๑๙. คนบริการวิชาการแบบ'อาเซียน


"...โอกาสการพัฒนาคน จึงจำเป็นต้องพัฒนาไปด้วยอยู่เสมอ โดยเฉพาะการทำให้คนทำงานมีความสามารถเรียนรุ้บูรณาการไปกับการปฏิบัติงานในทุกโอกาส..."

            ที่ทำงานผม  คือ  สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  มหาวิทยาลัยมหิดล  คนมักเรียกย่อๆว่า สถาบัน'อาเซียน  หรือ  'อาเซียน เป็นองค์กรขนาดเล็ก  มีคนอยู่ไม่ถึงร้อยคน  และในจำนวนนั้น  ก็มีอาจารย์และนักวิชาการอยู่เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น  ทว่า  ก็สามารถดำเนินงานวิจัย  การบริการทางวิชาการ และการเป็นผู้จัดประชุมสัมมนา  การจัดหลักสูตรการศึกษาอบรม  ทั้งในประเทศและนานาชาติ อยู่อย่างมากมาย  จนคนภายนอกอาจเข้าใจว่าเป็นองค์กรใหญ่โต

           ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้องค์กรเล็กๆทำงานในลักษณะนี้ได้มากมายก็คือ การทำให้ทุกคนมีความเป็นบูรณาการในตัวเอง  สามารถพึ่งตนเองทางวิชาการและเป็นหัวหน้าของตนเองได้พอสมควร  ในการประสานความร่วมมือทางวิชาการ  ให้สถาบันเป็นเวทีทำงานของคนเก่งๆหลากหลายสาขา ทั้งจากหน่วยงานต่างๆในประเทศไทยและจากนานาชาติ

           กระนั้นก็ตาม  ความจำเป็นในการทำงานภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมและความจำเป็นใหม่ๆก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  อีกทั้งความทรงคุณวุฒิและความอาวุโสของบุคลากรก็มีมากขึ้น  เรื่องที่ทำจนอยู่มือและเก่งอยู่แล้ว  ก็มีข้อจำกัดต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้าง  ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  โอกาสการพัฒนาคน  จึงจำเป็นต้องพัฒนาไปด้วยอยู่เสมอ  โดยเฉพาะการทำให้คนทำงานมีความสามารถเรียนรู้บูรณาการไปกับการปฏิบัติงานในทุกโอกาส

          ส่วนหนึ่งที่ผมได้ทำและร่วมเรียนรู้กับบุคลากรก็คือ  การเติมมิติความเป็นชุมชน  และวิถีประชาคมเข้าไปในองค์กร  เป็นกระบวนการเชิงวัฒนธรรม  ซึ่งเน้นความมีจิตสาธารณะของปัจเจก และวิธีทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนแนวราบของคนทำงานสหสาขา (แนวดำเนินการอย่างนี้  ก็ร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลอีกหลายคณะ  ขับเคลื่อนเป็นนวัตกรรมชุมชน  กลุ่มและชุมชนผู้ปฏิบัติ หรือ CoP : Community of Practice เพื่อพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ ด้วยเช่นกัน)

           ผมได้บอกถึงตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งให้เป็นแนวคิดของทีมนักวิจัยรุ่นใหม่ วิทยากร  กลุ่มคนที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานทางวิชาการ และบริการทางวิชาการต่างๆที่สถาบันทำ ว่า  ให้ทำตามศักยภาพอย่างสูงสุดและด้วยการใช้วิจารณญาณของตนเองช่วยด้วย  โดยมุ่งให้เกิดสิ่งหนึ่งคือ  ผมบอกว่า.....

          'เมื่อไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นเวทีเรียนรู้และการประชุมของชาวบ้าน  หน่วยงานอื่น ทั้งในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล  หากเขากำลังทำงานกันอยู่  แล้วมีคนของสถาบัน  เดินเข้าไปร่วมสักหนึ่งคน  พลันเวทีนั้น  ก็มีพลังในการทำงานและทำให้การเรียนรู้ด้วยกันมีชีวิตชีวาขึ้น  มีหนทางที่จะคิดและได้วิธีทำงานด้วยกันที่เหมาะสมง่ายๆ  สร้างสรรค์  ให้แรงบันดาลใจใหม่ๆ  แล้วเราเองก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  นำกลับมาขยายผลลงสู่งานของสถาบัน  กลับไปกลับมา  แค่นี้แหละ  ฝึกฝนตนเองอย่างไรก็ได้  ให้เป็นไปอย่างนี้....

           เหมือนกับเป็นแนวคิดในการสร้างตัวชี้วัดให้ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าของตนเอง

           ปรากฏว่าได้ผลดีเหมือนกัน  หลายคนมีความตื่นตัวที่จะไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับใครก็ได้  แบบ ' ไม่รอรับอย่างเดียว และ ไม่นิ่งดูดาย'  ทำให้ได้ช่วยคนอื่นทำงาน และเรียนรู้พัฒนาคนผ่านการทำงานกับคนอื่น  ได้คนมือดีและทีมทำงานแบบปราดเปรียวมากขึ้น  ดีเหมือนกัน.

หมายเลขบันทึก: 213206เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท