ยังมีเรื่องราวน่ารู้อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบ้านหลังน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซ่อมแซมแก้ไขผนัง พื้นบ้าน หรือห้องน้ำ ห้องส้วมในบ้านท่าน ติดตามตอนต่อไปเร็วๆ นี้ครับ

ขอขอบคุณ คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ผู้แต่งบ้านหลังน้ำท่วม จัดพิมพ์โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เอื้อเฟื้อข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 215187เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท