คลายเหนื่อยล้าด้วยอาหาร


คลายเหนื่อยล้าด้วยอาหาร
Refresh your life คลายเหนื่อยล้าด้วยอาหาร

article: กฤษฎี โพธิทัต

คุณเคยรู้สึกแบบนี้บ้างไหม?...ตอนเช้าลุกออกจากเตียงไม่ค่อยไหว...ตอนบ่ายพลังงานลดลงตกต่ำและรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน...พอถึงบ้านตอนเย็นก็ล้มฟุบลงบนโซฟาทันที ความรู้สึกเหนื่อย หมดแรง เมื่อยล้าเหมือนพลังงานถูกดูดออกไปหมดเกิดขึ้นได้กับทุกคน


แต่ถ้าความรู้สึกอ่อนเพลียเช่นนี้เป็นปัญหาเรื้อรัง คุณอาจต้องมาหาสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ การขาดการออกกำลังกาย การอดหลับอดนอน การมีความเครียด การมีโรคภัยไข้เจ็บ การรับประทานยาบางชนิด และการมีนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี


ทุกคนทราบดีว่าอาหารให้พลังงานกับร่างกาย แต่มีอาหารบางชนิดที่ทำให้ร่างกายอ่อนล้าได้เหมือนกัน ดังนี้เราควรเลือกรับประทานอย่างไรเพื่อให้มีแรงทำงานทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำต่อไปนี้

 

  • รับประทานอาหารมื้อเช้า
    เริ่มต้นวันใหม่ คนส่วนมากมักเร่งรีบออกไปทำงาน ไปโรงเรียน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการโภชนาการของร่างกายมากนัก ใครบ้างจะมีเวลารับประทานอาหารเช้า? อาหารเช้าจึงมักเป็นมื้ออาหารที่ถูกลืม

    มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าอาหารเช้าเพิ่มสมาธิและความว่องไวไหวพริบ ช่วยป้องกันการรับประทานจุบจิบเกินจำเป็นในช่วงบ่าย และช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รับประทานอาหารเช้าที่มีคาร์โบไฮเดรต แป้งที่มีเส้นใยอาหารสูงควบคู่กับอาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ ไข่ เนื้อสัตว์ เต้าหู้ นม ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน

    ตัวอย่างอาหารเช้าง่ายๆ เช่น แซนวิชทูน่า ขนมปังหน้าชีส โจ๊กข้าวโอ๊ตใส่ผลไม้แห้ง โยเกิร์ตโรยหน้าด้วยธัญญาหาร ไข่กวนหรือออมเลต ใส่ขนมปังปิต้า ข้าวกล้อง + ไข่พะโล้ + ผัดผัก ข้าวต้มปลา เป็นต้น ควรเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง (และส่วนมากมักมีไขมันสูงมาคู่กันด้วย) เพราะนอกจากมีแคลอรีสูง คุณค่าทางโภชนาการต่ำแล้วยังไม่ทำให้อิ่มท้องได้นาน ภายใน 1-2 ชั่วโมงอาจรู้สึกหิวอีก
  • เลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
    อาหารประเภทแป้งได้ถูกกล่าวหาว่าทำให้อ้วน ไม่ดีต่างๆ นานา แต่อาหารประเภทแป้งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง คือร่างกายจะเลือกเอาแป้งมาใช้เป็นพลังงานก่อน การรับประทานอาหารแบบโปรตีนสูง แป้งต่ำ อาจทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าในระยะแรกๆ แต่ร่างกายจะเริ่มรู้สึกหมดแรงลงเมื่อรับประทานเช่นนี้ไปนานๆ

    วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ร่างกายได้นำพลังงานไปใช้ให้ได้มากที่สุด คือการเลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนมากหน่อย และเลือกคาร์โบไฮเดรตประเภทน้ำตาลน้อยหน่อย

    คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรือ complex carbohydrate ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท ธัญพืช เมล็ดถั่ว (ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว เป็นต้น) และผักที่มีแป้งสูง ได้แก่ ผักหัวต่างๆ ผลไม้และน้ำผึ้งมีน้ำตาลฟรุคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) น้ำตาลในขนมหวาน น้ำหวานเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวเช่นกัน แต่มีคุณค่าทางอาหารต่ำ อาหารประเภทนี้จะย่อยและให้พลังงานสูงสุดภายในระยะเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่หลังจากนี้แล้วร่างกายจะเริ่มรู้สึกไม่มีแรง เหมือนอยู่ในภาวะน้ำตาลต่ำ

    พลังงานที่ขึ้นๆ ลงๆ นี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ารับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารสูง ถ้าอ่านฉลากโภชนาการ ควรสังเกตว่ามีใยอาหารอย่างน้อย 2 กรัม คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านขั้นตอนการผลิตเยอะจะมีใยอาหารต่ำกว่า ซึ่งได้แก่ข้าวขัดข้าว ขนมปังขาว เป็นต้น เส้นใยอาหารจะเป็นตัวช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ขึ้นสูงมากและลงต่ำมาก คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะค่อยๆ ย่อยเป็นน้ำตาล จึงทำให้รู้สึกอิ่มนาน และมีพละกำลังทำงานมากขึ้น นานขึ้น

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารประเภทแป้ง (ซึ่งรวมไปถึงข้าว / ขนมปัง / ธัญพืช ผักและผลไม้) ร้อยละ 50-60 ของอาหารที่รับประทานทั้งหมด อีกร้อยละ 30 เป็นไขมันที่ดี และที่เหลือเป็นกลุ่มโปรตีน
  • เลือกไขมันที่ดี
    ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือระวังเรื่องของโคเลสเตอรอลอาจ “กลัว” ที่จะรับประทานอาหารไขมันสูง ใช่...เราควรเลี่ยงของทอด และไขมันที่ไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ ไขมันจากสัตว์ เนย เนยเทียม กะทิ เพราะมีส่วนทำให้โคเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิดได้

    แต่ไขมันช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร และเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกาย เราควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสม และควรเลือกไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา ปลาทะเล และถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ไขมันไม่อิ่มตัวนี้มีส่วนช่วยลดโคเลสเตอรอลไม่ดี ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
  • รับประทานโปรตีนบ้าง
    อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกาย แต่โปรตีนจะเป็นตัวกำหนดการใช้ของพลังงานเหล่านี้ โปรตีนในมื้ออาหารจะช่วยให้พลังงานค่อยๆ ถูกปล่อยออกมา มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานโปรตีนเล็กน้อยในมื้ออาหาร (รวมถึงอาหารมื้อว่างด้วย) จะทำงานทำกิจกรรมได้นานกว่า และมีพละกำลังมากกว่าผู้ที่รับประทานแต่คาร์โบไฮเดรต

    แหล่งโปรตีนที่ดีได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังติดมัน ไข่ ปลา เต้าหู้ ถั่วต่างๆ และนมไขมันต่ำ
  • อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ
    ภาวะขาดน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่มีแรง ไม่น่าแปลกใจเพราะน้ำเป็นส่วนประกอบของร่างกายถึง 2 ใน 3 น้ำช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย ช่วยขับของเสีย ช่วยหล่อลื่นข้อต่อต่างๆ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของขบวนการผลิตพลังงานของร่างกาย เมื่อใดที่ร่างกายขาดน้ำ ก็จะพยายามกักเก็บน้ำที่เหลือไว้ให้มากที่สุดแทนที่จะเอาไปใช้ผลิตพลังงาน

    ควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และมากกว่านี้ถ้ามีการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่สูญเสียเหงื่อมาก วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ได้รับน้ำมากๆ คือถือขวดน้ำติดตัวไว้ตลอดเวลา และดื่มบ่อยๆ แทนที่จะเลือกดื่มน้ำอัดลม ให้ดื่มน้ำเปล่า หรือจะเลือกเป็นน้ำซุป น้ำผลไม้แช่เย็นก็ได้
  • จำกัดปริมาณคาเฟอีน
    กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทยเรา บางคนถึงกับขาดกาแฟไม่ได้ สารคาเฟอีนไม่เพียงแต่พบในกาแฟอย่างเดียว แต่พบในชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต และสมุนไพรบางชนิดด้วย

    สารคาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ประสาทตื่นตัว แต่คาเฟอีนจะออกฤทธิ์ไม่นานกว่า 2 ชั่วโมง หลังจากนี้แล้วความรู้สึกตื่นตัวจะลดลง บางคนถึงกับ “ติด” คาเฟอีนถ้าได้รับไปนานๆ นั่นคือเมื่อใดที่หยุดได้รับสารนี้จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม แต่ละคนมีความไวต่อคาเฟอีนต่างกัน บางคนดื่มกาแฟครึ่งถ้วยก็รู้สึกใจสั่น มือสั่นแล้ว แต่บางคนต้องดื่ม 2-3 ถ้วยถึงจะมีผล

    ข้อเสียของสารคาเฟอีน คือ นอกจากจะเป็นตัวดึงแคลเซียมและน้ำออกจากร่างกายแล้วยังรบกวนการนอนหลับได้ด้วย การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนแรงในวันถัดไป ทางที่ดีคือควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนตั้งแต่ช่วงบ่ายเป็นต้นไป หันไปดื่มกาแฟหรือชาที่ไม่มีคาเฟอีนแทน
  • ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ บ่อยๆ
    บางคนชอบวิธีนี้ เพราะการได้เติมพลังบ่อยๆ ทำให้ระดับพลังงานสูงอยู่ตลอดทั้งวัน แต่บางคนอาจไม่ชอบหรือทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิด แต่อย่าลืมว่าถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารว่างก็ยังไม่ควรละเลยเรื่องโภชนาการ

    ปริมาณอาหารที่รับประทานก็มีส่วนทำให้รู้สึกเฉื่อยชาได้เหมือนกัน เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีประสบการณ์รับประทานอาหารมากเกินโควต้าของตนจนต้องลงไปนอน ดังนั้นจึงควรเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยให้ตนเองรับประทานมากจนน้ำหนักตัวขึ้น เมื่อใดที่น้ำหนักตัวเพิ่มจะทำให้แรงลดลง และไม่มีแรงไปออกกำลังกาย

สาเหตุด้านอาหารอื่นๆ ที่มักทำให้รู้สึกไม่มีแรง ได้แก่

  • การดื่มสุรามากเกินไป
  • การขาดวิตามิน และแร่ธาตุบางชนิด โดยเฉพาะธาตุเหล็กในผู้หญิง

 

ถ้าคุณประเมินตัวเองแล้วว่ารับประทานอาหารถูกหลักทุกประการ แต่ยังรู้สึกเหนื่อยแบบเรื้อรังอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด


คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา สร้างความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าให้ตนเองได้ถ้าคุณหาวิธีคลายเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ

เมนูเพิ่มพลัง

เช้า

ข้าวต้มใส่ธัญพืช

ไข่ลวก

แก้วมังกร

1 ½

1

½

ถ้วย

ฟอง

ผล

เที่ยง

วุ้นเส้นผัดไทใส่กุ้ง

แกงจืดตำลึง

1

1

จาน

ถ้วย

ว่างบ่าย แคนตาลูปปั่นใส่นม 1 แก้ว
เย็น

ข้าวกล้อง

ไก่ย่างเทอริยากิ

ผัดเห็ดเข็มทอง

ไอศกรีมเชอร์เบท

2

1

1

1

ทัพพี

ชิ้น

ทัพพี

ก้อน


รวมพลังงานประมาณ 1,600 แคลอรี

http://women.impaqmsn.com/articles/647/47001622.html

 

หมายเลขบันทึก: 209385เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท