เด็กกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทางจริยธรรม


เด็กกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทางจริยธรรม
 

 

ข่าวทางสื่อต่างๆ ทุกวันนี้นำเสนอปัญหาของเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กข่มขืนเด็ก วัยรุ่นปล้น-จี้ชิงทรัพย์รับน้องโหด วัยรุ่นหญิงตบตีแย่งผู้ชาย นิยมแฟชั่นไม่ใส่กางเกงใน ไฮไลต์ขนในที่ลับ ฯลฯ

ซึ่งที่จริงเราผู้ใหญ่ไม่ควรแสดงออกแต่ความอิดหนาระอาใจ หรือไปโทษแต่เด็กๆ เพราะเด็กๆ จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเขาได้รับการเรียนรู้จากครอบครัว สถานศึกษา สื่อ และสิ่งแวดล้อมทางสังคมมาอย่างไร

คำถามที่สำคัญสำหรับเรา คือ "เด็กควรได้รับการเรียนรู้อย่างไร"

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของมนุษย์ เอาไว้ 4 ประการ คือ-

  • 1.Learn to know เรียนเพื่อให้มีความรู้ และมีวิธีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถนำความรู้ วิธีการเรียนรู้ที่ได้มาไปต่อยอด แสวงหา หรือผลิตสร้างความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ
  • 2.Learn to do เรียนเพื่อที่จะทำเป็นหรือใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพ และสร้างประโยชน์แก่สังคม
  • 3.Learn to with the others เรียนเพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างมีความสุข และสร้างสรรค์
  • 4.Learn to be เรียนเพื่อที่จะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ สามารถพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ หรือพัฒนาตนให้เป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์"

จะเห็นได้ว่า 2 ใน 4 ของเป้าหมายการเรียนรู้ตามนิยามข้างต้น เป็นเป้าหมายที่เชื่อมโยงการพัฒนาลักษณะนิสัยทางจริยธรรม คือการเรียนรู้แบบที่ 3 และ 4 เป็นการเรียนรู้เพื่อการมีจริยธรรมในการอยู่ร่วมกับคนอื่น และในการพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ชีวิตการเรียนรู้เพื่อมีจริยธรรม มนุษย์จึงมีพันธะหลักๆ 2 อย่าง คือ พันธะในการพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคม และพันธะในการพัฒนาตนเองให้เข้าถึงสัจธรรมสูงสุดหรือความจริง ความดี ความงาม เพื่อความมีอิสรภาพ ความรัก และความสุขที่แท้จริง

ชีวิตที่งดงามควรถูกฟูมฟักตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์ ดังเช่นพระนางสิริมหามายาพระมารดาของพระพุทธเจ้า เมื่อทราบว่าพระองค์ทรงพระครรภ์ก็เริ่มถือศีลมิให้ด่างพร้อย เจริญสมาธิภาวนา ทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใสเป็นนิจ เอาใจใส่เฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ด้วยลมหายใจแห่งความรักและเปี่ยมปีติสุข

ขณะที่แม่ (พ่อ) ยุคใหม่ อาจเปิดดนตรีคลาสสิคให้ลูกฟัง สัมผัสครรภ์และสนทนากับลูกด้วยความรู้สึกที่อ่อนโยน ฯลฯ เพื่อสร้างพื้นฐานจิตใจที่อ่อนโยนเป็นสุขตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิตอันเป็นรากฐานของพัฒนาการทางจริยธรรมในวัยต่างๆ ต่อไป

หัวใจสำคัญของการเรียนรู้เพื่อสร้างลักษณะนิสัยทางจริยธรรมเพื่อความเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคม คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ (ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และ ฯลฯ) ให้เด็กได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความสามารถในการใช้เหตุผลแยกแยะถูก-ผิดได้ด้วยตนเอง ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ เคารพในเสรีภาพ ความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ภาษา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

หรือทำสิ่งดีงามถูกต้องต่างๆ เพื่อให้สังคมก้าวหน้า เป็นธรรมและสันติสุข

ส่วนการพัฒนาลักษณะนิสัยทางจริยธรรมที่นำไปสู่ความเป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์" ต้องมุ่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตองค์รวมคือพัฒนากาย วาจา จิต และปัญญา ตามหลัก "ไตรสิกขา" ดังคำอธิบายของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งผู้เขียนถอดใจความสำคัญได้ดังนี้ -

  • 1.สีลลิกขา พัฒนาศีล หรือพัฒนาการแสดงออกทางกาย วาจา ให้เรียบร้อยดีงาม ไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตอื่นๆ มีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกันและกัน เด็กๆ ควรได้รับการเรียนรู้เพื่อที่จะมองเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งในธรรมชาติในฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ที่ควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียน แต่มีความรักความเอื้ออาทรช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
  • 2.จิตสิกขา (สมาธิ) พัฒนาจิตให้มีสติสัมปชัญญะ สงบ เข้มแข็ง หนักแน่น ผ่องใส เบิกบาน มีความรัก (เมตตา) ความอ่อนโยนใฝ่ใจช่วยเหลือ (กรุณา) และมีคุณธรรมอื่นๆ เด็กๆ ควรได้รับการเรียนรู้ให้มีลักษณะนิสัยที่รู้จักใช้สติยับยั้งชั่งใจ คิดก่อนพูด ก่อนทำ อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ เข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง รักตนเองอย่างลึกซึ้ง รักเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด ผ่านกิจกรรมหลากหลายที่เสริมสร้างสมาธิ ความสงบ การมีสติในปัจจุบันขณะ
  • 3.ปัญญาสิกขา พัฒนาปัญญาญาณให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เพื่อข้ามพ้นความหลงติดยึดมั่นในมายาภาพทั้งปวง มีชีวิตที่กลมกลืนกับสัจธรรม เป็นอิสระ เบาสบายเปี่ยมสุข และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าด้วยการใช้ปัญญาเป็นแสงสว่างนำทาง มีการกระทำความประพฤติและจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ เกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยพลังแห่งเมตตากรุณา หรือความรักความปรารถนาดีบริสุทธิ์

          เด็กๆ ควรได้รับการเรียนรู้การฝึกใช้ปัญญาไตร่ตรองเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตตนเอง ความเป็นไปของโลกรอบๆ ตัว ให้รู้จักแยกแยะอะไรจริง อะไรลวง อะไรสัจจะ อะไรมายา เพื่อให้เขาค่อยๆ พัฒนาระดับสติปัญญาในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างละเอียดลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ได้ด้วยตนเอง

          ไม่ควรดูเบาว่าเด็กอ่อนเยาว์สติปัญญาทางจริยธรรม เพราะนางวิสาขามหาอุบาสิกาบรรลุโสดาบันเมื่ออายุเพียง 7 ขวบ

          เราไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ของเด็กไทยวิกฤตไปมากกว่านี้ สถาบันครอบครัว การศึกษา ศาสนา สื่อ ฯลฯ ต้องเร่งดึงเด็กของเราออกมาจาก "หล่มเหว" แห่งความรุนแรง ความฟุ้งเฟ้อ เห็นแก่ตัว บริโภคนิยม ความว้าเหว่ ความอ่อนแอทางจิตใจ การยั่วยุของสื่อประเภทมอมเมา ฯลฯ

          ด้วยการร่วมสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาลักษณะนิสัยทางจริยธรรมดังกล่าวมา เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคม

          และ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่มีอิสรภาพ ความรัก และความสุขที่แท้จริง

ที่มา:http://www.aksorn.com

หมายเลขบันทึก: 211911เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

  ขอแสดงความชื่นชม ในมุมมองที่เห็นปัญหา และนำเสนอความคิดเห็น  ดังนี้

เราควนมีวิชาที่ สอนให้ เด็กวันนี้ได้รู้เท่าทันสื่อ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ตื่นนอน สื่อต่างๆที่ป้อนให้รับรู้  การบริโภค ไม่ต้องคิด ความไม่ดีทั้งหลายมากมาย  เราต้องช่วยกัน

ขอบคุณความคิดเห็นที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท