ขุดลอกคลอง พัฒนา - ทำลาย ?


       สมัยเด็กๆ คลองสายที่ผ่านทุ่งระหว่างทางไปโรงเรียน  มีต้นไม้คลุมครึ้ม  มีเถาวัลย์ระโยงย้อย  ลอดลดเลี้ยวไประหว่างต้นไม้ใหญ่น้อย  ทำให้บางช่วงน้ำเชี่ยว บางช่วงน้ำไหลเอื่อย  สมัยเด็กๆ คนอื่นกินข้าวเที่ยงที่โรงเรียน  แต่พวกเรา 4- 5 คน แอบเอาข้าวห่อไปกินที่คลอง เพราะได้เล่นน้ำใส  บางช่วงน้ำลึก บางช่วงน้ำตื้น  สลับหาดทรายริมคลอง  เล่นกระโดดจากกิ่งไม้ลงคลอง  สนุกกันตามชอบและตามความสามารถ

 

ภาพนี้เป็นคลองอีกสายที่ไม่ขุดด้วยแบคโฮ หน้าตาจะเป็นแบบนี้  จะเห็นว่าระดับน้ำสูงกว่านาครับ  คลองที่ถูกขุดไปกว้างกว่านี้ 2- 3 เท่า

     คลองที่ว่าเป็นคลองธรรมชาติรับน้ำที่ไหลมาจาภูเขาสันกาลาคีรี ไปพบกับคลองท่าเรือต่อออกทะเลที่บ้านบางราพา อำเภอหนองจิก   ช่วงที่ผ่านป่าเป็นคลองลึก แต่เมื่อผ่านตำบลบางโกระ  ตำบลท่าเรือจะมีลักษณะท้องคลองสูงกว่าพื้นนา  มีคันคลองที่ชาวบ้านยกขึ้นมาเพื่อป้องกัน้ำทะลักเข้านา  คลองส่วนนี้จึงเป็นลักษณะคลองส่งน้ำเข้านา ไม่เหมือนคลองทั่วไปที่ปกติตลิ่งจะอยู่ระดับเดียวกับพื้นนา

        การทำนาสมัยก่อนจึงเพียงฝังท่อเชื่อมนากับคลอง แล้วคอยเปิดปิดน้ำตามความต้องการ  แค่นี้ก็มีน้ำทำนาแล้วครับ

  

ใต้สะพานไม้หมาก เป็นคลองที่ขุดแล้ว และเต็มไปด้วยต้นกก  และไม่มีน้ำไหล  สังเกตุความลึกครับ สูงท่วมศีรษะนะครับ

       วันนี้  คลองดังกล่าวเปลี่ยนสภาพไปหมดแล้ว  เพราะถูกขุด เห็นว่าเพื่อขุดลอกคลองให้น้ำไหลสะดวก ระบายน้ำได้ดี  ไม่ให้น้ำท่วม  ผลที่ได้คือต้นไม้ใหญ่ริมคลองถูกขุดเกลี้ยง  พื้นคลองลึกลงประมาณเมตรถึงสองเมตร  ดินท้องคลองถูกโกยขึ้นมาถม ทำให้คันคลองสูงใหญ่ขึ้น  ช่วงแรกชาวบ้านจินตนาการเห็นเป็นถนนเลียบคลอง  ขับรถยนต์ไปนาได้สบาย  แต่ปีแรกเป็นโขดดินที่ขุดใหม่ใช้สัญจรไม่ได้ ดินบางช่วงเหลว บางช่วงเป็นตอไม้  ช่างเถอะ ปีสองปีคงดีเอง  แต่ต่อมาพบว่าใช้สัญจรไม่ได้

 

         หลังจากขุดลอกปีแรก คลองสะอาด ไม่มีหญ้าไม่มีต้นไม้  น้ำไหลสะดวก  แต่พบปัญหาว่าระดับท้องคลองที่ลึกลง ไม่สามารถเอาน้ำเข้านาได้  เลยทำโครงการสร้างทำนบเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น  ได้ผลครับ  น้ำถูกทำนบยกระดับสูงขึ้น เอาน้ำเข้านาได้   พอรุ่งขึ้นอีกปี พบว่าคลองรก  เต็มไปด้วยหญ้าปล้อง ผักตบ กกและสารพัดพืชน้ำ  ซึ่งตอนที่มีไม้ใหญ่และเถาวัลย์ปกคลุมคลอง ไม่เคยมีไม้เหล่านี้มาก่อน  แต่พอไม้คลุมคลองออก วัชพืชและไม้น้ำก็เข้าแทน 2-3 ปีต่อมา น้ำไหลไม่สะดวก  อบต.เลยต้องทำโครงการลอกคลองให้ท้องคลองลึกลงไปอีก  ผลที่ตามมาคราวนี้สาหัสกว่าอีก เพราะเมื่อท้องคลองลึกกว่าระดับพื้นฝาย  น้ำไหลลอดท้องฝาย กลายเป็นฝายกักน้ำไม่ได้ เพราะฝายชำรุด แก้ปัญหาวนเวียนแบบนี้ประมาณ 3 - 4 รอบ  เหตุการณ์ที่เกิดจากเริ่มต้นขุดครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ใช้เวลาประมาณ 30-35 ปีครับ

 

      วันนี้ปัญหาที่พบคือ  คลองดังกล่าว

      1)ใช้ข้ามไป-มา ไม่ได้เพราะลึกเกินการข้ามแบบปกติ

      2) พรรณไม้ที่คลุมสายคลองที่เมื่อก่อนไร้ค่า ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว เช่น โมกน้ำ  ต้นจิก ต้นหว้า ฯลฯ

      3)  วัชพืชขึ้นเต็มคลองและน้ำไม่ไหล

      4)ระดับน้ำท้องคลองลึกจนเอาเข้านาไม่ได้  ฝายที่สร้างขึ้นมาถูกน้ำเซาะลอดใต้กักน้ำไม่อยู่

      5) คันคลองยังใช้สัญจรไม่ได้(เหมือนเดิม)

 

ภาพล่าง  พื้นที่รถจอดเป็นคันคลองครับ ด้านหน้ารถเป็นคลองที่โดนขุดลอกครั้งสุดท้ายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

 

        ผลที่ตามมาคือนาร้าง  คลองเหือด รกร้าง  ไร้ชีวิต  น้ำไม่ไหล   ถ้ารู้ว่าจะเกิดผลเช่นนี้  ผมจะคัดค้านการขุดลอกคลองตั้งแต่เด็กๆ แล้ว  หรือถ้าทำได้  ถมคลองปล่อยให้ต้นไม้คลุมคลองเหมือนเดิม  จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์คลองได้เหมือนเดิม

หมายเลขบันทึก: 205273เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

 

ที่นี่เป็นเสมือนเถียงนา หรือเพิงพักในยามลงนา  ซึ่งปีนี้  สองหนุ่มได้ไปนั่งพัก  หลังการลงแรงดำนาอย่างสนุก

 

ความจริงที่ไม่มีในตำรา

เมื่อ 4 - 5 ต.ค. 51 ผมไปพิจารณาดูผืนนา(ของชาวบ้าน)ที่ติดคันคลอง ผมเห็นว่าเป็นนาร้างอยู่ประมาณ 7-10 ปี แล้ว จึงไปเอ่ยปากขอใช้ประโยชน์ ซึ่งเขาก็อนุญาตให้ใช้ฟรีไม่ต้องเช่า

พื้นที่กว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งแห้งแล้งแต่อยู่ใกล้บ้าน น่าจะพลิกฟื้นทำนาได้ หากสามารถซ่อมฝายยกระดับน้ำขึ้นมา อาจต้องเอาแทรคเตอร์ดันดินลงไปกลบถมพื้นฝาย แม้หน้าแล้งก็ยังสามารถปลูกมันเทศปลูกผักได้

ทฤษฎีบางทีก็ใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ ต้องอาศัยประสบการณ์ในการสอน ผมว่าหากขุดลอกแล้วทำเป็นชลประทาน แบบคอนกรีต น่าจะเหมาะสมเหมือนกันนะครับ แต่ก็คงจะติดเรื่องงบประมาณอีกนั่นล่ะ ผมเคยเห็นบางที่ทำแบบคอนกรีตนี้ก็ดีนะครับ ถ้าจัดการดีๆ สมัยผมเด็กๆ นาของผมยังเป็นแบบนี้เลย ทำนาได้ทั้งปี เพราะน้ำในชลประทานมีตลอด จะปลูกผักก็ได้ แต่สมัยนี้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นหมู่บ้านไปแล้วล่ะครับ ต้านแรงนายทุนไม่ไหว เขาขายเราก็ต้องขายตาม ไม่งั้นไม่มีทางออก 5 5 5

แถวบ้านผมก็มีถูกถมที่สร้างบ้านครับ แต่ที่นายังไม่เปลี่ยนมือครับ คงเพราะอยู่ห่างจากเมืองมากมั้ง

จนถึงวันที่ตอบบันทึกนี้ทุกอย่างยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเข้าทุ่ง ต้องขับแทรคเตอร์อ้อม 2 ก.ม. เพื่อไปที่นาที่ห่างเพียง 200 เมตร ครับ แถมเจอปัญหาถูกดำนาปิดทาง ผมต้องแก้ไขโดยการเจรจาขอเว้นที่ให้เท่าทางเข้าออก แล้วไถนาชดเชยพื้นที่ให้เขาประมาณ 2 - 3 เท่า ครับ เพื่อแลกกับทางเข้าออกที่สะดวกและได้ตลอดฤดู

พื้นที่ที่ผมเข้าไปบุกเบิกนาร้าง ตอนนี้ได้ 4 แปลงแล้วครับ เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ครับ ทำนาดำไปแล้ว 3 แปลง อีกแปลงกำลังเจรจาข้อตกลงกันอยู่ ถ้าไม่มีคนดำนา ก็จะใช้วิธีการหว่านครับ ที่ว่างนาร้างแถวนั้น ยังสามารถทำได้อีกหลายสิบไร่ครับ หรือถ้าจะทำกันจริงๆ สามารถทำได้เป็นร้อยเป็นพันไร่ครับ

ที่บอกว่า ลอกคลองให้น้ำไหลสะดวกนั้น ลอกคลองหรือขุดแต่งริมตลิ่งกันแน่ครับ บางครั้งผมมองว่า มันน่าจะมีผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้องนะครับ เช่นแถวบ้านผม ที่ตุยง อบจ. ก็มาขุดลอกริมตลิ่ง (ไม่ได่ทำให้คลองลึกลงไปเลย ) ทำให้ต้นไม่ใหญ่ ที่ขึ้นอยู่ริมตลิ่ง ต้องตายไป ทำให้ไม่มีอะไรยึดดินไว้ เมื่อฝนตกลงมา หน้าดินที่อยู่ริมตลิ่ง ก็จะไหลลงคลองอีก ก็จะต้องหางบประมาณ มาขุดอีก ผมมองว่า นี้คือการล้างผลานงบประมาณครับ และผลที่ตามมา จากการที่ไม่มีต้นไม้ ขึ้นอยู่ริมคลอง ก็ทำให้ พวกปลาปู ที่เคยมีอยู่อย่างมาก ต้องหายไป ชาวบ้านที่เคยหากินกับปูปลาที่เคยมีอยู่ ต่างก็บ่นไปต่ามๆกัน ว่าตั้งแต่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ พวกเค้าต่างหาปูปลาไม่ได้กันเลยครับ ก็น่าเห็นใจนะครับ ที่ไม่สามารถทำนาได้ ความจริงถ้าคลองมีน้ำลึก น่าจะหาประโยชน์ จากความลืกของน้ำคลองนะครับ เพราะที่เห็นระยะนี้ หลายพื้นที่ มีการเลี้ยงปลาหรือ กบในกระชังกัน น่าจะลองดูนะครับ.....

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ชนันท์

  • ผมแวะมาดูท้องทุ่งนาเห็นมีน้ำแช่ข้าวเขียวบ้างก็น่ายินดีอย่างยิ่ง ปีนี้ที่บ้านหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์นาฝนแล้ง ทั้งนาปีนาปรัง ข้าวไม่มีน้ำน่าใจหาย ฝนไม่ตกน้ำในคลองแห้งขอด นี่ก็ใกล้ออกพรรษาแล้วน้ำในนาไม่มี ข้าวก็คงตั้งท้องไม่ได้ หากถ้าฝนมาเร็วทันเวลา ข้าวปลาก็คงได้กินกัน เมื่อปีก่อน ช่วงการเก็บเกี่ยวน้ำท้วมข้าวเมล็ดเน่าดำขายไม่ได้ราคา ชาวนาโดนโกงเงินขายข้าวจากปีก่อนหน้า สามปีแล้วที่โชคชะตามาเล่นละครให้ชาวนาต้องหนักใจ ถ้าเป็นปีก่อนๆ ช่วงหน้าฝนมากุ้ง หอย ปลา ปู ดูเต็มทุ่ง ชาวบ้านจับมากักตุตถนอมอาหารไว้ยามแล้งได้ไม่ขาดแคลน ปีนี้แม้แต่ปูสักตัวยังไม่เห็นจะเดินมาให้เห็นเลยครับ
  • หนองบัว เขตติดต่อ พิจิตร เพรชบูรณ์ แม้เป็นเมืองสี่แคว แต่ก็ไกลยม-น่าน ครั้น มีอ่างเก็บน้ำ ก็คงไม่พอแก่การทำการเกษตร ขนาดแม่น้ำป่าสัก ทางเพชรบูรณ์ยังแห้ง หนองบัวมีเพียงห้วยหนองคลองคูถ้าฝนไม่ตกก็ไม่มีน้ำครับ  แล้วจะแวะมาทักทายใหม่ครับ

ตอบ คุณเสวก ใยอินทร์ ผมเห็นข่าวปีนี้น้ำในเขื่อนมีไม่ถึงครึ่ง น่าเป็นห่วงอีกแล้วครับ พื้นที่เขตชลประทานภาคเหนือ-กลาง ทำนาใช้น้ำกัตลอดปี แถวโคกโพธิ์ ปัตตานี บ้านผมอยู่เขตชลประทานแท้ๆ น้ำมีตลอดปี แต่ทำนาปีละครั้งยังไม่ได้เลยครับ ปล่อยนาร้างว่างเปล่า สำหรับความคิดเห็นของลุงบูล ตรงกับความคิดของผมเรื่องต้นไม้ริมตลิ่งครับ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ขณะที่เรารณรงค์แหล่งวางไข่และที่หลบภัยของปลา แต่เรากลับทำลายต้นไม้ริมตลิ่ง อ้างว่าเพื่อให้การะบายน้ำได้ดี แต่เชื่อไหม น้ำหลากชนิดระบายไม่ทันปีละประมาณ 15 วันเอง แต่ขุด-ตัดต้นไม้ถาวรตลอดชาติเลย ปลาปูจึงหายไปจากธรรมชาติไงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท