"ธรรมกาย" ในแนวคิดพระธรรมปิฎก


"ธรรมกาย" ในแนวคิดพระธรรมปิฎก

ตามทางพุทธกิจ
ศึกษาพระพุทธประวัติ จากพระธรรมเทศนา ณ พุทธสังเวชนียสถาน
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)







--->> รูปกายดับสูญ ธรรมกายไม่สิ้น



ขอเจริญพรโยมคณะผู้เดินทางนมัสการสังเวชนียสถานพุทธสังเวชนียสถานที่คณะนั่งอยู่ในบัดนี้ก็เป็นสถานที่สำคัญสืบเนื่องมาจากสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานซึ่งคณะได้ไปนมัสการเมื่อเย็น และได้สวดมนต์ทำวัตรจนถึงตอนค่ำวานนี้ ในเวลาที่เดินทางมาถึงใหม่ ๆ



ที่ว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่สำคัญสืบเนื่องจากสถานที่ปรินิพพานนั้น ก็เพราะว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระคือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว หลังจากนั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายพระ และฝ่ายคฤหัสถ์ก็ได้เตรียมการเกี่ยวกับการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ


ฝ่ายพระนั้นในสถานที่ปรินิพพาน ตามประวัติก็ว่าพระอนุรุทธเถระเป็นประธาน และมีพระผู้ใหญ่อื่น เช่น พระอานนทเถระ เป็นต้น ในฝ่ายคฤหัสถ์นั้นก็ได้แก่กษัตริย์มัลละทั้งหลายผู้เป็นเจ้าเมืองเจ้าแคว้นดินแดนแห่งนี้ ท่านเหล่านั้นจึงจะต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง


ก็เป็นอันว่าสถานที่นี้ก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่เราจะต้องเกิดความสังเวชดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อสังเวชถูกต้องย่างนี้ก็จะไปสอดคล้องกับหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นปัจฉิมวาจาที่ว่า ให้ไม่ประมาท หรือให้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท หมายความว่าพุทธศาสนิกชนเมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ระลึกถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับพระองค์แล้ว ก็จะต้องเกิดความสำนึกที่จะเร่งขวนขวายทำความดี เร่งขวนขวายปฏิบัติธรรม ไม่ปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ไม่ทำกาลเวลาให้ล่วงไปเสียเปล่าพยายามทำเวลาที่ผ่านไปให้มีประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามในทางธรรม


สถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระนี้ก็เป็นเครื่องหมายให้เห็นชัดว่า พระรูปกายของพระพุทธเจ้านั้นได้สิ้นสุดลงแล้วรูปกายของพระองค์ที่ประกอบด้วยพุทธลักษณะต่าง ๆ ในที่สุดได้ถูกเพลิงแผดเผาสูญสิ้นไป เหลือแต่เพียงพระสารีริกธาตุ คือ พระอัฐิ หรือกระดูกเท่านั้น ที่ถวายพระเพลิงก็เป็นเครื่องหมายของการจบสิ้นของพระรูปกายของพระพุทธเจ้า



อาตมภาพได้เคยกล่าวแล้วว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงมีพระกาย ๒ อย่างตามคติของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ก็คือมี “รูปกาย” กับ “ธรรมกาย” รูปกายของพระพุทธเจ้เสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลา ตามธรรมดาของสังขารที่เป็นของปรุงแต่งแต่ว่าธรรมกายของพระองค์ไม่เสื่อมสิ้นไปด้วย ธรรมกายนั้นมีอยู่ และเราทั้งหลายสามารถเฝ้า สามารถเห็นได้เสมอ คือ เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เราก็ไม่สามารถจะเฝ้าพระองค์ในด้านรูปกายต่อไป แต่เราสามารถที่จะเฝ้าพระองค์ในด้านธรรมกาย ตลอดจนกระทั่งว่าสามารถทำธรรมกายให้เกิดขึ้นปรากฏประจักษ์แก่จิตใจของเรา




มีพุทธพจน์ครั้งหนึ่งตรัสแก่พระภิกษุรูปหนึ่งที่มีความรักในพระองค์มาก เฝ้าติดตามพระองค์เพื่อจะดูพระรูปพระโฉมชมพุทธลีลาได้แก่พระภิกษุที่ชื่อว่า “วักกลิ” พระวักกลินี้หลังจากบวชมาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปไหนก็จะตามไปเสมอ ต้องการที่จะเฝ้าดูความสง่างามของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งถึงตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า


“วักกลิ เธอจะดูไปทำไมร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”


พระพุทธเจ้าตรัสดังนี้ ซึ่งครั้งแรกก็ทำให้พระวักกลิเสียใจมากจะไปกระโดดภูเขาตาย พระพุทธเจ้าก็ต้องเสด็จไปโปรด แล้วในที่สุดพระวักกลิก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์


พุทธพจน์ตอนนี้ พระอรรถกถาจารย์ท่านได้อธิบายให้เห็นความต่างกันระหว่างรูปกายกับธรรมกาย คือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะตามดูไปทำไมร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้ คำว่ากายตอนนี้หมายถึงส่วนรูปกาย รูปกายของพระพุทธเจ้าก็เป็นสังขารของปรุงแต่งเป็นไปตามหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสื่อมสลายสิ้นไป ส่วนอีกตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม คำว่า “เห็นเรา” อันนี้คือพระพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมกาย



ธรรมกายนั้นอย่างที่อาตมภาพเคยเล่าให้ฟังแล้วว่าเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ทูลตอนหนึ่งว่า


“ดิฉันเป็นมารดาของพระองค์ พระองค์ก็เป็นบิดาของหม่อมฉันกล่าวคือ พระรูปกายของพระองค์นั้นหม่อมฉันได้เลี้ยงดูให้เติบโตมา ส่วนธรรมกายของหม่อมฉันพระองค์ก็ได้ทำให้เจริญเติบโตขึ้นมา” ก็หมายความว่าต่างฝ่ายต่างได้เลี้ยงดู หรือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจริญเติบโต รูปกายของพระพุทธเจ้านั้นพระนางปชาบดีโคตมีเป็นผู้เลี้ยงให้เติบโตแต่ว่าธรรมกายของพระนางมหาปชาบดีโคตรมีนั้นพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทำให้เจริญเติบโตขึ้นมา



ธรรมกายนั้น ได้แก่ โลกุตตรธรรมซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วย โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฎฐาน ๔ เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งอริยธรรมมีองค์ ๘ ประการ และความรู้ในอริยสัจ ๔ ประการ เป็นธรรมกาย



โพธิ์ปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องก็ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจอริยสัจ และการตรัสรู้ บุคคลที่เป็นชาวพุทธย่อมคำนึงรูปกายของพระพุทธเจ้า กวีหลายท่านพากันพรรณนาพุทธลักษณ์ เช่น เรื่องมหาปุริสลักษณะ ๓๒ และเรื่องฉัพพรรณรังสี เป็นต้น ปรากฏอยู่ในวรรณคดีต่าง ๆ หลายเรื่อง แต่เมื่อเกิดมาภายหลัง เราก็ย่อมไม่สามารถเฝ้าพระพุทธเจ้าในด้านรูปกายได้ แม้กระนั้นก็ตาม เราก็สามารถเฝ้าธรรมกาย
ของพระองค์ ทำให้ธรรมกายปรากฏประจักษ์แก่ตัวเรา แก่ใจของทุก ๆ คนได้



รูปกายเป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยสายตาธรรมดา หรือตาเนื้อเราอาจจะต้องเดินทางไปไกล ๆ โดยพาหนะตามถนนหนทางที่เป็นวัตถุ เป็นรูปธรรม เพื่อดูรูปกาย แม้ที่เราเดินทางมานี้ก็เพื่อดูสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระรูปกายของพระพุทธองค์ มาดูสถานที่ที่พระรูปกายของพระองค์เคยเสด็จมาเกี่ยวข้อง มาประทับ หรือมาถูกพระเพลิงเผาผลาญในคราวถวายพระเพลิงพุทธสรีระ



แต่ว่าธรรมกาย
นั้น เราจะเดินทางไปด้วยยานพาหนะที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ แม้กระนั้น ท่านก็ได้แสดงหนทางหรือมรรคาอันเป็นนามธรรมที่จะนำให้เดินทางเข้าสู่การเห็นธรรมกายได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” การเห็นในที่นี้ หมายถึงการเห็นด้วยดวงตาปัญญา และทางเดินที่จะไปเฝ้าพระธรรมกายนั้น ก็คือทางเดินที่เรียกวา มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ ได้แก่การปฏิบัติ กล่าวคือการเจริญธรรมะให้เกิดขึ้นในตัวเรา ในใจของเรา พระพุทธเจ้าได้ตรัสทางอันนั้นไว้แล้ว เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงการเห็นซึ่งธรรมกาย



แม้แต่การที่ได้มายังสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเกี่ยวข้องเคยปรากฏรูปกายของพระองค์นั้น เมื่อได้ทำใจให้ถูกต้องมีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็ย่อมเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่การที่จะปฏิบัติเพื่อการเห็นธรรมกายได้



เพราะว่าเมื่อได้เดินทางมายังสถานที่นี้แล้ว บังเกิดความสังเวชตามหลักที่ถูกต้องที่ว่า การกระตุ้นจิตสำนึกให้ได้เกิดความคิด มีความไม่ประมาทก็ดี หรือเป็นเครื่องเจริญศรัทธาในคำสอนของพระองค์แล้ว มีฉันทะ มีวิริยะ ในการที่จะบำเพ็ญปฏิบัติก็ดี เกิดมีปีติมีความเอิบอิ่มปลาบปลื้มใจว่าได้มาเฝ้า ณ สถานที่พระองค์เคยประทับ แล้วมีจิตใจผ่องใสเบิกบาน เกิดความสุขสงบในใจจนถึงเกิดเป็นสมาธิก็ดี อันนั้นล้วนเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เราสามารถเดินทางไปเฝ้าไปเห็นธรรมกาย
ประจักษ์แจ้งในในของตนได้ทั้งนั้น



เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้มายังสถานที่นี้ด้วยกุศลเจตนาแล้ว และเราก็เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อปรารถนาจะบำเพ็ญข้อปฏิบัติให้ถูกต้องตามโอวาทของพระองค์ ก็ควรจะได้พยายามดำเนินตามวิถีทางที่จะได้ประจักษ์แจ้งในธรรมกาย
ด้วย อย่างน้อยเมื่อเกิดศรัทธาขึ้น หรือมีปีติหรือใจสงบผ่องใส ก็เป็นอันว่าได้เริ่มทำธรรมกายให้งอกงามขึ้นในตนแล้ว



อย่างที่อาตมภาพได้กล่าวแล้วว่าศรัทธานั้นก็เป็นธรรมข้อหนึ่งในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นธรรมะข้อแรกในอินทรีย์ ๕ ซึ่งประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าเราได้ศรัทธาที่ถูกต้องแล้วก็เป็นอันว่าได้อินทรีย์ ๕ ข้อที่ ๑ ก็เป็นองค์ธรรมข้อหนึ่งในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นจุดเริ่มต้นในการก่อเกิดธรรมกาย




ทีนี้ ถ้าหากว่าเราเจริญธรรมะข้ออื่น ๆ เช่นว่ามีศรัทธาแล้วเกิดฉันทะก็ดี หรือเกิดสังเวชขึ้นมาแล้ว เกิดฉันทะในธรรมะ มีความใส่ใจพอใจในธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ดี เมื่อเกิดฉันทะความพอใจแล้ว ก็เกิดวิริยะคือความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ฉันทะวิริยะนี้ก็เป็นองค์ธรรมในอิทธิบาท ๔ ประการ ก็เป็นหมวดธรรม ๑ หมวดในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้น หรือมาถึงแล้วเกิดมีปีติ หรือใจสงบผ่องใส ก็เป็นจุดเริ่มในการเจริญธรรมกายได้เช่นเดียวกัน


เพราะฉะนั้น ในการมา ณ สถานที่นี้ในวันนี้ ถ้าในใจของโยมได้ประสบกับองค์ธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่ได้กล่าวมานี้ ก็พูดได้ว่าโยมได้เข้ามาถึงในเขตที่เฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทั้งทางรูปกายและทางธรรมกายคือ ทางรูปกายก็ได้เข้ามาถึงที่พระวรกายของพระองค์เคยประทับ ทางนามกายก็ได้ประสบองค์ธรรมที่เป็นส่วนแห่งพระธรรมกาย คุ้มค่าในการที่ได้เดินทางมา



อาตมาภาพขอทวนอีกทีว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้นแบ่งเป็นธรรม ๗ หมวด หรือจัดเป็น ๗ หมวด ได้แก่


สติปัฏฐาน ๔ มีอะไรบ้าง มี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


สัมมัปปธาน ๔ คือ ๑. สังวรปาน ความเพียรในการหลีกเลี่ยง ระมัดระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิด ๒. ปหานปธาน ความเพียรพยายามในการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วทำให้หมดสิ้นไป ๓. ภาวนาปธาน ความเพียรพยายามในการเจริญหรือทำให้เกิดมี หมายความว่าเพียรปฏิบัติธรรม หรือกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมีให้เกิดมีขึ้น ๔. อนุรักขนาปธาน ความเพียรพยายามในการรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และเจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์


ต่อไปก็มี อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจความรัก ความปรารถนาในธรรม วิริยะ ความเพียรพยายามความแกล้วกล้าในการที่จะปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ย่นระย่อไม่ทอดธุระ จิตตะ ความใส่ใจ ความฝักใฝ่เอาใจใส่ในการปฏิบัติในปฏิทาที่ถูกต้อง และวิมังสา ความพิจารณาไตร่ตรองตรวจสอบเพื่อจะได้ใช้ปัญญา ดำรงรักษาข้อปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องตลอดสาย และก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป


ลำดับต่อไปจากนี้โดยรวบรัดก็มี อินทรีย์ ๕ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ ก็คือองค์ธรรมที่เป็นเจ้าการในการที่จะกำจัดหรือข่มธรรมะที่เป็นกุศลฝ่ายตรงข้าม และพละก็เป็นธรรมที่จะเป็นกำลังคุ้มกันต้านทานไม่ให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำตัวเราได้ ก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา นี้เป็นอินทรีย์ ๕ และพละ ๕


ต่อไปก็ โพชฌมค์ ๗ ได้แก่ สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา


และองค์ธรรมหมวดสุดท้ายได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาอาชีวะการเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะการเพียรพยายามชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งจิตมั่นชอบ


นี้แหละคือองค์ธรรมที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ท่านแสดงว่าเป็นเครื่องเข้าถึงธรรมกาย
เมื่อเราได้เจริญองค์ธรรมข้อไหนก็ตามเป็นจุดตั้งต้น ก็จะเป็นเครื่องช่วยในการที่จะทำธรรมกายให้เจริญงอกงามขึ้นในตัวเราจนกระทั่งเมื่อใดธรรมกายได้งอกงามโดยสมบูรณ์แล้วก็คือการตรัสรู้ธรรม หรือเข้าถึงธรรมะถือเป็นความหมายโดยการเปรียบเทียบว่า ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในทางธรรมกาย หรือได้ประจักษ์แจ้งในธรรมกายของพระพุทธองค์นั่งเอง



บัดนี้ คณะก็ได้เดินทางมายังสถานที่สำคัญปรารถนาแล้ว ก็หวังว่าโยมทุกท่านคงจะได้เจริญศรัทธา ได้เจริญปีติปราโมทย์และความสุขสงบใจ ได้เจริญฉันทะ วิริยะเป็นต้น อันเป็นส่วนเบื้องแรก


ส่วนบุพภาคในการที่จะก้าวหน้าไปในธรรมกาย
ขอให้การที่ได้ข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานที่อันเป็นที่เคยปรากฏแห่งพระรูปกายของพระพุทธเจ้านั้น จงเป็นเครื่องอุดหนุนส่งเสริมเกื้อกูลให้ญาติโยมทุกท่านได้เจริญก้าวหน้าไปในแนวทางมรรคาที่จะยังธรรมกายให้เจริญงอกงามขึ้นไปจนไพบูลย์ในจิตของตน ๆ และขอให้ความเจริญงอกงามในธรรมกายนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของทุกท่าน นำมาซึ่งผลอันพึงปรารถนามีจตุรพิธพรชัยเป็นต้น ตลอดกาลนานเทอญ


 
หนังสือ : ตามทางพุทธกิจ (ปกแข็ง)

ผู้แต่ง : พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

จำนวน : 234 หน้า

ขนาดรูปเล่ม : 15 x 220 x 18 มม.

น้ำหนัก : 370 กรัม

เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ

เดือน/ปี ที่พิมพ์ : --/2000

หมายเลขบันทึก: 215050เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท