การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยเทคนิค DIR/Floortime


DIR /Floortime เน้นพัฒนาการด้านอารมณ์ (Functional emotional development)

               การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยเทคนิค DIR/Floortime ได้รับการพัฒนาโดยจิตแพทย์ชาวอเมริกัน Dr. Stanley Greenspan คำว่า DIR ย่อมาจาก Developmental Individual difference Relationship-based เป็นรูปแบบที่ช่วยให้แพทย์ ผู้ปกครองและนักการศึกษาได้ประเมินและส่งเสริมพัฒนาการตามความสามารถและความท้าทายของเด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสติกและเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาด้านสมาธิ ปัญหาการเรียน หรือปัญหาพฤติกรรม รูปแบบนี้จะสร้างให้เด็กมีความสามารถด้านสังคม ด้านอารมณ์และด้านสติปัญญามากกว่าที่จะมุ่งเน้นที่ทักษะและพฤติกรรมของเด็ก

                การนำ DIR/Floortime มาใช้ในเด็กออทิสติกเนื่องจากมองว่าเด็กออทิสติกมีระบบประสาทที่แตกต่างจากผู้อื่น อยู่ในบริบทของครอบครัว สังคมและสภาพแวดล้อมของเด็กคนนั้น และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กที่สามารถใช้การได้ เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการมองที่ตัวโรคมาเน้นที่ตัวบุคคล จากเดิมที่เน้นความสามารถที่แยกย่อยเป็นเน้นความสามารถรวมของเด็กที่ใช้การได้ และจากการดูพฤติกรรมที่บกพร่องมาเน้นพฤติกรรมขั้นพื้นฐานของเด็กซึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการรูปแบบนี้จะเน้นการริเริ่มและขับเคลื่อนจากเด็กเอง จากการส่งเสริมพัฒนาการแบบเดิมที่เราฝึกเด็กให้สามารถทำทักษะพัฒนาการแบบเด็กปกติได้ เป็นการส่งเสริมให้คิดแบบเด็กปกติ

                DIR /Floortime เน้นพัฒนาการด้านอารมณ์ (Functional emotional development) ซึ่งจากการส่งเสริมพัฒนาการแบบเดิมที่เราทำกันมาจะเน้นที่ด้านร่างกาย ได้แก่ การฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ในพัฒนาการด้านสติปัญญาจะเน้นเรื่องภาษา ส่วนในด้านสังคมจะเน้นเรื่องของการช่วยเหลือตนเองและสังคม

                ใน DIR /Floortime ได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กตามระดับต่างๆ 6 ระดับ คือ

                ระดับที่ 1 share attention ช่วงอายุแรกเกิด 3 เดือน เป็นช่วงที่เด็กสงบ สนใจ จดจ่อโลกภายนอก

                ระดับที่ 2 engagement ช่วงอายุ 2 4 เดือน เป็นช่วงที่เด็กสร้างความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูหรือสร้างสัมพันธภาพกับผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก

                ระดับที่ 3 two – way purposeful interactions with gestures ช่วงอายุ 3 - 9 เดือน เป็นช่วงที่สื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กันด้วยภาษาท่าทางอย่างมีความหมาย

                ระดับที่ 4 two – way purposeful problem – solving interactions ช่วงอายุ 9 – 18 เดือน เป็นช่วงที่เด็กสื่อสารด้วยภาษาท่าทางเพื่อแก้ปัญหา ช่วงนี้เด็กจะเริ่มพัฒนาความรู้สึกตัวตน (sense of self)

                ระดับที่ 5 elaborating ideas or creation of ideas ช่วงอายุ 18 30 เดือน เป็นช่วงของการสื่อสารโดยใช้สัญลักษณ์ เด็กจะใช้สัญลักษณ์ในการเล่นสมมุติ

                ระดับที่ 6 building bridges between ideas (emotional thinking) ช่วงอายุ 30 48 เดือน เป็นช่วงของการเชื่อมโยงและคิดอย่างมีเหตุผล

                การส่งเสริมพัฒนาการตามรูปแบบนี้จะเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาของเด็กออทิสติกได้ค่อนข้างมาก เด็กออทิสติกที่เราเคยบอกกันว่าสนใจอยู่แต่ในโลกของตนเอง มีปัญหาในการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทาง ไม่สามารถเล่นสมมุติหรือมีจินตนาการได้ การส่งเสริมพัฒนาการตามรูปแบบนี้ในระยะที่ 1จะดึงให้เด็กสนใจโลกภายนอกได้ ระยะที่ 2 พัฒนาให้เด็กมีความผูกพัน สร้างสัมพันธภาพได้ ระยะที่ 3 ช่วยให้เด็กมีการสื่อสารด้วยภาษากาย (non-verbal communication) ได้ และพัฒนาจากระยะที่ 4 เข้าสู่ระยะที่ 5 ซึ่งเด็กจะเริ่มเล่นสมมุติและมีจินตนาการได้ จนถึงระยะที่ 6 เด็กสามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้

                รูปแบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยเทคนิค DIR/Floortime จึงถือว่าเป็นรูปแบบการส่งเสริมพัฒนาการที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้ในเด็กออทิสติกและติดตามประเมินผลต่อไป ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cf.mahidol.ac.th/floortime/

                                                                                         

หมายเลขบันทึก: 214969เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอ้โฮ! อายุยังน้อยอยู่เลย ทำไมความสามารถเยอะจัง

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท