บทเรียนจากนักเรียนชาวนา บทที่ ๖: ทำไมเกษตรกรไม่นิยมขุดบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ในไร่นา


คนเหล่านี้ อาจยอมรับการขุดบ่อขนาดเล็ก หรือร่องน้ำขนาดเล็กในแปลงเกษตร ที่ใช้ประโยชน์ได้หลายวัตถุประสงค์ ทั้งการเก็บน้ำ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกข้าว ได้ด้วย

ในระยะประมาณสิบห้าปีมานี้ ผมได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการประเมิน การตัดสินใจของเกษตรกร ในการจัดทำบ่อน้ำในไร่นา และ มีกิจกรรมโครงการการจัดการน้ำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาตลอด

ที่ทำให้ผมได้ข้อมูลว่า แม้จะมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งสนใจโครงการการสร้างบ่อน้ำในไร่นา

แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ที่แม้จะมีโครงการสนับสนุนก็จะไม่สนใจรับความช่วยเหลือดังกล่าว

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังต่อไปนี้

เกษตรกรที่สนใจร่วมโครงการนั้น ส่วนใหญ่

·        มีที่ทำกินมาก แต่ขาดแหล่งน้ำ หรือมีแหล่งน้ำไม่พอใช้ในการทำกิจกรรมการเกษตร

·        มีลูก หรือผู้รับมรดกน้อย หรือแม้มีหลายคน ก็มีที่ดินที่สามารถแบ่งได้พอดีอยู่แล้ว โดยไม่มีปัญหาจากแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นใหม่

สำหรับเกษตรกรที่ไม่ร่วมนั้น มักมาจาก

·        มีแหล่งน้ำจากแหล่งอื่นอยู่บ้างแล้ว เช่น คลองชลประทาน ห้วย หนอง ลำคลอง บึง หรือ น้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดีพอใช้ได้

·        มีที่ทำกินน้อย ถ้าขุดบ่อ จะเหลือที่ไม่พอทำกิน เช่นการขุดบ่อ ๑ ไร่ ต้อง ใช้ที่ดิน ๔ ไร่ (ยกเว้นขุดดินไปใช้ที่อื่น และฝั่งไม่พัง) ถ้ามีน้อยกว่า ๑๕ ไร่ มักมีสัดส่วนที่ดินที่เสียไปในการขุดบ่อมาก ถึง หนึ่งในสาม หรือมากกว่า

·        มีผู้รับมรดกหลายคน ถ้าขุดบ่อจะแบ่งได้ยาก

·        มีที่ดินที่คิดว่าอาจจะต้องขาย เพื่อใช้หนี้ หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ ถ้าขุดบ่ออาจขายยาก

·        เข้าใจว่าการขุดบ่อทำให้เสียที่ทำกิน ลดพื้นที่เพาะปลูก

แต่ คนเหล่านี้ อาจยอมรับการขุดบ่อขนาดเล็ก หรือร่องน้ำขนาดเล็กในแปลงเกษตร ที่ใช้ประโยชน์ได้หลายวัตถุประสงค์ ทั้งการเก็บน้ำ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกข้าว ได้ด้วย

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่า

โครงการสนับสนุนการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นา จึงควรพิจารณาความต้องการของเกษตรกรส่วนใหญ่ ที่มีที่ทำกินน้อย และจำเป็นต้องใช้ที่ดินและแหล่งน้ำ แบบหลากหลายวัตถุประสงค์

ที่น่าจะบรรลุการพัฒนาการใช้ที่ดินอย่างมีผลผลิต และยั่งยืนได้

 



ความเห็น (12)
  • เคยถามชาวบ้านแถวๆๆอีสาน
  • บางคนก็อยากขุดครับ
  • แต่ขุดไม่ได้
  • ก็เจ้าหน้าที่ที่จะขุดให้(ไม่อยากบอกว่ากระทรวงไหน)
  • ให้ขุดตามแปลนราชการ
  • ถ้าผิดแปลนก็ขุดไม่ได้
  • เวรกรรมของชาวบ้านครับ
  • อาจารย์สบายดีไหมครับ

ที่พะเยา ขุดนาเป็นบ่อปลา เลยคะได้ปลาธรรมชาติ ปีละหลายหมื่น

ขุดสระเมื่อปีกลายครับอาจารย์ในที่นา กะว่าจะเอาแบบเต็มที่ให้ได้ใช้น้ำได้ตลอดทั้งปี เหมือนที่อาจารย์เอ่ยแต่เมื่อคิดค่าขุดแล้วมันแพงมากเลยครับ จึงขุดได้เพียง 450 ตารางเมตร 15*30 เมตร ลึก 3 เมตร ต่อกับสระน้ำเดิมที่มีอยู่แต่ตื้นแล้ว ค่าขุด 36000 บาท ค่าเกลี่ยกระจายดินอีก 6000 บาท กะว่าปีหน้าจะขุดสระเดิมให้ลึกเท่ากัน ไม่ทราบว่าทรัพย์จะอำนวยหรือไม่ สนับสนุนแนวคิดของอาจารย์นะครับ แต่ว่ามีข้อจำกัดมากกว่านี้ครับ เช่น เรื่องของไฟฟ้าที่จะใช้ในการสูบน้ำขึ้นมาใช้ หรือเรื่องของขโมย ที่เค้าบอกว่าขุดสระไว้ให้ขโมยมาลักช็อตปลา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้ชาวบ้านไม่อยากขุดครับ

ครับ

ก็มีหลายเรื่องทางสังคม ที่ผมยังไม่ได้แจง

หนามยอกต้องเอาหนามบ่งครับ ปัญหาทางสังคม ก็ต้องแก้ด้วยทุนทางสังคมครับ

ผมใช้วิธีสร้างเพื่อน และไปนาบ่อยๆ แบบไม่แน่นอน คนไม่ค่อยมาวุ่นวายมากนัก ก็มีบ้างนิดหน่อย

ถือว่าทำทาน แบ่งกันกิน

ไปว่าเขามากก็จะเป็นการสร้างศัตรูไปเปล่าๆ

วันหลังจะลองลงเรื่่องนี้อีกทีครับ

 

สวัสดีครับคุณครูแสวง

แล้วถ้านำแนวความคิดแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน สวนเล็กสวนน้อยหรือนาแปลงเล็กแปลงน้อยที่อยู่ติดกัน เป็นไปได้มั๊ยในทางสังคมปัจจุบันที่คุณครูสัมผัสอยู่จะปันพื้นที่ของตัวเองคนละเล็กละน้อยมาขุดสระเก็บน้ำร่วมกัน แชร์ค่าใช้จ่าย แชร์ที่ดิน แล้วมาแบ่งปันน้ำกันใช้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่เกษตรแปลงเล็กที่ถ้านำไปขุดสระน้ำแล้วจะเหลือพื้นที่ทำกินน้อยเกินไป

เป็นการจัดการน้ำแบบชุมชนครับ กรมพัฒนาที่ดินมีต้นแบบอยู่แล้วครับ

และชุมชนต้องรวมตัวกันก่อน มีที่ส่วนรวม และแผนการใช้น้ำชัดเจน

แต่.. งานนี้กำลังจะย้ายไปที่ อบต หรือ อบจ ครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ แสวง

ผมขออนุญาติเข้าร่วมศึกษาหาความรู้

ในบล็อกของอาจารย์ด้วยคนนะครับ

ทางใต้(นครศรีธรรมราช)เขาจะขุดบ่อใหญ่ๆ

ใว้ในที่นา แต่คนใต้เขาเรียกว่า หนอง(สำเนียงใต้ครับ) ถ้าบ่อนั้น

มีการปลูกไม้ยืนต้นไว้ด้วย เพื่อเป็นร่มเงาไว้นอนตอนเที่ยง

ตอนทำนาครับ

แต่ถ้าไม่ปลูกต้นไม้ ก็จะเรียกว่า บอ(สำเนียงใต้ครับ)

ประโยชน์จาก บอ และ หนอง คือ น้ำสำหรับทำนา

เลี้ยงปลา ไว้กิน ปลูกพืชสวนครัว บนเนินบ่อครับ

ส่วนการขุด ก็ขุดกันเองบ้าง โดยใช้เสียม ถ้าใครมีตังค์

ก็จ้างรถแบกโฮ ขุดให้ ก็จะได้บ่อใหญ่ๆ หน่อย

แต่ส่วนมาก ก็จะขุดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้วครับ

หากรู้สึกว่า หนอง หรือ บอ ตื้นขึ้น ก็สูบน้ำออกหมด

แล้วขุดใหม่ครับ

"เกษตรกร คือ ชีวิตของคนทั้งชาติ"

ผมว่าโดยสรุปก็คือกลับไปหาแนวคิดแบบวิถีชาวบ้าน เกษตรกรแบบดั้งเดิม ที่สมัยคุณปู่คุณย่าคุณตา คุณยาย คุณทวด ท่านทั้งหลายได้ทำไว้เป็นแบบอย่างให้กับพวกเรา แต่พวกเราไม่ยอมนำมาปฏิบัติตาม มัวแต่หลงไหลในตะวันตกจนลืมไปว่า ตะวันออกรู้จักการปลูกข้าว ทำสวนทำไร่มาก่อนตะวันตกผิวขาวซะอีก เพียงแต่ตะวันออกไม่มีการเก็บรวมรวมความรู้ต่างๆไว้ให้เป็นระเบียบแบบแผนเพื่อคนรุ่นหลัง ไม่ได้มีการอธิบายความให้มีเหตุมีผลแบบตะวันตกเท่านั้นเอง

เวลานี้การรวบรวมความรู้ได้เกิดขึ้นแล้วโดย คุณครูแสวง โดยผ่านสื่ออย่าง gotoknow เหลือก็แต่พวกเราในที่นี้จะทำยังไงให้มันเผยแพร่ออกไปสู่สังคมชนบทให้มากขึ้น เพราะถ้ามันอยู่แต่ใน gotoknow มันก็จะรู้กันเองในหมู่คนที่เล่นเน็ทเท่านั้นเอง

ครับ

เราต้องช่วยกันเผยแพร่

สิ่งที่ "ถูกต้อง" ให้แพร่หลาย ต่อไปด้วยครับ

ขอเป็นสมาชิกด้วยคนนะครับ.....

มีเรื่องปรึกษาอาจารย์หน่อยครับ...คือผมอยากจะขุดบ่อเก็บน้ำ เอาไว้ทำเกษรตสวนผสม เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่....อยากถามอาจารย์ว่า ณ.ตอนนี้รัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายสนับสนุนโครงการแบบนี้อยู่บ้างหรือปล่าว....ประมาณว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานออกให้ครึ่งนึง...เราออกเองครึ่งนึง อะไรอย่างเนี้ยครับ...

ปล.

ผมเป็นคนมหาสาครคาม....อ.วาปีปทุม ต.บ้านหวาย บ.มะแซว

ตอนนี้ทำงานที่กรุงเทพ...มีแนวคิดว่าจะกลับบ้าน พัฒนาบ้านเกิด ความรู้ที่ร่ำเรียนมาคงพอทำให้บ้านเราดีขึ้น...แต่ตอนนี้ต้องการบ่อเก็บน้ำมากเลยครับ..ผมคิดว่าถ้ามีบ่อ ก็มีน้ำ เมื่อมีน้ำ จะทำอะไร ๆ อุปสรรคมันก็น้อยลงครับ...

อาจารย์ตอบผมหน่อยนะครับ

แตมป์

ผมว่าทำเองดีกว่า อย่าไปหวังพึ่งใครเลย ยากและไม่ค่อยถูกใจครับ เงื่อนไขมันมากจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท