พิธีครอบครู


พิธีครอบครู

?พิธีไหว้ครูเป็นพิธีที่สำคัญทำให้เรารำลึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ ไม่เพียงแต่นักแสดงแต่ในทุกวงการก็ควรตระหนักถึงพระคุณครู เรารู้สึกว่าโชคดีที่ได้สืบสานพิธีนี้ แต่ในแต่ละปีไม่ใช่นึกจะทำก็ทำได้ เพราะพิธีครอบครูไม่ใช่การกินเลี้ยงกัน จึงต้องมีการกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ทุกอย่างพร้อม ทุกคนต้องมีจิตใจใสสะอาด?


ปทุมวดี หรือที่คนในวงการบันเทิงเรียกกันติดปากว่าแม่ทุม บอกว่า การทำพิธีครอบครูไม่ใช่เพียงแต่เป็นการขอพรให้งานด้านการแสดงดีขึ้นเท่านั้น แต่สามารถตั้งจิตอธิษฐานได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ชีวิตครอบครัว หรือการเรียน เป็นต้น

?ปีนี้มีหลายสังกัดจัดพิธีครอบครูขึ้นหลายที่ ถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนให้ความสำคัญ สำหรับนักแสดงรุ่นใหม่ไม่อยากให้คิดว่าทำพิธีกับครูคนนั้นแล้วสู้ครูคนนี้ไม่ได้ อยากให้คิดว่าเป็นสิ่งดีงามเหมือนการทำบุญถ้าเรามีจิตศรัทธาก็จงทำไปเถิด?

ครูวีระชัย มีบ่อทรัพย์ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขนละคร ซึ่งได้รับหน้าที่ประกอบพิธีครอบครูให้เหล่าศิลปินดาราที่ค่ายกันตนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เล่าว่า พิธีนี้เดิมเป็นพิธีของโขนละครซึ่งก็เหมือนกับพิธีไหว้ครูทั่วไปที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของครูในปัจจุบันและครูที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยมีพิธีครอบครูเพิ่มเข้ามาเพื่อมอบให้ผู้ที่ได้เรียนนาฏศิลป์ขั้นพื้นฐานเรียบร้อยแล้วก้าวขึ้นไปเรียนระดับที่สูงขึ้น โดยให้ครูครอบศีรษะโขนรับมอบให้ ประกอบด้วยศีรษะพระภรตฤาษี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นครูใหญ่ผู้มีบุญฤทธิ์ ศีรษะองค์พระพิราพซึ่งเป็นศีรษะยักษ์ผู้มีอิทธิฤทธิ์ และศีรษะเทริดคือศีรษะที่ใช้สวมตัวละครโนราห์ซึ่งเป็นตัวละครเก่าแก่ประเภทแรกที่เกิดในการรำ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในวงการบันเทิงบ้านเราได้มีการประกอบพิธีครอบครูขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งอาจจะมีขั้นตอนหรือจุดประสงค์แตกต่างไปจากกฎนาฏศิลป์เดิมบ้าง

?ความจริงคนที่เคยครอบครูแล้วไม่จำเป็นต้องทำอีก หรือทำทุกปี เพราะถือว่าได้รับมอบสิทธิด้านการแสดงจากครูแล้ว แต่เหล่าศิลปินดาราต้องการทำเพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อความสบายใจของเขา ครูก็ไม่ขัดศรัทธา?

ครูวีระชัย กล่าวว่า ความสำคัญของการไหว้ครูนอกจากจะรำลึกถึงพระคุณครูแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีในการชุมนุมศิษย์ให้ได้ทำบุญกุศลแด่ครูที่ล่วงลับและได้พบปะกับครูในปัจจุบันด้วย ซึ่งเดิมทีพิธีกรรมนี้จะต้องทำกันในวันพฤหัส ข้างขึ้น เดือนคู่ (ตามแบบแผนไทย) แต่ปัจจุบันอนุโลมให้เป็นวันพฤหัสเพียงอย่างเดียวก็ได้เพื่อความสะดวก

ด้านนางเอกสาวน้องใหม่ ?เตย-อรัชมน รัตนวราหะ? กำลังมีผลงานเรื่อง โรบอตน้อยหัวใจเพชร ทางช่องทีไอทีวี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมพิธีครอบครูที่ค่ายกันตนา ต้นสังกัดของเธอจัดขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่สาวเตยมีโอกาสได้ครอบครูหลังจากเข้าวงการบันเทิงมาได้มากกว่า 2 ปีแล้ว

สาวเตย บอกว่า ส่วนตัวเธอนั้นคิดว่าคนเราทำอะไรทุกอย่างต้องมีครู เวลาเรียนก็มีครู พอมาเล่นละครเธอจึงอยากจะมีการเริ่มต้นที่ดีด้วยการครอบครู ซึ่งพอได้ผ่านพิธีครอบครูมาก็รู้สึกสบายใจว่ามีครูด้านศิลปะการแสดงแล้วต่อไปเวลาทำงานก็จะตั้งใจทำให้ดีที่สุดไม่ให้ใครมาว่าได้ และคิดว่าจะไปร่วมพิธีนี้ทุกปีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง

สำหรับขั้นตอนในพิธีครอบครูที่นางเอกน้องใหม่ประทับใจที่สุดคือการที่ครูนำหัวโขนมาครอบให้ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกสบายใจขึ้นมาทันที ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นขณะทำพิธีเมื่อผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนั่งสั่น หน้าตาปากงุ้มลง เดินหลังค่อม และมีเสียงพูดเหมือนคนแก่ ทำเอาสาวเตยถึงกับขนลุกซู่กับความศักดิ์สิทธิ์นี้ในทันที


?ขลังมากๆ จากตอนแรกที่เตยเป็นคนไม่เชื่อเรื่องคนทรงเจ้าหรือเรื่ององค์ลง แต่พอเจอเข้าแบบนี้ก็ไม่กล้าลบหลู่แล้ว ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ? สาวเตยเล่าด้วยความตื่นเต้น


แต่คนที่เห็นจะตื่นเต้นมากที่สุดน่าจะเป็นสาวผมฟู ?พุดเดิ้ล-ปาจรีย์ ณ นคร? หรือ ?เจ๊ตะลุยกองถ่าย? ซึ่งได้เข้าร่วมพิธีครอบครูที่ทางช่อง 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นกับตัวเธอเพราะขณะที่ทำพิธีกันอยู่จู่ๆ สาวพุดเดิ้ลก็ลุกขึ้นมารำโดยที่เจ้าตัวไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

?มันเป็นเรื่องที่อธิบายยากนะ ถ้าไม่ได้เป็นเองก็คงไม่เชื่อ ตลอดเวลาที่รำเรามีสติเพียงแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้มันเป็นไปเองเหมือนแม่เหล็กที่ผลักมือให้เคลื่อนที่แบบนุ่มๆ และท่าทางที่รำก็ไม่ใช่ท่าที่เราจะทำเป็น คิดว่าคนข้างๆ คงกลัว มีคนถามว่าเคลิ้มกับเสียงเพลงรึเปล่า ก็คิดว่าไม่น่าจะใช่เพราะถ้าเคลิ้มเราก็คงคิดอะไรไม่ได้ คงกลายเป็นไม่รู้ตัว แต่นี่เรามีความคิดเต็มร้อย?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก เพราะตั้งแต่ที่อยู่ในวงการบันเทิงมา 7 ปี สาวพุดเดิ้ลได้เข้าร่วมพิธีครอบครูมาแล้ว 3 ครั้ง และเธอก็จะลุกขึ้นมารำทุกครั้งไป ทั้งๆ ที่ก่อนไปร่วมงานครั้งหลังๆ พุดเดิ้ลคิดเสมอว่าจะพยายามฝืนตัวเองให้ได้แต่ก็ทำไม่ได้สักที

?คิดว่าที่ไหนที่มีพลังศรัทธาของคนจำนวนมากจะมีความศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นอยู่แล้ว การที่เราลุกขึ้นมารำไม่ได้ทำให้เชื่อในพิธีนี้มากขึ้นหรือน้อยลงเพราะที่ไปร่วมงานทุกครั้งก็ไปด้วยความตั้งใจและจริงใจเหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องการรำลึกถึงบุญคุณครูอาจารย์ ตอนนี้ก็คิดว่าทุกคนที่มาร่วมพิธีคงจะคุ้นกับอาการของเราแล้วล่ะ? สาวพุดเดิ้ล กล่าว

ไม่ว่าใครจะมีอาการอย่างไรในพิธีครอบครู แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความตั้งใจจริงที่จะรำลึกถึงบุญคุณของ...ครู

 

-'๑'- พิธีไหว้ครูนาฎศิลป์ -'๑'-

การไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมไทยแบบหนึ่ง เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามในส่วนที่เกี่ยวกับกิริยามายาท สัมมาคารวะ และมีส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาคุณความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง

การไหว้ครู คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตนรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
ประวัติการไหว้ครู
การประกอบพิธีไหว้ครูนั้นได้มีการกำหนดระเบียบแบบแผน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยการบอกเล่าต่อๆ กันมาเป็นมุขปาฐะ ตำราพิธีไหว้ครูและครอบโขน-ละครของไทยมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ สมุดไทยมีจำนวน ๓ เล่ม แต่คงเหลือเพียงเล่ม ๒ เล่มเดียว ส่วนเล่ม ๑ และ เล่ม ๓ หายไป มีนักปราชญ์ได้รวบรวมชำระทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพิธีไหว้ครูครอบโขน-ละครฉบับหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ สมุดไทย เล่ม ๒ ซึ่งหลงเหลือมาจากฉบับแรก แล้วตีพิมพ์ใช้เป็นแบบฉบับของการทำพิธีไว้ครูและครอบโขน-ละครในรัชการลที่ ๖

ในสมัยรัชการลที่ ๔ พิธีไหว้ครูละครหลวงได้เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ.๒๓๙๗ ส่วนการไหว้ครูนอกพระราชวังนั้นเริ่มมีมานานแล้ว เพราะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีติดต่อกัน เช่น การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อหัดรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบท เพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องรำทำบทไปจนพอทำได้ ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูครอบเรียกว่า "เข้าครู"

พิธีไหว้ครูนั้นมีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย โดยเฉพาะในวงการศิลปินแล้วการไหว้ครูเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับลัทธิธรรมเนียมของการแสดงโขน-ละคร เพราะลักษณะพิเศษของโขน-ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์และว่าเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้ นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ลัทธิธรรมเนียมของโขน-ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปในทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน-ละครนี้ คือ พระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆเนศ นอกจากนั้นก็มีเทพเจ้าอื่นๆ อีกบางองค์ เช่น พระปรคนธรรพ ผู้ซึ่งถือกันว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤษี หัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษมณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ ในเรื่องละครหัวโขนอื่นๆ ที่ใช้ในการแสดงนั้น ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดก็ต้องกระทำด้วยความเคารพ

         ประเพณีโบราณ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและพิธีครอบโขนละคร ตลอดจนประสิทธิ์ประสาทให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นประธานพิธีไหว้ครูสืบไป จะต้องเป็นผู้ได้รับครอบโดยถูกต้องตามขั้นตอน เช่น ได้รับมอบตำราเครื่องโรง (อาวุธต่างๆ) จากครูซึ่งมีคุณสมบัติเป็นครู ผู้ที่ได้รับครอบสืบทอดมาก่อนแล้ว หรือได้รับพระราชทานครอบจากพระมหากษัตริย์ เพราะราชประเพณีไทยแต่โบราณถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทรงพระบารมีเหนือเทพเจ้าผู้เป็นครูแห่งศิลปะทั้งหลาย ฉะนั้น การที่ทรงกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะไม่ว่าจะเป็นพิธีไหว้ครู หรือพระราชทานครอบ หรือทรงประสิทธิ์ประสาทให้ประกอบกิจใดๆ ย่อมกระทำได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานครอบก็จะสามารถประกอบพิธีครอบผู้อื่นต่อไปได้
คุณสมบัติของครูผู้ที่รับการคัดเลือก ให้ได้รับครอบให้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและครอบนั้น ต้องเป็นบุรุษที่แสดงเป็นตัวพระ เพราะถือว่า ผู้แสดงเป็นตัวพระเท่ากับเทวดา ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เคยอุปสมบทมาแล้ว มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม มีความรู้ทางนาฏศิลป์ชั้นสูง มีความเชี่ยวชาญในการแสดง และมีศิษย์ที่ตนเองฝึกสอนจำนวนพอสมควร

พิธีครอบของกรมศิลปากร ครูผู้กระทำพิธีครอบได้สืบทอดมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) และนายอาคม สายาคม และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากที่นายอาคม สายาคม ถึงแก่มรณกรรมแล้ว มิได้ครอบถ่ายทอดให้แก่ผู้ใด จึงหมดผู้ที่จะกระทำพิธีต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกอบพระราชพิธีครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร ตามแบบแผนราชประเพณีโบราณ ซึ่งได้ผนวกเอาพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเข้าในวันนั้นด้วย
พระราชพิธีกระทำในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญสูงสุดของวงการนาฏศิลปิ์และดุริยางคศิลป์ไทย
เป็นพระราชพิธีครั้งแรกของประเทศไทย นับเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน


ความมุ่งหมายพิธีไหว้ครู
๑. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์
๒. เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฎศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว
๓. เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม
๔. เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน
๕. เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
 
ที่มา:http://www.aksorn.com

หมายเลขบันทึก: 211907เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้สึกว่ามีอากรที่จะรู้อะไรล่วงหน้าได้เลยอยากจะทำพิธีคะ 0812464543

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท