การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( CAI ) เรื่อง การแบ่งเซลล์ (Cell Division)


การแบ่งเซลล์,คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่อง การเบ่งเซลล์

ขอนำเสนอรายงานวิจัยของคุณครูอุไร  ดำศรี  ครูโรงเรียนสตรีปากพนัง  อ.ปากพนัง  จ.นครศรีธรรมราช

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( CAI ) เรื่อง การแบ่งเซลล์ (Cell Division)
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีปากพนัง
ผู้วิจัย : อุไร ดำศรี
สถาบัน : โรงเรียนสตรีปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร. 075-517215
        การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ หาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และศึกษาเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การแบ่งเซลล์ โดยใช้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทย์-คณิต ปีการศึกษา 2550 จำนวน 53 คน วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ โดยการศึกษาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ศึกษาสาเหตุของปัญหาและหาแนวทางในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยา ปรึกษาหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง ขั้นดำเนินการ ศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร ศึกษาคู่มือและสาระการเรียนรู้วิชาชีววิทยา ศึกษาลักษณะของสื่อนวัตกรรมบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จัดทำต้นฉบับ ประเมินคุณภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน แก้ไขและปรับปรุง ขั้นทดลองใช้ รายงานการใช้และเผยแพร่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน แบบวัดเจตคติต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การแบ่งเซลล์ และสมุดงาน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่า T-Test และ ค่าเฉลี่ย

     ผลการวิจัยพบว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การแบ่งเซลล์ มีประสิทธิภาพ 85.28/82.17 ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ ผู้เรียนมีเจตคติที่ดียิ่งต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การแบ่งเซลล์ ด้วยค่าเฉลี่ย 4.67 , SD 0.48 จากผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การแบ่งเซลล์ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นนี้มีคุณภาพ สามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชา ชีววิทยา รหัสวิชา ว 40245 ชีววิทยา 5 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้

แนวทางการพัฒนา การนำไปใช้ประโยชน์และปัจจัยเกื้อหนุน
      บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่จัดสร้างขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิชา ชีววิทยาทั้งสาระพื้นฐานและสาระเพิ่มเติม และวิชาวิทยาศาสตร์ ตามความเหมาะสม โดยอาจใช้ ดังนี้
      1. การนำเข้าสู่บทเรียน
      2. การเรียนการสอนตามปกติ
      3. การเรียนเสริม
      4. การเรียนซ่อมเสริม
      5. การทบทวนบทเรียนหรือทบทวนความรู้พื้นฐานของผู้เรียน

       ในการพัฒนาผู้เรียนของรายวิชา ชีววิทยา ซึ่งผู้รายงานเป็นครูประจำวิชานั้น นอกจากจะสร้างและพัฒนาสื่อประเภทนี้แล้ว ยังได้พัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้
      1. จัดทำแบบเรียนแบบโปรแกรมที่เป็นสิ่งพิมพ์และสื่อเทคโนโลยีอีกหลายเรื่อง เพื่อให้ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสะดวกและตามความชอบหรือความสนใจ
      2. มอบหมายภาระงานให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูลสาระการเรียนรู้วิชาชีววิทยาและนำเสนอในรูปสื่อเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนาทักษะกระบวนการ และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
      3. จัดทำโครงการประกวดผลงานนักเรียน
      4. เผยแพร่ผลงานของครูและนักเรียน
         4.1 จัดนิทรรศการ ในวันกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น
         4.2 นำไปไว้ในห้องสมุดกลุ่มสาระและห้องสมุดโรงเรียน เพื่อการศึกษาค้นคว้า
         4.3 นำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการการอบรมครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนในฝัน ซึ่งจัดอบรม โดย ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสตรีปากพนัง
         4.4 นำเสนอในที่ประชุมครู เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ

     ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนในฝันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งสนับสนุนโครงการโดยธนาคารกรุงไทยจำกัด มหาชน และผู้บริหารโรงเรียนสตรีปากพนัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 เห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้ ICT จึงได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาครูและผู้เรียน
                                                                 .......

หมายเลขบันทึก: 203564เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์อุไรที่เคารพรัก

หนูดีใจมากที่ได้เปิดมาพบการเผยแพร่ผลงานของอาจารย์ทางเว็บไซต์ หนูก็กำลังพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตอนนี้กำลังทำ CAI สาระเทคโนโลยีสารสนเทศ ใกล้จะเสร็จแล้ว

วันก่อนหนูเจออาจารย์นัยนา ถามถึงอาจารย์ เลยได้ทราบว่าอาจารย์ย้านกลับบ้านที่ปากพนัง หนูเด็กหญิงดารณี ปลื้มสุทธิ์ เมื่อสมัย ปี 2522 อาจารย์อาจจะลืมไปแล้ว เพราะมีลูกศิษย์มากมาย แต่หนูยังคิดถึงและเคารพรักอาจารย์เหมือนเดิมค่ะ

ดารณี เหรียญทอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท