Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๑)_๒


กระบวนการ “สร้างการเรียนรู้”
         ในกระบวนการทำงานของทีมวิจัย มีการนำความรู้มาขยายผลเพื่อสร้างการเรียนรู้/การมีส่วนร่วมของชุมชน (ภายใต้การกระตุ้น / การสร้างโอกาส ของหัวหน้าโครงการวิจัย) ก่อให้เกิดผลในเชิงของการสร้างการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วม ใน 2 ระดับ ดังนี้
 1.ระดับแกนนำชุมชน (ทีมวิจัย) ซึ่งเป็นแกนนำชุมชนผู้มีความตั้งใจจริงที่จะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัย ซึ่งต้อง มีโจทย์ หรือ คำถามวิจัย ที่ชัดเจน ได้ฝึกทักษะในการรวบรวมข้อมูล หลายรูปแบบ ได้ฝึกฝนการสรุปวิเคราะห์ข้อมูลดิบ เพื่อการใช้ประโยชน์ ได้พัฒนาทักษะการนำเสนอข้อมูล เวทีนำเสนอข้อมูลในระยะแรก หัวหน้าโครงการวิจัยจะเป็นผู้นำเสนอ (ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง) ต่อมา จะให้ทีมวิจัยชาวบ้านเป็นผู้นำเสนอเอง ซึ่งเมื่อได้นำเสนอบ่อยๆ ก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีความมั่นใจมากขึ้น   ที่สำคัญคือ ได้เรียนรู้ทักษะการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ส่งผลให้ แกนนำชุมชน ซึ่งเดิม เป็นผู้นำม็อบ หัวรุนแรง  ใจเย็นลง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น และพยายามสร้างความเข้าใจ และดึงเข้ามาร่วมงาน เห็นว่า การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนช่วยให้งานทุกงานสามารถขับเคลื่อนไปได้ ในขณะเดียวกัน แกนนำชุมชนเหล่านี้  มีข้อมูลในการนำเสนอแนวทางการพัฒนา การจัดการกุดขาคีม ต่อหน่วยงานภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น (อบต.) ที่ชัดเจน (เพราะมีข้อมูล/รู้จริง)
 2.ระดับชุมชน การนำเสนอข้อมูลที่ได้ศึกษารวบรวมมาให้กับชาวบ้าน รวมทั้ง อบต. คณะครูในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้เป็นระยะๆ ได้สร้างความเข้าใจ (สำหรับผู้ที่ยังคลางแคลงใจว่าจะพาไปม็อบ) และสร้างการมีส่วนร่วมออกไปอย่างกว้างขวาง คนกลุ่มนี้ กลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการหาแนวทางในการจัดการกุดขาคีมในเวลาต่อมา และรูปธรรมของ “การมีส่วนร่วม” ก็คือ ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนากุดขาคีมด้านต่างๆ ที่ชัดเจนนั่นเอง

การนำความรู้มาใช้ประโยชน์ (ตามเป้าหมาย)
          ทีมวิจัย และแกนนำชุมชน ได้นำข้อมูลจากการทำงานวิจัยรวมทั้งความรู้ประสบการณ์จากการศึกษาดูงานมากำหนดแนวทาง ในการจัดการการใช้ประโยชน์จากกุดขาคีม โดยองค์กรชุมชน ดังนี้ 1.พัฒนาองค์กรดูแลการจัดการ และการใช้ประโยชน์  โดย ตั้งคณะกรรมการจาก 2 ตำบลมาดูแลร่วมกัน โดยคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้าน และมีการนำกฎระเบียบในการจัดการน้ำ ของชุมชน (ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ) มาบังคับใช้ โดยตั้งคณะกรรมการดูแลการการใช้ประโยชน์ในหมู่บ้านตัวเอง เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน 
 2.การอนุรักษ์ป่า มีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ กลางกุดขาคีม 15 ไร่  พร้อมทั้งจัดกิจกรรม ปลูกป่าริมฝั่งน้ำ เพื่อรักษาตลิ่งไม่ให้พัง โดยให้ชาวบ้านช่วยปลูก ช่วยดูแล
 3.การจัดการแหล่งน้ำ มีการขยายพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาจากเดิมมีเพียง 3 แห่ง เป็น 7 แห่ง (ชาวบ้านมีรายได้จากการหาปลา ปีละประมาณ 600,000 บาท – ปัจจุบันเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มีการสำรวจ คาดว่า ประมาณกว่า ล้านบาท ) 
 4.การสร้างอาชีพ  ชาวบ้านเห็นประโยชน์ในเชิงรายได้จากพื้นที่ทามกุดขาคีม (กิจกรรมเชื่อมโยงกันทั้งการอนุรักษ์ป่า – การอนุรักษ์พันธุ์ปลา) ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำขังใช้ทำนา พื้นที่ริมตลิ่งใช้ปลูกมันแซง เพราะพบข้อมูลว่า มันแซง เป็นพืชธรรมชาติ ที่ขึ้นตามริมตลิ่งทาม ไม่ต้องดูแลมาก แต่ขายได้ราคาดี (ดีกว่าข้าว) กิโลกรัมละ 30 บาท ชาวบ้านจึงกันพื้นที่สำหรับปลูกมันแซงรวมของชุมชน อีกทั้งมีการนำมันแซงไปปลูกในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น นอจากนั้นยังหันกลับมาเลี้ยงวัวตามหัวไร่ปลายนาเพื่อเลี้ยงวัว มีการจัดทำแปลงหญ้า (เป็นผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ โครงการเลี้ยงวัวดอนแรด โครงการวิจัยเด่น ของ สกว.ภาค ซึ่งอยู่ใน อ.รัตนบุรี)
 5.การจัดกิจกรรมสร้างเสริมจิตสำนึก-สร้างแนวร่วมในการอนุรักษ์ ดูและการใช้ประโยชน์จากกุดขาคีมอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมมาใช้ เช่น การสืบชะตาน้ำ การลงแขกทำนา เป็นต้น
6.การประสานงานกับองค์กร / หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนกิจกรรมตามแผนงานของชุมชน

ความร่วมมือและใจแบ่งบัน
         การได้มีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกัน ค้นหาแนวทางในการจัดการกุดขาคีม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาวบ้านเอง ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสได้ทบทวนประสบการณ์ในการจัดการกุดขาคีมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้เห็น “ข้อผิดพลาด” หรือ “ผลกระทบ” อันเกิดจากการพัฒนาโดย ขาดข้อมูลและการคิดอย่างรอบคอบ รวมทั้ง การขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ชัดเจน อาทิ  โครงการขุดคลองส่งน้ำเข้านา โดยกรมชลประทาน ซึ่งเมื่อทำไปแล้วพบว่าไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้จริง เพราะคลองไม่สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่นาของชาวบ้าน  ต้องใช้วิธีสูบน้ำเข้านาด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สิ้นเปลืองน้ำมันมาก ในการสูบน้ำแต่ละครั้งชาวบ้านจะต้องรอให้พร้อมๆ กันหลายๆ เจ้า เพื่อหารค่าน้ำมัน ซึ่งไม่สะดวกในการจัดการ และเมื่อเครื่องสูบน้ำใหญ่เสีย ชาวบ้านต้องรับผิดชอบค่าซ่อมแซ่มเอง เมื่อประสบปัญหาเช่นนี้ ชาวบ้านจึงหันกลับไปใช้วิธีสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กของใครของมัน ท้ายที่สุดโครงการขุดคลองส่งน้ำจึงสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่ การกำจัดสนม ซึ่งเป็นปัญหาของชาวบ้าน กลับไม่มีหน่วยงานได้เข้ามาช่วยจัดการ
         สิ่งเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้าน เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกันจัดการแหล่งน้ำของชุมชนโดยเร็ว และเมื่อทำแล้วมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ มีความมั่นใจในแนวทางที่ดำเนินการอยู่ และเมื่อมีคนภายนอกให้ความสนใจ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เช่น เป็นหนึ่งในสองพื้นที่ดูงานของคณะประชุมมหกรรมเขื่อนโลก นักศึกษาจากออสเตรเลีย เข้ามาศึกษาดูงาน ทำให้ชุมชนมีกำลังใจในการทำงาน มากขึ้น มีความภูมิใจ และมีความพยามยามมากขึ้นที่จะดำเนินการตามแผนงานของของชุมชนให้สำเร็จ

ขยายผลและต่อยอด
  1.แนวทาง 6 ข้อ ได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาของ UNDP 1.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในกุดขาคีม โดยองค์กรชุมชน เป็นระยะเวลา 2 ปี (กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
 2.หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่นให้การยอมรับ และให้การสนับสนุน อาทิ นายอำเภอรัตนบุรี ซึ่งได้ลงมาเยี่ยมพื้นที่ ได้เสนอให้จัดส่งรายชื่อคณะกรรมการดูแลกุดขาคีมให้ทางอำเภอ เพื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
3.อบต. ได้นำแผนพัฒนากุดขาคีม ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูเข้าบรรจุในแผน อบต. พร้อมทั้งให้งบประมาณสนับสนุนให้โรงเรียนจัดกิจกรรมพานักเรียนลงมาเรียนรู้การจัดการกุดขาคีมจากชุมชน เป็นต้น 
         ถึงวันนี้ กระบวนการจัดการความรู้ของของชุมชนรอบกุดขาคีม ยังไม่สิ้นสุด “ข้อมูล” ที่ได้จากการทำงานวิจัย และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น สั่งสมเป็น “องค์ความรู้” ของชุมชน ทั้งในรูปของ “เอกสาร” และ “ภูมิรู้” ที่อยู่ในตัวบุคคล อันเป็นทรัพยากรสำคัญในการนำมาพัฒนาสร้างเสริมองค์กรชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป…

นายรุ่งวิชิต  คำงาม
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทุ่งกุลาร้องไห้   (สกว.สำนักงานภาค)
492 หมู่ 2 ต.เกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด 41510
โทร. (043) 589338

คำสำคัญ (Tags): #km#ท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 20405เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2006 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท