34. เศรษฐกิจพอเพียง


เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง

      เศรษฐกิจพอเพียง”  เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

     เศรษฐกิจพอเพียง  จึงเป็นปรัชญาแห่งวิถีชีวิตที่มีความหลากหลาย และสามารถยืดหยุ่นความเป็นอยู่ของชีวิตของตนได้ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานความหมายของความพอเพียงไว้ ตามพระราชดำรัส ที่พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ธันวาคม  2541  ดังนี้ 

      “...คำว่าพอเพียง  มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน...พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”

      “...ให้พอเพียง  นี้ก็หมายความว่า  มีกินมีอยู่  ไม่ฟุ่มเฟือย  ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอแม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย  แต่ถ้าทำให้มีความสุข  ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...

      “Self-sufficiency (พึ่งพาตนเอง) นั่นหมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...

      “...แต่พอเพียงนี้ มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ  คำว่า  พอก็พอ  เพียงก็เพียงนี้ก็พอ   ดังนั้นเอง  คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย   เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย   ถ้าทุกประเทศมีความคิด-อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ  มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง  หมายความว่า  พอประมาณ  ไม่สุดโต่ง  ไม่โลภอย่างมาก  คนเราก็อยู่เป็นสุข... 

 

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

1. กรอบแนวคิด   เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้น      การรอดพ้นจากภัย และวิกฤติเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

2.  คุณลักษณเศรษฐกิจพอเพียง  สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับโดยเน้นการปฏิบัติ บนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน 

3.  คำนิยาม  ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย  3  คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน  ดังนี้

       *  ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

       *  ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไป อย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

*  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเอง  หมายถึง   การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการ เปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4.  เงื่อนไข   การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

      เงื่อนไขความรู้   ประกอบด้วย   ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน มีความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม   ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตไม่โลภ ไม่ตระหนี่

5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ   จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้  คือ  การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ   สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความรู้และเทคโนโลยี 
 
 ที่มา  :  วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 204720เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท