R2R : ยกระดับความรู้สู่การตีพิมพ์ : ๕. การตีพิมพ์รายงานวิจัยแบบเป็นอนุกรม (series)


 

จากโจทย์ของคุณหมอพิเชฐ บัญญัติ ผมได้เสนอความเห็นไปแล้ว ๔ ตอน    ว่าด้วยเรื่อง การต่อยอดความรู้  การนำเสนอ (ตีพิมพ์) อย่าง evidence-based  การอ้างอิงอย่างมีความหมาย  และ การสร้างระบบการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ปฏิบัติ   ในตอนที่ ๕ นี้จะกล่าวเรื่อง การตีพิมพ์รายงานแบบเป็นอนุกรม (series)

เมื่อพิเคราะห์บทความ พิเชฐ บัญญัติ และสุภาภรณ์ บัญญัติ. การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลบ้านตาก : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. วารสารวิชาการสาธารณสุข ๒๕๕๐; ๑๖ : ๔๔๔ – ๔๕๕. ผมมองเห็นโอกาสเขียนรายงานผลการวิจัย ที่เน้นนำเสนอการประยุกต์ใช้ความรู้เชิงทฤษฎีเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล    โดยมีความรู้สำคัญ ๗ ด้าน คือ ความมุ่งมั่น  ความสามารถหรือสมรรถนะ  วิสัยทัศน์ร่วม  วัฒนธรรมคุณภาพ  ความต่อเนื่อง  การสื่อสาร  และการมุ่งเน้นประชาชนและชุมชน

ผมคิดว่า สามารถนำเอาเรื่องราวของการตีความความรู้สำคัญแต่ละด้านในเชิงทฤษฎี และเรื่องราวของการประยุกต์ใช้ และปรับความเข้าใจหรือการตีความผ่าน ตัวแบบบ้านคุณภาพสร้างสุข อย่างไรบ้าง   นำมาเขียนรายงานเป็นตอนๆ    อย่างน้อยๆ มีได้ ๗ ตอนตามความรู้สำคัญ ๗ ด้าน

ผมมองว่าบทความนี้นำเสนอแบบ ย่อเรื่องราว จนไม่เห็นขั้นตอนที่เป็นวิชาการ    คือเห็นความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (expert) ด้านการบริหารมากกว่าเห็นความรู้ปฏิบัติ   และมองไม่เห็นกระบวนการสร้างความรู้ปฏิบัติขึ้นใช้   หรือกระบวนการทดลองใช้และปรับปรุงความรู้ปฏิบัตินั้น    ผมมองว่ายังมีความรู้ปฏิบัติซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของรายงานอีกมากมายนับสิบเท่าของที่เขียน   จึงน่าจะขยายรายงานนี้ออกมาเป็นอนุกรมของรายงาน ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหลายตอนติดต่อกัน   หรืออาจพิมพ์เป็นฉบับพิเศษก็ได้

ผมอ่านบทความนี้แล้วบอกตัวเองว่า    สังคมวิชาการของนักปฏิบัติยังสับสนระหว่างพฤติกรรมของนักบริหารหรือนักปฏิบัติ   กับพฤติกรรมของนักวิจัย   โลกของนักวิจัยจะช้าและเนิบนาบกว่า    เพราะจะต้องตรวจสอบขั้นตอนเพื่อให้เอื้อต่อคุณสมบัติ reproducibility ของผลงานวิจัย   และให้สามารถเขียนอธิบาย logical framework และลำดับขั้นตอนของเหตุการณ์ได้    ในขณะที่โลกของนักปฏิบัติมันฉับเดียวเสร็จ (หรือพัง) ทุกขั้นตอนซ้อนกันอยู่ในฉับเดียว    เวลาเอา ฉับเดียว มาเขียนเป็นบทความวิชาการ ต้องขยายให้เป็นหลายฉับเล็กๆ จึงจะเห็นความรู้ปฏิบัติเล็กๆ มากมายที่ซ่อนอยู่ในการปฏิบัติ ฉับเดียวนั้น

ผมเขียนบันทึกนี้แบบไม่รับรองว่าที่เสนอนี้จะใช้ได้  หรือเป็นความเห็นที่ผิดโดยสิ้นเชิง   คือเน้นเขียนแบบ ลปรร. ไม่เน้นถูกผิด

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ส.ค. ๕๑

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 205032เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2008 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดิฉันเป็นคนจากรามาธิบดี ตามอ่าน R2R มาระยะหนึ่งเห็นแต่R2Rในคลินิก ดิฉันอยากทำR2Rการจัดการเรียนการสอน ดิฉันพัฒนาวิธีการสอนให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของการดูแลด้วยหัวใจ โดยจัดกิจกรรมให้เขาสัมผัสโดยตรงกับความรู้สึกและคุณค่าของการดูแลด้วยหัวใจ ทำมา ๓ ปีแล้ว และพัฒนาวิธีการมาเรื่อยๆ เห็นผลดีทีเดียวอยากจะเขียน เล่าไว้เป็นหลักฐาน เพื่อชักชวนอาจารย์พยาบาลทั้งหลายทำบ้าง แต่ไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไร จึงจะเป็นการเขียนรายงานR2R ที่มีคุณภาพ กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท