เล่าเรื่องเมืองหงสา ๒๘ กองทุนชุมชน และธนาคารข้าว ตัวอย่างการพัฒนาชุมชนที่บ้านดอนใหม่ เมืองหงสา


เป็นการช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการพื้นฐานของชุมชน และมีผลปรากฏที่ชัดเจน

หลังจากที่ได้อัญเชิญท่านบางทราย bangsai ปรมาจารย์ด้าน PRA (Participatory Rural Rapid Apprisal; การประเมินชุมชนชนบทอย่างรีบด่วนแบบมีส่วนร่วม) และท่านนางวรรณา ดาหลาสีชมพู dalha มาช่วยประสิทธิ์วิชาให้อ้ายน้องพนักงานเมืองหงสาแล้ว ระยะนี้อ้ายน้องที่ผ่านการฝึกอบรมจึงสนุกสนานกับการไปทดลองวิชา โดยที่ผมก็ติดตามไปซอกแซกกับทีมโน้นทีกลุ่มนี้บ้าง ทำให้พบเห็นตัวอย่างการพัฒนาชุมชนที่น่าสนใจ ดังตัวอย่างในบ้านดอนใหม่ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

บ้านดอนใหม่เป็นชุมชนชาวม้ง หรือลาวสูง ที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหุบที่ราบนาปุง ตามนโยบายการเต้าโฮมประชากรจากเขตภูดอยห่างไกล มาอยู่ใกล้เขตเมือง(ขนาดว่าใกล้ยังอยู่ห่างจากตลาดเมืองหงสาเกือบสิบกม. ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์กว่าหนึ่งชั่วโมงในฤดูฝน) การที่ชุมชนย้ายมาจากยอดภูสูงที่มีพื้นที่ทำไร่เลี้ยงสัตว์กว้างขวาง มาอยู่ร่วมกับพี่น้องอีกสามสี่ชุมชนที่ต่างเผ่าพันธุ์ มาแย่งที่กินที่อยู่กันอย่างนี้ย่อมทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์กันไม่มากก็น้อย แต่พี่น้องต่างก็ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวและต่างปรับตัวเข้าหากันจน พออยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน

องค์กรพัฒนาชนบท GTZ จากชาติตะวันตกได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยการตั้ง ธนาคารบ้าน ที่บ้านดอนใหม่ ภายใต้เงื่อนไขการมีส่วนร่วมของชุมชน กล่าวคือให้พี่น้องในหมู่บ้านประกอบส่วน รวบรวมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นก่อนแล้วทางโครงการมีเงินสมทบให้อีกห้าเท่าของจำนวนที่บ้านรวบรวมได้ การบริหารจัดการกองทุนนั้นให้คณะกรรมการในหมู่บ้านจัดการกันเอง ปัจจุบันมียอดเงินมากกว่า ๗๐ ล้านกีบ และสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก ๗๕ราย เป็น ๑๔๙ ราย แสดงว่ากิจกรรมของกลุ่มกองทุนสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านไม่น้อย โดยเฉพาะช่วยในด้านการเข้าหาแหล่งทุน ผมทึ่งในกฎระเบียบการกู้ยืมที่คณะกรรมการตั้งขึ้น เห็นว่าแปลกกว่าที่อื่น จึงนำมาแลกเปลี่ยนดังนี้ครับ

·       กู้เพื่อการค้าขาย ดบ. ร้อยละ ๔ต่อเดือน กู้ได้ไม่เกิน ๕ ล้านกีบ ระยะกู้ ๓ เดือน

·       กู้เพื่อลงทุนปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ดบ.ร้อยละ ๓ต่อเดือน กู้ได้ไม่เกิน ๕ ล้านกีบ ระยะกู้ ๖ เดือน

·       กู้เพื่อปลูกบ้านและแต่งงาน ดบ.ร้อยละ ๒ต่อเดือน กู้ได้ไม่เกิน ๒ ล้านกีบ ระยะกู้ ๒ เดือน

·       กู้เพื่อการรักษาพยาบาล ดบ.ร้อยละ ๑ต่อเดือน กู้ได้ไม่เกิน ๑ ล้านกีบ ระยะกู้ ๓ เดือน

เงินดอกเบี้ยประมาณร้อยละแปดสิบ นำไปปันผลให้สมาชิกด้วยครับ

 

นอกจากธนาคารชุมชนแล้ว ที่บ้านดอนใหม่ยังมีธนาคารข้าวด้วยครับ เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสภาแม่ญิงลาว นำข้าวสารมาเป็นทุนตั้งต้น ๔ตัน และพี่น้องที่สมัครเข้ากลุ่มนำข้าวเปลือกมาร่วมรายละ ๕ กิโล แล้วให้ผู้ที่ขาดแคลนข้าวกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒๕ ต่อปี หลังเก็บเกี่ยวค่อยนำมาใช้คืน ปัจจุบันมีข้าวในยุ้งฉางเกือบ ๙ตัน และสมาชิกเพิ่มจาก ๓๓รายเป็น ๖๕ ราย

ผมว่าทั้งสองกิจกรรม เป็นการช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการพื้นฐานของชุมชน และมีผลปรากฏที่ชัดเจนถึงความสำเร็จครับ.....พี่น้องบ้านเรากลับมาถอดบทเรียนจากบ้านดอนใหม่เมืองหงสากันดีใหมครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 211819เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ผ่านมาพอดี  เลยมีโอกาสได้ ร่วมสรุปบทเรียน
  • บทเรียนที่ 1   เริ่มจากปัจจัย 4 ที่จำเป็น ดังจะเห็นจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน
  • บทเรียนที่ 2   การร่วมแรงร่วมใจ  สามัคคี  คือพลังอันสำคัญที่จะให้โครงการนี้ยั่งยืน
  • บทเรียนที่ 3  สำคัญมาก  คือการมีส่วนร่วมจากชุมชน
  • พอแค่นี้ก่อนเนอะเจ้า
  • วันหลังจะเข้ามา ลปรร  ใหม่
  • ขอบคุณจั๊ดนักสำหรับเรื่องดีๆ

ขอบคุณ P 

ที่มาช่วยถอดบทเรียนได้อย่างเยี่ยมยอดครับผม แต่สำหรับบ้านเฮาแล้วผมคิดว่ากลุ่มองค์กรในแต่ละบ้านมีมากมายจนซ้ำซ้อนกันไปหมดแล้วครับ แถมแหล่งเงินกู้ก็มากมายจนพี่น้องเล่นเวียนกู้จากกองโน้นมาใช้รายนี้วุ่นวายกันไปหมด

ยินดีตี้ได้แลกเปลี่ยนกับคนบ้านใกล้กั๋นครับผม

  • เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผมก็ต้องดูแลธนาคารข้าวที่หนองคายเหมือนกันครับ..
  • ปัจจุบันลดความสำคัญลง..กลายเป็นฉางร้างเป็นส่วนใหญ่
  • วันที่ 30 ก.ย.จะไปเวียงจันทร์กับป้าแดง และท่านเกษตรยาวครับ

ปัจจุบันพี่ยืนยันว่ากิจกรรมที่สำคัญของการพัฒนาชนบทนั้นควรจะมีเรื่องกลุ่มออมทรัพย์เป็นพื้นฐานด้วย ตัวอย่างที่เปลี่ยนนำเสนอนี้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าในพื้นที่ยากจนมากๆ ก็สามารถตั้งกลุ่มออมทรัพย์ได้ และสามารถเติบโตได้จริงๆ ดังที่พี่สรุปในเมืองไทยเหมือนกัน ตอนตั้งเราไม่แน่ใจว่าจะโตไปแค่ไหนด้วยซ้ำ เมื่อเวลาผ่านไป มองย้อนหลังและกลับเข้าไปดู โอ...มีเงินเป็นสิบๆล้านแล้ว

ยืนยันว่าการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในรูปแบบใดๆก็ได้ เช่น กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มออมทรัพย์.... ดีทั้งนั้นครับ

กิจกรรมนี้เป็นฐานสำหรับกินกรรมอื่นๆที่จะตามมาเมื่อกลุ่มอยู่ตัวแล้ว

กิจกรรมเฮฮาฯหก ยังไม่ลงตัวเรื่องวันที่นะเปลี่ยน ติดตามด้วย

  • เห็นด้วยครับ
  • จะรวมคนได้   การรวมเงิน(กองทุน)ก่อน
  • และเป็นการรวมใจไปด้วยพร้อมๆ กัน
  • ความต่อเนื่อง-ความเป็นเจ้าของ จึงจะตามมา
  • ขอบคุณครับ
  • ลุงเปลี่ยนเป็นนักเขียนและนักเล่าเรื่องที่น่าอ่านจริงๆ
  • อ่านแล้วมองเห็นภาพและคิดถึงทีมงานพี่น้องลาวPRAทุกคน ฝากความคิดถึงทุกคนด้วยน่ะค่ะ
  • อยากเขียนประสบการณ์ที่ได้รับจากการมาหงสาแต่ยังไม่ได้ฤกษ์ซักที

แวะมาเยี่ยมครับ

ตอนนี้ผมเริ่มคิดเหมือนกันว่าจะช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างไรบ้าง  ว่าจะชวนชาวบ้านตั้งธนาคารข้าวเปลือก  โดยไปลงแขกเกี่ยวข้าวจากที่ต่าง ๆ  แล้วนำข้าวเปลือกที่ได้รับบริจาคมาตั้งเป็นธนาคารข้าวให้ชาวบ้านกู้ไปเพาะหว่าน   เก็บเกี่ยวแล้วก็ทยอยคืนกลับสู่ธนาคารข้าว

ไม่รู้จะเป็นรูปเป็นร่างหรือไม่   แต่ก็อยากทำมากเลย....

คิดถึงเสมอนะครับ,

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท