มอ. มีคณะการแพทย์แผนไทย และกำลังริเริ่มหลักสูตรปริญญาโท ด้านการแพทย์แผนไทย เมื่อเอามาขอหลักการจากสภาวิชาการเมื่อวันที่ ๓ ต.ค. ๕๑ ก็ได้รับคำแนะนำว่า ตัวต้นเรื่องอาจเป็นการแพทย์แผนไทย แต่ศาสตร์ที่เอามาผสม เพื่อพัฒนาความรู้นั้นเป็นสากล ซึ่งแปลว่าร้อยพ่อพันธุ์แม่ ไม่ได้ใช้นามสกุล “แผนไทย” หลักสูตรนี้ต้องสามารถเอาศาสตร์อื่นมาผสมพันธุ์ได้อย่างไม่จำกัด อย่าให้ชื่อ “แผนไทย” เป็นข้อจำกัด
หลักสูตรนี้เป็นการพัฒนาคนด้านการแพทย์แผนไทยในเชิงวิชาการ (academic) ไม่ใช่ด้านวิชาชีพ (professional) หวังให้ผู้เรียนจบออกไปเป็นครู-อาจารย์ สอนการแพทย์แผนไทย หรือไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำวิจัย
จะเห็นว่า วิชาการด้านการแพทย์แผนไทย ได้กลายเป็นวิชาการผสม คือใช้วัฒนธรรมด้านปฏิบัติแบบที่ใช้ในการแพทย์แผนไทย ผสมกับระเบียบวิธีแบบวิชาการ/วิจัยของสังคมตะวันตก ก็จะเกิดวิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทย ภาพข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมเดาว่าไม่มีใครรู้ แต่รู้แน่ว่าสังคมไทยจะได้ประโยชน์ และวิชาการด้านสุขภาพของไทยจะก้าวหน้า และที่สำคัญ น่าจะไม่แพงเกินไป เพราะเกิดทางเลือกที่เราพัฒนาขึ้นเอง สู้กับผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีตะวันตก ที่แพงอย่างขูดรีด
รศ. ดร. สนั่น สุธีรวุฒิ คณบดีคณะการแพทย์แผนไทย บอกว่าเวลานี้ในประเทศไทยมีคนเรียนจบปริญญาตรีด้านการแพทย์แผนไทย และ/หรือ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ ๖๐๐ – ๗๐๐ คนแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง หลักสูตรการแพทย์แผนไทย กับ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ แตกต่างกันนิดหน่อย (ใครรู้ช่วยบอกด้วย) คนที่จบปริญญาตรี ออกไปประกอบอาชีพเป็นแพทย์แผนไทย คนที่มาเรียนต่อปริญญาโท – เอก ก็เพื่อเป็นนักวิชาการ สอนและทำวิจัย เวลานี้หลักสูตรปริญญาเอกมีที่ มรภ. เชียงราย และหลักสูตรปริญญาโท มีในหลายมหาวิทยาลัย
วิจารณ์ พานิช
๕ ต.ค. ๕๑
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน สภามหาวิทยาลัย
คำสำคัญ (Tags)#การแพทย์แผนไทย#มอ.#สภาวิชาการ#511003
หมายเลขบันทึก: 215117, เขียน: 09 Oct 2008 @ 08:48 (), แก้ไข: 24 Jun 2012 @ 02:19 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 42, อ่าน: คลิก
ขอบคุณสำหรับประสบการณ์และเรื่องเล่าที่ผมไม่เคยได้รู้คับ
ช่วยเม้นกลับให้นะคับขอบคุณคับคลิกที่นี่