ค่ายศิลปะ เบิกบาน


ระลึกถึง ค่ายศิลปะเบิกบาน คราใด ทำให้หัวใจชุ่มฉ่ำอุรา

ปี 2549-50 ที่ผ่านมา ผู้เขียนโชคดีได้มีโอกาส ออกค่าย ศิลปะ เบิกบาน ร่วมกับคณะทำงานและองค์กรร่วมจัดงาน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเราเข้าใจ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โรงเรียนศิลปะแหลมคม กลุ่ม deo documentary เครือข่ายผู้ติดเชื้อแห่งประเทศไทย กลุ่มดินสอสี ศูนย์ศิลปะการละครเพื่อการพัฒนา โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพชรบุรี หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มข. กลุ่มเพื่อนศรีนครินทร์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้จัดออกค่ายศิลปะ เบิกบาน ขึ้น 3 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็กได้รับความสนุกสนานเบิกบานจากการทำงานศิลปะ ได้ถ่ายทอดจินตนาการออกทางงานศิลปะ ตลอดจนเด็กได้รับการพัฒนาความสามารถด้านศิลปะ

ค่ายศิลปะ เบิกบาน ครั้งที่ 1 จัดที่สัตหีบ มีเด็กมาร่วมออกค่ายประมาณ 90 คน ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเจอกันครั้งแรก เด็ก ๆ ยังไม่คุ้นเคย กันและทีมผู้จัดก็บางส่วนก็ยังไม่คุ้นเคยกันเท่าใดนักการบริหารจัดการทั้งในเด็กและทีมผู้จัดก็อาจต้องใช้เวลาในการประสานงาน ซึ่งศิลปะที่นำมาให้เด็กเรียนรู้หลักๆ ประกอบด้วย การวาดภาพ การทำศิลปะ paper marche การแสดงละครหุ่นจากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยทุกคนจะได้เรียนรู้ทุกกิจกรรมเพื่อค้นหาว่าตนเองชอบกิจกรรมใด บางกิจกรรมที่เด็กไม่ชอบก็อาจมีเนือยๆไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วเด็กก็สนุกสนานได้เจอะเจอเพื่อนใหม่ สนุกสนานกับงานศิลปะ

ค่ายศิลปะ เบิกบาน ครั้งที่ 2 จัดที่ภูมิภาคของตัวเอง ทีมโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จัดที่ อาคารขวัญมอ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้ให้เด็กเลือกทำงานศิลปะที่ตัวเองชอบโดยแบ่งงานศิลปะเป็นกลุ่มใหญ่คือ วาดภาพ ถ่ายรูป และถ่ายหนังสั้น เราเห็นเด็กแต่ละคนทำงานศิลปะที่ตัวเองชอบอย่างมีความสุข เด็กๆ หลายคนถ่ายทอดงานศิลปะที่ตัวเองชอบออกมาได้ดี การบริหารจัดการและจัดกิจกรรมนันทนาการก็สนุกสนานเพิ่มความคุ้นเคยในตัวเด็ก และในทีมผู้จัดเพราะคุ้นเคยร่วมงานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นตลอด 2 วันของการออกค่ายจึงเป็นวันที่สบายๆ และผ่อนคลาย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ค่ายศิลปะ เบิกบาน ครั้งที่ 3 จัดที่ วังเทพ สระบุรี เป็นการรวมเด็กและทีมงานจากทุกภาค แต่ครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งแรกเด็กได้ทำงานร่วมกัน ได้เลือกทำงานศิลปะที่ตัวเองชอบ เด็กแต่ละคนมุ่งมั่นทำงานที่ตัวเองชอบ และวันสุดท้ายมีการแสดงงานศิลปะซึ่งหลักๆประกอบด้วย นิทรรศการภาพวาด ถ่ายภาพ ละคร ดนตรี ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานแต่เมื่อเห็นผลงานศิลปะของเด็ก ทีมผู้จัดหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เด็กๆก็ภาคภูมิใจที่มีผลงวานศิลปะมานำเสนอกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะคืนวันสุดท้ายทีมที่คิดรูปแบบงานจัดทำได้น่าประทับใจยิ่งนัก พร้อมทั้งค่ายนี้มีการร้องเพลง คนล่าฝัน ซึ่งก็เป็นเพลงประจำค่ายครั้งนี้ ซึ่งเพลงนี้ฟังทีไรรู้สึกสร้างขวัญและกำลังใจได้ดีแท้ เอาตัวเอย่างบางตอนมาฝาก

แสงตะวันเพิ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้า มีเวลาให้คนเราอีกมากมาย

พาชีวิตก้าวไปสู่ยังจุดหมาย ถึงเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายก็น่าลอง

มองดูฟ้า ฝูงนกกาเที่ยวหากิน ไปยังถิ่นแดนไกลสุดสายตา

เหมือนย้ำเตือนว่าชีวิตล้วนเกิดมา แสวงหาต่อสู้และดิ้นรน

* โอ้ชีวิตมีอะไรตั้งเยอะแยะ มีเกิดแก่เจ็บตายคล้ายๆ กัน

แต่สิ่งที่มีไม่เหมือนคือความฝัน อยู่ที่ใครจะล่ามันให้อยู่มือ

งานออกค่ายศิลปะ เบิกบานผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่เมื่อใดที่ระลึกถึงค่ายศิลปะ ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาเราก็ยิ้มด้วยความสุข สุขใจที่เห็นเด็กๆมีความสนุกสนาน เบิกบาน สุขใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการทำงานนี้

ส่วนตัวแล้วคิดอยู่เสมอว่าเส้นทางการทำงานกับเด็กติดเชื้อ และผู้ได้รับผลกระทบยังคงทอดยาวให้เราก้าวเดินเพื่อจับมือร่วมกันทำงานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 204032เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2008 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

มาเยี่ยมชมค่ายค่ะ ภาพสวยมากค่ะ

เป็นกิจกรรมที่ดี น่านำไปจัดให้เด็กๆในโรงเรียน

มาเยี่ยมค่ายเบิกบาน น่ารักมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ พี่แก้วที่แวะมาชม

ขอบคุณค่ะพี่เกดที่แวะมาเยี่ยมชม

ขอบคุณค่ะคุณประจักษ์ ที่แวะมาให้กำลังใจ

  • เป็นกิจกรรมที่ดีมากนะคะ
  • น้องๆแต่ละคนเก่งๆทั้งนั้น
  • ศิลปะทำแล้วเบิกบานมีความสุขจริงๆนะคะ

ขอบคุณค่ะ คุณNaree ที่มาแวะชมและให้กำลังใจ

สวัสดีครับ คุณพรนิภา

           หายไปหลายสัปดาห์ คุณคงสบายดีนะครับ ไปทำงานในแดนไกล พอดีผมได้ดูหนังเรื่อง Taare Zameen Par เรื่องในหนัง มีรูปวาดที่เขียนโดย Ishaan Awasthi เด็กชายอายุ 8ขวบ ฝากรูปให้คุณดูก่อน แล้วจะเล่าเรื่องราวของหนังให้อ่าน แต่ถ้าคุณดูแล้ว บอกผมก่อนนะ ไม่อยากปล่อยไก่  ดูรูปไปก่อนครับ

     

 รูปเขียนโดย Ishaan Awasthi เขียนในงานมหกรรมศิลปของโรงเรียน ซึ่งก่อนเขียน  Ishaan  ตื่นแต่เช้าไปนั่งอยู่บริเวณสระน้ำของโรงเรียน ก่อนเข้าไปที่งานมหกรรมฯ (ไม่แนใจว่าเป็นงานอะไร ปาสาอังกิด ไม่ค่อยเข้มแข็ง ถ้าผิดขออภัย) วันนี้สวัสดีครับ...พอดีเจ้านายเรียกใช้

                                                                                 สถิต ศรชัย

 

สวัสดีค่ะ คุณสถิต

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมอีกครั้ง และนำภาพศิลป์มาฝาก ยังไม่ได้ดูทัง้หนังและรูปค่ะ

สวัสดีครับ คุณพรนิภา

         ทำใจสบายๆ คลายเครียดครับ.... ขออนุญาต เล่าต่อหนังเรื่อง Taare Zameen Par อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ  

          Ishaan Awasthi เด็กชายวัย 8 ขวบ โลกของเขาเป็นโลกที่ต้องการความเติมเต็ม ใครบางคนอาจไม่เห็นค่าของมัน ทั้งสีสรร,ปลา,แม้แต่ผืนผ้าที่อยู่บนยอดเรือ มีบ้างใหมที่จะมีคนเข้าใจ เด็กชาย Ishaan Awasthi ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนกับเด็กทั่วๆไป ที่อยู่ในวัยเดียวกัน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่เป็น ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาพื้นเมือง ไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่สนใจการเรียน จนโรงเรียนเรียกผู้ปกครองไปพบขอให้ลาออก มีอยู่ฉากหนึ่งช่วงที่ Ishaan โดนครูไล่ออกไปนอกห้อง Ishaan เดินออกนอกโรงเรียนเข้าไปเดินเล่นในเมือง ปรัชญาของหนังที่สื่อให้คนดูในฉากนี้เยี่ยมมาก Ishaan ได้เห็นการดำเนินชีวิตของคนในเมืองในหลายแบบ ฉากที่เด็กเล็กๆขี่คอพ่อ พ่อซื้อน้ำแข็งกดใส่น้ำหวานส่งให้ลูกที่ขี่คอดูดลูกยิ้มอย่างมีความสุข ทำได้ดีมาก ฉากรถโดยสารสองชั้นวิ่งเลียบริมแม่น้ำเห็นบรรยากาศ ก็ทำได้ดี เด็กชาย Ishaan Awasthi ดูๆไปเหมือนเขาเป็นส่วนเกินที่ดูยุ่งยากสำหรับครอบครัว เขาจึงถูกส่งให้ ไปอยู่โรงเรียนกินนอน หวังว่าเพื่อให้เขาเรียนรู้สามารถดูแลตัวเองได้ เวลา จะเป็นตัวเยียวยาสำหรับเขา แม้ห่างจากครอบครัว แต่ Ishaan ยังเหมือนเดิมยิ่งทำให้เขาเศร้าใจหนักขึ้น เงียบไม่พูด ไม่แสดงออก เรียนไม่รู้เรื่อง จนโรงเรียนจะให้พ่อแม่พาเขาไปอยู่โรงเรียนเด็กปัญญาอ่อน

           Nikumbh เป็นครูที่ช่วยเติมเต็มสำหรับเด็กๆ เขาเข้ามาพอดีโดยครู Nikumbh มองเห็นความสามารถพิเศษของ Ishaan จึงขอจากผู้อำนวยการโรงเรียนว่าจะฝึก Ishaan เอง ฉากนี้ให้ความรู้สึกว่าครูเป็นคนมีเมตตาอย่างแท้จริง รู้ปัญหาของเด็ก อดทนที่จะช่วยเหลือเด็ก หาวิธีสอนจน Ishaan สามารถเขียน และ อ่านได้ ช่วงนี้มีฉากประทับใจ ตอนที่พ่อ Ishaan ผ่านมาจึงมาเยี่ยมลูก พอดีมาพบกับครู Nikumbh ระหว่างคุยกันครูได้ถามพ่อว่าคุณเคยบอกว่ารักลูกบ้างหรือไม่ พ่อจึงลุกออกมาจากห้อง เห็นลูกกำลังยืนอ่อนบอร์ด แต่ลูกไม่เห็น ฉากนี้จับไปที่ความรู้สึกของพ่อที่มีต่อลูก (ฉากนี้ผู้ชมจะรู้สึกไปตามอารมณ์ของผู้ชมเอง แต่ผมดูสีหน้าของพ่อ ว่าสงสารลูกที่ถูกทอดทิ้งไม่ดูแลลูก เขาจึงเดินหนีไปโดยไม่ไม่ทักทายลูก ฉากนี้สะเทือนใจพอควร) การเอาใจใส่ของครูNikumbh ในตัวของ Ishaan Awasthi เขาทำให้โลกสดใส เขาคิด และสร้างจินตนาการ และหาคำตอบสำหรับพวกเขาได้ เขาได้สร้าง ความมุ่งหวังใหม่ ให้แก่เด็ก เขาได้ช่วยให้ Ishaan Awasthi ค้นพบตัวเอง และสร้างความหวังใหม่ให้แก่เขา........มีฉากที่น่าดูอีกหลายฉาก.....

          คงเล่าให้ซาบซึ้งกว่านี้ไม่ได้ อยากให้คุณพรนิภา ดูเอง ....คุณพรนิภา แจ้งที่อยู่ให้ผม ผมจะส่งแผ่น DVD มาให้ครับ สำหรับผมไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆครับ เพียงแต่ปรารถนาจะให้คุณได้ดูหนังที่ดีมาก ทำไมหรือครับ ผมดูจากงานที่คุณทำ ผมว่าคุณเป็นคนที่ต้องมีความกรุณาปราณีต่อเด็กมาก มีความอดทน มีความภูมิใจ ดีใจ ที่ได้เห็นเด็กๆมีความสุข โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เหมือน Nikumbh ....ฉะนั้นผมจึงหวังว่าหนังเรื่องนี้ จะทำให้คุณมีกำลังใจในการทำงานกับเด็กๆ เหล่านี้ต่อไป

                                            ด้วยความปรารถนาดีครับ

                                                     สถิต ศรชัย

สู้ๆ ต่อไปค่ะคุณแจ๋วยังมีเด็กอีกมากมายที่เขารอให้เรา

ยื่นมือไปเพื่อนำพาชีวิตเขาให้สดใสต่อสู้ต่อไปในสังคม

  • โอ้โห
  • เราพลาดบล้อกนี้
  • ได้อย่างไร
  • ชื่นชมมาก ๆ ครับ
  • ภาพสวยจัง
  • เด็ก ๆ ฝีมือดีครับ
  • ขอชื่นชมและให้กำลังใจเด็กครับ

สวัสดีค่ะ คุณธิดารัตน์ เอชื่อนี้ฟังดูคุ้นๆนะคะ พอเห็นสำนวนก็ร้องอ๋อเลย ขอบคุณนะคะป้าป๊ที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ แล้วเมื่อไหร่จะมี blog เป็นของตัวเองละคะ จะได้ไปทักทายบ้าง

สวัสดีค่ะ ครูโย่ง ดีใจค่ะที่ครูโย่งได้มีโอกาสอ่านงานของเรา และแวะมาทักทาย เคยได้มีโอกาสอ่านงานของครูโย่งอยู่เรื่อยๆค่ะ

ขอบคุณที่ชื่นชมความสามารถของเด็กๆ ขอบคุณที่เห็นคุณค่าคนทำงาน และขอบคุณทีแวะมาเยี่ยมให้กำลังใจ

สวัสดีค่ะ คุณสถิต

ได้อ่านเรื่องTaare Zameen Par ที่คุณเล่าให้ฟังน่าสนใจมากค่ะ เด็กๆของเราที่นี่ก็มีบางคนที่มีปัญหาคล้ายกับเจ้าหนูIshaan Awasthi คือความสามารถในการเรียนรู้อาจไม่เท่าเทียมคนอื่นๆ ตลอดจนมีปัญหาการเจ็บป่วย ทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกน้อยเนื้อตำใจ หรือรู้สึกไม่มีคุณค่า บางคนพ่อแม่ยากจน หรือพ่อแม่ไม่มี อยู่กับปู่ย่า ตายาย อาจจะได้รับความรักความเอาใจใส่ไม่เพียงพอ ไม่มีเงิน ไม่มีเวลาดูแลเพียงพอ ก็ต้องเอาเด็กไปฝากเลี้ยงที่บ้านสงเคราะห์ต่างๆ ค่ะ แต่การไปอยู่บ้านสงเคราะห์ อาจตอบสนองได้เพียงทางร่างกายเท่านั้น ความต้องการทางจิตใจอาจได้รับการตอบสนองไม่เต็มที่ ทำให้เด็กบางคนบ่นอยากกลับบ้าน ซึ่งมองจากตรงนี้แล้วทำให้เห็นว่ามนุษย์เราควรได้รับการตอบสนองทั้งทางร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม คือมีการเติมเต็มทุกด้านนั่นเอง และครอบครัวเป็นหน่วยแรกสุดสำคัญสุดที่จะช่วยเติมเต็มสิ่งนี้

แต่ในความโชคร้ายของ เจ้าหนูIshaan Awasthi ก็ยังพอมีความโชคดีอยู่บ้างที่มีครู Nikumbh มาช่วยเติมเต็มความต้องการของเจ้าหนูIshaan Awasthi และดึงเอาศักยภาพออกมา ให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง ให้โลกของเขาสดใส ไม่น่าเบื่อหน่าย ในความเป็นจริงเด็กหลายคนของเราที่เขาเข้าสู่กระบวนการการดูแลรักษาการเสริมสร้างศักยภาพด้านงานศิลปะต่างๆ หลายคน ทำได้ดี มีความภาคภูมิใจในงาน ไมซึมเศร้า สามารถเรียนและใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กทั่วๆไป แต่ก็มีไม่น้อยค่ะที่ทีมเราต้องมาประชุมหาทางร่วมมือกันช่วยเหลือต่อไป เพราะปัญหาของเด็กบางคนก็ซับซ้อน ก็ได้แต่หวังว่าความมุ่งมั่นในการทำงาน ความรัก ความปรารถนาดี ที่ทีมงานจากหลายภาคส่วนร่วมมือกันทำเพื่อเด็กๆ เหล่านี้คงทำให้เด็กๆเหล่านี้มีกำลังใจ เติบโตเป็นเด็กที่มีภูมิต้านทานที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ

พูดมาซะยืดยาว ก็คนมัน "อิน" กับเรื่องเล่าของคุณ และ"อิน"กับงานที่ทำ สุดท้ายเขินจังเลยค่ะอยากได้ DVD นะค่ะ ถ้าไม่รบกวน 123 ถ.มิตรภาพ งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 40002

ขอบคุณที่เอื้อเฟื้อและแบ่งปันสิ่งดีๆค่ะ

สวัสดีคะ ขอบคุณข้อมูลนะคะ ตอนนี้หนูกำลังจัดค่ายศิลปะให้เด็กคะ วันที่ 29 สิงหาคมนี้

ตื่นเต้นมาก

สวัสดีค่ะ คุณ ไม่แสดงตน

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ ขอบคุณที่แวะมาทักทาย ขอให้ประสบความสำเร็จในการจัดค่ายศิลปะนะคะ

ผมเป็นผู้เข้าร่วมค่ายศิลปะ…เบิกบาน วันที่พวกเราได้ไปเข้าค่ายพวกเราจะมีความสุขมากเพราะในค่ายมีเพื่อนๆที่เป็นเหมือนกับเรา พวกเราไม่ต้องปิดบังอะไรกับใครในค่าย ผ่านมาสิบปีผมก็ยังคิดถึงความสนุกที่เกิดขึ้นในค่ายทุกๆค่าย มันเป็นความสุขที่ไม่เคยลืมเลือน ปัจจุบันนี้พวกผมได้โตขึ้นมีลูกมีครอบครัวเป็นของตัวเอง บางคนก็ได้เสียชีวิตเพราะปัญหาต่างๆนานามารุมเร้าต่างคนต่างฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อฝันของตัวเอง ตัวผมเองก็เช่นกันถึงแม้จะมีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกายผมก็ไม่คิดที่จะหยุดฝันของตัวเอง และต้องขอบคุณ HIV ที่ทำให้พวกผมได้มาเจอกัน ได้รู้จักเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน และขอบคุณทางผู้ที่สนับสนุนทุนในการจัดค่ายศิลปะ…เบิกบานของพวกเรา ขอบคุณมากครับขอบคุณจากใจจริง^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท