ครู อุดมการณ์


ครู

วันนี้ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ครู พฤติกรรมและอุดมการณ์เลยเอามาฝากพี่ๆในห้องเรียนบริหารกลุ่มสองบางท่านก็ทราบดีแล้วก็ขออนุญาตทบทวนนะครับผม

ความหมายและอุดมการณ์ของครู

 

            ครูเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในวงการศึกษา เพราะเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และโลก นอกจากนั้นยังเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการสร้างบัณฑิตอย่างมาก บัณฑิตจะมีความคิดที่ดี มีวิธีการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และมีระบบระเบียบในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการพัฒนาบุคลิกภาพเชิงวิชาการ เชิงวิชาชีพ ซึ่งควรได้รับการปลูกฝังอบรมจากครูผู้สอน และบุคลิกภาพของครู ย่อมส่งผลไปสู่บัณฑิตดังคำกล่าวที่ว่า อยากรู้ว่าตัวครูเป็นฉันใด จงดูได้จากศิษย์ที่สอนมา (ม.ล. ปิ่น มาลากุล)

            ครูจึงจำเป็นต้องพัฒนาจิตสำนึกของความเป็นครู เพราะครูหรืออาจารย์ จำเป็นต้องมีข้อกำหนดอยู่ในใจ เพื่อให้มีหลักในการดำรงตนให้เป็นครู

            สิ่งแรกที่ควรจะพัฒนาก็คือ การสร้างคุณธรรมหรือครุธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งความเป็นจริงนั้น ครุธรรมคือ ธรรมสำหรับครู เป็นสิ่งที่ครูหลายท่านทราบ และได้ปฏิบัติแล้ว แต่ก็มีอีกหลายท่านที่ทั้งไม่ทราบและไม่ปฏิบัติ          

ครุธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการดำเนินอาชีพครูอันเป็นอาชีพที่มีเกียรติเป็นอาชีพที่คนทั่วไปยกย่อง และถือว่า เป็นอาชีพที่สำคัญในการพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติ ครูที่ขาดครุธรรมจะเปรียบเสมือนเรือที่ขาดหางเสือ ดังนั้นการจะพาศิษย์ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างแน่นอน

            ท่านพุทธทาสกล่าวอยู่เสมอว่า ธรรมคือ หน้าที่ ผู้ที่มีธรรมะคือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีแล้ว ครุธรรมจึงเป็นหน้าที่สำหรับครูซึ่งครูส่วนใหญ่ทุกคนย่อมทราบดีว่า หน้าที่ของครู ก็คือ การอบรมสั่งสอนศิษย์แต่การอบรมสั่งสอนศิษย์ของครูแต่ละคนก็มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ครูบางคนก็อาจจะคิดว่าหน้าที่ของครู คือ สอนวิชาการที่ตนได้รับมอบหมายให้สอน แต่อีกหลาย ๆ คนก็คิดว่าครูควรทำหน้าที่คนให้เป็นคนที่สมบูรณ์นอกเหนือจากการสอนวิชาการ ความคิดที่แตกต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องพิจารณาเลือกหน้าที่ที่ตนเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดของการมีอาชีพครู เพราะความเป็นจริงนั้น ครูมิได้สอนแต่หนังสืออย่างเดียว แต่ต้องสอนคน ให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ด้วย

            การที่ครูจะปฏิบัติหน้าของครูอย่างเต็มศักดิ์ศรีและเต็มความภาคภูมิได้นั้น ครูจำเป็นต้องมีหลักยึดเพื่อนำตนไปสู่สิ่งที่สูงสุดหรือเป็นอุดมคติของอาชีพ นั่นก็คือ การมีอุดมการณ์ครู อุดมการณ์ครู มีหลักการที่จะยึดไว้ประจำใจทุกขณะที่ประกอบภารกิจของครูมีอยู่ 5 ประการ ดังนี้

เต็มรู้

เต็มใจ

เต็มเวลา

เต็มคน

เต็มพลัง

 

เต็มรู้ คือ มีความรู้บริบูรณ์

            อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องถ่ายทอด อธิบายให้ความรู้แก่คน ดังนั้นครูทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้ตนเองนั้นบริบูรณ์ หรือเต็มไปด้วยความรู้ ครูควรจะทำให้บริบูรณ์ในตัวครูประกอบด้วยความรู้ 3 ประการ คือ

        1. ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ ครูควรเสาะแสวงหาความรู้ รวบรวมข้อมูลโดยการอ่าน การฟัง และพยายามนำประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนของตนได้เกิดความรู้ที่ทันสมัย ดังนั้นครูจะต้องแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมให้ผู้เรียน เรียนอย่างครบถ้วนเหมาะสมตามระดับความรู้นั้น

        2. ความรู้เรื่องโลก ครูควรมีความรู้และประสบการณ์ชีวิตอย่างเพียงพอ เพื่อสามารถอธิบายบอกเล่า ถ่ายทอด ทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของชาติ ของสังคมไปสู่ศิษย์ ครูควรเข้าใจชีวิตอย่างเพียงพอที่จะให้คำแนะนำ คำสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์ได้ดำเนินชีวิตที่ดีในอนาคตได้ ดังนั้น นอกเหนือจากตำราวิชาการ ครูแสวงหาความรู้รอบตัวด้านอื่น ๆ ให้บริบูรณ์โดยเฉพาะความเป็นไปของระเบียบ ประเพณี สังคม วัฒนธรรม

        3. ความรู้เรื่องธรรมะ ครูควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ เพื่อที่จะสามารถอบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีความคิดที่ดี มีความประพฤติดี ไม่ว่าครูจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ทุกศาสนามีจุดหมายเดียวกันคือมุ่งให้คนเป็นคนดี ครูที่มีความรู้ด้านธรรมะจะสามารถหยิบยกเรื่องธรรมะมาเป็นอุทาหรณ์ สำหรับสั่งสอนศิษย์ได้ เช่น จะสอนให้ศิษย์ประสบผลสำเร็จด้านการศึกษา เล่าเรียนได้ดี ก็ยกหัวข้อธรรมะ อย่างอิทธิบาท 4 คือ

1.พอใจในการศึกษา รักและสนใจในวิชาที่ตนเรียน

2.มีความเพียรที่จะเรียน ไม่ย่อท้อ

3.เอาใจใส่ในบทเรียน การบ้าน รายงาน

4. หมั่นทบทวนอยู่เสมอ

        ถ้าศิษย์เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ก็ย่อมทำให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในการศึกษานอกจากที่ครูจะต้องทำตนให้บริบูรณ์ด้วยธรรมะเพื่อไปสอนศิษย์ ครูก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาธรรมะเพื่อให้ครูไม่หวั่นไหวต่อกิเลส อันทำให้จิตของครูต้องเป็นทุกข์เศร้าหมอง ครูก็ย่อมจะเบิกบานและได้รับความสุขที่จะได้สอนคนในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย การศึกษาธรรมะจึงจำเป็นสำหรับอาชีพครู

 

เต็มใจ คือ ความมีใจเป็นครู

            พุทธศาสนาถือว่าใจนั้นแหละเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากใจทั้งนั้นดังนั้น คนจะเป็นครูที่มีอุดมการณ์จำเป็นต้องสร้างใจ ให้เป็นใจที่เต็มบริบูรณ์ด้วยการ มีใจเป็นครู การทำใจให้เต็มนั้นมี มีความหมาย 2 ประการคือ

    ใจครู การทำใจให้เต็มบริบูรณ์ นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบดังนี้

            1. รักอาชีพ ครูต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ เห็นว่าอาชีพครูมีประโยชน์ มีเกียรติ มีกุศล ได้บุญ ได้ความภูมิใจ และพอใจที่จะสอนอยู่เสมอ พยายามที่จะแสวงหาวิธีสอนที่ดีเพื่อศิษย์

            2. รักศิษย์ มีใจคิดอยากให้ศิษย์ พ้นจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ครูต้องมีใจนึกอยากให้ทุกคนมีความสุข พยายามชี้แนะหนทางสู่ความสำเร็จและความสุขให้แก่ศิษย์

ยินดีหรือมีมุทิตาจิต เมื่อเห็นศิษย์ประสบความก้าวหน้าในชีวิต ความรักศิษย์ย่อมทำให้ครูสามารถทุ่มเทและเสียสละเพื่อศิษย์ได้

    ใจสูง ครูควรพยายามทำใจให้สูงส่ง มีจิตใจที่ดีงาม การจะวัดใจเราว่าสูงหรือไม่ มีข้อที่ลองถามตัวเองได้หลายประการ เช่น

            1. ทำงานอยู่ที่ใด ท่านมักจะด่าว่านินทา เจ้านายแห่งนั้น หรือดูถูกสถาบันหรือเปล่า

            2. ท่านมักจะคิดว่าเพื่อน ๆ ร่วมงานของท่านนิสัยไม่ดีส่วนใหญ่หรือเปล่า

            3. ทำไมท่านก็ทำดี แต่เจ้านายไม่เห็น

            4. ทำไมคนอื่น ๆ จึงโง่และเลว

            5. ท่านยอมไม่ได้ที่จะให้คนอื่นดีกว่า เพราะท่านคิดว่าท่านดีกว่าคนอื่น

            6. ทำไมที่ทำงานของท่าน จึงเอาเปรียบท่านและกีดกันท่านตลอด

    การทำจิตใจให้สูง ก็คือ การที่มองเห็นคุณค่าของมนุษย์โลกและการคิดที่จะสร้างสรรค์ให้โลกมีแต่สิ่งที่ดีงาม มองโลกและคนในแง่ดีใจกว้าง ยอมรับข้อดีและข้อเสียของตนเองและคนอื่นไม่คิดว่าตนเองฉลาด หรือเก่งกว่าผู้ใด ไม่คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น คิดเสมอว่าจะช่วยให้คนมีความรู้มีความคิดและความประพฤติปฏิบัติที่ดี คิดอย่างเป็นธรรมว่าตนเองมีข้อบกพร่องเช่นกัน

 

เต็มเวลา คือ การรับผิดชอบ การทุ่มเทเพื่อการสอน

        ครูที่มีอุดมการณ์ จะต้องใช้ชีวิตครูอย่างเต็มเวลาทั้ง 3 ส่วน คือ

            1. งานสอน ครูต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนอย่างเต็มที่ วางแผนการสอนค้นคว้าหาวิธีการที่จะสอนศิษย์ในรูปแบบต่าง ๆ และในขณะที่ดำเนินการสอนต้องสอนให้ครบตามเวลาที่กำหนด เข้าสอนตรงเวลา เลิกสอนให้ตรงเวลา

            2. งานครู นอกเหนือไปจากการสอน ครูต้องให้เวลาแก่งานด้านต่าง ๆ เช่น งานธุระการ งานบริหาร บริการและงานที่จะทำให้สถาบันก้าวหน้า

            3. งานนักศึกษา ให้เวลา ให้การอบรม แนะนำสั่งสอนศิษย์ เมื่อศิษย์ต้องการคำแนะนำ หรือต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน ครูควรมีเวลาให้ศิษย์

 

เต็มคน คือ การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

            การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยที่ครูเป็นแม่พิมพ์หรือพ่อพิมพ์ที่คนในสังคมคาดหวังไว้สูง และมีอิทธิพลต่อผู้เรียนมาก ครูจึงจำเป็นที่ต้องมีความบริบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคม ครูจึงควรสำรวมกาย วาจา ใจให้มีความมั่นคงเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการแสดงออกทั้งในและนอกห้องเรียน การที่จะทำให้ตนเองเป็นคนที่เต็มบริบูรณ์ได้ คนผู้นั้นควรเป็นคนที่ดีมีความคิดที่ถูกต้องเห็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง มีการพูดที่ดี มีการงานที่ดี มีการดำเนินชีวิตที่ดี ปฏิบัติการถูกต้อง หมั่นคิด พิจารณาตนเอง เพื่อหาทางแก้ไข้ปรับปรุงตนเองให้มีความบริบูรณ์อยู่เสมอ

 

เต็มพลัง คือ การทุ่มเทพลังสติปัญญาและความสามารถเพื่อการสอน

            ครูจะต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ทุ่มเทไปเพื่อการสอน เพื่อวิชาการ เพื่อศิษย์ ครูต้องอุทิศตนอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างไม่คิดออมแรง เพื่อผลงานที่สมบูรณ์นั้นก็คือ การปั้นศิษย์ให้มีความรู้ความประพฤติงดงาม เป็นที่พึงประสงค์ของสังคม

ครูที่มีหลักยึดไปครบเต็ม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นครูที่มีครุธรรม ที่พร้อมจะเป็นผู้ชี้ทางแห่งปัญญา ชี้ทางแห่งชีวิต และชี้ทางแห่งสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นครูควรสร้างอุดมการณ์ครู เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย และการพัฒนาวิชาชีพครู

 

หลักสิบประการของความเป็นครูดี

 

1. มุ่งมั่นวิชาการ

    ครูมีบทบาทหน้าที่ในการเสาะแสวงหาความรู้ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ที่จำเป็นสำหรับครู คือ

            1. ศาสตร์ที่จะสอน

ครูต้องติดตามความก้าวหน้าของวิชาที่จะถ่ายทอด จากหนังสือ เอกสาร วารสาร ตามสื่อต่าง ๆ ตลอดจนเข้าประชุมเพื่อรับรู้ความคิดใหม่ ๆ ข้อค้นพบที่ขยายความรู้ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะเตรียมพร้อมให้ตนเองมีความรู้ทันสมัยต่อเหตุการณ์

            2. ศาสตร์การสอน

แม้ครูจะมีความรู้ดีในศาสตร์สาขาที่ชำนาญ แต่ความรู้เหล่านั้น จะไม่มีประโยชน์ต่อวิชาชีพครูแม้แต่น้อย หากครูยังขาดความรู้เรื่องของการถ่ายทอดวิชาการเหล่านั้น ครูจึงจำเป็นต้องติดตาม ศึกษา ค้นคว้า ให้ทันต่อการก้าวหน้าของศาสตร์การสอนเพื่อค้นหาวิธีการที่จะอธิบาย หรือถ่ายทอดให้ศิษย์เข้าใจสาระต่าง ๆ

            3. ศาสตร์การพัฒนาคน

โดยที่อาชีพครู เป็นอาชีพสร้างคนที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศชาติ ผู้สร้างจึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาคนให้มีความพร้อมด้านวิชาการ วิชาชีพ และการดำรงค์ตนให้เป็นคนดีที่สังคมปรารถนา

 

2. รักงานสอน

    ครูต้องมีความศรัทธาต่อวิชาชีพของตน ต้องมีความรักการสอน สนใจที่จะพัฒนาการสอนให้น่าสนใจ เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนเพื่อให้ได้ผล รู้จักวิธีถ่ายทอดที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาการเรียนของตนเอง ให้รู้จักวิธีเรียน เรียนด้วยความสุขและรับรู้สาระในศาสตร์ที่ครูสอน

 

3. อาทรศิษย์

    ครูต้องเมตตา รัก เข้าใจ และเอาใจใส่ดูแลลูกศิษย์ ห่วงใยว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ลูกศิษย์ประสบ ให้เกียรติ และยอมรับในความแตกต่าง ไม่ดูถูกหรือเยียบย้ำลูกศิษย์ ให้การช่วยเหลือทั้งทางด้านการเรียนและชีวิต

 

4. คิดดี

    ครูต้องมีความคิดที่ดี ความคิดที่เป็นบวกต่อศิษย์ ต่อการสอน ต่อวิชาชีพต่อสถาบัน และต่อเพื่อนร่วมงาน คิดในสิ่งที่ดี และให้คิดอยู่เสมอว่า อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่าที่สุด เป็นต้น ความคิดที่เป็นบวกจะช่วยให้ครูทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

5. มีคุณธรรม

    ความมีคุณธรรมของครูมีความจำเป็นต่อวิชาชีพครู คุณธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ความยุติธรรม ด้านการสอน การประเมินผล ความต้องการให้ลูกศิษย์ประสบผลสำเร็จ ครูต้องมีความอดทน ระงับอารมณ์ได้ดี ไม่ทำร้ายคน เสียสละ มีความอายที่จะกระทำผิด และมีหลักศาสนายึดมั่น มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะประพฤติตนให้ถูกต้องตามระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ

 

6. ชี้นำสังคม

    ครูต้องช่วยชี้นำสังคม นำในสิ่งที่ถูกต้อง ช่วยแก้ปัญหา ทำตนเป็นตัวอย่าง เช่น เรื่องของขยะ สิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน ช่วยชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งการแก้ปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม และการช่วยนำสังคมให้เป็นสังคมที่ดีงาม

 

7. อบรมจิตใจ

    การพัฒนาผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ ครูจึงต้องช่วยให้ข้อคิดที่ดี อบรม ตักเตือน สั่งสอนให้ศิษย์ประพฤติดี ดำรงอยู่ในศีลธรรม หน้าที่ของครูจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการสอนหนังสือเท่านั้น แต่จะต้องอบรมจิตใจให้มีคุณธรรม จริยธรรมอยู่เสมอ

 

8. ใฝ่ความก้าวหน้า

    การไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ รักที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้า เผยแพร่ผลงานวิชาการให้แก่ชุมชนไม่หยุดยั้งครูจะต้องทำให้ชีวิตของครูก้าวต่อไปเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ศิษย์ สังคม และประเทศชาติ

 

9. วาจางาม

    คำพูดเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างประสบความสำเร็จคำพูดที่ดีย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจ มีความมุมานะ ในทางตรงกันข้าม คำพูดไม่ดี ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดความทุกข์ ไม่สบายใจ และทำให้เกิดความท้อถอย ไม่อยากเรียน ครูจึงต้องฝึกการพูดให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ฝึกการพูดเพื่อจูงใจและส่งเสริมทำให้ศิษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามและถูกต้อง

 

10. รักความเป็นไทย

    สถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศชาติ ดังนั้น ครูจึงต้องส่งเสริมพัฒนาเอกลักษณ์ไทย เพื่อให้ศิษย์เป็นผู้ธำรงรักษาเอกลักษณ์ไทยเอาไว้โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนจำเป็นต้องธำรงไว้ให้มั่นคง แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้ไกล จนทำให้แต่ละชาติสามารถติดต่อ รับรู้ และถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกันได้ก็ตาม แต่ลักษณ์เฉพาะของคนในชาติ เช่น เรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ควรช่วยกันสืบสาน ส่งเสริม และธำรงไว้ เพื่อทำให้เยาวชนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

 

ใจ 9 ขั้น สำหรับครู

 

เปิดใจ ให้กว้าง                                     มองโลกอย่างสุขเสรี

เข้าใจ ความชั่วดี                                  จนหรือมีไม่สำคัญ

เห็นใจ ใครใครบ้าง                              เพื่อจักสร้างความสัมพันธ์

น้ำใจ มีให้ปัน                                       ความสุขสันต์ย่อมตามมา

ร่วมใจ ใฝ่กุศล                                     ช่วยเหลือคนทุกเวลา

ตัดใจ ไม่นำพา                                     กิเลสตัณหาย่อมสิ้นไป

ทำใจ ให้วางเฉย                                  จักลงเอยโดยสงบได้

มิตรจิตรมิตรใจ                                   จักช่วยให้โลกร่มเย็น

ไม่เอาแต่ใจตน                                       ทุกทุกคนปราศทุกข์เข็ญ

ทำใจกันให้เป็น                                      โลกจะเว้นจากชั่งทราม

คุณธรรมจักเกิดได้                                 ด้วยสร้างใจให้งดงาม

เก้าใจดังกล่าวนาน                                 พาคนข้ามสู่ความดี

 

                                                          (วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

                                                          เก้าใจ 2530 ปรับปรุง 2536.

 

หมายเลขบันทึก: 203637เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • แวะมาอ่านครับ
  • รู้ซึ้งถึงความเป็นครู
  • การที่จะเป็นครูสมบูรณ์แบบ
  • ไม่ใช่ง่าย
  • ต้องอาศัยประสบการณ์
  • และความรักในอาชีพครับ
  • บางคนบอก
  • อยากเป็นครู
  • ไม่ยากหรอก
  • ง่ายนิดเดียว
  • ทำผิดเยอะ ๆ
  • เพราะว่าผิดเป็นครู
  • อิอิ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท