มุมมองของท้องถิ่นด้านโรคเอดส์


ท้องถิ่น, โรคเอดส์

บทความพิเศษ.....มุมมองของท้องถิ่นด้านโรคเอดส์

           เมื่อตั้งใจจะเขียนเรื่องท้องถิ่นกับการป้องกันควบคุมโรค ครั้งแรกผู้เขียนไม่คิดว่าจะมีเรื่องราวให้เขียนได้มากมายนัก แต่ครั้นพอได้มีเวลาว่างจากภาระกิจการงานประจำ และได้นั่งทบทวนหลากหลายประสบการณ์ กลับมีเรื่องราวต่าง ๆ ผุดขึ้นในความคิดมากมาย จึงเป็นแรงหนุนให้เขียนเรื่องราวของการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในมุมมองของท้องถิ่น

        

           นับตั้งแต่โรคเอดส์ได้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบันจากการศึกษาคาดการณ์ว่าทั่วประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไววีสะสมถึงประมาณ 1.1 ล้านคน มีผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 5.6 แสนคน ทำให้ปัจจุบันยังคงมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ยังคงมีชีวิตอยู่ในประเทศไทยถึงประมาณ 5.5 แสนคน แต่ที่ยังน่ากังวลอย่างมากคือในปี พ.ศ.2550 ยังคงมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ถึงประมาณ 1.4 หมื่นคน และคาดประมาณว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ( พ.ศ.2553 ) จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เฉลี่ยประมาณวันละประมาณ 32 คน และแทบไม่น่าเชื่อในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตประมาณปีละ 5 หมื่นคน หรือเฉลี่ยประมาณวันละประมาณ 140 คน ( ชั่วโมงละ 5.8 คน )

                    

           เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะ 8 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนงบประมาณของประเทศไทยด้านการป้องกันโรคเอดส์กับด้านการดูแลผู้ป่วยเอดส์ของประเทศไทยมีสัดส่วนไม่สัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น ในปี พ.ศ.2547 มีสัดส่วน 1 : 7.3 นั่นหมายความว่างบประมาณด้านการดูแลผู้ป่วยเอดส์มีสัดส่วนที่มากกว่าด้านการป้องกันโรคเอดส์ถึง 7.3 เท่า และสัดส่วนรายจ่ายเกี่ยวกับเอชไอวี / เอดส์เป็นร้อยละ 2.64 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมด แต่ถึงจะใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อยต่อปีในการป้องกันโรคเอดส์ ( ปี พ.ศ.2549 ใช้ประมาณ 116.32 ล้านบาท ) ในการป้องกันโรคเอดส์ พบว่าผลจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันโรคเอดส์ในช่วงปี พ.ศ. 2534 - 2549 หรือราว 15 ปีที่ผ่านมา สามารถช่วยชีวิตคนไทยให้รอดพ้นจากโรคเอดส์ได้ถึงประมาณ 8 ล้านคนเลยทีเดียว

                      

          เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทุกกองทุนสุขภาพทั้งจากภาครัฐและเอกชนรวมทั้งเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศพบว่าประเทศไทยใช้งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ถึงประมาณปีละ 5 พันล้านบาทเลยทีเดียว แม้การรักษาผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสจะไมหายขาด ต้องกินยาไปตลอดชีวิต และทำได้เพียงลดการติดเชื้อฉวยโอกาส เพื่อชะลอการเสียชีวิตเท่านั้น ในปัจจุบันยังมีผู้ป่วยเอดส์ที่สามารถเข้าถึงบริการยาต้านไวรัสเอดส์ในประเทศไทยรวมกันทุกสิทธิถึงประมาณ 2 แสนราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

                 

 

            ในปี พ.ศ. 2550 ปัจจัยเสี่ยงหลักของการติดเชื้อเอชไอวีในคนไทยมาจากทางเพศสัมพันธ์ถึงประมาณร้อยละ 84 ส่วนกลุ่มเสี่ยงหลัก ๆ คือ หญิงวัยรุ่นและแม่บ้าน และอีกกลุ่มที่น่ากังวลคือชายรักชาย ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด คาดประมาณว่าในชายไทยอายุ 15 – 59 ปีจะมีพฤติกรรมเป็นชายรักชายทั้งเปิดเผยและปกปิดเฉลี่ยถึงประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ประมาณ 3-4 แสนคน ทั้งยังพบอีกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มชายรักชายยังคงเที่ยวผู้หญิงและมีภรรยา ดังนั้นในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าคาดการณ์ได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่า กลุ่มชายรักชายในประเทศไทยจะมีแนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ( ในประเทศสหรัฐอเมริกาการติดเชื้อเอชไอวีเฉพาะจากกลุ่มชายรักชายมีสูงถึงร้อยละ 67 )

              

            จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนทำงานด้านการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในส่วนภูมิภาคมามากกว่า 6 ปีพบว่าปัญหาโรคเอดส์มิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มระดับความซับซ้อนของปัญหาขึ้นอย่างมากมาย มีผลกระทบไปทุกส่วนของสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ มีหลายครั้งที่ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความเสี่ยง หรือตัวผู้ติดเชื้อเอง ปัญหาที่ขอคำปรึกษาล้วนซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ ผู้เขียนประเมินว่าความรู้ความเข้าใจของประชาชนในท้องถิ่นเรื่องโรคเอดส์ยังต่ำอยู่มาก ส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แถมบางส่วนยังขาดความตระหนักอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน

 

               

           สาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปีนั้น สาเหตุหลักมาจากอุบัติจราจร รองลงมาคือสาเหตุมาจากโรคเอดส์ และในช่วงอายุนี้จะมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยปัจจุบันมีเยาวชนไทยติดเอชไอวีแล้วมากกว่า 8 หมื่นราย ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องบ้าง หรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ทราบสถานการณ์โรคเลย จะเข้าใจว่ากลุ่มเสี่ยงคือผู้ฉีดยาเสพติดและหญิงบริการทางเพศ อันเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากเพราะทั้งสองกลุ่มดังกล่าวเป็นเพียงกลุ่มเสี่ยงในอดีตเมื่อหลายปีก่อน เมื่อประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มเสี่ยงอาจทำให้ขาดความระมัดระวังในการป้องกันโรคเอดส์เมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศกับกลุ่มเยาวชนและกลุ่มชายรักชาย

            เมื่อมีการกระจายอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นก็มีการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นในทุกระดับด้วย ในปี พ.ศ.2551 มีการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นประมาณร้อยละ 25 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ส่งผลให้ภารกิจของราชการส่วนกลางมีงบประมาณดำเนินการลดต่ำลงอย่างมากโดยเฉพาะการป้องกันโรคเอดส เมื่อมีการสำรวจมุมมองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้อันดับความสำคัญของปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ พบว่าท้องถิ่นให้สัดส่วนความสำคัญกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากกว่าปัญหาโรคเอดส์อย่างมากถึงสองเท่าตัว เพราะท้องถิ่นยังมีมุมมองว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขควรมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนงานเอดส์

                 

 

 

              เมื่อหน่วยงานสาธารณสุขโดยตรงเองขาดแคลนงบประมาณจากส่วนกลางในการดำเนินการป้องกันโรคเอดส์บางจังหวัดทั้งปีมีงบประมาณดำเนินการไม่ถึง 1 แสนบาทด้วยซ้ำในการป้องกันประชาชนหลายแสนถึงเกือบล้านคนให้ปลอดภัยจากโรคเอดส์ ในขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นกลับมีมุมมองว่าปัญหาสาธารณสุขด้านการป้องกันโรคเอดส์เป็นเรื่องรองและไม่ใช่บทบาทของตนเอง เมื่อปัญหาทั้งสองส่วนมาพบกันตรงกลางผลก็คือในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาแทบเรียกได้ว่าเกิดสุญญากาศช่องว่างในการดำเนินการป้องกันโรคเอดส์ในส่วนภูมิภาคอย่างแรง มีกิจกรรมด้านการป้องกันเอดส์จากภาครัฐในท้องถิ่นน้อยมาก ขาดความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จะมีก็เพียงกิจกรรมในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น วันเอดส์โลก แต่หลังจากนั้นอีกเกือบปี แทบไม่ค่อยพบกิจกรรมจากภาครัฐมากนัก

 

 

                   เมื่อรัฐบาลมีนโยบายตรวจราชการบูรณาการเอดส์เมื่อปี พ.ศ.2550 และฟื้นฟูการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์จังหวัดอีกครั้ง ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มศึกษาและเข้าใจปัญหาโรคเอดส์รวมทั้งตระหนักในปัญหาเอดส์ของชุมชนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังขาดทักษะและบุคลากรที่มีความรู้ในการจัดการปัญหาดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เพียงตั้งงบประมาณในการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนให้กับผู้ป่วยเอดส์เท่านั้น แต่ปัญหาคือมีผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่ไปเปิดเผยตัวเองกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับเงินช่วยหลือดังกล่าว เหตุเพราะผู้ป่วยเอดส์ติดขัดเรื่องต้องเปิดเผยความลับตนเองซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นในชุมชน เกิดการถูกรังเกียจและกีดกันจากผู้คนในชุมชนจากความไม่เข้าใจในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์

               ถ้าเราจะฉุกคิดสักนิดจะพบว่าผู้ป่วยเอดส์ทุกคนยินดีจะเปิดเผยความในใจทุกสิ่งกับทีมทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ตนรักษาพยาบาลโรคเอดส์อยู่ แต่ผู้ป่วยรายเดียวกันกลับไม่ยินดีแสดงตนเพื่อของรับเบี้ยยังชีพรายเดือนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหตุเพราะกลัวผลกระทบยากแก่การคาดเดาที่ตามมาหากความความลับของตนรั่วไหลสู่ชุมชน ผู้เขียนเคยพบบางอำเภอแก้ไขปัญหานี้ได้ง่าย ๆ โดยนายอำเภอขอให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตรับผิดชอบโอนงบประมาณจำนวนหนึ่งตามแต่จะประชุมตกลงร่วมกันมารวมไว้ที่ศูนย์เฉลิมพระเกียรติอำเภอ จากนั้นให้โรงพยาบาลชุมชนทำหลักฐานตามระเบียบราชการมาขอรับเงินเบี้ยยังชีพจากศูนย์เฉลิมพระเกียรติอำเภอไปจ่ายให้ผู้ป่วยเอดส์ที่โรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยเอดส์ให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพรายเดือนโดยที่ไม่ต้องไปเปิดเผยตต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนตัวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ได้เบิกจ่ายงบประมาณเบี้ยยังชีพที่ตั้งไว้โดยได้รับหลักฐานครบถ้วนจากโรงพยาบาล ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องมาพบและเผชิญหน้ากันโดยตรง ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายทั้งตัวผู้ป่วยเอดส์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยที่มีศูนย์เฉลิมพระเกียรติอำเภอและโรงพยาบาลเป็นตัวกลางประสาน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาชุมชนโดยวิถีของชุมชนเอง

                  ผู้เขียนสังเกตพบว่าในช่วง 1 ปีหลัง เริ่มมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเทศบาลบางแห่งจัดทำโครงการป้องกันปัญหาเอดส์ด้วยงบประมาณของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทการจัดอบรมเยาวชนให้มีความรู้เรื่องโรคเอดส์ และการจัดให้เยาวชนศึกษาดูงานวัดหรือสถานที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์ที่มีชื่อเสียง เพื่อให้เยาวชนได้เห็นสภาพความเป็นอยู่จริงของผู้ป่วยเอดส์และเกิดความตระหนักในการป้องกันตนเอง

 

 

                   ที่น่าสนใจคือมีบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่ง จัดทำโครงการจัดซื้อถุงยางอนามัยเพื่อสนับสนุนให้กับสถานบริการสาธารณสุขและแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ หากปัจจัยเสี่ยงหลักของการติดเชื้อเอชไอวีติดต่อมาจากทางเพศสัมพันธ์ประมาณร้อยละ 84 การใช้ถุงยางอนามัยอย่างครอบคลุมและทั่วถึงเมื่อยามมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ฯ คงเป็นการป้องกันที่เป็นฟางเส้นท้ายก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันกับชีวิตขึ้น ในขณะที่คนกำลังจะมีเพศสัมพันธ์ต่อกันการให้ความรู้ สื่อรณรงค์ การสอนให้ยับยั้งชั่งใจ ทักษะการปฏิเสธ คงไม่ทันการณ์เสียแล้ว สิ่งที่จะช่วยชีวิตพวกเขาขณะนั้นได้คงต้องใช้ถุงยางอนามัยทางเดียวเท่านั้น

                  

          ถุงยางอนามัยที่กระทรวงสาธารณสุขแจกจ่ายไปทั่วประเทศไทยนั้น ปริมาณต่อปีเพียงไม่เกิน 25 ล้านชิ้นเท่านั้น และกลุ่มเป้าหมายหลักคือหญิงอาชีพบริการทางเพศเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์แจกให้กลับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง จึงทำให้ถุงยางอนามัยที่แจกกระจายจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคของกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เยาวชน ชายรักชาย ตำรวจ ทหาร ผู้ใช้แรงงาน ประชากรเคลื่อนย้าย ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้ต้องซื้อถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันตนเองจากร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา หรือตู้หยอดเหรียญ ฯลฯ แต่จุดจำหน่ายต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีจำกัดไม่ครอบคลุมทั่วไปในชนบทที่ห่างไกล และเยาวชนบางส่วนก็ยังมีรายได้น้อยเกินกว่าจะซื้อถุงยางอนามัยมาใช้เอง ผนวกกับสิ่งเร้ากลางคืน วุฒิภาวะ และความรู้ด้านโรคเอดส์ ทำให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีอย่างขาดการเหลียวแลจากสังคม

 

           การติดเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์ผู้ใหญ่บางคนอาจมีทัศนะคติว่าเป็นการหาเรื่องมาใส่ตัวเอง คนผู้นั้นต้องหาทางป้องกันตัวเองซิ !! คงเป็นการมองปัญหาเพียงมุมเดียว ลองคิดตามผู้เขียนว่าในขณะที่ภาครัฐซื้อถุงยางในการป้องกันโรคเอดส์ปริมาณมากเพียงชิ้นละประมาณ 1.75 บาท หรืองบประมาณซื้อถุงยางอนามัย 37 ล้านบาทต่อปีในการป้องกันเอดส์ให้กับประชาชน 60 กว่าล้านคน แต่หากคนผู้นั้นติดเชื้อเอชไอวีจนกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ รัฐเองต้องใช้เงินถึงประมาณ 9 พันบาทต่อปีต่อคน หรืองบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาทต่อปีในการรักษาผู้ป่วยเอดส์ 2 แสนคนและไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ ๆ ได้ด้วย คำถามคือแล้วเราจะเลือกหนทางไหนดี ??

                 

 

           ผู้เขียนลองจินตนาการดูว่าหากองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกแห่งในประเทศไทย 75 จังหวัดบวกกรุงเทพมหานคร จัดซื้อถุงยางอนามัยเองแห่งละ 1 ล้านชิ้น เพื่อป้องกันประชาชนกลุ่มเสี่ยงของจังหวัดตนเอง ในกลุ่มเยาวชน ชายรักชาย ตำรวจ ทหาร ผู้ใช้แรงงาน ประชากรเคลื่อนย้าย ฯลฯ ซึ่งม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยจะมีปริมาณถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 76 ล้านชิ้นต่อปี เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาล สถานีอนามัย ศูนย์สาธารณสุขชุมชน ร้านค้าชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ฯลฯ

                  

            และผู้เขียนก็จินตนาการต่อไปว่าถ้าเทบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง ( ประมาณ 7 พันแห่ง ) จัดทำโครงการ “ หนึ่งตำบลหนึ่งโครงการต้านภัยเอดส์ “ โดยเป็นการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์กับเยาวชนและประชาชนในชุมชนตนเองโดยขอรับการสนับสนุนวิทยากรจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ จัดการรณรงค์ด้านโรคเอดส์และกิจกรรมที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

          หากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล ทุกแห่งในประเทศไทย ผนึกกำลังกันอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ผู้เขียนเชื่อว่าในระยะเวลาอันสั้นภายในไม่กี่ปี โรคเอดส์จะถูกควบคุมและลดลงอย่างมาก จนอาจไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของท้องถิ่นและชุมชนในที่สุด เมื่อโรคเอดส์ลดลง โรคแทรกซ้อนติดต่อร้ายแรงต่าง ๆ เช่น วัณโรค ก็จะลดลงตามไปด้วย โดยที่ท้องถิ่นไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนโดยชุมชนเองอย่างแท้จริง

             ผู้เขียนหวังว่าหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อ่านบทความพิเศษนี้ หรือช่วยกันเผยแพร่ และร่วมกันประชุมพิจารณาหาแนวทางป้องกันโรคเอดส์ร่วมกันทุกจังหวัด จะสามารถมีผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในการระดมศักยภาพการป้องกันโรคเอดส์ครั้งใหญ่ของประเทศโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยในการช่วยชีวิตประชาชนหลายสิบล้านคนไม่ให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจและความผาสุขของประชาชนในชุมชนและสังคมของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป........

            มาร่วมมือกันเถิด “ หนึ่งตำบลหนึ่งโครงการต้านภัยเอดส์ “ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคเอดส์ให้กับลูกหลานของพวกเราให้เป็นกำลังสำคัญในการัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าสถาพรคู่กับโลกใบนี้ตลอดไป.......

  ดูรายละเอียด / ภาพประกอบ / ได้จากด้านล่าง

http://piphat.thaihp.org/index.php?option=other_detail&lang=th&id=35&sub=21

หมายเลขบันทึก: 210794เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท