โครงการรางวัลบัณณารสสมโภช ตอนที่ 5


ตอนที่ห้า   การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการองค์ความรู้เพื่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์”

          อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรกแล้วว่า  กิจกรรมที่เป็นภารกิจหลักของผู้เขียนในครั้งนี้ คือช่วงของกิจกรรมกลุ่ม  ประชุมเชิงปฏิบัติการ  “การจัดการองค์ความรู้เพื่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์”  โดยใช้รูปแบบ  KM  ของ  สคส.  และมี อาจารย์วรโชค  ไชยวงศ์   เป็นวิทยากรนำ  และมีผู้ช่วยอีก  2  คน  (ส่วนผู้เขียนเป็นผู้ช่วยของผู้ช่วย อ.วรโชค  อีกทอดหนึ่ง)
          เริ่มแรก อ.วรโชค  ได้ชี้แจงกิจกรรมกลุ่ม และเกริ่นเรื่องของการจัดการความรู้   โดยได้พูดถึงการมองความรู้อย่างที่มันเป็น   ได้แก่  ความรู้ 2  ประเภท คือ  ความรู้ชัดแจ้งกับความรู้แฝงในคน ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน   และการมองความรู้อย่างรู้ค่าความสำคัญ พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่ผู้เขียนฟังแล้ว รู้สึกว่า  เห็นภาพการอธิบายความรู้ 2 ประเภท ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งมาก  โดย อ.วรโชค ได้ยกตัวอย่างว่า  “แม่พาลูกที่ป่วยไปหาคุณหมอที่มีความรู้ในการรักษา  (Medical  Knowledge :  Explicit)  แต่ลูกจะหายป่วยได้  ต้องอาศัยความรู้ที่จะให้ลูกกินยาและการดูแลลูก”   นั่นคือ  ความรู้จากการปฏิบัติของแม่ (Tacit  Knowledge)  เพราะแม่คือผู้ปฏิบัติที่แท้จริง 
          ต่อจากนั้นก็เป็นการบรรยายแนวคิดและ Model  ปลาทู ที่ สคส.  ใช้กันอยู่  สุดท้าย อ.วรโชค ได้แบ่งกลุ่ม “คุณกิจ”  ออกเป็น 3  กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีประมาณ  25-30  คน คือ
          1.       กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน
          2.       กลุ่มครูคณิตศาสตร์
          3.       กลุ่มครูวิทยาศาสตร์
          และให้แต่ละกลุ่ม  แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก  4  กลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีโจทย์ว่า  ให้แต่ละคนเล่าว่า “ทำอย่างไรโรงเรียนของตนจึงประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จนได้รับรางวัลบัณณารสสมโภช”  
          กลุ่มผู้บริหารโรงเรียนก็จะต้องเล่าว่า ในฐานะเป็นผู้บริหารโรงเรียนนั้น ได้มีบทบาทอย่างไร  สนับสนุนครูในโรงเรียนอย่างไร จนโรงเรียนได้รับรางวัล  ส่วนกลุ่มครูทั้ง กลุ่มครูคณิตศาสตร์และครูวิทยาศาสตร์  ครูคนใดสอนวิชาใด  (คณิตศาสตร์ /วิทยาศาสตร์) ก็เล่าให้ฟังว่า ตนเองและโรงเรียนของตนมีกิจกรรมอะไร  ทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์/วิชาวิทยาศาสตร์ จนได้รับรางวัลดังกล่าว
          ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ให้ห้องครูคณิตศาสตร์  ได้เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมากๆ  มีเรื่องเล่าดีๆ เยอะ  เนื่องจากว่า โรงเรียนทั้ง 25 แห่ง  คือ  โรงเรียนที่มีผลงานสุดยอดของโครงการรางวัลบัณณารสสมโภช  ผ่านการพิจารณามาอย่างเข้มข้น  ทำให้มีเรื่องเล่าน่าสนใจมากๆ  ฟังแล้วชื่นชมและชื่นใจค่ะ  เช่น  ครูวีณา  เกษรา  โรงเรียนพิชญศึกษา  จังหวัดนนทบุรี  เล่าว่า  โรงเรียนพิชญศึกษา  มีกิจกรรมคณิตศาสตร์ที่เด่นมากๆ  คือ  กิจกรรมจินตคณิต  ซึ่งท่านผู้อำนวยการสถานศึกษา  มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล  ลงทุนไปศึกษาเรื่องของจินตคณิต ที่ฮ่องกง  และนำมาใช้ในโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2539  โดยต้องการให้จินตคณิตเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมอง, การสร้างทักษะของเด็ก,  การคิดเลขเร็วแบบมีหลักการ, การฝึกความจำ (ฝึกสมองให้เป็นรังผึ้งหรือมีลิ้นชัก)  เป็นต้น 
          จริงๆ  แล้วมีอีกหลายโรงเรียนที่มีเรื่องเล่าดีๆ  มากมาย  ซึ่งหากทางคณะผู้จัดงาน ได้รวบรวบเอกสารเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ผู้เขียนจะนำมาลง Blog  ในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 20615เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2006 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นโรงเรียนที่วิชาการอ่อนมากไม่ได้เรื่องอะไรเลยทำให้เด็กอ่อนไปด้วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท