"10 แวว " ความสามารถพิเศษเด็กอัจฉริยะ


เด็กอัจฉริยะ

“10 แววความสามารถพิเศษสู่เด็กอัจฉริยะ
        เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้อย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่ศักยภาพทางกายและสติปัญญากำลังเต็มไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ เด็กแต่ละคนยังมีศักยภาพด้านต่าง ๆ ในตัวเองไม่เท่ากันและเด็กบางคนอาจมีลักษณะของความสามารถบางด้านสูงกว่าคนอื่น ๆ และเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถพิเศษบางประการที่โดดเด่นกว่าเด็กคนอื่น ๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คุณลักษณะพิเศษดังกล่าวอาจซ่อนอยู่ไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ และถ้าไม่มีใครเห็นความสามารถนั้น โอกาสที่เด็กจะได้รับการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่จะหายไปอย่าง น่าเสียดาย 
           เด็กที่มีความสามารถพิเศษ หมายถึงเด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใด ด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานทางด้านทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือ หลายสาขาอย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน
         พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคสี่ ระบุว่าการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีการกำหนดแนวการดำเนินงานในการค้นหาและพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษให้ชัดเจนขึ้น โดยจัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรอบในการกำหนด ทิศทางการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องครบวงจร จำนวน 10 แผน ทำให้เกิดองค์กรที่มีหน้าที่ รับผิดชอบการดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ ได้แก่ ศูนย์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถ สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ ที่สถาบันอุดมศึกษาจัดตั้งขึ้น โดยเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายเผยแพร่ความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสานงานกับองค์ย่อยในระดับท้องถิ่น มีภารกิจหลักในการสืบเสาะหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ การให้ความรู้เผยแพร่ข้อมูลด้วยสื่อต่าง ๆ และการให้สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่สร้างงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เกิดการพัฒนาอย่าง กว้างขวาง สามารถจัดการศึกษาที่ช่วยพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษได้อย่างเต็มตามศักยภาพ และนำไปสู่การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป
           จากการศึกษาพบว่า เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษของประเทศไทย โดยเฉลี่ยแล้ว มีอยู่ไม่น้อยกว่าสถิติในประเทศอื่น ๆ คือประมาณร้อยละ 3 ในแต่ละสาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งโรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษเฉพาะทางไม่อาจรองรับเด็กเหล่านี้ได้ และโดยหลักการที่ ถูกต้องของการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Special Education Needs) ซึ่งรวมทั้ง กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นในระดับสากลเป็นที่ยอมรับว่า การเรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนปกติเป็นวิธีการที่ถูกต้องทั้งในมติทางด้านสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
           ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของไทย ได้พยายามพัฒนารูปแบบของการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education) ให้ ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามปรัชญาและหลักการมากยิ่งขึ้น ในลักษะของการเรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนปกติ โดยมีห้องเรียนพิเศษที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Schools in School โดยเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้าง พื้นฐานการทางศึกษา เพื่อให้มีการค้นหาและพัฒนาความสามารถพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย และเชื่อมโยง ต่อเนื่องไปจนถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยให้มีการคัดแยกด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน การปรับหลักสูตร การพัฒนาสื่อ การวัดผลประเมินผล การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพสูงสุดของผู้เรียนแต่ละคนที่มีอยู่ อันเป็นหลักการสำคัญของแนวทางการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการนำร่อง ทั้งใน โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไปบ้างแล้ว และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ที่ควรให้การขยายผลออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานประกอบไปด้วยการค้นหา แววความสามารถพิเศษและการจัดการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาอย่างถูกต้องในระดับ ก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา และการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษในระดับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ในลักษณะการมีห้องเรียนพิเศษในโรงเรียนทั่วไป
         การค้นหาว่าเด็กมี แววอะไร จะต้องมีการทดสอบ รวบรวมข้อมูลเพื่อประมวลผลแววความสามารถพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 10 แววด้วยกัน สามารถจำแนกคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละแวว ได้ดังนี้
      1. แววผู้นำ เป็นเด็กชอบขบคิด ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาอุปสรรคใด ๆ ชอบเป็นผู้นำกลุ่ม มีอารมณ์ขัน ชอบทำงานกับคนกลุ่มมาก ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และควบคุมการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
     2. แววนักคิด เป็นเด็กช่างสังเกต มองเห็นรายละเอียดได้มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน จดจำแม่นยำ รวดเร็ว สนใจสิ่งแปลก ๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ประหลาดใจ ใช้ภาษาได้ดี ไม่ชอบคบเพื่อนวัยเดียวกัน แต่คบคนที่อายุมากกว่า รู้เกินเด็กวัยเดียวกัน ชอบทำงานคนเดียว คิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้อย่างลึกซึ้งกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น ความซื่อสัตย์
      3. แววสร้างสรรค์ เป็นเด็กไม่ยอมทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ ไม่ยอมร่วมมือถ้าไม่เห็นด้วย ชอบทำงานคนเดียว สนใจสิ่งประดิษฐ์และความคิดใหม่ๆ ไม่หงุดหงิดกับการไร้ระเบียบ หรือสภาพ ที่คนอื่นหงุดหงิดทนไม่ได้ สังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี มีความคิดอิสระ มีความยืดหยุ่น คิดได้ หลายอย่างและมีความคิดแปลกใหม่
      4. แววนักวิชาการ เป็นเด็กมีสมาธิดี เรียนรู้ได้รวดเร็ว ภาษาดี อ่านหนังสือยากและเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน ชอบการเรียนรู้แบบถึงแก่น ชอบซักถาม ชอบเรียนวิชายากๆ สนุกกับการเรียน ชอบทำงานเกินคำสั่งในสิ่งที่สนใจ ชอบวิเคราะห์ตนเอง ประเมินข้อมูล และแก้ไขสถานการณ์
       5. แววนักคณิตศาสตร์ เป็นเด็กสนใจศึกษาเกี่ยวกับตัวเลข ปฏิทินเวลา แผนภูมิ มิติเวลา หมกมุ่นครุ่นคิดมีวิธีแปลกใหม่ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ มีจินตนาการ ชอบตั้งคำถามที่เป็นเหตุเป็นผล มีความสามารถในการแก้ปัญหาได้หลายวิธีทางคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ามา เกี่ยวข้องกับเรื่องคณิตศาสตร์ได้
     6. แววนักวิทยาศาสตร์ เป็นเด็กกระหายใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ ว่าทำได้อย่างไร ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ ชอบเฝ้าดู จับต้อง ดม มองเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ชอบทำงานที่ต้องลงมือปฏิบัติ ทดลอง ชอบวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล
      7. แววนักภาษา เป็นเด็กพูดอ่านเขียนเร็ว มีภาษาก้าวหน้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ชอบท่องจำ อ่านโคลงกลอน พกหนังสือติดตัวไปทุกที่ ชอบแต่งเรื่องเขียนเรื่อง มีภาษาพูด เขียน สละสลวยงดงามกว่าเด็กวัยเดียวกัน เข้าใจเรื่องที่อ่านอย่างถ่องแท้ วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์จากเรื่องที่อ่านได้ ใช้ภาษาสร้างจินตนาการได้
   8. แววนักกีฬา เป็นเด็กสนุกสนานกับการเคลื่อนไหว ออกกำลัง ปีนป่าย ใช้เวลาว่างเล่นกีฬา มีสมาธิในการเล่นกีฬาได้แม้มีเสียงรบกวน ชอบคิดวิธีใหม่ๆ มาใช้เล่นกีฬา สามารถควบคุมความสมดุลของร่างกายได้อย่างโดดเด่น และมีสภาพร่างกายที่เหมาะสม เช่น ช่วงขาแข็งแรง
    9. แววนักดนตรี เป็นเด็กใช้เวลาว่างกับกิจกรรมด้านดนตรี อยากมีอาชีพเกี่ยวกับดนตรี เช่น เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง มีความไวต่อเสียง แยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ ชอบการวิเคราะห์เพลงว่าดี-ไม่ดี
    10. แววนักศิลปิน เป็นเด็กสนใจศิลปะ ใช้เวลาว่างวาดภาพ ขีดเขียน มีสมาธินานกับศิลปะ มีความสุขกับงานศิลปะ อยากมีอาชีพทางศิลปะ มีประสาทสัมผัส มือ ตา ดี มีทักษะสามารถใช้กริยา ท่าทางสื่ออารมณ์ได้ดี
เด็กที่ผ่านกระบวนการทดสอบ หากมีความโดดเด่นในแววต่าง ๆ 8 ใน 10 แวว จะถือได้ว่าเป็น เด็กอัจฉริยะ
          นอกจากการทดสอบวัดแววความสามารถพิเศษแล้ว จะต้องมีการรวบรวมประวัติของเด็กตั้งแต่กำเนิด ทั้งการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ รวมทั้งประวัติพ่อแม่มาประมวลประกอบผลการทดสอบด้วย แววอัจฉริยภาพไม่ได้ชี้วัดกันที่ไอคิว ยกเว้นแววนักคิด แววนักวิทยาศาสตร์ และแววนักคณิตศาสตร์ ที่ต้องวัดไอคิว แต่หากไม่พบแววอัจฉริยภาพเลยก็ไม่ต้องตกใจหรือเสียใจ เพราะข้อมูลที่ได้จาก การทดสอบจะเป็นประโยชน์ที่จะบอกถึงความถนัด ความชอบของเด็ก หรือปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ จากนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะรับช่วงต่อในการหาทางส่งเสริมพัฒนาเด็กต่อไปเพื่อให้เด็กเติบโตและพัฒนาตนเองอย่างมีความสุข

  แหล่งอ้างอิง   โกวิท  วัชรินทรางกูร              www.thaigift.org

คำสำคัญ (Tags): #เด็กอัจฉริยะ
หมายเลขบันทึก: 205762เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รบกวนของตัวอย่างแบบทดสอบเพื่อวัดแววทั้ง 10 รายการข้างต้นได้มั๊ยค่ะ จะทดลองวัดแววของนักเรียนที่โรงเรียนค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท