40. ตะลุยแดนภารตะโดยรถไฟ


โลกคือละครผ่านการเดินทางโดยรถไฟ

เดินทางโดยรถไฟในแดนภารตะ

 

            ดิฉันเคยนั่งรถไฟฟ้าจากชานเมืองมุมไบเข้าไปในเมืองสุดทางที่สถานีรถไฟอันสวยหรูที่สุดคือสถานีรถไฟวิกทอเรีย สถานีต้นทางเป็นสถานีใต้ดินที่กว้างมาก เดินลงไปลึก หลายชั้น และมีหลายชานชาลามาก สถานีรถไฟใต้ดินที่นั่นไม่ได้แต่งเติมประดับประดาอะไร ไม่มีร้านค้าด้านล่าง แต่มีร้านค้าอยู่ที่พื้นชั้นบน พวกเราไม่รู้ว่าชานชาลาที่จะต้องไปขึ้นอยู่ที่ไหน จึงถามผู้โดยสารที่ต่างเดินๆ ไปว่าชานชาลาหมายเลขนี้อยู่ที่ไหนก็ได้รับความช่วยเหลือบอกทางให้ รถไฟมาไม่แน่นมากเพราะเป็นเวลากลางวัน ด้วยความที่เราไม่คุ้นทาง ไม่รู้เลยว่าสถานีที่ผ่านไปชื่ออะไร (แม้ว่าทุกสถานีจะมีป้ายชื่อบอก แต่เราจำไม่ได้หรอก) ก็ใช้วิธีนับสถานีว่ากว่าจะถึงปลายทางต้องผ่านกี่สถานี (เกรงว่าขากลับจะลงไม่ถูก) ดิฉันรู้สึกสนุกกับการนั่งรถไฟฟ้าอินเดียเพราะเบาะที่นั่งกว้างมาก รถไฟที่อินเดียกว้างกว่ารถไฟบ้านเราเกือบเท่าตัว เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าจึงไม่มีเสียงหนวกหูเหมือนรถไฟบ้านเรา

            ตอนขากลับ เรากลับจากสถานีต้นทางเริ่มมืดแล้ว ตอนจะไปขึ้นรถไฟก็ถามจากผู้โดยสารว่าจะไปสถานีนี้ ตู้นี้ไปขึ้นที่ไหน มีผู้หวังดีชี้ให้ เรารีบวิ่งไปขึ้น (รถไฟชานเมืองไม่มีประตูนะคะ) เราไปถึงก็ถามคนที่นั่งอยู่ก่อนว่าคันนี้ไปที่ที่เราจะไปใช่ไหม เขาบอกไม่ใช่ เราต้องรีบเผ่นลงมาเพราะรถไฟออกพอดี ต้องไปถามอีกคน เขาบอกให้ สุดท้ายคิดว่าใช่แน่เราก็นั่งไป ช่วงเย็นที่คนเลิกงาน ผู้โดยสารแน่นมากๆ ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรถไฟอินเดียต้องทำตู้ใหญ่ๆ เพราะทุกที่ที่มีที่ว่างจะมีคนเบียดเสียดขึ้นมายืนแน่นหมด เราผูกไมตรีกับผู้โดยสารข้างๆ ว่าเราจะไปลงที่สถานีชื่อนี้ ช่วยบอกเราก่อนถึงล่วงหน้าด้วย เราจะได้เตรียมตัวลง ชาวอินเดียจะมีความเป็นมิตร เขาช่วยเหลือชาวต่างชาติหากเราถาม

พวกเราเคยคิดจะขึ้นรถไฟเข้าเมืองมุมไบวันแรกที่มาถึงในตอนเช้า  ออกจากโรงแรมมาเพื่อหาที่ซื้อตั๋ว หาอยู่ตั้งนานเพราะอาคารที่ขายตั๋วคล้ายกับกระท่อม (เพียงแต่หลังคาไม่ได้มุงจากเท่านั้น)แต่เป็นที่สังเกตว่าคนเข้าแถวยาว เราจึงเดินเข้าไปดู ซื้อตั๋วเดินไปขึ้นสะพาน เก้ๆ กังๆ สักพักเราเดินเข้าไปถามชายคนหนึ่งเป็นมุสลิมด้วยความลังเลที่เห็นรถไฟที่แล่นมาแน่นขนัด ไม่ทราบว่าเราจะเบียดขึ้นไปได้อย่างไร  เราถามเขาว่าเราจะไปที่แห่งหนึ่ง ขึ้นรถไฟขบวนไหน เขาบอกช่วงนี้เป็นช่วงเร่งด่วน คงไม่สะดวกที่พวกเราจะเดินทางโดยรถไฟ พวกคุณไปขึ้นรถเมล์ดีกว่า เขาบอกทางให้ พวกเราขอบคุณเขาและสุดท้ายก็หารถเมล์นั่งเข้าเมืองไปได้สบายกว่าที่จะไปเบียดคนเพราะได้นั่งต้นทาง

ดิฉันไปกัลกัตตาล่าสุดในช่วงเวลาสั้นๆ เรียกว่าทางผ่านมากกว่าเพราะดิฉันจะไปพุทธคยาโดยนั่งรถไฟไปเองในตอนกลางคืน การซื้อตั๋วรถไฟสามารถซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตได้ รถจะออกเวลา 22.00น. เพื่อนดิฉันมาส่งดิฉันที่สถานี คนเยอะมาก เพื่อนไปถามๆ ว่าจะต้องขึ้นรถที่ไหน ปรากฎว่าชานชาลาอยู่ใกล้ตรงที่เราจอดรถ พวกเราไปชะเง้อคอยรถอยู่นาน ถามๆ คนแถวนั้น AC 1 (ปรับอากาศชั้น 1) จะจอดประมาณไหน เราจะได้ยืนให้ใกล้เคียงมากที่สุด ดิฉันเห็นผู้โดยสารที่จะขึ้นชั้น 3 วิ่งกันตุ้บตั้บๆ เข้าแถวยาวเหยียด คนอินเดียมีวัฒนธรรมการเข้าคิวเวลาขึ้นรถไฟ (ที่ต้องรอรถ) หรือรถเมล์ ปรากฎว่าชะเง้อจนเหนื่อยเพราะรถไฟมาช้าเกือบหนึ่งชั่วโมง ง่วงจนหายง่วง สงสารเพื่อนมาก เพื่อนพาดิฉันขึ้นไปส่งบนรถที่มีผ้าม่านกั้นเป็นล็อกๆ สำหรับตู้นอน เมื่อหาเจอแล้วร่ำลากันและขอบคุณ รถไฟออกเมื่อไรดิฉันไม่รู้สึกเลยเพราะวิ่งเงียบมาก ตู้นอนที่ดิฉันใช้บริการเป็นเบาะที่วางขวางตู้เป็นเตียงสองชั้น รวมทั้งหมดสี่เตียง กว้างและยาวกว่าของไทย ความสูงของตู้บนก็ห่างมากพอที่คนข้างล่างจะนั่งคุยกันได้สบายๆ ส่วนที่เหลืออีกด้านจะเป็นเตียงสองชั้นวางไว้ตามยาวของทางเดินจะเป็นเพียงเตียงคู่เพราะที่เหลือน้อย 

       คนตรวจตั๋วมาตรวจ หากเป็นต่างชาติเขาขอดูพาสปอร์ตด้วย พนักงานนำผ้าห่ม หมอน ผ้ารองใต้ผ้าห่มและผ้าคลุมเตียงมาให้ ทุกอย่างเป็นสีขาวที่ซักรีดสะอาด ยกเว้นผ้าห่มที่เป็นสีมืดๆ ต้องใช้ผ้าขาวปูรองใต้ผ้าห่ม (เหมือนโรงแรม) ดิฉันบอกเจ้าหน้าที่ว่าช่วยมาเรียกเมื่อถึงพุทธคยาด้วย เดิมคาดว่าจะถึงตอน 06.00 น. แต่รถช้าไป 1 ชั่วโมงก็จะถึงช้าไปอีก ปรากฎว่าเพื่อนผู้โดยสารในย่านเดียวกับดิฉันลงที่คยาหมด มีเพื่อนจึงรู้สึกโล่ง ก่อนนอน มีชายชาวออสซีนอนเตียงบน เขาลงมาเอาโซ่เล็กๆ คล้องกระเป๋าทั้งหมดเข้ากับขาเตียงชั้นล่าง เอกสารสำคัญแกใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง แล้วปีนกลับขึ้นไปนอน  ดิฉันไปเข้าห้องน้ำ และแปรงฟันก่อน กลับมาปูที่นอนคร่าวๆ ในย่านที่ดิฉันนอนมีดิฉันเป็นผู้หญิงคนเดียว ผ้าม่านปิดหมดเพราะบังแสง ไม่มีอันตรายหรือน่ากลัวสำหรับการที่ผู้หญิงจะเดินทางคนเดียว เพราะเราไม่ได้ไปในที่เปลี่ยว ดิฉันหลับบ้างตื่นบ้างเพราะการที่ไม่ปูที่นอน เพียงแต่เอาผ้ารองผ้าห่มเท่านั้น จึงทำให้รู้สึกถึงกลิ่นไม่สะอาดที่เบาะ แต่ก็หลับๆ ตื่นๆ บ้างเพราะดิฉันก็ซักแห้งตั้งแต่ลงเครื่องบินในตอนบ่ายสองของวันนั้น  การที่รถไฟแล่นนิ่มมากทำให้ดิฉันหลับได้มากกว่าการเดินทางโดยรถไฟที่เมืองไทยซึ่งไม่เคยหลับเลยเพราะเสียงดังมากและแล่นไม่นิ่ม การรถไฟไทยควรไปดูต้นแบบจากอินเดียเพราะเขาสร้างเอง พัฒนาเทคโนโลยีเอง แม้ว่ารถไฟอินเดีย (โดยทั่วไป) ดูภายนอกก็งั้นๆ ดูภายในก็งั้นๆ แต่เวลาแล่นแอร์เย็นและเงียบ ความสะอาดพอรับได้ มีบริการอาหาร ชา กาแฟเมือนบ้านเรา พอใกล้ถึงสถานี เจ้าหน้าที่เดินมาบอกและเก็บเตียง ดิฉันก็เตรียมตัวลง

ดิฉันเดินผ่านตัวสถานีเข้าไปด้านใน เห็นวัวเดินมาหาอาหารกินที่ขยะในตัวสถานี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันดีมาก

สถานีคยาจะได้รับการพัฒนาให้ดูดีกว่านี้ในอนาคตเพราะเป็นสถานีสำคัญที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะนี้สภาพยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก

ขากลับ ดิฉันต้องเดินทางกลางคืนอีกเช่นกัน เมืองคยาในยามค่ำคืนค่อนข้างมืด ไม่มีแสงสี ผู้คนอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นย่านชาวมุสลิมที่เป็นร้านค้า ร้านขายอาหารใกล้ๆ สถานีรถไฟคนยังพลุกพล่าน พอรถไปถึงสถานี โอ้โห! แทบไม่เชื่อสายตาว่าผู้คนทั้งนอน ทั้งนั่ง แผ่เต็มพื้นที่ด้านนอกตัวอาคารเต็มไปหมด ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เพื่อนไปเช็คให้ว่ารถจะมากี่โมง ทราบว่ารถจะมาช้าประมาณครึ่งชั่วโมง  เพื่อนๆ หายไปสักพักบอกว่าหาห้องให้ดิฉันนั่งพักได้แล้ว เราก็ขนกระเป๋าเข้าไปเจอคนนอนเต็มสถานีอีกเช่นกัน เราก็ข้ามๆ ผ่านคนนอนไปที่ห้องๆ หนึ่งของสถานีซึ่งเพิ่งปรับปรุงดูทันสมัยสุด มีเจ้าหน้าที่หนุ่มอยู่หนึ่งคนเฝ้าห้องอยู่ เขามีอัธยาศัยมาก คอยโทร. เช็คว่าขณะนี้รถไฟถึงไหนแล้ว ในสถานีไม่มีม้านั่งให้นั่งรอ พื้นค่ะใช้ทั้งนั่งและนอน

      ชาวอินเดียในคยาหรือที่อื่นๆ ของรัฐพิหารได้ชื่อว่ายากจนมาก การที่คนมานอนกันอย่างสบายๆ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เพราะเขาต้องมารอขึ้นรถไฟที่จะมาถึงดึกๆ ชาวบ้านไม่มีรถออกจากหมู่บ้านจึงต้องรีบออกมาจากบ้านเพื่อมารอที่สถานี ไม่มีใครขโมยของใครเพราะต่างก็จนเหมือนๆ กัน เขานอนหลับสนิท ไม่มีใครลุกขึ้นมาตบยุง บ้างก็หนุนกระเป๋าสัมภาระแทนหมอน ส่วนใหญ่ก็มีผ้าปูนอน อากาศวันนั้นก็ร้อนอบอ้าวมาก ดิฉันเห็นแล้วรู้สึกสะท้อนใจ เกิดมาดิฉันเพิ่งเคยเห็นที่นี่เป็นครั้งแรก ห้องที่ดิฉันนั่งรอตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ใหม่เอี่ยมซึ่งตรงข้ามกับสภาพที่ชาวบ้านนอนรออยู่ภายนอกห้องนี้มาก  หลายๆ คนพูดให้ฟังว่าชาวบ้านเขาพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ เขายอมรับโชคชะตาของเขา ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาคงทุกข์เพราะความยากจนจริงๆ แล้วเขาคงไม่ทุกข์เลยก็ได้ ดิฉันเห็นวัวตัวเดิมเดินเข้ามาหาอาหารกินจากถังขยะใบเดิมที่ดิฉันเห็นวันแรก วัวจะไม่เดินเหยียบคนที่นอน และเขาจะทำอะไรเป็นเวลา ดิฉันไม่ตำหนิชาวบ้านว่าเขาจะมีปรัชญาชีวิตที่ยอมจำนนต่อความยากจนเช่นนี้ ดิฉันตำหนินักการเมืองที่ต้องรับใช้ดูแลประชาชน ทำไมจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้คนมีชีวิตแบบนี้ ทำไมปล่อยให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านรอบๆ พุทธคยาซึ่งมีนักท่องเที่ยวมามากมายถึงได้ดูทรุดโทรมเหมือนครั้งสมัยพุทธกาล (คาดเดาว่าเป็นอย่างนั้น)

      หากดูเรื่องการอนุรักษ์ ชนบทอินเดียยังรักษาไว้ได้ดี แต่ควรเป็นการอนุรักษ์เชิงบวกที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ไม่ใช่เคยเป็นมาอย่างไรก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น ดิฉันดูแล้วหดหู่ใจ แต่ในขณะเดียวกันสภาพของผู้คนที่พบเห็นให้ข้อคิดเตือนใจถึงสัจธรรมของชีวิต ทำให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่าแม้เขาจะจนแต่เขาก็อาจจะมีความสุขตามอัตภาพของเขา สิ่งที่เราเห็นอาจจะมองในมุมมองของเราเองก็ได้

      อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปท่องเที่ยวในอินเดียโดยรถไฟเป็นสิ่งที่ทำได้สะดวก ปลอดภัยราคาประหยัด และสนุกสนาน ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลายมีชีวิตชีวามาก นอกจากนี้ยังได้ชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางไปด้วย  คุ้มมากค่ะ

--------------------------------------

หากท่านคิดว่าจะเป็นผู้หนึ่งที่จะช่วยประเทศชาติในการบุกเบิกตลาดอินเดียเพื่อร่วมมือในด้านการค้า การบริการ ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการแล้ว หากท่านยังขาดอาวุธ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวัฒนธรรมและการพัฒนา วิชาเอกอินเดียศึกษา จะเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคมนี้ ขอเชิญท่านเข้าชมรายละเอียดที่ www.lc.mahidol.ac.th หรือโทร. 02-800-2323, 02-800-2308-14 ต่อ 3101 เพื่อที่จะช่วยท่านติดอาวุธทางปัญญาสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

 

           

           

คำสำคัญ (Tags): #รถไฟอินเดีย
หมายเลขบันทึก: 204315เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์โสภนา

ผมเองก็มีประสบการณ์เดินทางโดยรถไฟเมื่อเร็วๆ นี้ ไปที่เมือง Rudrapur ไปร่วมพิธีเปิดโรงงานของเดลต้า กำลังจะเขียนเล่าเหมือนกัน

เข้าใจเรื่องที่เล่าดีครับ และเป็นอีกหนึ่งอย่างที่คนไทยจะต้องเปิดใจให้มากๆ เพราะสภาพไม่เหมือนกับที่เมืองไทยแน่นอน หากใช้มาตรฐานของเราไปตัดสินก็อาจจะไม่เข้าใจเขาและมีอคติไปเลย

สิ่งที่สำคัญที่คนไทยควรมองดูอินเดียคือทำอย่างไรจึงจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นร่วมกัน

โดยเฉพาะในเรื่องการค้าขายในทุกระดับ

เรียน ท่านพลเดช ที่เคารพ

      ดิฉันชอบนะคะกับการนั่งรถไฟไปในครั้งนี้ ใช่ค่ะ ทำอย่างไรจะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับอินเดียจากที่เขามีและจากที่เรามีให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนะคะ

รศ.ดร.โสภนา ศรีจำปา

เคยเรียนวิชา Cross-Cultural Communication กับอาจารย์เมื่อหลายปีที่แล้ว ตอนนั้นได้ความรู้เรื่องเวียดนามในด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของผู้คน ตอนเรียนสนุกมากครับ เมื่อได้อ่านบทความนี้ ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศสมัยในห้องเรียนที่เราจะร่วมกันอภิปรายเรื่องวัฒนธรรมจากมุมมองของนักภาษาศาสตร์

และเพราะสถาบันวิจัยภาษาฯ นี่เองที่ทำให้ผมมีความสนใจทางด้านวัฒนธรรม (โดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อน)ตอนนี้ใครที่มีความรู้เชิงสังคมและวัฒนธรรมของประเทศต่างๆมักได้เปรียบ เพราะทุกวันนี้เราต้องรู้เท่าทันนานาอารยประเทศ เพื่อการพ้ฒนาประเทศของเราเองในเวทีโลก ดีใจครับในฐานะศิษย์เก่าของสถาบันวิจัยภาษาฯ ที่สถาบันฯได้มีภาระกิจในการส่งเสริมและเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และอยากอ่านงานเขียนแบบนี้จากอาจารย์อีกครับ

ขอแสดงความนับถือ

สมภพ

เรียน คุณสมภพ

พี่จำคุณได้ค่ะ ตอนนี้ที่สถาบันฯ เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา วิชาเอกอินเดียศึกษา อินเดียเป็นประเทศมหอำนาจหนึ่งในเอเชียที่เราได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนามาช้านาน และกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นๆ ในขณะนี้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรมองข้าม ฝากคุณสมภพช่วยประชาสัมพันธ์หลักสูตรนี้ให้ลูกศิษย์ หรือผู้สนใจทราบด้วยนะคะ

ถ้ามีเวลาก็อยากเขียนประสบการณ์ต่างๆ ที่ไปพบที่อินเดียมาลง blog ให้ต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก จึงขาดหายไปบ่อยๆ ค่ะ แต่ก็เชิญเข้ามาดูบ้างนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท