การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๗)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๗)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๗ มาลงต่อนะครับ    การเรียนรู้ของชาวบ้าน ต้องการ “คุณอำนวย" คอยช่วยกระตุ้น   ประสานงาน   และอำนวยความสะดวก   ในการเรียนรู้ร่วมกัน     รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่อการดูดซับความรู้จากภายนอก     ผมประทับใจวิธีมองความสัมพันธ์ระหว่าง “คุณอำนวย” กับ “คุณกิจ” ชาวนามาก     โปรดอ่านและตีความเอาเองนะครับ


ตอนที่  17  “คุณกิจ” กับ “คุณอำนวย”
        การเข้าไปลงพื้นที่ชุมชนของเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ  ในฐานะคนนอกชุมชน  ที่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกคนใหม่เป็นคนใน – ในชุมชน  เข้าไปเป็นลูกเป็นหลานของชุมชน  นักเรียนชาวนากินอยู่กันอย่างไร  ก็ต้องทำตามเขาอย่างนั้น  จากจุดนี้เอง...  จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้อย่าง “คุณอำนวย” (knowledge facilitator)    ซึ่ง
“คุณอำนวย” ต้องทำความรู้จัก  ความเข้าใจในสภาพความเป็นวิถีชีวิตและความเป็นวิถีชุมชน   “คุณอำนวย” จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน  พร้อมๆกับพยายามเข้าไปฟังปัญหาจากเสียงเงียบของนักเรียนชาวนา  “คุณอำนวย” จะต้องทำงานอย่างหนัก  เพื่อให้ได้เป็นคนในของชุมชนที่นักเรียนชาวนาสามารถพึ่งพาได้ 
        การจัดการความรู้ในชุมชนที่เกิดขึ้นนี้  เป็นความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับมูลนิธิข้าวขวัญ  ระหว่างนักเรียนชาวนากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ    ระหว่าง “คุณกิจ” กับ “คุณอำนวย”    การจัดการความรู้ผ่านโรงเรียนชาวนา  ที่ทั้ง  2  ฝ่าย  ถือเป็นเวทีของความร่วมมือ   เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนความรู้  ร่วมกันใช้โอกาสต่างๆ  เพื่อนำไปสู่การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนา  โดยที่ “คุณกิจ” กับ “คุณอำนวย”จะเป็นคู่หูที่ต้องร่วมกันทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน
        นักเรียนชาวนากับเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานร่วมกันตามบทบาทหน้าที่  คุณกิจอย่างนักเรียนชาวนาต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ  ร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมตัดสินใจ  ร่วมแก้ปัญหา  ร่วมรักษาผลประโยชน์  ในขณะเดียวกัน  ส่วนของเจ้าหน้าที่จะเข้าไปมีส่วนรวมเป็นคุณอำนวย  คอยเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้การจัดการความรู้  และงานกิจกรรมได้เดินไปตามกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ  
        การช่วยกลุ่มรวมตัวเป็นสิ่งสำคัญ  ซึ่งคุณกิจแต่ละคนจะก็ต้องช่วยเหลือกลุ่มในรวมตัว       คุณอำนวยเพียงแต่ช่วยผลักดัน  หากคุณกิจสามารถช่วยกลุ่มรวมตัวได้  ก็แสดงว่ากระบวนการจะถูกขับเคลื่อนไปได้เอง  กลไกอยู่ที่กระบวนการกลุ่มที่คุณกิจถืออยู่  จนสามารถใช้เป็น  สำหรับโรงเรียนชาวนาแล้ว  เรื่องนี้น่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับคุณอำนวยที่ได้ลดบทบาทลงบ้าง  คุณกิจจะเป็นคุณอำนวยแทน  แต่ก็ไม่ทุกเรื่องเสมอไป  บางครั้งก็ประสบปัญหาเรื่องการรวมตัวของคุณกิจ       คุณอำนวยเห็นทีท่าว่าควรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่  จึงผลักดันให้คุณกิจช่วยสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใช้ร่วมกัน  ผลักดันให้การรวมกลุ่มรวมตัวของคุณกิจเป็นที่สำเร็จ
   
        เจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็น “คุณอำนวย” ทุกวาระทุกโอกาสเสมอไป  ในบางจังหวะเจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนตนเองเป็น “คุณกิจ” บ้าง  สิ่งใดที่เจ้าหน้าที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ  เจ้าหน้าที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “คุณอำนวย” มาเป็น “คุณกิจ”     คราวนี้สลับบทบาทกัน  เพราะโรงเรียนชาวนายึดหลักการของการเรียนรู้ร่วมกันและการทำงานร่วมกันเป็นสำคัญ  อย่างนี้ก็จะเข้าแนวคิดที่ว่า  สามคนเดินมาด้วยกัน  สองคนเป็นครู  โอกาสที่จะร่วมเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ  คุณกิจกับคุณอำนวยในกรณีนี้  คนเดียวจึงสลับบทบาทกัน  หากคุณอำนวยไม่รู้  คุณกิจรู้  คุณกิจก็ต้องบอก  เพื่อแลกเปลี่ยนร่วมเรียนรู้
        หากคุณอำนวยเห็นว่ายังมีแหล่งการเรียนรู้ภายนอกที่น่าสนใจ  อันจะเป็นประโยชน์ต่อ      การเรียนรู้ของคุณกิจ  ขณะที่คุณกิจเองก็สนใจในเรื่องใดๆนั้นด้วย  คุณอำนวยจะประสานงานแหล่งการเรียนรู้อื่นให้  อย่างเช่น  ไปเรียนรู้เรื่องเชื้อราไตรโครเดอร์มา  ที่คลินิกสุขภาพพืช  ภาควิชา    โรคพืช  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม  ไปเรียนรู้จากเครือข่ายเกษตรกรชุมชนที่จังหวัดพิจิตร  ไปเรียนรู้และเก็บเชื้อจุลินทรีย์ที่น้ำตกไซเบอร์  จังหวัดอุทัยธานี  เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าคุณอำนวยจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของคุณกิจเป็นบทบาทสำคัญ 
        การเป็นคุณกิจ  การเป็นคุณอำนวย  ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือกลายไปเป็นเรื่องยาก  สิ่งเหล่านี้ฝึกฝนได้ด้วยการเรียนรู้  ในโรงเรียนชาวนา  คุณกิจ...สำคัญที่จะต้องมุ่งเรียนรู้  ทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย  ผลงานที่ออกมาคือรางวัลของการฝึกฝน  จะสำเร็จหรือไม่  ?  สำคัญอยู่ที่ว่าคุณกิจได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนทำไปหรือไม่  ?
        แล้ว...  คุณอำนวยอย่างเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนชาวนาต้องขยันทำงาน  ต้องเป็นตัวกลางใน   การประสานงานจากจุดต่างๆที่วิ่งไหลเข้ามาหาคุณกิจ  คุณอำนวยจะช่วยรับมาแปลงสารให้กับ    คุณกิจ  จะได้เหมาะสมและเข้ากันได้ด้วยดี  หากคุณกิจไม่รู้  คุณอำนวยรู้  คุณอำนวยก็ต้องบอก
        ในโรงเรียนชาวนา  ทั้งคุณกิจและคุณอำนวยจะต้องร่วมมือกันแล้วก็ต้องทำเพื่อให้เกื้อกูลกัน  เกื้อกูลกันอย่างไร  ?  จึงใคร่ขอทบทวนและยกตัวอย่างสถานการณ์ที่จะแสดงภาพได้อย่างชัดเจน  จากเรื่องของกองทุนปุ๋ยหมักชีวภาพ  ที่ผ่านมานั้น  เราๆท่านๆจะเห็นได้ว่า  นักเรียนชาวนาได้รับเงินงบประมาณมาจำนวนหนึ่ง  เพื่อจะทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  นักเรียนชาวนาแต่ละคนก็ช่วยกันคิด  แต่กลายเป็นต่างคนก็ต่างจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้  เป็นร้อยแปดพันเก้า  ตามสถานการณ์  เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการวางแผนงาน  โดยวกกลับมาถึงเรื่องหลักการของการฝึกหัดจัดการ  ประเด็นจึงได้ข้อยุติในระดับหนึ่งไป 
        ต่อมาในสถานการณ์เรื่องของการเงินการบัญชี  เมื่อพบว่าคุณกิจมีการทำบันทึกด้านการเงิน  แต่ยังขาดทักษะในเรื่องการทำบัญชีต้นทุนการผลิต  จากบันทึกการจัดซื้อวัสดุและวัตถุดิบรายวัน  ไม่ได้แยกประเภท  จึงไม่สามารถทราบได้ว่าอะไรในแต่ละชนิดมีมากน้อยหรือขาดเกิน  คุณอำนวยจึงเข้าไปมีส่วนรวม  คุณอำนวยเป็นผู้แนะนำให้  และคุณกิจฝึกทำบัญชีต้นทุนการผลิตใหม่  ทั้ง  2  ฝ่ายอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้  จนคุณกิจสามารถจัดทำต้นทุนการผลิตได้เองอย่างมีระบบและเป็นระเบียบ  ทำให้บัญชีต้นทุนการผลิตของกองทุนปุ๋ยหมักชีวภาพปรากฏเป็นภาพชัดเจน  สถานการณ์ได้ทำให้ได้บทเรียนเป็นประสบการณ์เพื่อการพัฒนาตนเอง 
        การพัฒนาตนเองของนักเรียนชาวนานั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งและเป็นอับดับแรกของโรงเรียนชาวนา  นักเรียนชาวนาต้องเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพตนเองอยู่เสมอ  พบว่า  ศักยภาพของนักเรียนชาวนา  มีด้วยกัน  3  ระดับ  คือ
§       นักเรียนชาวนาผู้นำ 
§       นักเรียนชาวนาผู้ตาม 
§       นักเรียนชาวนาที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
        กล่าวคือ  นักเรียนชาวนาส่วนหนึ่งมีแววและแสดงแววความเป็นผู้นำออกมา  แววในที่นี้เป็นเรื่องของความคิดความอ่าน  ทักษะการเรียนรู้  ความมุ่งมั่นปรารถนา  ยอมรับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า  ด้วยเพราะเข้าใจคิด  เข้าใจทำ  จึงสามารถเป็นนักเรียนชาวนาผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีได้  จนสามารถนำความคิด  ความรู้  ความเข้าใจของตนไปนำเสนอเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนๆและเครือข่ายได้อีกด้วย    
        ในขณะที่นักเรียนชาวนาอีกส่วนหนึ่งจะขอเป็นผู้ตาม  ที่ค่อยๆทำตามแบบอย่างผู้นำทำเอาไว้  ผู้นำกับผู้ตามจึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปันกัน  ผู้ตามจะสามารถเรียนรู้ได้จากผู้นำ  จากกรณีในเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน  นักเรียนชาวนาที่รู้จักสมุนไพร  และเคยทดลองทำยาสมุนไพรสูตรต่างๆ  ก็กลายเป็นผู้นำเรื่องสมุนไพร  แล้วนำมาสิ่งดีเหล่านี้มาแบ่งปันให้เพื่อนๆร่วมชั้นเรียน 
        ส่วนนักเรียนชาวนาอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ  เนื่องจากยังสงวนท่าที  เพียงแต่บอกได้ว่า  ขอดูก่อน  ขอคิดดูก่อน  นั่งแสดงถึงความไม่แน่ใจ  ก็เห็นเขาว่ากันอย่างนั้นจะจริงหรือ  ?  จะได้ผลหรือ  ?  ซึ่งก็ไม่เคยทดลองและฝึกหัดเอง  เกรงว่าเมื่อทำแล้วจะเกิดความเสี่ยงไปต่างๆนานา  จึงได้แต่ลองๆทำตามๆกันไปก่อน  หรือจะทำดี  หรือจะหยุดดี  จึงเกิดภาวะที่ยังไม่แน่ใจ  จนยังไม่ได้ตัดสินใจ  รอให้ได้แบบอย่างจนเห็นเป็นประจักษ์  จึงจะทำตามได้ 
        แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าใครอยู่ในสภาพใดๆ  โรงเรียนชาวนามีภารกิจที่จะต้องส่งเสริมการจัดการความรู้ให้แก่คุณกิจทุกคนได้ร่วมกันเรียนรู้  เพราะโอกาสอยู่ในมือของคุณกิจทุกคน  และ  คุณอำนวยก็ยินดีและจริงใจต้อนรับทุกคน  ถ้าพร้อมที่จะก้าวไปสู้เส้นทางเกษตรกรรมยั่งยืน  ถนนกำลังรอคุณอยู่


           สังคมไทยต้องการ คุณอำนวย ที่คิดแบบนี้ ปฏิบัติแบบนี้ เป็นหมื่นคน     คืออย่างน้อยตำบลละ ๑ คน ก็ ๗ พันคนแล้ว    และยังต้องการในภาคราชการและภาคธุรกิจ อีกจำนวนมาก     สคส. และพันธมิตรกำลังช่วยกันหาทางขยายจำนวน คุณอำนวย ที่มีทั้ง ใจ หัว และมือ เพื่อทำหน้าที่ตามที่รายงานของ มขข. เล่าไว้ในตอนนี้


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2099เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2005 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท