พัฒนากลุ่มออมทรัพย์..ยั่งยืนมั่นคง ตอนที่ 2


นำความรู้ สร้างพลังความคิด เพื่อองค์กรที่ประสบความสำเร็จ

ตอนที่ 1 ผมได้นำเสนอเรื่องการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในเวทีที่ 1  ชื่อว่า "สร้างทีมงาน"  เป็นการเตรียมคนให้พร้อมในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ  โดยเน้นที่การการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการและสมาชิก  คณะทำงานแต่ละคณะต้องมีคณะกรรมการและสมาชิก  ร่วมสมกันคิด  ร่วมกันทำ

                ในเวทีที่ 2  เป็นเวทีเตรียมความพร้อมของคณะทำงานแต่ละคณะ  ให้มีความรู้และรับมอบสิ่งที่จะต้องไปคิด  คนที่มีบทบาทสำคัญมาที่สุดในเวที  คือ คนที่มีความรู้เรื่องกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มีทักษะการนำเสนอที่ดี  เป็นเวทีการให้ความรู้เพื่อสร้างพลังความคิดให้กับคณะทำงานทั้ง  14  คณะ

เวทีที่  2  เวทีสร้างความคิด

            เมื่อได้คณะทำงานพัฒนากลุ่มทั้ง  14  คณะแล้ว  ในเวทีที่ 2  ประชุมเฉพาะคณะทำงานพัฒนากลุ่ม   ออมทรัพย์ฯทั้ง  14  คณะ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกระบวนการคิดในการพัฒนากลุ่มทั้ง  14  เรื่อง   คณะทำงานแต่ละคณะรับผิดชอบในการคิดพัฒนากลุ่มของตนเองให้ดีขึ้นเฉพาะเรื่องที่ตนเองเป็นคณะทำงานอยู่  กรอบการคิด คือ  ปัจจุบันเราเป็นอย่างไร  แล้วจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร  ด้วยการพึ่งตนเอง   การที่ให้คณะทำงานแต่ละคณะคิดเฉพาะเรื่องของตนเอง  เพื่อจำกัดกรอบความคิดในการพัฒนากลุ่มไม่ให้กว้างเกินไป  กระบวนการคิดของคณะทำงานจึงใช้เวลาไม่มากนัก  อาจจะใช้กระบวนการกลุ่ม  เป็นกลุ่มย่อยเล็ก ๆ  คิดก็ได้

                สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจกรอบความรับผิดชอบของคณะทำงานแต่ละคณะว่า    ขอบเขตที่คิดให้คิดเฉพาะเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบ  ให้คิดในสิ่งที่ทำได้  เรื่องเล็ก ๆ ก็ได้ แต่เรื่องนั้นเมื่อทำเสร็จต้องดีขึ้นกว่าเดิม  เพียง  1  เรื่องเท่านั้น  เมื่อสิ้นสุดเวทีที่  2  จะได้แนวทางการพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้น  คณะทำงานละ  1  เรื่อง    รวม   14  เรื่องที่จะเป็นแผนพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้นในปีนี้

1. คณะทำงานพัฒนาคณะกรรมการ  ตามหลักการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ควรมีอย่างน้อย  4  คณะ  คือ  คณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการเงินกู้  คณะกรรมการตรวจสอบ  คณะกรรรมการส่งเสริม  ซึ่งแต่ละคณะจะมีหน้าที่และบทบาทของตนเองอย่างชัดเจน  การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ในเรื่องคณะกรรมการนั้น  ให้ยึดหลักการคิดที่ว่า  ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร  ปีนี้จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร  ด้วยการพึ่งตนเอง  เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาคณะกรรมการกลุ่มให้ดีขึ้น  ตามหลักของคณะกรรมการที่ดี ดังนี้

1.)    คณะกรรมการมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกหรือไม่

2.)   มีวาระการดำรงตำแหน่งและระเบียบข้อบังคับได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งหรือไม่

3.)  คณะกรรมการมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความรับผิดชอบอย่างชัดเจนหรือไม่

4.)    คณะกรรมการสามารถทำได้ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่

5.)    คณะกรรมการมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ  ครบองค์ประชุมหรือไม่

6.)    คณะกรรมการมีแผนการทำงานที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่

             2.คณะทำงานพัฒนาระเบียบข้อบังคับกลุ่ม  ในการจัดตั้งกลุ่มทุกประเภทต้องมีระเบียบข้อบังคับ  เพราะระเบียบข้อบังคับเป็นหลักในการบริหารจัดการกลุ่มของคณะกรรมการ  และเป็นแนวปฎิบัติในการอยู่ร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกับสมาชิก  และสมาชิกกับสมาชิก  นอกจากนี้ระเบียบข้อบังคับเป็นเครื่องมือ   ในการตัดสินใจของคณะกรรมการในการบริหารจัดการกลุ่มให้ถูกต้องตามกฎหมาย  ลดปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่ม  ประเด็นที่คณะทำงานควรพิจารณามีดังนี้

1.) มีระเบียบข้อบังคับเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่

2.) ระเบียบข้อบังคับผ่านความเห็นชอบจากเวทีประชาคมของสมาชิกหรือไม่

3.) มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบข้อบังคับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันโดย

      เวทีประชาคมสมาชิกหรือไม่

4.) มีกิจกรรมที่สื่อ  สื่อสารให้สมาชิกทราบและเข้าใจระเบียบข้อบังคับหรือไม่

3. คณะทำงานพัฒนาสมาชิก  ในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ  ความสัมพันธ์ของสมาชิกกับกลุ่มมีความสำคัญมาก  การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน  เป็นสิ่งที่คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ต้องจัดกิจกรรม  เพื่อสร้างความรู้สึกดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับสมาชิกให้ได้  โดยเฉพาะกรณีที่มีการจัดตั้งกลุ่มใหม่  คณะทำงานควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)    จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

2.)    จำนวนสมาชิกกลุ่มเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

3.)    สมาชิกกลุ่มมีความเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์การดำเนินงานของ

       กลุ่มหรือไม่

4.)    สมาชิกกลุ่มมีการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับมากน้อยเพียงใด

4. คณะทำงานพัฒนาสถานที่ทำงาน  การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ควรมีสถานที่     ที่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานของกลุ่ม  อาจจะเป็นสถานที่ที่เป็นเอกเทศหรือเป็นสถานที่สาธารณะที่ยินยอมให้ใช้  สถานที่ของกลุ่มเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมั่นคงของกลุ่มจากการพบเห็นของบุคคลอื่น ๆ และสมาชิก  คณะทำงาน ควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)    กลุ่มมีสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกันหรือไม่

2.)    ที่ทำการกลุ่มมีการปรับปรุงแสดงข้อมูลผลการดำเนินงานให้เป็นปัจจุบัน

       หรือไม่

3.)    สมาชิกมีส่วนร่วมในการปรับปรุงสถานที่ทำงานของกลุ่ม  เรื่องสภาพ

       แวดล้อมของที่ทำงานกลุ่มมากน้อยเพียงใด

              5. คณะทำงานพัฒนากระบวนการทำงาน  การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กิจกรรมของกลุ่มเกี่ยวข้องกับการเงิน   กระบวนการทำงาน  วิธีการบริหารจัดการในภาพรวมก่อให้เกิดประสิทธิภาพ   ในการบริหารจัดการเงินของกลุ่มที่เหมาะสมกับศักยภาพและวัตถุประสงค์ของกลุ่ม  คณะทำงานควรพิจารณา ดังนี้

1.)    มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบตามบทบาทหน้าที่หรือไม่

2.)    การตัดสินใจในการทำงานมีการประชุมและบันทึกการประชุมไว้หรือไม่

3.)    คณะกรรมการและสมาชิกร่วมกันกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของกลุ่มหรือไม่

4.)    มีระบบข้อมูลการบริหารจัดการที่เป็นปัจจุบันหรือไม่

5.)    มีวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการบริหารจัดการกลุ่มหรือไม่

6.)    มีการนำข้อมูลของกลุ่มไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการของกลุ่มหรือไม่

7.)    มีการระดมความคิดเห็นจากสมาชิกเพื่อดำเนินกิจกรรมของกลุ่มหรือไม่

8.)    มีการวางแผนการพัฒนากลุ่มทั้งในระยะสั้นและในระยาว

9.)    มีแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับกับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม

10.) มีแผนการทำงานที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

11.) มีการติดตามผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

12.) มีการให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

13.) มีการประเมินผลการดำเนินงาน

14.) มีช่องทางการสื่อสารภายในองค์กรมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

15.) มีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก

16.) มีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่

17.) จำนวนสมาชิกเข้าร่วมประชุมใหญ่ของกลุ่มเป็นประจำทุกปีในจำนวนที่

       เพิ่มขึ้น

18.) มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่ม

                  6. คณะทำงานการจัดหาเงินทุนและทรัพยากร  ที่มาของเงินทุนและทรัพยากรของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มาจากการระดมทุนของสมาชิกตามกำลังความสามารถของแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน  เรียกว่า  เงินสัจจะสะสม  การเพิ่มหรือลดเงินสัจจะสะสมควรกระทำเมื่อสิ้นปีทางการบัญชี  ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นวันที่  31  ธันวาคม  ของทุกปี  เงินสัจจะสะสม  จำนวน  100  บาท จะคิดเป็น  1  หุ้น   ที่กำหนดอย่างนี้เพื่อลดความแตกต่างในแต่ละกลุ่ม  การให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชี  และการตรวจสอบบัญชี  จะได้ตรงกันทุกกลุ่มทั่วประเทศ   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระเบียบของกลุ่มที่กำหนดไว้  ในการจัดหาเงินทุนนอกจะเป็นการระดมทุนจากสมาชิกแล้ว  ในกรณีที่กลุ่มมีประสบการณ์การบริหารจัดการเงินดี  กลุ่มมีผลการดำเนินงานที่ดี  กลุ่มอาจจะมีการระดมทุนจากภายนอกเข้ามาได้  อาจจะเป็นเงินสนับสนุนจากทางราชการหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น 

                การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ ให้ดีขึ้น ในเรื่องการจัดหาเงินทุนและทรัพยากร  ให้พิจารณาที่เงินทุนและทรัพยากรมีเพียงพอต่อการดำเนินงานของกลุ่มและความต้องการของสมาชิกอย่างทั่วถึง คณะทำงานควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

1.)    มีการระดมทุนจากสมาชิกเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายการดำเนิน

      ของกลุ่ม

2.)    มีการเชื่อมโยงจากแหล่งเงินทุนภายนอก

3.)    จำนวนสมาชิกที่มีส่วนร่วมการสนับสนุนเงินทุน หรืองบประมาณให้กับกลุ่ม

4.)    จำนวนเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนภายนอก

5.)    การแสวงหาและนำทรัพยากรที่มีในชุมชน/ท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของกลุ่ม

            7. คณะทำงานจัดสรรและใช้ประโยชน์จากเงินทุนและทรัพยากร  การศึกษาการบริหารจัดการเงินทุนของกลุ่มออมทรัพย์ให้ศึกษาที่ระเบียบ  ข้อตกลงที่กลุ่มจัดทำไว้เรื่องการให้กู้ยืมเงิน  ระเบียบ ฯ ในหมวดนี้จะบ่งชี้ว่าคณะกรรมการมีการจัดสรรใช้ประโยชน์จากเงินทุนอย่างไร  ผลประโยชน์ที่กลุ่มได้รับเป็นอย่างไร

        การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ให้ดีขึ้น  คณะทำงานควรพิจารณา ดังนี้

1.)    มีการจัดทำระเบียบ/แผน การจัดสรรเงินทุนโดยจัดเวทีหาความเห็นพ้อง

     ของสมาชิก

2.)    จำนวนเงินทุนที่กระจายให้กับสมาชิกไปใช้ประโยชน์  มีหลักในการพิจารณาที่เป็นธรรมหรือไม่

3.)    สัดส่วนของเงินทุนที่เก็บไว้ที่กลุ่มกับเงินทุนที่กระจายให้สมาชิกเป็นอย่างไร  โดยทั่วไปควรมีเงินทุนสำรองอยู่ที่ร้อยละ  30  ของเงินสัจจะสะสม

4.)    มีการนำเงินของกลุ่มไปลงทุนทำกิจกรรมเครือข่ายหรือไม่

            ตอนที่ 2  ยังไม่ครบคณะทำงานทั้ง  14  คณะ  พื้นที่หมด  พบตอนที่  3  เวทีสร้างความคิดของคณะทำงานคณะที่ 8 และอีก  3  เวทีสู่ความสำเร็จ..ที่ยั่งยืน มั่นคง  ขอบคุณครับ 

หมายเลขบันทึก: 212973เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท