กระแสความรู้…ถูกพัดพาไปพร้อมคนเกษียณ....


เสียดายความรู้แบบฝังลึกที่อยู่ในตัวบุคคล

          พอถึงเดือนกันยายนที่ไร....ก็พาให้ใจหาย...เนื่องจากมีผู้เกษียณหลายคนที่ทะยอยเลี้ยงส่งกันทั้งเดือนทั้งส่วนตัวและเป็นทางการ ความรักและความผูกพันซึ่งมีกันมายาวนานอยู่กันจนครบเกษียณ บางคนก็เออร์รี่รีไทร์ ยิ่งทำให้กระแสความรู้ได้ถูกพัดพาไปพร้อมคนเกษียณ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

           

 

          ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์แบบฝังลึกที่มีอยู่ในตัวคน(Tacit Knowledge) มีความละเอียดอ่อนมีเทคนิคมากมายในงานที่ได้สะสมมาพร้อมกับเวลาอันยาวนาน บางคนก็ได้ถ่ายทอดเป็น Explicit Knowledge โดยเขียนออกมาเป็นตำราหรือบันทึกวิธีการทำงานไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำประสบการณ์นั้นไปใช้แก้ปัญหา แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่มีความสามารถแต่อาจจะพูดหรือเขียนไม่เก่ง แต่ปฏิบัติงานเก่ง ซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดความรู้นั้น ทำให้ความรู้นั้นได้หายไปพร้อมกับคนเกษียณ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าการจัดการความรู้ (Knowledge Management ) จะมีบทบาทและให้ความสำคัญกับความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้มาก แต่ในส่วนภาคราชการเองก็ไม่ได้มีการสกัดความรู้จากท่านผู้มีความรู้ความสามารถเปรียบเสมือนขุมความรู้(เคลื่อนที่)เกษียณไปหรือมีแต่ให้ความสำคัญน้อย เมื่อเทียบกับในส่วนของภาคเอกชน บริษัทหรือผู้ประกอบการแล้วจะเห็นว่าบุคคลเหล่านี้จะได้รับความสำคัญมาก และได้มีการสกัดความรู้ท่านเหล่านี้สู่รุ่นต่อไป โดยมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อน 2-3 ปีแล้ว เมื่อถึงเวลาความรู้ก็ยังอยู่กับองค์กร ไม่ได้สูญหายไปพร้อมตัวบุคคลด้วย ในส่วนของบุคลากรผู้เกษียณเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าสูญเสียความสำคัญแต่อย่างใด กลับมีความภาคภูมิใจที่ได้ส่งต่อความรู้ความชำนาญสู่คนรุ่นหลังและบุคลากรเหล่านี้ก็ได้รับการยกย่องและบางทีก็ถูกเชิญเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานต่อไป

                               

          ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นว่าภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนราชการเองเพิ่งมาให้ความสำคัญความรู้เหล่านี้โดยได้กำหนดให้ใช้ PMQA มาให้ภาครัฐนำการจัดการความรู้(KM) มาเป็นตัวชี้วัดในหมวดที่ 4 และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลังเดือนกันยายน ความชุลมุนวุ่นวายของการทำงาน(บางหน่วยงาน)ในการเชื่อมต่อจะเกิดปัญหาทันทีและแทบทุกปีก็จะเกิดลักษณะเช่นนี้กว่าจะตั้งหลักได้ก็ใช้เวลาพอสมควร ทำให้งานล่าช้าเกิดความไม่ต่อเนื่องของงานและไม่ได้เตรียมพร้อมการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั่นเอง ภาครัฐควรตระหนักในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น

                              

          ในส่วนของจิตใจนั้นคนเกษียณเองก็มีภาวะจิตใจที่รู้สึกจะว้าวุ่นใจเหมือนกันในยามที่จะจาก... เมื่อเวลาเพื่อนที่ทำงานเขาเลี้ยงส่งทีไร ก็ทำให้รู้สึกใจหายอาลัยอาวรณ์กัน พอนึกถึงอนาคตก็รู้สึกเหงา...ตื่นเช้ามาเคยออกจากบ้านทุกวันไปทำงาน ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องตื่นแต่เช้าอีกแล้ว แต่เหมือนวันพักร้อนมันยาวเหลือเกินไม่ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ บางคนอยู่แต่ในบ้านไม่มีสังคมกับคนอื่นก็ยิ่งทำให้รู้สึกเหงา ซึมเศร้าในช่วงเดือนแรกๆ กว่าจะชินก็หลายเดือนเหมือนกัน คนในครอบครัวจะมีส่วนช่วยประคับประคองให้ผู้เกษียณรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจและไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นภาระหรือส่วนเกินของครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเป็นช่วงเปราะบางในชีวิตอีกช่วงหนึ่ง ถ้าลูกหลานไม่เข้าใจ จะทำให้เขาขาดความมั่นใจและรู้สึกว่าตัวเองโดนปลดระวางทั้งบทบาทชีวิตการทำงานและทางครอบครัว ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นทันตาเห็นเลยทีเดียว

                 

          การดูแลใส่ใจคนวัยเกษียณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

1.      คนเกษียณจะรู้สึกว้าวุ่นใจในช่วงแรกๆ เนื่องจากเคยทำอะไรมากมายจนทำไม่ทัน แต่อยู่ๆก็หยุดไม่ต้องทำอะไรเลย เข็มทิศชีวิตสับสน ข้อแนะนำ ต้องหากิจกรรมอะไรทำอย่าให้รู้สึกว่ามีเวลาว่างมากเกินไป จะได้ไม่มีเวลาคิดมาก

2.      บางคนก็มีโครงการที่วางไว้แล้วว่าจะทำอะไรหลังเกษียณ แต่อย่าลืมว่าคนให้ความสำคัญท่านไม่มากเท่ากับตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นอยู่หรือเคยได้รับเพราะฉนั้นอย่าคิดมาก ข้อแนะนำ ควรหาหนังสือธรรมะมาอ่านเพื่อจะได้เห็นสัจธรรมของชีวิตว่า อะไรก็ตามย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่สามารถจะดำรงอยู่ในสภาพนั้นได้ตลอด จะได้รู้จักปลง แล้วทำใจยอมรับกับความจริงในขณะปัจจุบันได้ จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความวิตกกังวลต่างๆ

3.      มองโลกในแง่ดี ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ คิดว่าเราก็ทำงานมามากแล้วเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้พักบ้าง มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง พบปะญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มีโอกาสได้ทำอะไรต่างๆซึ่งในเวลาก่อนเกษียณไม่มีโอกาสได้ทำเพราะไม่มีเวลา โอกาสเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะสามารถทำอะไรได้มากมาย มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น

4.      คนในครอบครัว อย่าคิดว่า คนเกษียณแก่แล้วจะทำอะไรก็ห้ามท่านไปหมด ท่านยังมีความรู้ความสามารถ ต้องให้ความสำคัญมีอะไรก็ปรึกษาท่าน อย่ามองข้ามความสำคัญ ของคนเกษียณเพราะสิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจท่านเปราะบางและทำให้ท่านน้อยใจได้มากที่สุด ซึ่งลูกหลานและคนในครอบครัวต้องระวังในเรื่องนี้ให้มากๆ

5.      ควรพาท่านไปตรวจสุขภาพประจำปีบ้าง เนื่องจากบางคนทำงานมากจนไม่มีเวลาดูแลตัวเองด้านสุขภาพ ดังนั้นควรตรวจเช็คสุขภาพบ้าง การมีสุขภาพดีทำให้ชีวีเป็นสุขและเป็นลาภอันประเสริฐ

                                             

ดังนั้นอยากให้ทั้งที่ทำงานอยู่และคนที่เกษียณไป มีความสุขทั้งสองฝ่ายและได้ระลึกถึงสิ่งที่ดีๆทีเคยทำร่วมกัน การแสดงมุทิตาจิตเป็นประเพณีที่งดงาม ใกล้สิ้นเดือนกันยายนแล้ว ขอถือโอกาสนี้อวยพรให้ผู้เกษียณอายุราชการทุกท่าน จงมีความสุขกายสุขใจและมีสุขภาพแข็งแรงและมีจิตใจที่เข้มแข็งผ่านช่วงเปราะบางของชีวิตนี้ให้ได้และมีความสุขมากๆและสุดท้ายขอให้ทุกท่านรวยๆโดยทั่วถึงกันค่ะ.

                                .......ภาพแห่งความทรงจำ....ด้วยรักและผูกพัน......

                                                    

หมายเลขบันทึก: 208176เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2008 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

เข้ามาอ่านและเป็นกำลังใจให้ครับ

ขอขอบคุณครับ

นัทธี

สวัสดีค่ะคุณนัทธีP

·       ปีนี้เพื่อนในงานของผึ้งงานได้เกษียณไป ทำให้รู้สึกคิดถึงกันทั้งคนอยู่และคนไป แต่ก็ยินดีที่ท่านมีความสุขเริ่มปรับตัวได้ค่ะ

·       ขอบคุณที่คุณนัทธีแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจค่ะ.

เราเองผู้ที่จะเกษียณในปีนี้ 2554  ก็รู้สึกกังวนลังเล เหมือนกับเป็นเรื่องตลก หรือเป็นเรื่องเล่ากันเล่น หรือเป็นเรื่องสมมุติกันเล่นๆ  แต่เรื่องจริงจะเกิดขึ้นจริงๆ นั้นซิ   รู้สึกอาลัยหรือรู้สึกกังวน  แม้ว่าจะได้วางแผนเตรียมอะไรไว้ค่อนข้างจะพร้อม ก็กังวนอยู่ดี

สววัสดีค่ะคุณสำรอง วงษ์ชาลี

  • เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องกังวลอยู่บ้างเพราะไม่รู้ว่าสิ่งข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
  • แต่การที่คุณได้เตรียมตัวพร้อมถือว่าเป็นชัยหรือเป็นต่อในการใช้ชีวิตมากกว่าครึ่งแล้วค่ะ
  • ถ้าเรามองในแง่บวก...อาจจะมีแต่เรื่องดีๆไม่คาดฝันหรือได้มีโอกาสได้ทำสิ่งที่ดีๆที่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำอีกมากมาย รวมทั้งได้มีโอกาสพักผ่อนร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ทำกิจกรรมใหม่ๆร่วมกัน
  • ขออวยพรให้คุณมีแต่ความสุขและพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างมั่นใจค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท