ระลึกถึงพี่


พี่วรากร เป็นผู้ตั้งชื่อสกุล วราอัศวปติ

 

 

        ในเดือนสิงหาคมมีสิ่งที่ต้องให้ระลึกถึงหลาย ๆ อย่าง นอกเหนือไปจากจากเป็นเดือนที่มี วันคล้ายวันเกิดของคุณแม่ และ คุณลูก ๆ หลายคนแล้ว ยังมีวันที่ผมระลึกถึงพี่ชายคนหนึ่งที่จากพวกเราไปนานพอสมควรแล้ว  เป็นพี่ชายที่มีความสำคัญต่อพวกเราสกุล วราอัศวปติ อย่างยิ่ง ที่หลาย ๆ คนที่ใช้นามสกุลนี้อยู่ในขณะนี้ ที่เป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน อาจจะยังไม่ทราบว่า ผู้ที่ดำเนินการจนได้มาซึ่งชื่อสกุล วราอัศวปติ นี้คือ คุณพี่วรากร วราอัศวปติ ที่ได้จากพวกเราไปด้วยวัยที่กำลังทำงานในฐานะ ผู้ช่วยอธิการบดี มศว. มหาสารคาม ซึ่งปัจจุบันก็คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั่นเอง  ดังนั้นคน มมส. รุ่นที่ใกล้จะเษียณหรือเกษียณไปแล้ว ก็จะคุ้นเคยกับชื่อสกุลนี้ เพราะมีคนนามสกุลนี้ทำงานที่ มมส. มาแล้วหลายคนจนถึงปัจจุบัน 

    16 สิงหาคม คือวันที่คุณพี่จากพวกเราไป ดังนั้นผมจึงจะไปเคารพกระดูกของพี่ ที่ครอบครัวได้บรรจุไว้ที่กำแพงวัดแห่งหนึ่งในเมืองมหาสารคาม ในวันนี้ทุกปีตั้งแต่ผมได้มาทำงานที่ มมส. ยกเว้นมีเหตุจำเป็นอื่น ผมก็จะไปในโอกาสแรกที่สะดวกภายในเดือนสิงหาคม  สำหรับปีนี้มีเหตุให้ต้องเลื่อนมาจนถึงวันที่ 25

    พี่คนนี้นอกจากจะ เป็นผู้ตั้งชื่อสกุล วราอัศวปติ แล้วยังมีความสำคัญต่อน้อง ๆ โดยเฉพาะผมอย่างมาก เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ของเราเป็นคนจีน มีอาชีพค้าขาย มีบุตรหลายคน ต้องช่วยกันทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงไม่สนับสนุนให้ลูกเรียนหนังสือสูง เพราะเกรงจะไม่สามารถหาเงินส่งให้เรียนได้พอ แต่พี่คนนี้ซึ่งเป็นบุตรคนที่สามของพ่อแม่  เป็นคนที่เรียนเก่งสอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียน เป็นคนแรกที่ได้เรียนต่อหลังจากจบชั้นมัธยมแล้ว เพราะสอบเข้าเรียนต่อได้ที่หนึ่งและได้รับทุนเรียนฟรีจากวิทยาลัยครูอีกด้วย ครูที่โรงเรียนต้องมาอธิบายเพื่อโน้มน้าวให้คุณพ่อยอมให้เรียนต่อจึงสำเร็จ และที่คุณพ่อยอมให้ผมเรียนต่อชั้น ม. 7-8 หรือที่เรียกว่าชั้น เตรียมอุดมศึกษาเป็นคนที่สอง ก็เพราะคุณพี่คนนี้เป็นผู้สนับสนุน และรับปากกับคุณพ่อว่าจะช่วยส่งน้องเรียนอีกแรงหนึ่งด้วยถ้าผมสามารถสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้  เมื่อผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ด้วยความช่วยเหลือของพี่ชายคนโตและคนที่สองที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพ่อแม่ทำมาหากินทำให้ฐานะของครอบครัวสามารถส่งน้อง ๆ คนต่อ ๆ มาเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้กันทุกคน  แต่ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างของพี่วรากร ในการช่วยเหลือสนับสนุนให้น้องได้เรียนต่อกัน  จึงเป็นสิ่งที่พี่ ๆ จะถือปฏิบัติต่อน้อง ๆ ต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติสำหรับครอบครัวของเรา เพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ สำหรับผมอาจจะถือว่าโชคดีที่เมื่อเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ได้สองปี ก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญาเอกที่ต่างประเทศโดยได้รับเงินเดือนเต็มด้วย จึงได้ให้น้องได้ใช้เงินเดือนที่ได้รับ เพื่อการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยตลอดสามปีที่ผมไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เพราะผมเองใช้จ่ายเงินจากทุนที่ได้รับก็เพียงพอแล้ว

หมายเลขบันทึก: 204457เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2022 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

มาร่วมระลึกถึงพี่ชายท่านอาจารย์ด้วยคนค่ะ

  • ขอบคุณ คุณแก้ว และ นุ้ย ที่แวะมาร่วมระลึกถึงพี่วรากรด้วย และต้องขออภัยที่ไม่ได้ตอบเมื่อสองปีก่อน....อิอิ 
  • ปีนี้ใกล้จะเวียนมาถึง ๑๖ สิงหาคม อีกครั้ง จึงเปิดดูบันทึนี้เพื่อระลึกถึงคุณพี่อีกครับ
  • เรื่องของนามสกุล "วราอัศวปติ" นี้ ตอนไปทำบุญที่วัดหนึ่ง นานมาแล้ว หลวงพ่อเห็นนามสกุล ก็ถามว่า "เป็นนามสกุลพระราชทาน" ใช่ไหม ? ผมเองก็งงว่า ทำไมหลวงพ่อถามเช่นนั้น ก็ตอบหลวงพ่อไปว่า ไม่ใช่ครับ 
  •  พี่วรากรเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนไปขอเปลี่ยนนามสกุลที่ ที่ว่าการอำเภอหรือศาลากลางจังหวัด (ในสมัยนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เหมือนในปัจจุบัน) เจ้าหน้าที่ก็ใช้วิธีเปิดดูจากเอกสารที่มีอยู่ (เข้าใจว่าเป็นทะเบียนบ้าน) บวกกับความจำ(ประสบการณ์)ของตนเอง เพื่อที่จะไม่ให้เกิด นามสกุลตั้งใหม่ ไปซ้ำกับนามสกุลที่มีอยู่เดิมแล้ว พี่เล่าให้ฟังว่า เตรียมคิดชื่อนามสกุลไปหลายชื่อ เช่น อัศวรักษ์ วรารักษ์ อัศวปติ....แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า น่าซ้ำกับนามสกุลเก่าที่มีอยู่แล้ว ในที่สุดจึงมาตกลงที่ "วราอัศวปติ" เพื่อส่งไปขอตรวจสอบจากที่ส่วนกลาง(เข้าใจว่าคือที่กระทรวง กรุงเทพฯ) และก็ได้จริง ๆ ตามที่ขอไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท