กาแฟถ้วยนี้ ดีหรือร้ายกั้บสุขภาพ(กันแน่)


...

[ ภาพจากเฮราลด์ทริบูน > picture from International Herald Tribune ]

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าพูดเรื่องกาแฟกับสุขภาพแล้ว... คงจะมีการแบ่งแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่ายคล้ายๆ กับการเมืองของไทยคือ ฝ่ายหนึ่งเชียร์กาแฟ อีกฝ่ายหนึ่งชิงชังกาแฟ

เพื่อนคนหนึ่งบอกผู้เขียนว่า ท่านสังเกตว่า พวกที่เชียร์กาแฟมักจะดื่มกาแฟ ส่วนพวกที่ชิงชังกาแฟก็ไม่ใช่ใครที่ไหน... แท้จริงแล้วเป็นพวกที่ไม่ดื่มกาแฟนั่นเอง

...

เดือนมีนาคมปีนี้ (2551) กลุ่มศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์ที่สาธารณะสนใจ (Center for Science in the Public Interest) ได้ตีพิมพ์เรื่องกาแฟไว้ในวารสาร

เรื่องของเรื่องมีดังต่อไปนี้

...

(1). กาแฟทำให้เกิดอาการขาดน้ำหรือไม่

  • จากการศึกษาพบว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนไม่เกิน 550 มิลลิกรัม เทียบเท่าประมาณ 5 ถ้วยครึ่ง (กาแฟถ้วยหนึ่งมีกาเฟอีนประมาณ 75-100 มิลลิกรัม) ไม่ออกฤทธิ์ขับถ่ายปัสสาวะที่เรียกว่า ฤทธิ์ไดยูเรทิค (diuretic)

...

  • การดื่มกาแฟทำให้ปัสสาวะมากขึ้นเทียบเท่าการดื่มน้ำในปริมาณเท่าๆ กัน
  • ทว่า... กาเฟอีนมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะถ้ากินหรือดื่มเกินครั้งละ 575 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากาแฟประมาณเกือบ 6 ถ้วย

...

(2). กาแฟทำให้โรคหัวใจกำเริบ

  • ผลจากการวิเคราะห์การศึกษาที่ผ่านมา 10 รายงาน ซึ่งรวบรวมข้อมุลจากคนมากกว่า 400,000 คนไม่พบว่า การดื่มกาแฟ (ทั้งชนิดที่มีกาเฟอีน และชนิดสกัดกาเฟอีนออก) เพิ่มโอกาสเป็นโรคหัวใจ

...

  • การศึกษาหนึ่งทำในผู้หญิงรัฐไอโอวา สหรัฐฯ 27,000 คน ติดตามไป 15 ปีพบว่า การดื่มกาแฟขนาดต่ำๆ ได้แก่ 1-3 ถ้วยต่อวันลดความเสี่ยงโรคหัวใจให้น้อยลง 26%
  • เรื่องที่น่าสนใจคือ ผลในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจมีน้อยเมื่อดื่มกาแฟปริมาณมากขึ้น (ต่อวัน)

...

(3). กาแฟกับความดันเลือด

  • กาแฟทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเพิ่มชั่วคราว แต่การศึกษาที่ติดตามพยาบาล 155,000 คนที่ดื่มกาแฟ 10 ปีพบว่า ทั้งกาแฟชนิดมีกาเฟอีนและกาแฟชนิดสกัดกาเฟอีนออกไม่ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น

...

  • เรื่องที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาพบว่า การดื่มน้ำอัดลมประเภท "น้ำดำ" หรือโคลาเพิ่มความเสี่ยง (โอกาสเป็นโรค) ความดันเลือดสูง
  • คณะวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์จอห์น ฮอพคินส์ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ติดตามไป 33 ปีพบว่า กาเฟอีนมีผลต่อความดันเลือดน้อยมาก

...

(4). กาแฟกับมะเร็ง

  • ปี 1981 หรือ พ.ศ. 2524 คณะนักวิจัยจากสถาบันจอห์น ฮอพคินส์ประกาศว่า กาแฟเพิ่มความเสี่ยง (โอกาสเป็น) โรคมะเร็งตับอ่อน

...

  • โชคดีของพวกเราที่ชอบกาแฟคือ การศึกษาต่อมาพบว่า กาแฟไม่ใช่ผู้ร้าย ผู้ร้ายตัวจริงที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับอ่อนคือ บุหรี่
  • การศึกษาในสวีเดนทำในผู้หญิง 59,000 คนพบว่า กาแฟ ชา และกาเฟอีนไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม

...

(5). กาแฟกับกระดูก

  • จากการศึกษาพบว่า กาแฟทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงนิดหน่อย และไม่ทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น

...

  • ข่าวดีคือ ท่านอาจารย์รอเบิร์ท เฮียเนย์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยไครก์ทันพบว่า กาแฟทำให้การดูดซึมลดลงเทียบเท่านม 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือ 15-30 มิลลิลิตร เทียบเท่าแคลเซียมประมาณ 27 มิลลิกรัม

...

  • อาจารย์เฮีย (เฮียเนย์) กล่าวว่า ปริมาณแคลเซียมเท่านี้ไม่น่าจะทำให้คนที่กินแคลเซียมพอเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้เขียนขอเรียนเสนอให้เติมนมไขมันต่ำ หรือนมไม่มีไขมันเสริมไปในกาแฟ เพื่อให้ดื่มได้อย่างสบายใจแบบสุดๆ เสียเลย

...

(6). กาแฟกับน้ำหนักตัว

  • กาเฟอีน 100 มิลลิกรัมเพิ่มการเผาผลาญกำลังงานได้ประมาณวันละ 75-100 กิโลแคลอรี ทว่า... ข่าวร้ายคือ ไม่มีการศึกษาที่พบว่า กาแฟช่วยให้คนดื่มลดน้ำหนักได้ในระยะยาว

...

  • ข่าวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ การศึกษาที่ทำในบุคลากรสุขภาพสหรัฐฯ 58,000 คน ติดตามไป 12 ปีพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ดื่มกาแฟมากขึ้นกลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

...

  • ผู้เขียนสันนิษฐานว่า กลไกที่ทำให้น้ำหนักขึ้นน่าจะมาจากกาแฟเองก็มีกำลังงานจากน้ำตาล นม เนย และครีมเทียม (คอฟฟีเมต)
  • ถ้าต้องการดื่มกาแฟให้น้ำหนักลดลงจริง... เรียนเสนอให้ลดข้าวให้น้อยลงประมาณ 1 ใน 3 แบบนี้มีโอกาสลดน้ำหนักได้มากกว่าการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น

...

หลังจากแก้ข้อกล่าวหากาแฟจนเกิดการ "ยกฟ้อง" แล้ว... ทีนี้มาดูประโยชน์ของกาแฟกันบ้าง

(1). ดื่มแล้วอารมณ์ดี

  • ข่าวดีคือ กาแฟระดับต่ำๆ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม เทียบเท่ากาแฟสด 480 มิลลิลิตรหรือเกือบครึ่งลิตร ทำให้คนเรารู้สึกดีกับชีวิต มีพลัง และรู้สึกอยากเข้าสังคมมากขึ้น

...

  • ทีนี้ข่าวดีย่อมมาคู่กับข่าวร้าย... ข่าวร้ายที่ว่าคือ ท่านอาจารย์โรแลนด์ กริฟฟิตส์ แห่งวิทยาลัยแพทย์จอห์น ฮอพคินส์ทำการศึกษาพบว่า  การดื่มกาแฟมากกว่านี้ทำให้คนเราเครียดง่าย และทำให้ปวดท้องหรือไม่สบายในท้องได้

...

  • การศึกษาในคนที่อดนอนพบว่า กาแฟช่วยให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเร็วขึ้น ความจำดีขึ้น ทำงานที่ซับซ้อน เช่น ขับรถ ฯลฯ ดีขึ้น (ไม่ช่วยเพิ่มความสามารถในคนที่นอนมากพอ)

...

(2). ดื่มแล้วเพิ่มสมรรถภาพ

  • กาเฟอีนเพิ่มความสามารถในการออกแรง-ออกกำลัง โดยเพิ่มความอดทน (endurance) หรือความสามารถในการออกแรงได้นานขึ้นในการออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ต่อเนื่องแบบแอโรบิค เช่น วิ่งเหยาะ (จอกกิ้ง) ว่ายน้ำ เดิน ฯลฯ

...

  • นอกจากนั้นยังเพิ่มความสามารถในการออกแรง-ออกกำลังแบบอันแอโรบิค ซึ่งใช้ในการออกแรง-ออกกำลังแบบหนักเป็นพักๆ หยุดเป็นพักๆ เช่น เทนนิส ฟุตบอล ฯลฯ
  • กลไกที่กาเฟอีนทำให้ออกแรง-ออกกำลัง หรือเล่นกีฬาได้เพิ่มขึ้นน่าจะมาจากการออกฤทธิ์ทำให้อาการปวด เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ฯลฯ ลดลง

...

  • กลไกอีกอย่างหนึ่งของกาเฟอีนคือ การทำให้ร่างกายเปลี่ยนระบบเผาผลาญ โดยลดการเผาผลาญแป้งและน้ำตาล และเพิ่มการเผาผลาญไขมัน ทำให้คนเราออกแรง-ออกกำลังได้มากขึ้น
  • เร็วๆ นี้คุณเฟลพป์แชมป์ว่ายน้ำโอลิมปิคเหรียญทอง 8 เหรียญในจีนก็ยอมรับว่า ดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีนพร้อมอาหารเช้าและเที่ยงคราวละหลายๆ ขวด ทว่า... ไม่ยอมเปิดเผยว่า เป็นยี่ห้อของไทย เช่น กระทิงแดง ฯลฯ หรือไม่ (เข้าใจว่า ยังไม่ได้ค่าสปอนเซอร์ - ผู้เขียน)

...

(3). ดื่มแล้วไม่สั่น

  • ข่าวดีคือ การทบทวนผลการศึกษา 13 รายงานเร็วๆ นี้พบว่า กาแฟชนิดมีกาเฟอีนลดความเสี่ยงโรคพาร์คินสัน หรือโรคมือสั่น-หลังแข็ง (Parkinson's disease) ได้ประมาณ 30%

...

  • ทีนี้ข่าวดีย่อมมาคู่ข่าวร้าย... ข่าวร้ายที่ว่าคือ กาแฟชนิดสกัดกาเฟอีนออก (decaffeinated) ไม่ช่วยลดความเสี่ยงโรคมือสั่น-หลังแข็ง หรือเจ้าโรคพาร์คินสัน
  • นี่อาจจะเป็นข่าวร้ายที่ทารุณจิตใจคอกาแฟประเภทรวยและรักสุขภาพแบบสุดๆ เนื่องจากเจ้ากาแฟที่ว่านี้ราคาขวดละประมาณ 300-400 บาทเศษ

...

(4). กาแฟกับเบาหวาน

  • การศึกษาที่ทบทวนการศึกษาวิจัยหลายรายงานรวมกันพบว่า คนที่ดื่มกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นชนิดมีหรือสกัดกาเฟอีนออก ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบในคนอ้วนหรือผู้ใหญ่ได้ประมาณ 28%

...

  • กลไกของเรื่องนี้อาจมาจากสารต้านอนุมูลอิสระ (แอนตี้ออกซิแดนท์) และกรดคลอโรเจนิค (chlorogenic acid) ในกาแฟ
  • ข้อควรระวังคือ การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาแรกเริ่ม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านต่อไป อย่างไรก็ตาม... ผลการศึกษาข้อนี้คงทำให้พวกเราดื่มกาแฟได้คล่องคอมากขึ้นแยะเลย

...

ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บสูงควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนดื่มกาแฟ

ไม่ว่ากาแฟจะดีหรือจะร้าย ไม่ว่าเมืองไทยจะมีการประท้วงยืดเยื่อไปอีกกี่พันปี... คนจำนวนมากในโลกก็จะยังคงดื่มกาแฟถ้วยนี้ต่อไป ไม่ใช่เพราะมันดีหรือร้ายต่อสุขภาพ ทว่า... มันเป็นมิตรภาพระหว่าง "เรา"

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 

 

ที่มา                                                             

...

  • Thank International Herald Tribune > Jane E. Brody > Softing out coffee's contradictions > [ Click ] > September 2008. // Source > Nutrition Action Healthletter.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร > 16 กันยายน 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 209296เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

เรียน คุณหมอ

  • กาแฟ เช้ามาต้องดื่ม
  • ความเคยชิน ถ้าไม่ได้ดื่ม ขอได้กลิ่นก็พอใจแล้วคะ
  • หลายคนบอกว่าติดกาแฟ ไม่ได้ดื่มจะหงุดหงิด
  • ล่าสุด ต้นเดือนอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ พบว่ากระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือ เวลาจัดประชุมสัมมนา ให้งด     เสริฟ กาแฟ ขนมเค๊ก ให้จัดเป็นขนมไทยไม่หวาน และน้ำสมุนไพร หรือน้ำผลไม้แทนกาแฟ เพื่อลดภาวะโรคอ้วน

สรุปว่า กาแฟดื่มได้ไม่เกิน 3 แก้วต่อวันได้ไหมคะ จะไม่เป็นอันตราย

  • ธุ คุณหมอค่ะ..

ต้อมชอบกลิ่นกาแฟแต่ไม่ค่อยชอบดื่ม   ถ้าจะดื่มก็ขอแบบหวานๆ เข้มๆ ตบท้ายมื้อใดๆ   แถมยังเติมแยมหรือไมโลลงไปเยอะๆ อีก   มิน่า..ต้อมถึงอ้วนเอาๆๆ

คุณหมอครับ

    กราบขอบพระคุณอย่างสูงที่กรุณาให้ความรู้ กับคนที่กล้าๆกลัวๆ กับการดื่มกาแฟ

                   ขอบคุณจากใจจริงครับ

                              รพี

  • กราบขอบพระคุณ คุณหมอค่ะ สำหรับข้อมูลดี ๆ ในเช้าวันนี้ค่ะ
  • แต่เป็นคนที่ทานกาแฟไม่ได้อยู่แล้วค่ะ เลยไปคาดหวังข้อดีต่าง ๆ เหล่านี้ จากสารอาหารที่ทานแทนดีกว่าค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ได้รับความรู้เยอะเลยครับคุณหมอ พอดีผมดื่มกาแฟเหมือนกันผมดื่มกาแฟมอคโนน่าทรีโอ เอสเปรสโซ่ อยู่อะครับ เป็นที่นิยมกันเลย แต่ผมซื้อแบบมาชงเองนะครับแล้วสารกาเฟอีนจะมีอยู่ในเล็ดการแฟที่ยังไม่ปรุงแต่งไหมครับ มันแตกต่างกันอย่างไรละครับกับกับที่เป็นซองมาแล้ว(3 in one)กับที่มาชงเอง ใส่น้ำตาลเอง นมเอง มันจะมีผลแตกต่างกันไหมครับ...

ขอขอบคุณ... คุณประกาย

  • การส่งเสริมให้กินขนมไทยนี้ดีครับ... มีมิติทางวัฒนธรรมด้วย แต่ถ้ามองในมุมมองของการป้องกันโรคอ้วน ทั้งขนมไทยและขนมฝรั่งทำให้อ้วนได้ทั้งคู่

ขอขอบคุณ... คุณแก้ว

  • น่าจะปลอดภัยครับ

ขอขอบคุณ... คุณเนปาลี

  • น่าจะลองใช้นมไขมันต่ำหรือนมไม่มีไขมัน น้ำตาลเทียมครับ

ขอขอบคุณ... คุณรพี

  • ชีวิตคนเรามีความสุข 2 อย่างได้แก่ ความสุขที่คดโกงหรือได้มาโดยไม่ชอบธรรม กับความสุขที่ได้มาโดยธรรม
  • ความสุขที่คดโกงหรือได้มาโดยไม่ชอบธรรมนั้น... ไม่ควรยินดีเลย
  • ความสุขที่ได้มาโดยธรรม... ควรยินดีพอประมาณ

ขอให้มีความสุขกับกาแฟครับ...

ขอขอบคุณ... คุณจิตตตรัย

  • กาแฟสำเร็จรูปจะมีข้อดีเหนือกาแฟชงคือ มีกาเฟอีนน้อยกว่า ราคาต่ำกว่า (หอมน้อยกว่าด้วย)

กาแฟแบบรวมซองกับแบบแยกซองไม่ค่อยต่างกันครับ เพียงแต่จะมีปริมาณกาแฟ ครีมเทียม(คอฟฟี่เมต) หรือน้ำตาลมากน้อยต่างกันไป

  • เลือกที่ชอบ และที่ไม่แพงน่าจะดีครับ

สวัสดีครับคุณหมอ ผมก็เพิ่งมาเริ่มกินกาแฟเมื่อไม่กี่ปีมานี่ คิดว่าจะพยายามเลิกดีกว่าครับ

ขอขอบคุณ... คุณกวิน

  • ดีใจด้วยที่คิดจะประกาศอิสรภาพครับ
  • สวัสดีค่ะหมอ
  • ดื่มกาแฟวันละ 1 แก้ว ใ
  • ส่ครีมเทียมและน้ำผึ้งอย่างละ 1 ช้อนชา ถ้าวันไหนไม่ดื่มกาแฟจะรู้สึกตัวเองว่าไม่ค่อยสดชื่น หงุดหงิดง่าย
  • เป็นอาการของคนติดกาแฟ แต่จะพยายามไม่ดื่มค่ะ

ขอขอบคุณข้่อคิดเห็นจากอาจารย์สุนันทาครับ...

พิมพ์วลัญช์ ทิมประดับ

ถ้าไม่ได้ดื่มกาแฟ จะมีอาการปวดศรีษะมากค่ะ แบบนี้เกี่ยวข้องกับอาการทางกายหรือทางจิตหรือเปล่าค๊ะ

ขอขอบคุณ... คุณพิมพ์ฯ

  • คนที่ดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น หยุดดื่ม ฯลฯ ทันทีส่วนใหญ่เป็นผลการจากการมีโรคปวดหัวแบบไมเกรนมาก่อน
  • คนทั่วโลกเป็นไมเกรนประมาณ 1 ใน 8 นั่นคือ 8 คนเป็น 1 คน

ถ้าดื่มไม่มากก็อย่าไปกลัวอะไรเลยครับ

  • นี่พูดแบบคนชอบกาแฟ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท