ถ้าสร้างความตระหนัก...ปักธงให้ตรงกัน...ก็จะร่วมฝ่าฟันสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน


          เมื่อปี 2546  ผมมีโอกาสไปดูงานโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กรุงปักกิ่ง  พอเดินเข้าไปในโรงเรียนก็เห็นรูปปั้นครูกำลังอุ้มเด็กด้วยความทะนุถนอมอยู่ที่หน้าโรงเรียน  และมีข้อความเขียนไว้ข้างล่างเป็นภาษาจีน อาจารย์จากสถาบันพระปกเกล้าที่พาเราไป แปลให้ฟังว่า 
         
“ เอาใจรักของครูสู่ดวงใจของเด็ก ” ผมถามต่ออีกว่า  
         ข้อความนี้เขาต้องการสื่ออะไร?  ท่านก็บอกว่า
          บ้านเราอาจเรียกว่า วิสัยทัศน์  ปรัชญา  หรือเป้าหมาย แล้วแต่จะเรียกกัน  แต่ที่นี่ก่อนจะเกิดข้อความนี้  ผู้บริหาร ครู และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เขาจะมาร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดขึ้น  แล้วปักธงเป็นเป้าหมายร่วมกันว่าจะมุ่งมั่นจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้
          พอเราเดินเข้าไปดูของจริงในโรงเรียน  ก็พบความจริงว่า  ใครที่ทำหน้าที่อะไร เขาก็จะ
        “ เอาใจรักของครูสู่ดวงใจของเด็ก ” ทั้งสิ้น...

           เมื่อปี 2548 ผมได้เข้าร่วมสัมมนาเรื่อง KM  กับหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด  ตอนหนึ่งของการสัมมนา  วิทยากรได้ถามสมาชิกที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการว่า   
         “ วิสัยทัศน์ของหน่วยงานท่านคืออะไร? ”  ปรากฏว่าหัวหน้าส่วนราชการเป็นจำนวนมากตอบไม่ได้  บางคนก็ตอบตะกุกตะกักเป็นท่อนๆ  วิทยากรเลยพูดว่า 
         ขนาดท่านเป็นหัวหน้าหน่วยงานยังบอกไม่ได้ว่าเป้าหมายของหน่วยงานคืออะไร  แล้วทิศทางการทำงานของคนในหน่วยงานท่านจะเป็นเช่นไร
            เรามักได้ยินคนกล่าวกันว่า  ความสำเร็จทั้งหลายเกิดจากพื้นฐานความศรัทธาที่บุคลากรมีต่อองค์กรและคนที่นำการขับเคลื่อน ”   เพราะการสร้างศรัทธาหรือความตระหนักให้เกิดขึ้นกับคนนั้น  ไม่ใช่จะสร้างให้เสร็จเพียงเวลาชั่วครู่ชั่วยาม หรือเพียงแค่การพูดโอ้โลมปฏิโลมหว่านล้อมเท่านั้น เพราะมนุษย์เราดื้อยิ่งกว่า
โคนันทวิศาล  ถ้าใจไม่ศรัทธา ไม่ตระหนักไม่เห็นด้วย ถ้าถูกสั่งถูกบังคับให้ทำอะไร ก็จะดื้ออย่างสุดๆ ทั้งดื้อเงียบและดื้อโวยวาย    
           ที่ เห็นชัดๆคือ การบังคับหรือมีคำสั่งให้ครูเขียนแผนการสอนตามแบบที่กำหนด  ครูก็จะเขียนให้ได้แผนเหมือนกัน  แต่เขียนเป็น แผนการส่ง และก็ “ เขียนอย่างส่งๆ ” แล้วก็ไม่สอนตามนั้น ถ้าถูกตามจิกบ่อยๆ มีโอกาสก็จะขอเออรี่รีไทม์ เป็นต้น
         แต่ถ้าผู้บริหารหรือบุคลากรหลักคนใด  ก่อนจะส่งเสริมให้บุคลากร เริ่มทำสิ่งใดก็ปักธงให้ชัด มองภาพตลอดแนว คิดอย่างรอบคอบ ดูบริบทวัฒนธรรมองค์กรก่อน โดยไม่คิดอะไรเป็นท่อนๆ  ไม่ใจร้อนสั่ง ไม่สั่งเป็นนโยบายรายวัน รายชั่วโมง  แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมคิด  จนเกิดความตระหนัก(Awareness) ด้วยตนเอง  เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และอยากจะทำ  ในที่สุดก็จะเกิดความพยายาม(Attempt) เกิดพลังที่จะร่วมหาวิธีการที่ดีที่สุดในการดำเนินงานจนบรรลุเป้าหมาย(Achievement) และเมื่อทำบ่อยๆทำต่อเนื่องก็จะเกิดเป็นความยั่งยืน(Accredited)  โดยใช้การเป็นผู้นำที่ “ทำให้ดูกู่ให้ตาม”  กำกับติดตาม สร้างขวัญกำลังใจ สอนงาน เป็นทางออกที่สร้างสรรค์ให้ 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยจะถือและยอมรับศรัทธาคนที่ ปฏิบัติตนโปร่งใส ใจสะอาด ไม่คิดเล็กคิดน้อย โดยมุ่งแต่จะให้มากกว่ารับ  จึงจะได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากบุคลากรด้วยใจจริง  ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องสั่งสมมาเป็นเวลานาน
        หากดำรงตนเช่นนี้จนเป็นแบบอย่าง เป็นบุคลิกที่ถาวร และทำให้ทุกคนยอมรับศรัทธาด้วยใจจริง  ต่อไปจะทำสิ่งใด จะขอร้องให้ทำอะไรก็จะได้รับความร่วมมือช่วยเหลือเป็นอย่างดี  ทำผิด  สั่งผิดไปบ้างคนก็ให้อภัย เพราะ
       “ ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ”
      “ ปูว่าหอย  แม้กล้วยว่ากล้าย  เรียมตาม ”
 
       แต่ถ้าไม่ศรัทธาแล้ว  จะมอบ จะสั่ง จะขอร้องอะไร ก็จะถูกเพิกเฉย หรือทำให้โดยไม่เต็มใจ( ทำส่งๆ ) และจะถูกบุคลากรคอยจ้องจับผิดเสมอ แม้จะทำดีหรือทำผิดในเรื่องเล็กน้อยก็ตาม...                        
       ... จำได้ว่าตอนที่ผมและทีมงานไปเรียนเชิญ  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  มาเป็นวิทยากรอบรม KM ให้หน่วยงานเรา  ท่านถามเราประโยคแรกว่า 
             “ เป้าหมายที่ทำ KM คืออะไร? ”  พวกเราก็ตอบกันไม่ชัดเจน  ท่านก็ให้การบ้านเราไปคิดไปตกลงกันในหน่วยงานก่อน แล้วจึงมาวางแผนกำหนดหลักสูตรการอบรมกัน
           แรกทีเดียวพวกเราบางคนรู้สึกอึดอัด  เพราะเราชินกับระบบราชการที่คิดหลักสูตรอบรมเองเบ็ดเสร็จ  แล้วจึงไปเชิญวิทยากรให้มาบรรยายตามนั้น  พอเราส่งการบ้าน เสร็จ  ท่านจึงบอกกับเราว่า
          ผมอยากให้พวกเรามาคิดร่วมกันก่อนว่า เราจะทำ KM เพื่อพัฒนางานจริงๆหรือจะทำเพื่อคุยอวดว่าได้รู้ ได้ทำ KM แล้ว   ผมจึงให้ท่านกำหนดเป้าหมายหรือหัวปลา KM ให้ชัดตั้งแต่แรก  เพราะเราไม่อยากสร้าง KM เทียมๆให้เกิดขึ้นอีก
           อุปสรรคสำคัญในการทำ KM ของระบบราชการในปัจจุบันคือ  วัฒนธรรมของระบบราชการยังเป็นแนวตั้งมากกว่าแนวราบ ที่ยึดรูปแบบธรรมเนียมราชการอย่างเหนียวแน่น  เวลาประชุมผู้บังคับบัญชาจะต้องนั่งหัวโต๊ะ  ผู้บังคับบัญชาจะมีความอดทนต่ำที่จะรับฟังการแสดงความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา และถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่  เพราะเจ้านายจะ “ถูกเสมอ” ทำให้บุคลากรที่มีความคิดดีดีไม่อยากที่จะเสนอแนะอะไร    
          นอกจากนี้บุคลากรเองก็ยังสาละวนกับการจัดการงานประจำที่ถูกสั่งแต่ละวันให้เสร็จสิ้นไปอย่างหัวไม่วาง หางไม่เว้น  พอใครพูดเรื่องใหม่เข้ามาก็จะหวาดระแวงทันทีว่าจะไปเพิ่มงานประจำให้มากขึ้นอีก  จึงปฏิเสธหรือไม่ก็ทำอย่างไม่เต็มใจ
            ผมคิดว่า  ผู้บริหารที่เห็นคุณค่า KM และจะนำ KM มาใช้อย่างแท้จริง  ควรเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมาย KM ให้ชัด  แล้วสร้างความตระหนัก ความศรัทธาแก่บุคลากร  และมีความเหนียวแน่นในการหากลวิธีมาปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นแนวราบมากขึ้น ...


หมายเลขบันทึก: 215116เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

 เข้ามาอ่านบ่อยๆ วันนี้ขอทักทายขออภัยไม่ได้ไปงานเลี้ยง ดีใจที่มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์ผู้มีบุคลิกเป็นอาจารย์มากๆเป็นสุภาพบุรุษคงมีโอกาสพบท่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท