การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย


ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทย

การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย

                             ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทย  เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยถือเป็นพื้นฐานเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การเรียนวิชาอื่นๆได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของนักเรียนทุกระดับการศึกษา  พบว่า  วิชาภาษาไทยอ่อนกว่าวิชาอื่นทั้งที่วิชาอื่นควรอ่อนกว่าวิชาภาษาไทย สำนักผู้ตรวจราชการ  ประจำเขตตรวจราชการที่ 8 จึงได้ศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มี ผลสัมฤทธิ์นักเรียนสูงกว่าระดับประเทศ กรณีศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมาเขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์เขต 1 เขตตรวจราชการที่ 13  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ  ศึกษาสภาพ  วิเคราะห์ปัจจัย เงื่อนไขความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์นักเรียนวิชาภาษาไทยสูง สามารถเป็นแนวทางวิธีการให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้ประสบความสำเร็จ สนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา  เพื่อการปรับกระบวนการเรียนและเปลี่ยนวิธี การสอนภาษาไทย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอายุ 46 ปีขึ้นไป  ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย   มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี    สาขาวิชาเอกที่จบการศึกษามากที่สุดคือ ประถมศึกษามีประสบการณ์ในการสอนภาษาไทย  25 ปีขึ้นไป  และสอนในระดับช่วงชั้นที่ 3 – 4 จำนวน  11 – 15 คาบ/ชั่วโมง

                 ส่วนความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม    พบว่า        สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย  ทั้งด้านการวางแผน  การปฏิบัติ การตรวจสอบ และการประเมินผล  โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากทุกด้าน      และกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ  คือ การจัดกิจกรรมที่หลากหลายเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง   เรียนรู้แบบบูรณาการ   เน้นการค้นคว้า    การคิดวิเคราะห์ การจัดบรรยากาศในการเรียนให้สนุกสนาน การสนับสนุนการประกวดแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ  การพัฒนาความรักความชอบในการเรียนภาษาไทย พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อลดการท่องจำ    ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน   เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง   การรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง      และที่สำคัญคือครูทุกคนในโรงเรียนต้องเป็นครูที่สอนภาษาไทยและให้ความสำคัญกับการสอนภาษาไทยมากขึ้น โดยจะต้องรวมครูทุกรายวิชาไปด้วย และในการให้ความสำคัญกับการสอนภาษาไทยนี้    ควรจะต้องศึกษาถึงแนวทางวิธีการสอน   และการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน คือ เน้นการเรียนภาษาจากการได้ใช้ภาษา  การมีกิจกรรม สื่อการสอนที่หลากหลาย    การส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกในการใช้ภาษา   เป็นต้น การเรียนภาษาควรมีการศึกษาเชื่อมโยง  หาความรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาของสมองกับการเรียนรู้ของภาษา การที่จะสอนให้เด็กใช้ภาษาอย่างสละสลวยถูกต้อง เป็นเรื่องที่ควรทำให้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้เน้นหรือเริ่มสอนจากหลักการสอนหรือไวยากรณ์ก่อน     โดยเฉพาะการสอนไวยากรณ์ ซึ่งแยกสอนจากหลักสาระอื่นๆ ทั้งในวิชาภาษาไทยและรายวิชาต่างๆ แต่ควรจะสอนจากการใช้ภาษาให้มากขึ้น ทั้งจากการอ่านให้ได้ใจความ     การเขียนได้อย่างสละสลวยถูกต้องและสื่อสารได้  รวมทั้งการเรียนการสอนภาษาไทยควรจะเชื่อมโยงกับเรื่องของการส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็น มีจินตนาการ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทางสมองของเด็ก   พัฒนาความสามารถในการคิด    จิตใจ    และขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไปพร้อมกันด้วย  คาดหวังว่าการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีการสอนภาษาไทยคงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยสูงขึ้นในโอกาสต่อๆ  ไป

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 213527เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท