"ความดี"2


"ความดี"

          ดังนั้น จึงไม่ต้องอธิบายเลยก็ได้ว่า บ้านสวย บ้านงาม เครื่องแต่งกายสวยหรู งดงามสง่า นางสาวไทย นางงามโลก อะไรเหล่านั้น จึงล้วนแต่เป็นเรื่อง เป็นสิ่งที่เป็นส่วนเกิน นอกความจำเป็น ที่แท้จริงของ "คน" ไปทั้งสิ้น ถ้าผู้ใด ยังหลงอยู่ในรส ในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส ของสิ่งเหล่านั้นยิ่ง ก็ย่อมคือ ผู้ยัง  "เสพ" อยู่อย่างหนัก ทั้งนั้น  "ความดี" แท้ๆ จึงคือ การไม่หลงในสิ่งทั้ง ๕ นี้ และ ต้องลดให้ได้ ใครประกอบ สิ่งอื่นใด เจริญงอกงามอย่างไร จึงไม่ได้ชื่อว่า "ความดี" ที่แท้ ที่ถูกเลย "ความดี" แท้ๆ คือ การลด การละ สิ่งทั้ง ๕ นี้เท่านั้น

เมื่อผู้ใด ยัง "เสพ" อยู่ ก็คือ ผู้ยัง "จับจ่าย" อยู่ เมื่อ "จับจ่าย" ก็ต้องมี "สมบัติ" ไปแลกเปลี่ยน หรือ ไปเป็น ค่าจับจ่าย ผู้ที่มี "สมบัติที่น้อย" จะเพราะเหตุ "สมบัติเก่า" แต่ชาติก่อนๆ ไม่ได้สะสมมา หรือ ไม่มี ความสามารถหา "สมบัติปัจจุบัน" ได้เพียงพอ จะนำไปแลก หรือไป "จับจ่าย" ก็ดี  ถ้าผู้นั้น ยังปรารถนาหนัก ที่จะต้อง "เสพ" ก็ย่อมต้องทุกข์ทนหม่นไหม้ ก็ต้องดิ้นรนต่างๆ นานา เมื่อสมบัติของตนไม่มีจริงๆ ก็ต้องไป "บังเบียดผู้อื่น" เพื่อให้ได้ ซึ่งสิ่งที่ปรารถนาเสพนั้นๆ  คนผู้นี้ก็คือ  คนไม่มี "ความดี" เลย ยังปฏิบัติชั่วอยู่ ตราบที่เขายังใฝ่ "เสพ" และยัง "บังเบียดผู้อื่น" เท่ากับผู้นั้นก่อ "ความไม่ดี" คือ "บาป" คือ "อกุศล" นั่นเอง และ ผู้ที่มี "สมบัติ" ของตัวเอง เพียงพอล่ะ เช่นมี "สมบัติเก่า" อยู่ คนผู้นั้น ก็ต้องควักเอา "สมบัติเก่า" ของตนเอง นั่นแหละ ไปแลก หรือไม่ "จับจ่าย" เพื่อเอาสิ่งที่ตนปรารถนา "เสพ" มา "เสพ" ให้ได้ แล้ว "สมบัติเก่า" นั้น มันก็ถูกควัก ถูกแบ่ง ถูกแย่งออกไป ก็คือการ "เบียดเบียนตนเอง" ด้วยการกินสมบัติเก่า ของตนนั่นเอง และหรือ ถ้าคนผู้นี้ ไม่มี "สมบัติเก่า" จะกินล่ะ เมื่อไม่มี ก็ต้องออกเรี่ยว ออกแรง ในขณะนี้หา "สมบัติปัจจุบัน" ให้ได้ เมื่อหาได้ ก็นำไป "จับจ่าย" แลกเอาสิ่งที่ปรารถนา "เสพ" มา "เสพ" คนผู้นี้ก็คือ ผู้กินเรี่ยวแรงของตนเอง อยู่นั่นเอง  ก็ยังคือผู้ "บังเบียดตนเอง" อยู่วันยังค่ำ คนผู้นี้ จึงยังคงไม่มี "ความดี" ยังไม่ใช่ "คนดี" ที่แท้อยู่อีกเช่นกัน

เพราะเหตุดังนั้นแล ผู้ใดไม่ "เสพ" ในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสนั้น จึงคือ ผู้ที่ได้ชื่อว่า ไม่ต้อง "จับจ่าย" คือ ผู้ที่ไม่ต้อง "บังเบียดผู้อื่น" คือผู้ไม่ "บังเบียดแม้ตัวเอง"  คนผู้นี้แล จึงคือ "คนดี" คือผู้มี "ความดี" คือผู้มี "บุญ" คือผู้มี "กุศล" คือผู้ยังประโยชน์ทั้งแก่ตน และผู้อื่นพร้อม

ยังประโยชน์อย่างไร? ยังประโยชน์ คือ เป็นผู้เห็นแจ้งในความแท้จริงทั้งปวง รู้ว่า รูป-รส-กลิ่น -เสียง -สัมผัส เป็นของเก๊ เป็นของไม่จำเป็น ที่คนควรหลง ควรเหน็ดเหนื่อยกับมัน  ท่านผู้นี้ จึงไม่จำเป็น จะต้องอยู่เพื่อมัน หรือ ให้มันมามีบทบาท บงการชีวิต ท่านจะตายเสียเมื่อใด ท่านก็ตายได้ โดยท่าน จะไม่เห็นว่า "ชีวิต" มันสำคัญอะไรเลย ท่านจะไม่อินังขังขอบ ชีวิตเลยจริงๆ แต่ถ้าคนเหล่าใด ยังคิดว่า ท่านผู้นี้ "ควรจะมีชีวิตอยู่" เพื่อจะได้สั่งสอน แนะนำให้คนอื่นๆ เป็น "คนดี" อย่างท่านบ้าง  คนเหล่านั้น ก็ต้องหา "อาหาร" จริงๆ "อาหาร" แท้ๆ อันไม่แพง ไม่สูงไปด้วยราคา ไม่ต้องเพียบพร้อมไปด้วยรูป -รส -กลิ่น -เสียง -สัมผัส อันใดเลย ไปให้ท่านกิน เพื่อร่าง เพื่อกายของท่าน จะได้ทรงอยู่ แล้ว ท่านจะได้ มีชีวิตอยู่ ได้สอน ได้แนะ "ความดี" ที่ท่านรู้แจ้ง เห็นจริงนี้ให้บ้าง ผู้นั้นๆ ก็จะได้นำมา ปฏิบัติตาม ทำตน ให้เป็น "คนดี" สร้าง "ความดี" ให้เต็ม ให้ครบ เป็น "คนดี" บริบูรณ์อย่าง ท่านต่อไปได้

นั่นคือ การกระทำขั้นสุด ขั้นที่ถูกต้องที่สุด ที่ตนควรทำ คือ ถ้าจะสงเคราะห์ หรือ "ให้" อะไรแก่ผู้ใด หรือ ที่เรียกกันว่า "ทำบุญ" นั่นแหละ จึงควรจะ "ให้" แก่ "คนดี" แท้ๆ เช่น "คนผู้รู้แจ้งเห็นจริง" ดังกล่าวนี้ จึงจะเป็น "กุศล" เป็น "บุญ" เป็น "ความดี" เพื่อ "ความดี" ที่ถูกที่ตรง ที่ควร ที่ชอบที่สุด เพราะ "คนดี" จะได้อยู่เพื่อสอน เพื่อบอก เพื่ออธิบาย "ความดี" ให้แก่ผู้ยังไม่รู้ต่อไป เพราะความเป็นจริงดังนี้แล ท่านจึงเรียก "คนผู้รู้แจ้งเห็นจริง" แล้วนี้ว่า เป็น "เนื้อนาบุญ" เป็นผู้ที่ควร "หว่านพืชลงไป" เพราะจะเป็น ผลประโยชน์ ที่เกี่ยวเนื่อง หรือ ก่อเกิดส่งผลแต่ "ความดี" แต่อย่างเดียวเท่านั้น ทั้งผู้ที่จะลงทุนลงไป และผู้ที่จะอยู่ คือผู้รับทุนนั้น ก็จะให้ประโยชน์ แผ่ผล กระจายผล อันจะเป็นแต่ "ความดี" เท่านั้น ออกมา ให้แก่คน แก่โลก อันจะไม่สูญเปล่า และไม่เกิดพิษ เกิดภัย หรือ เกิดโทษใดๆเลย นอกจาก "คุณ" ความดี แต่ถ่ายเดียว และแม้ "การให้" ใดๆ ผู้ที่จะ "ให้" ก็ต้องควรรู้ด้วยว่า ผู้เป็น "คนดี" นี้ จะไม่ต้องการอะไร มากไปกว่า "อาหาร" เป็นสำคัญที่สุด ซึ่งเรียกสิ่งนี้ และเป็นเพียงสิ่งเดียวจริงๆ ที่ท่านผู้เป็น "คนดี" จนทรงยึดถือ เป็นภาระ ออกตระเวน กระทำเป็นการประจำ คือ "บิณฑบาต" หรือการขอรับเอา "อาหาร" นี่เอง นอกกว่านี้แล้ว จะไม่มีเรื่องใด  อันใด ที่ถือเป็น "ภาระปัจจัย" ของ "คนดี" อย่างแท้จริงเลย ด้วยดังนี้ ถ้าต้องการ "คนดี" นี้ ให้อยู่กับเรา อยู่กับสังคมอย่างเรา ก็จึงต้องการใส่บาตร และถืออีกอย่างก็คือ จึงต้องหา "ผ้าปิดกาย" อันคือ เครื่องนุ่งห่ม ธรรมดาๆ ให้แก่ท่านด้วย ถ้าเห็นว่า ท่านขาดเหลือลงบ้าง แต่ไม่จำเป็น ต้องนำไป ประเดประดัง ให้ท่านเกินพอ ให้เครื่องนุ่งห่มแก่ท่าน เป็นครั้งคราวแล้ว นานชั่วเวลาอันควร จึงจะให้ท่านอีก เรื่องเครื่องนุ่งห่มนี้ ถ้า "คนดี" ท่านอยู่ของท่าน แต่ลำพังจริงๆ  ท่านก็ไม่ต้อง ลำบากอะไร ท่านอาจจะไม่ต้อง ใช้นุ่งห่มเลยก็ได้ แต่ถ้าเราต้องการ จะให้ท่านอยู่ ในที่ใกล้กับเรา หรือ จะให้ท่านพำนักอยู่ ในสังคมของเรา เราก็ต้องหาให้ท่านคลุมกาย  เพราะถ้าท่าน ไม่คลุมกาย ก็ "คน" เองนั่นแหละ จะลำบากใจ เพราะจะทนเห็นท่าน เปลือยกายไม่ได้แน่ และ เรื่องของ ที่อยู่ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน เราก็ต้องจัด ให้ท่านนิดหน่อย ท่านจะได้มีที่อยู่ ที่แน่นอน เพื่อเรา จะได้ ไปหาท่าน ไปเล่าเรียนศึกษากับท่านได้ถูกที่ ไม่ใช่จะไปหาท่าน ก็ไม่รู้ว่า ท่านจะไปอยู่ที่ไหน เพราะถ้า ไม่จัดหา ที่ทางให้ท่านอยู่ เป็นหลักแหล่งบ้าง ท่านก็ต้องไปหาที่อยู่ อันพอสบาย ของท่านเอง ซึ่งเป็นของแน่ว่า อาจจะต้อง เปลี่ยนที่ไปตามฤดู ตามกาล หรือตามเรื่องของท่านได้ และถ้าท่าน ไม่สบาย ป่วยไข้ มีเชื้อโรค เข้าไปบังเบียด ร่างกายของท่าน เราก็หายา ไปรักษาท่าน ให้ท่านไม่ตาย จะได้อยู่สอนคน ให้เป็น "คนดี" ได้

ความสำคัญแท้จริง ก็มีอยู่เท่านี้ จะมีสิ่งอื่นอีกบ้าง ที่เรียกว่า "บริขาร" ก็คือเครื่องใช้ประกอบ ที่สำคัญยิ่ง จำเป็นแท้ๆ เท่านั้น "คนดี" จริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร มากไปกว่านี้ ท่านจะอยู่อย่างมี "ชีวิต" แท้ อยู่อย่าง บริสุทธิ์ ผุดผ่อง อยู่อย่างไม่มีความเดือดร้อน อันใดเลย  อยู่อย่าง เป็นมประโยชน์ แก่คน แก่โลก ถ้าคน และโลก ต้องการ "ความดี" ดังที่มีอยู่ในตัวของ "คนดี" ผู้นี้ ดังนั้น การที่ "คน" หาอะไร อันมากเรื่องกว่า ปัจจัย ๕ และ "บริขาร" ที่จำเป็นจริงๆ ไปประเดประดังให้ "พระ" จึงเท่ากับ ผู้นั้นกระทำผิดใน "พุทธศาสนา" คือเท่ากับ ช่วยฉุด "พระ" ให้หลงอยู่ในสมบัติ ที่เป็นของเก๊ ของปลอมเท่ากับเอา "อกุศล" ไปบรรจุ ไปยัดเยียดให้ "พระ" เพราะ "พระ" คือผู้จะลด จะละเว้นห่างไกล ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ "อาหาร" แท้ๆ แม้ปัจจัย ๔ ก็ต้องใช้อย่างพิจารณา อยู่ทุกขณะจิตอยู่แล้ว นั่นคือ "คน" ต้องระวัง อย่าทำ "บาป" ทำ "อกุศล" ลงไป โดยไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้น "คน" ผู้ใดก็ตาม ถ้าจะลดการ "เสพ" รูปสวย รสอร่อย เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสนุ่มนิ่ม อันใดลงไปก็ดี ก็คงจะต้อง ลำบากแก่ใจ เป็นแน่ จึงจะต้อง "ฝืนทน" ถ้าใครลดการ "เสพ" ลงไปได้ มากเท่าใด "คน" ผู้นั้นก็จะยิ่งมี "สมบัติ" เหลือมากเท่านั้น เพราะการ "จับจ่าย" จะน้อยลงๆ ยิ่งลดลงหมด ได้ไม่ "เสพ" เลย คนผู้นั้น ก็คงจะเหลือ "สมบัติ" ที่ไม่ได้จับจ่ายมาก เท่าที่จำนวนตนเองมีทันที "สมบัติ" ที่เหลือ เหล่านั้นแล คือ "บุญ" คือ "กุศล" คือ "บารมี" คือ "ความดี" ที่แท้จริง ยิ่งเมื่อ คนผู้นี้ ได้กลายเป็น "คนดี" อย่างแท้แล้ว "สมบัติ"ต่างๆ ที่"คน" ผู้นี้ได้สะสม ได้เพียรหาไว้นั้น มันก็จะตกเป็นสมบัติ ของคนอื่น ของโลก ไปในทันที ประโยชน์อันจะเกิดแก่ บุคคลอื่น ก็จะมีผลพลอยได้จาก "สมบัติ" นี้เอง จึงเรียกว่า "คนดี"นั้น ย่อมเป็นประโยชน์ถ้วนทั่ว เพราะ "คนดี" มีแต่ "ทำ" แต่ไม่มีการ "เสพ" เป็นผู้คง "ความดี"  เพื่อให้ เป็นผู้มี "บุญ" เพื่อให้ เป็นผู้มี "กุศล" เพื่อให้

ตราบใด ที่ยังไม่ตาย ก็จะยังเป็นตัวอย่างอันดี เป็นผู้ทรงไว้ซึ่ง "ความดี" ให้คนรู้ คนเห็น คนปฏิบัติตาม ก็ได้ชื่อว่า ท่านยังประโยชน์แก่โลก แก่คนแล้ว ยิ่งถ้าท่านได้สอน ได้บอก ได้อธิบาย ได้กล่าวแจ้ง แก่คนทั่วไปด้วย ก็ยิ่งแสดงว่า ท่านได้ลงทุน ลงแรงไปยิ่งกว่า ดังนั้น "สมบัติ" อัน "สัจธรรม" จะต้องจัด ให้ท่านนั้น ก็จะต้องถูกประเมินเป็นค่า เป็นราคาขึ้นมาอีกเช่นกัน เป็น"ความดี" เป็น"บุญ" เป็น"กุศล" แต่กระนั้น ก็ดี ท่านผู้นี้ จะไม่ต้องการ "สมบัติ"ใดๆอีกแล้ว "สมบัติ" ที่มันจะต้องเกิดจริง เป็นไปจริง ดังได้อธิบาย มาแต่ต้นนี้ จะตกเป็นของใครล่ะ ถ้าไม่ใช่ของ "คน" ที่อยู่ในโลกนี้ อื่นๆ ทั่วไป ที่ไม่ใช่ ตัวท่านเลย

ท่านผู้เป็นอยู่ดังนี้แล  จึงได้ชื่อ "คนดี" แท้ๆ และเป็นผู้รู้จัก "ความดี" ที่ถูกต้องแท้จริง อย่างไม่ผิดเพี้ยน และ เป็นผู้มีคุณแก่โลก โดยแท้จริง

สรุปได้ว่า "ความดี" แท้ๆ นั้นก็คือ การฝืนทน หรือ การทนทุกข์ สู้ทุกข์ในโลก อันสายตาของ "คน" ธรรมดาๆ ที่เห็นเป็นการฝืนทน เห็นเป็น "ทุกข์" นี่แหละ แต่โดยแท้จริง ก็ไม่ใช่ "ทนทุกข์" ที่จริงเป็นระเบียบ แบบแผน เป็นทางเดิน ที่จะบุกบั่น มุ่งมั่นไปสู่ "ความดี" เหมือนเด็กเกิดมา ต้องมีหน้าที่ ไปโรงเรียน ทำการบ้าน แม้จะรู้สึกยาก จะรู้สึกลำบาก รู้สึกจะต้องทนอย่างไร ก็ต้องพยายาม ซึ่งเด็กเขา ก็จะรู้สึกว่า เขาต้อง "ฝืนทน" ต้องแบกภาระนั้น เช่นกัน จึงต้องเรียก อาการนี้ว่า  ฝืนทน หรือบำเพ็ญเพียร มานะ บากบั่น ให้มากๆเท่าใด เราก็จะได้ "ความดี" มากเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เราต้องอดทนฝืนใจ เราอดทน ไม่เสพสุขทางโลก ให้ได้มากเท่าใด นั่นแหละ เป็น "ความดี" เป็น "บุญ" เป็น "กุศล" มากขึ้นเท่านั้น หรืออดทน ฝืนข่มตัวเอง ให้ตนเองสมใจ ในสมบัติทางโลก น้อยลงเท่าใด นั่นคือ ได้ "ความดี" หรือได้ "บุญ" ได้ "กุศล" มากขึ้นเท่านั้น

"ความดี" จึงคือ การไม่เสพสมบัติทางโลก ทั้ง รูปสมบัติ และอรูปสมบัติ นั่นคือ ต้องบริจาคลาภ ไม่ก่อยศ ไม่สร้างสรรเสริญ ให้เกิดกับใจตน ในทุกทาง และไม่หลง "เสพสุข" อย่างที่ประกอบไปด้วย รูป-รส-กลิ่น-เสียง - สัมผัส หรือคือ ต้องพยายาม "ทนทุกข์" เพราะหัดอด หัดทน ไม่หลงในรูป-รส-กลิ่น-เสียง - สัมผัส ให้ได้.

http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Book/prakaidham/pk01.html

คำสำคัญ (Tags): #ความดี
หมายเลขบันทึก: 204714เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นข้อความที่ดีมากๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท