ดูหนังดูละคร แล้วย้อนคิด: “ยอดรัก”


เราในฐานะผู้บริโภคข่าวสารควรจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากข่าวนั้นให้มากกว่าการเป็นเพียง “ผู้รับสาร” แล้วปล่อยผ่านเลยไป

คืนวันเสาร์ที่ 6 กย. ที่ผ่านมา รายการดนตรี กวี ศิลป์ แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลาประมาณ 21.00 น. นำเสนอบทเพลงเพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของ คุณยอดรัก สลักใจ นักร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมคนหนึ่งของไทย ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหลายวันก่อนที่ไปกินข้าวเย็นกับเพื่อนๆ แล้วอยู่ๆ ก็ได้ตั้งคำถามขึ้นในวงสนทนาว่า เรา (ที่จริงอยากรวมถึงสังคมด้วย) ได้บทเรียนอะไรจากการตายของ คุณยอดรัก บ้าง?” ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่าทำไมถึงตั้งคำถามนี้ขึ้นมา แต่เมื่อมาคิดดูแล้วก็ได้เหตุผลว่า เพราะการเจ็บป่วยและการตายของ คุณยอดรัก เป็นประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญอย่างมาก มีการติดตามนำเสนออย่างต่อเนื่องจนเป็นกระแสข่าวใหญ่โตที่ปรากฏบนพื้นที่สื่ออยู่เป็นระยะเวลานาน นับตั้งแต่วันที่มีข่าวออกมาว่า คุณยอดรัก ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ จนกระทั่งถึงวันที่หมดลมหายใจ เรื่อยไปจนถึงช่วงของการทำพีธีศพ

 

ผู้เขียนคิดว่ากระแสข่าวที่ได้รับความสนใจจัดให้เป็นวาระสำคัญอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่สื่อเช่นนี้ เราในฐานะผู้บริโภคข่าวสารควรจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากข่าวนั้นให้มากกว่าการเป็นเพียง ผู้รับสาร แล้วปล่อยผ่านเลยไป ผู้เขียนเองได้มีโอกาสติดตามประเด็นข่าวนี้ทั้งโดยตั้งใจและ (ส่วนใหญ่) ไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ได้ข้อคิดจากการจากไปของ คุณยอดรัก หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน

 

เรื่องแรกคือ คุณยอดรัก ถือได้ว่าเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่สามารถป้องกันได้เพราะมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมและวิถีชีวิต เมื่อคิดเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง ทำให้รู้สึกว่าโรคมะเร็งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของผู้คนในยุคปัจจุบันมาก ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปร่วมไว้อาลัยในงานศพของคนรู้จัก 5 คน  3 ใน 5 คนนั้น เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและล้วนจากไปก่อนวัยอันควร มันทำให้ต้องหันมาทบทวนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตในแต่ละวันของตนเอง เพราะไม่แน่ว่าบางทีอาจจะมีเนื้อร้ายหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในร่างกายบ้างแล้วหรือยัง และระยะเวลาที่เหลืออยู่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยตัวเองเช่นนี้

 

เรื่องต่อมาคือ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า การที่ คุณยอดรัก ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับที่มีระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างรวดเร็วเช่นนี้ นับเป็นข่าวร้ายทั้งต่อตัว คุณยอดรัก  ครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท มิตรรักแฟนเพลงทั้งหลาย แต่ในข่าวร้ายนั้นมีโอกาสที่ดีแฝงอยู่ด้วย เพราะผู้เขียนคิดว่า การที่คนเราสามารถรู้หรือประมาณการ วันตาย ของตนเองได้ล่วงหน้านั้น ถือว่าโชคดีเพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้วางแผนการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ได้อย่างมีคุณภาพและคุ้มค่ามากที่สุด แต่น่าเสียดายที่ คุณยอดรัก ไม่ได้ใช้โอกาสนี้เพื่อเตรียมตัวเผชิญหน้ากับความตายได้อย่างสงบ ได้มีเวลาทำใจให้โปร่ง เบาสบาย โดยที่ไม่ต้องมีสิ่งใดให้ห่วงใยกังวล แต่ด้วยกระแสข่าวที่ครึกโครมทั้งความถี่และช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งประเด็นด้านบวกและลบ ทั้งกำลังใจที่หลั่งไหลและความเครียดที่ถาโถมเข้าใส่ ทำให้ผู้เขียนคิดไปเองว่า มันน่าจะมีผลกระทบต่อการเจ็บป่วยและการรักษาตัวของ คุณยอดรัก อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ??

 

ถึงวันนี้ผู้เขียนจะไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน แต่ก็ต้องใช้โอกาสและบทเรียนครั้งนี้ในการวางแผนบริหารจัดการชีวิตอย่างรอบคอบ รวมทั้งใส่ใจในคำสอนของ พระไพศาล วิสาโล ที่เตือนสติผู้คนให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตายที่จะมาถึงให้มากขึ้น เพื่อที่เมื่อวันนั้นมาถึงจะได้ตายไปโดยไม่มีสิ่งใดต้องอาลัย ห่วงใยกังวลอยู่เบื้องหลัง และไม่ทิ้งภาระไว้ให้คนข้างหลังต้องห่วงใยกังวลด้วยเช่นกัน

 

ปลาทูแม่กลอง

9 กันยายน 2551

หมายเลขบันทึก: 207497เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 03:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท