ภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์ยุคใหม่


บรรณารักษ์ยุคใหม่ในสายตาของ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์

ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ได้กล่าวถึงภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์ยุคใหม่ ในการบรรยายหัวข้อ ไอทียุคใหม่ ในการประชุมวิชาการประจำปี 2551 ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 กันยายน ณ โรงแรมเอเชีย ท่านว่า

  • บรรณารักษ์จะต้องตื่นตัว และเปลี่ยนความคิดจากการเป็นผู้จัดหนังสือ เป็นผู้จัดรวบรวม เรียบเรียง และนำเสนอความรู้ให้กับผู้ใช้บริการทุกระดับเพื่อให้ผู้ใช้นำไปใช้งานต่อ
  • จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บ สืบค้น และค้นคืนข้อมูลข่าวสาร และสาระความรู้มาให้บริการแก่ผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการ
  • บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพ และเป็นปราชญ์ในด้านการจัดการสารสนเทศและความรู้
  • บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีความเชี่ยวชาญในวิชาการอื่นๆ ด้วย อาจจะต้องมีการสิ่งใหม่เกิดขึ้นโดยที่พัฒนาบรรณารักษ์ปริญญาโท ปริญญาเอก จากผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นๆ (เหมือนต่างประเทศ)  เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในสาขา ซึ่งในการพัฒนานั้นต้องสร้างสมรรถนะพื้นฐานให้ได้ด้วย

 

จากแนวคิดของ ดร.ครรชิต สิริพรมีทัศนะ ว่า

ในการพัฒนาบรรณารักษ์ให้เป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่นั้น มี 2 ระดับ คือ

1. ระดับบุคคล

2. ระดับองค์กร

การพัฒนาระดับบุคคล  ซึ่งบรรณารักษ์ที่รักการเรียนรู้ รักที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จับประเด็น พิจารณาความสอดคล้อง และกลั่นกรองข้อมูล จะก้าวสู่ความเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่โดยไม่ยาก

สำหรับการพัฒนาบรรณารักษ์ยุคใหม่โดยองค์กรนั้น เป็นแรงสนับสนุนที่ช่วยสร้างบรรณารักษ์ยุคใหม่ได้หลายวิธี เช่น

  • การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น การแนะนำความรู้ใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • การสนับสนุนการศึกษาต่อ อาจไม่ใช่แค่ให้ไปศึกษาต่อได้ แต่อาจจะมีทุนสนับสนุนหรือกู้ยืม
  • การส่งเสริมให้ศึกษาต่อในสาขาอื่นในระดับเดียวกัน (ปริญญาที่ 2) เพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นผู้เชี่ยวชาญ
  • การสนับสนุนการศึกษาดูงาน การอบรมเชิงวิชาการ การประชุมสัมมนา
  • การส่งเสริมให้เข้าร่วมการประชุมระดับประเทศและนานาชาติ สนับสนุนการแสดงผลงานในการประชุม หรือเผยแพร่บทความในวารสารนานาชาติ เช่น มีทุนสนับสนุน เป็นค้น
  • การส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ลองสำรวจดูศักยภาพพื้นฐานของบรรณารักษ์ในหน่วยงานว่าสามารถใช้โปรแกรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เช่น การ ZIP file การสแกนภาพ  การใช้คำสั่งใน Acrobat Reader  ใช้โปรแกรมการพิมพ์  การใช้คำสั่งต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่อ wireless ฯลฯ  ทั้งนี้เพื่อวัดระดับและจัดหลักสูตรการอบรมเสริมในส่วนที่บุคลากรยังขาดอยู่ ซึ่งเรื่องต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่บรรณารักษ์ควรรู้ไว้เพื่อให้บริการได้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปในยุคไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ให้โอกาสในการปฏิบัติงานที่ท้าทาย ได้ฝึกทักษะทางด้านการบริหาร
  • สนับสนุนให้บรรณารักษ์ทำงานร่วมกับอาจารย์และคณะวิชา
  • กระตุ้นและจูงใจ

แล้วท่านหล่ะคะมีทัศนะเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์ห้องสมุดยุคใหม่อย่างไร

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 209681เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • นึกถึงที่ดร เสรี วงษ์มณฑา ให้สัมภาษณ์เลย ที่บอกว่า บรรณารักษ์ต้องเลิกใส่แว่น เลิกทำหน้าดุผู้ใช้เลยอ่ะ แหม .. มันก็ยากนะคะ บางคนใส่มาตั้งค่อนชีวิตแล้ว จะให้เลิกไปใส่คอนแทกซ์ อิอิ
  • คิดว่าบรรณารักษ์ยุคใหม่ก็เปลี่ยนไปเยอะนะคะ น้องตุ่นว่ามั๊ย  ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในห้องสมุดตั้งหลายอย่าง ทั้งไอที ทั้งแนวคิดการบริหาร การตลาด การบริการลูกค้า ..
  • แต่อีกอย่างที่คิดว่ายังขาด คือทำงานร่วมกับนักวิชาการแวดวงอื่น เช่น ร่วมทำงานกับนักวิจัย ถ้าบรรณารักษ์ยุคใหม่ มีความรู้เรื่องวิจัย เพื่อจะได้แนะนำผู้ใช้ระดับบัณฑิต หรือนักวิชาการ จะดีมากๆเลย

02/11/2008

ปัญหาสำคัญ ของบรรณารักษ์ คือ ไม่ค่อยพัฒนาปรับ ทฤษฎี/ความรู้ ด้านวิชาการบรรณารักษ์ ให้มีความก้าวหน้าล่มลึก หรือพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนมากจะ

ถูกสอนมาให้ยึดติดกับ ระเบียบข้อบังคับ และกระบวนการ ไม่ค่อยมีความคิดที่จะพัฒนาให้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เช่น ส่วนใหญ่จะเชื่อถือในคู่มือ ของ DDC ที่มีอยู่อย่างซื่อสัตย์แทบจะชั่วฟ้าดินสลาย, เกือบส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้า จะเลือกใช้ SubJ.Heading ที่แตกต่างไปจาก คู่มือที่มีอยู่ พอมาถึงยุค Keywords รุ่งเรืองขึ้นในปัจจุบัน ก็มักจะเกิดความสับสน งงงวย พอสมควร

บรรณารักษ์ ส่วนมาก จะมุ่งเน้นไปที่ การบริหารจัดการ การบริการและความพึงพอใจ มีจำนวนน้อยมากๆ ที่จะมุ่งไปที่การพัฒนากรรมวิธี การสืบค้น การนำเสนอข้อมูล และกระบวนการแสวงหาสารสนเทศเพื่อ สังคมการเรียนรู้ในอนาคต หรือ พัฒนาการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาสาระลุ่มลึก สหสัมพันธ์ในศาสตร์ต่างๆอย่างซับซ้อน

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจว่า พอมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามยังกระบวนการของบรรณารักษ์ แทบจะส่วนมากเริ่มมองไปที่ การจัดหา การจัดซื้อ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่บริทนำมาเสนอขาย มีน้อยมากๆ ที่จะมุ่งไปที่การพยายามพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มศักยภาพของงานบรรณารักษ์

ถ้าจะมีคำถามง่ายๆสั้นๆว่า ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ที่ใช้กันโดยการซื้อสำเร็จรูปจากบริษัทต่างๆ ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง แตกต่างและไม่เหมือนกันอย่างไร? ทำไม? บรรณารักษ์ ส่วนมากจะตอบทำนองคล้ายๆกันว่า ไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่แน่ๆรู้แต่ ระบบที่ตนเองจัดซื้อมาเท่านั้น อื่นๆก็ไม่ค่อยจะรู้เหมือนกัน

บรรณารักษ์ทุกคน จะทำงานจับต้องกับ หนังสือตำราแทบจะทุกเมื่อทุกวินาที แต่ส่วนมากมักจะไม่ค่อยได้อ่าน หรือทำความเข้าใจกับเนื้อหาเหล่านั้นเท่าที่ควรจะเป็น บางทีเรื่องในศาสตร์ของตัวเอง ก็ยังไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่ มีสักกี่คน ที่เป็นบรรณารักษ์แล้วเคยอ่านเคยสัมผัส กับ สารานุกรม ชื่อ Encyclopedia of Library and Information Science (77 Vols.) โดยความเป็นจริงแล้วควรจะอ่านค้นคว้า หรือ แสวงหากันอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าสารานุกรม ชื่ออื่นๆ แถมบางคนยังถามอีกว่า มีด้วยหรือชื่อนี้ งานวิจัยของบรรณารักษ์ ส่วนมากๆเลย ก็จะเป็นแบบสอบถาม ความสนใจ ทัศนคติ มากกว่า งานวิจัยเฉพาะด้านของบรรณารักษ์ และห้องสมุด ข้อเสนอนี้ อาจจะไม่ค่อยเข้าใจคำถามนัก เช่น การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ของ keywords ในการสืบค้นในสาขาวิชา.... หรือ วิเคราะห์เปรียบเทียบความสะดวกรวดเร็วในการใช้ค้นคว้าระหว่าง e-Journalsกับ Journal papers ฯลฯ

ศาสตร์ด้านบรรณารักษ์ มีหลากหลาย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอีกหลายๆศาสตร์ มันไม่ใช่ศาสตร์เอกเทศ นอกจากนี้ ความต้องการในการแสวงหาและบริโภค สารสนเทศ ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการนำเอาเทคโนโลยีอื่นๆเข้ามาใช้ประโยชน์ จนบางครั้งมีคนกล่าวว่า ไม่ต้องเรียนบรรณารักษ์ ก็ควบคุมดูแลเทคโนโลยี ในห้องสมุดได้ ตรงนี้คือ สิ่งที่บรรณารักษ์ทั้งหลาย จะต้องตระหนักให้มากๆว่า อนาคตของศาสตร์นี้ ถ้าไม่มีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนการต่างๆให้ทันสมัย และยอมรับในเทคโนยี นำเอามาเป็นเครื่องมือ ที่ทรงพลังในการแสวงหาความรู้จากทรัพยากรสารสนเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สูงยิ่งๆขึ้นไปอีก เราบรรณารักษ์ ต้องเป็นผู้นำทางในการแสวงหาความรู้ ไม่ใช่เป็นผู้ปรับวิถีการทำงานตามที่ Robotics นำทางไว้ให้ ในอนาคตข้างหน้า ถ้ามีเจ้าหุ่นยนต์ ทีคล้ายมนุษย์ มาทำหน้าที่ในการให้บริการยืมคืน ที่มีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าใช้คนจริงๆ จะเป็นอย่างไร ตัวอย่าง ที่เห็นในขั้นต้น คือ เครื่องบริการยืมคืนด้วยตนเอง ก็เป็น Robotic ชนิดหนึ่งแล้ว ในอนาคตข้างหน้าอาจจะไม่กีปีข้างหน้า เจ้าRobotics ชนิดนี้ มันเคลื่อนที่ได้เหมือนบรรณารักษ์ที่เป็นคน และให้บริการด้วยระบบนำทาง GIS ผนวกกับ OPAC การค้นหาทรัพยากรและการยืมคืนสารสนเทศจะเป็นอย่างไร มันกำลังจะมาในไม่ช้านี้

อีกตัวอย่าง ที่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ได้ สมมุติว่า ในห้องสมุดมีหนังสือ 100,000 เล่มเป็น paperหมดเลย เรานำมาแปลงไฟล์ เป็น e-books หมดเลย แล้วบันทึก e-books 100,000 เล่ม นั้นเก็บไว้ ใน storage ใหญ่ของห้องสมุด เมื่อต้องการใช้ ก็สืบค้นผ่าน OPAC เรียกผ่าน e-access เข้าหา fulltextsก็จะอ่านจากจอภาพได้ทุกหน้า อ่านแล้วอยากได้หน้าไหนส่วนไหน copy เป็นกระดาษ หรือ save ลงไดร้ฟ เอาไปอีกต่อ ข้อมูลทำนองนี้ NASA คิดทำให้ดูแล้ว จากยานที่ส่งข้อมูลผ่านมาจาก ดาวอังคารและดาวเสาร์ แล้วห้องสมุด มหาวิทยาลัย ระยะทางไม่ถึง 100 เมตร ทำไมจะทำไม่ได้ Amazon .com ก็ทำอยู่แล้วทุกวันนี้

ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ที่พวกบรรณารักษ์ ยังคง มงุมมหงา กับหลักการ AACR I,II,III กันอยู่ทุกวันนี้อยู่ ถ้าบรรณารักษ์รุ่นใหม่ จนถึงบรรณารักษ์รุ่นเดอะทั้งหลาย ยังไม่เข้าใจวิทยาการที่ชื่อ Future Science ก็น่าจะต้องเปิดหลักสูตรนี้อบรมบรรณารักษ์ กันดีไหมเอ่ย เพื่อว่าจะได้วิทยายุทธ ไปพัฒนาบรรณารักษ์กันใหม่

สวัสดีค่ะ คุณ sc21mc

  • ไม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซะนานนะคะ...ซึ่งการแวะเข้ามาของคุณ sc21mc ยังเป็นประโยชน์และให้ความคิดเห็นในหลายแง่มุม ซึ่งสิริพรคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพบรรณารักษ์อย่างมาก เสียดายแต่ไม่มีข้อมูลให้รู้จักกันมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโอกาสต่อไป
  • เห็นด้วยกับ คุณ sc21mc ที่ว่าบรรณารักษ์ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ...ดูได้จากตัวเอง แหล่งวิชาการหลายแหล่งได้รู้จักเพราะ sc21mc หรือมีผู้แนะนำ หนังสือหลายเล่มแม้แต่หนังสืออ่านเล่น ยังแค่ผ่านมือ... ดังนั้นแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปรวดเร็ว หากคนทำงานกับเทคโนโลยียังไม่มองให้ไกล...อาจจะเหมือนภาพยนตร์หลายเรื่องที่คนทำงานให้เครื่องจักร
  • ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์สิริพรเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสมัยนี้ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้หรือภูมิปัญหา ตลอดจนมูลค่าเพิ่มของห้องสมุด คือเนื้อหา หรือ Content ซึ่งเป็นองค์ความรู้ เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีทำให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น วันนี้จึงหวังว่า OPAC ของห้องสมุดน่าจะแสดงรายการสารบัญได้ เพื่อให้ผู้ใช้เลือกดูว่ามีหัวข้อที่ตนเองสนใจหรือไม่ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดดูสารบัญที่ชั้นหนังสือ
  • อีกอย่างในการพัฒนาบรรณารักษ์...กรอบของหน่วยงานยังอยู่กับระเบียบข้อบังคับ...ไม่สนับสนุนการศึกษาปริญญาที่ 2 สิริพรเห็นว่า หากบรรณารักษ์สนใจศาสตร์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากวิชาชีพหลัก...จะทำให้เข้าใจโครงสร้างสาขาวิชา ทำให้สนุกกับงานและสร้างงานในสาขาวิชานั้นๆ ได้มากขึ้น
  • เคยฝันว่า...หากพรรคการเมืองใดชูประเด็นนี้ในการหาเสียง ว่าค่าเล่าเรียนได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคิดภาษี...คงช่วยให้การตัดสินใจศึกษาต่อได้ดีขึ้น แต่ไม่รู้ว่าวัน ไหนฝันจะเป็นจริง
  • ในครั้งต่อไปคงมีโอกาสได้รู้จักกันมากขึ้นนะคะ
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แผนกส่งเสริมสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ขอเชิญเข้าร่วมการสัมมนา เรื่อง เทคโนโลยีเว็บ Web 2.0 : สู่ความเป็นเลิศของห้องสมุดดิจิตอล (Web 2.0 Technology : A Guide to Best-Practices in Digital Libraries) ในวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ห้อง 10303 อาคาร 10 ชั้น 3 (การบรรยาย) และ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 7402 อาคาร 7 ชั้น 4 (Workshop) ดูรายละเอียดการสัมมนาพร้อมดาวน์โหลดใบตอบรับเพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ http://library.utcc.ac.th สนใจการเข้าร่วมสัมมนา กรุณาสำรองที่นั่ง และแจ้งรายชื่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา ภายในวันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2552 ได้ที่ : แผนกส่งเสริมสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โทรศัพท์ : 02-697-6260, 02-697-6262 โทรสาร : 02-697-6251 E-mail : [email protected]

  • ขอให้มีความสุขกับการทำงาน
  • วันราชการ..วันแรกของปีค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

ขอบคุณข่าวฝากจากสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นะคะ

เป็นประโยชน์ต่อชาวบรรณารักษ์จริงๆ ค่ะ

ได้รับกำลังใจในวันแรกของการทำงานจากพี่ครูคิม

ก้อมีกำลังใจอย่างยิ่งแล้วค่ะ ปีนี้จะเหนื่อยจะหนักอย่างไร พร้อมลุยแล้วค้า

ขอบคุณนะคะP

 

มีความสุขมากๆนะคะ

ครูอ้อยเป็นกำลังใจให้เสมอ

สวัสดีค่ะ ครูอ้อย

  • นอนดึกจึง? หรือตื่นเช้าจังค่ะ? น่าทึ่งมาก
  • คงไม่เหมือนสิริพร ที่วันนี้ตื่นแต่ดึกเอปั่นงานที่รับไว้
  • เห็นเม้นท์ของครูมาอวยพรและให้กำลังใจ สบายใจในการทำงานขึ้นเยอะเลยค่ะ
  • ขอให้มีความสุขในปีนี้และปีต่อๆ ไปนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท