จับประเด็นจากการเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง "รู้คิด พิจารณา สร้างคุณค่าแท้สู่ PBRI"


การพัฒนาจะต้องเข้าถึงหัวใจของผู้ร่วมงานโดยสร้างศรัทธาก่อน

ได้มีโอกาสไปร่วมสัมมนาวิชาการเรื่อง "รู้คิด พิจารณา สร้างคุณค่าแท้สู่ PBRI: Performance Benchmarking through Realistic Integration & Intuition" ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรม อมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง โดยจะจับประเด็นสำคัญๆของแต่ละวัน (Highlight) ที่น่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันที บันทึกไว้ในที่นี้ครับ

ในวันแรกมีหัวข้อที่น่าสนใจมากคือเรื่อง "พระราชปณิธานของสมเด็จย่าต่อการศึกษาไทย" โดยผู้นำเสนอคือ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้บรรยาย โครงการต่างๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนั้น เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดย เน้นการพัฒนาที่คน เพื่อแก้โรคเจ็บ จน ไม่รู้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่การขาดโอกาสในสังคม โดยการแก้เจ็บนั้น เน้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข โดยมีโครงการต่างๆ มากมาย เช่นขาเทียม ถันยรักษ์ ทันตกรรม ในส่วนการแก้ปัญหาความจนนั้น เน้นพัฒนาอาชีพผ่านโครงการแม่ฟ้าหลวง ดอยตุงเป้นต้น การแก้ปัญหาความไม่รู้โดยการสร้างโรงเรียน ตชด. เพื่อสอนเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลเป็นต้น

โครงการต่างๆ นั้นจะอาศัยหลักวิธีการบูรณาการ ผ่านการพัฒนาด้านสุขภาพ (ความเป็นอยู่และการศึกษา) โดยใช้กลยุทธอย่างแยบยล (ไม่ซับซ้อน, นำไปใช้ได้, เป็นเหตุเป็นผล หรือ Simple Practicle, Logical) ผ่านวิธีการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้เครื่องมือไม่ซับซ้อน เพื่อเน้นสร้างงาน ฝีมือ โดยใช้ตลาดนำ (ไม่ให้เขาซื้อเพราะสงสาร แต่เพราะกลไกตลาดจริง) ใช้หลักการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงตอนเองให้ได้ (Social Entrepreneurship) เน้นความเป็นเจ้าของ (เช่น ให้เช่าต้นกาแฟ ต้นละ ห้าสิบสตางค์ต่อปี) หลักการสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการบรรลุสู่จุดมุ่งหมายมี 5 หัวข้อคือ ยั่งยืน พอเพียง มีความสร้างสรรค์ และอยู่บนบรรทัดฐานทีวางไว้ ปรัญญาข้อสำคัญที่เห็นว่า นำมาใช้ได้กับโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะสวนกระแสโลก แต่พิสูจน์แล้วว่ายั่งยืนคือ แนวความคิดที่ว่า ทำเล็ก แต่ทำให้ดี (Small is beautiful) และทุกอย่างต้องใช้เวลา การพัฒนาจะต้องเข้าถึงหัวใจของผู้ร่วมงานโดยสร้างศรัทธาก่อน โดยผ่านผู้นำที่เข้มแข็ง โครงการที่ดี และการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ

วันที่สองนั้น หัวข้อที่น่าสนใจเป็นเรื่อง Benchmarking & Good Practice บรรยายโดย รศ. ดร. ศิริพร ขัมภลิขิต ซึ่งท่านวิทยากรนำเสนอแนวทางการทำ Benchmarking (จะขอเรียกย่อๆ ว่า BM) ไว้โดยสังเขป ซึ่งจะขอสรุปไว้ดังนี้โดยย่อคือ การทำ BM นั้นเพื่อเป็นการพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยศึกษาจากตัวอย่างหรือองค์กรที่เราเลือกที่จะวัดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการเลือกเกณฑ์เป้าหมายว่าจะแข่งกับใครก่อน ซึ่งมักจะเลือกองค์กรณ์ที่ดีที่สุด (Best in class) ในด้านที่เราต้องการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องวัดกันโดยใช้ KPI ชุดเดียวกัน โดยใช้วิธี Self Assesment ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งเท่าหรือเก่งกว่า เป้าหมายนั้นมีได้หลายมุมคือ Performance Process หรือ Product ได้มีการกล่าว่า BM นั้นถ้าทำสำเร็จจะเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับ CQI (Continuous Quality Improvment) ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบ ค่อนข้างจะ Linear

การเทียบกับองค์กรที่เราจะทำ BM ด้วยนั้นจะต้องมีการขอ ดูงาน เพื่อศึกษาถึง Enablers หรือ ปัจจัยเอื้อหนุน ซึ่งแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันไป ซึ่งในจุดนี้จะต้องเป็นการแก้ปัญหาขององค์กรเราเองเพื่อให้มีปัจจัยเอื้อให้ใกล้เคียงกันหรือ ใช้วิธีการอื่นเพื่อให้บรรลุผลเดียวกัน ในการเทียบเพื่อทำ BM นั้นจะต้องถามตัวเราเองว่า

1. Where are we?  เราอยู่ที่จุดไหน อาจจะเป็นเรื่องๆ หรือ ทั้งองค์กรก็ได้ เครื่องมือที่ใช้คือ KPI

2. Who is the best? เลือกองค์กรที่จะทำ BM เพื่อเป็นจุดหมาย เครื่องมือที่ใช้คือ KPI

3. How do they do it? ทำอย่างไร เพื่อไปหาคำตอบและเรียนรู้จากเป้าหมาย (Best Practice) สิ่งสำคัญคือ การเปิดใจกว้างและ Leadership ของผู้นำที่จะโน้นน้าวและสร้างความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กรให้ได้

4. How do we do it? แล้วเราจะทำอย่างไร โดยเทียบจุดต่างๆ และสร้างปัจจัยเอื้อ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผ่านกระบวนการ Adaptation  ให้เหมาะสมกับองค์กรของเราเอง

การเลือกหัวข้อนั้นจะพิจารณถึงสิ่งที่มีผลกระทบสูง ต่อองค์กร (Critical Factors) เช่นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสูญเสีย, มีผลต่อชื่อเสียง, หรือมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ รวมไปถึงความพยายามขององค์กร, เวลา, ทีมงาน, และความยากง่ายในการเปรียบเทียบ เป็นต้น

การเก็บข้อมูลนั้นได้รับคำแนะนำว่าการไปเยี่ยมชม (Site visit) จะได้ผลดีที่สุด โดยต้องเตรียมงานก่อนล่วงหน้าว่าจะไปดูอะไร จะถามเจาะลึกในเรื่องใด เพื่อตอบคำถาม 4 ข้อข้างต้นนั้นได้อย่างครบถ้วน

การวิเคราะห์ข้อมูล จะต้องเปรียบเทียบความแตกต่าง และปัจจัยเอื้อ ด้านต่างๆ เช่น ภาระงาน, เวลา, เงิน, และผู้บริหาร (Leadership & Commitment)

การนำเสนอข้อมูล โดยเสนอผลการวิเคราะห์ เปรียบเทียบให้กลุ่มทำงานและผู้บริหารทราบ

การทำ BM นั้น ต้องการการกำหนดเป้าหมายร่วมกันเป็น Benchmarking Action Plan  โดยพิจารณาถึงประเด็นที่ต้องการพัฒนา, วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย, กิจกรรม, ผลลัพท์ที่คาดหวัง, ระยะเวลา, ผู้รับผิดชอบ, และงบประมาณ

ซึ่งต้องปฏิบัตตามแผน หรือ Execution โดยจะต้องมีผู้ติดตามประเมินเพื่อทบทวนผลโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนด จุดอ่อน จุดแข็ง การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนปัญหาที่มักพบในการทำ BM ท่านวิทยากรได้เน้นไว้คือ การเลือกองค์กรเปรียบเทียบไม่เหมาะสม, การสนุนสนุนไม่เพียงพอในด้าน เงิน เวลา และ การให้ความสำคัญ, มีข้อมูลไม่เพียงพอ, และไม่สามารถจูงใจผู้รับผิดชอบให้ดำเนินการได้

ในส่วนของวันที่สามนั้น หัวข้อที่น่าสนใจคือเรื่อง "อาจารย์:การสร้างคุณค่าแท้แก่บัณฑิต" บรรยายโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา โดยท่านได้ดำเนินบรรยายไว้ได้อย่างน่าติดตามตลอดช่วง

เนื้อหาจะเป็นการชี้ให้อาจารย์ตระหนักถึงความสำคัญในหน้าที่อาจารย์ โดยแบ่งได้ตามหัวข้อย่อยๆ ได้คือ

1. ตามบทบาทหน้าที่อาจารย์ สอนให้ศิษย์รู้ คิด และมีสติ คือ สร้างให้เขามีจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ และจิตตระหนักต่อสังคม

2. ตามบทบาทกฎหมาย คือ พรบการศึกษา จรรยาบรรณครู หมวด 1 มาตรา 6 คือ ให้ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย ใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม และ จริยธรรม สามรถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ท่านวิทยากรยังได้สรุปจรรยาบรรรครู ไว้อย่างสั้นๆ ว่า ครูต้อง หมั่นศึกษาหาความรู้, ถ่ายทอดวิชาอย่างเต็มความสามารถ, พัฒนาวิธีการสอน, ปลูกฝังคุณธรรม, ดำรงตนในศีลธรรม, เป็นแบบอย่างที่ดี, ไม่มุ่งอามิสสินจ้าง, มุ่งให้ศิษย์เจริญก้าวหน้า โดยใช้คุณธรรมหลักที่สามารถใช้ได้ในวิชาชีพครูคือ เมตตา, รับผิดชอบ, ซื่อสัตย์, อดทน, มีวินัย, ประหยัด

ท่านวิทยากรยังได้สรุปคุณสมบัติของ น.ศ. ไว้ว่ามีศักยภาพของสมองสูงสุดในช่วงเรียน มหาวิทยาลัยปี 1-2 (จึงต้องเน้นให้ความสำคัญ ทั้งการเรียนและปลูกฝังความดี) นอกจากนั้นยังมีความ รักเพื่อนหรือพวกพ้อง และมักต่อต้านอำนาจต่างๆ ดังนั้นครูอาจารย์ควรเข้าใจ นศ. ในจุดต่างๆ เหล่านี้ด้วย

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน PACS
หมายเลขบันทึก: 214971เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท