เทคนิคการออกข้อสอบแบบปรนัย


เทคนิคการออกข้อสอบแบบปรนัย

เทคนิคการออกข้อสอบแบบปรนัยให้ดี มีคุณภาพ ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

http://www.geocities.com/nincoo/mainb3.4.htm
ข้อสอบปรนัย (objective test)

ลักษณะโดยทั่วไปของข้อสอบปรนัย จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือคำถาม และคำตอบ ตัวคำถามของข้อสอบปรนัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ตอบได้แสดงความรู้ความสามารถต่าง ๆ ตามที่ผู้ถามต้องการ ซึ่งจะวัดตั้งแต่ความจำผิวเผินไปจนถึงวัดพฤติกรรมที่ลึกซึ้งคือการประเมินค่า คำถามแต่ละข้อจะถามเฉพาะจุดเล็ก ๆ ของเนื้อหา ดังนั้นจึงมีจำนวนมากข้อ ส่วนคำตอบของคำถามประเภทนี้ผู้ตอบต้องใช้เวลาในการคิดและการตอบเป็นส่วนใหญ่ การเขียนตอบจะใช้เวลาน้อยซึ่งอาจเขียนเป็นประโยคสั้น ๆ หรือทำเครื่องหมายบนคำตอบที่ต้องการ (บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์. 2526 : 122) ดังนั้น สาระสำคัญของผู้ตอบที่ต้องปฏิบัติมี ดังนี้ (Throndike and Hagen. 1969 : 64)

1. ต้องอ่านข้อสอบที่มีทั้งคำถามและคำตอบที่สมบูรณ์ ทำให้ผู้ตอบไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นในคำตอบนั้นเลย

2. เลือกคำตอบที่ถูกที่สุด จากตัวเลือกที่ผู้เขียนข้อสอบกำหนดมาให้

3. ต้องตอบคำถามจากข้อสอบหลายข้อ

 

ข้อสอบปรนัยสามารถแบ่งแยกย่อยได้ 5 ประเภท คือ

1. แบบตอบสั้นๆ

2. แบบเติมคำ

3. แบบจับคู่

4. แบบถูก-ผิด

5. แบบเลือกตอบ

ซึ่งจะขอเสนอรายละเอียดในแต่ละประเภท ดังนี้

 

1. ข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ (short answer test)

ลักษณะข้อสอบ จะประกอบด้วยคำถามที่สมบูรณ์ ต้องกำหนดให้ผู้ตอบแสดงความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยการเขียนตอบ โดยตัวคำตอบจะมีลักษณะเป็นคำเดี่ยว ๆ หรือประโยคสั้น ๆ

 

หลักการสร้าง

1. ตั้งปัญหาเป็นรูปคำถาม และต้องการคำตอบเพียงสั้น ๆ เช่น

- ประธานาธิบดีอเมริกาคนปัจจุบันชื่ออะไร

- วิหคแปลว่าอะไร

2. ต้องเป็นคำถามที่มีคำตอบตายตัวแน่นอน

 

ข้อดีของข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ

1. สร้างง่าย สะดวกรวดเร็ว

2. สามารถเขียนคำถามได้มากข้อ

3. เขียนคำตอบได้ง่ายกว่าข้อสอบอัตนัย

4. เหมาะสำหรับวัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ เช่น การถามคำศัพท์ กฎ นิยาม เป็นต้น

 

ข้อจำกัดของข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ

1. บางครั้งอาจเกิดปัญหาในการตรวจให้คะแนน เช่น ผู้ตอบใช้ภาษาผิดพลาด

2. ตรวจยากกว่าข้อสอบปรนัยประเภทกำหนดคำตอบมาให้

3. ไม่เหมาะที่จะวัดพฤติกรรมขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่า

4. ยากที่จะเขียนคำถามเพื่อให้ได้เพียงคำตอบเดียว

 

ตัวอย่างข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ

1. นายกรัฐมนตรีของไทยคนปัจจุบันชื่ออะไร

2. จงให้ความหมายของคำว่า การประเมินผล

3. เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นบทประพันธ์ของใคร

2. ข้อสอบแบบเติมคำ (completion test)

ลักษณะข้อสอบ ข้อสอบเติมคำจะเขียนประโยคหรือข้อความตอนนำไว้ แล้วเว้นว่าง
ข้อความหรือท้ายข้อความสำหรับให้เติมคำ เพื่อให้ข้อความนั้นถูกต้องสมบูรณ์ การเว้นช่องว่างให้เติมอาจเว้นมากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้

 

 

หลักการสร้าง

1. พยายามเขียนปัญหาให้แจ่มชัด เฉพาะเจาะจงไม่กำกวม เพราะถ้าคำถามกำกวมจะทำให้
ผู้ตอบเสียเวลาในการตีความ

ไม่ดี : - ผู้ที่อุปสมบทได้ต้อง....................................................................

โจทย์ข้อนี้อาจตอบได้ว่าเป็นชาย ,ไม่วิกลจริต หรือต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ก็ได้

ดีขึ้น : ผู้ที่อุปสมบทได้ต้องเป็นชายอายุ...(20)...ปีบริบูรณ์

2. อย่าเว้นช่องว่างสำหรับเติมหลายที่ จนกระทั่งไม่ทราบว่าโจทย์ต้องการอะไร เช่น

ไม่ดี : ............หาได้โดยเอา.............หารด้วย.................

ดีขึ้น : ความเร็วหาได้โดยเอา....(ระยะทาง)....หารด้วย.....(เวลา).....

3. คำที่นำมาเติมในช่องว่าง ควรเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่สิ่งปลีกย่อย เช่น

ไม่ดี : ในปี 1492 โคลัมบัส...(พบ)...อเมริกา

ดีขึ้น : โคลัมบัสพบอเมริกาในปี ค.ศ. ..(1492)..

4. การเว้นช่องว่างไว้ท้ายข้อความดีกว่าไว้ข้างหน้าหรือตอนกลาง เช่น

ไม่ดี : ..(H2O)..คือสัญลักษณ์ทางเคมีของน้ำ

ดีขึ้น : สัญลักษณ์ทางเคมีของน้ำคือ..(H2O)..

5. ไม่ควรลอกข้อความจากหนังสือมาเขียนถาม โดยการตัดข้อความบางตอนออกเพราะจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนตอบด้วยวิธีท่องจำ

6. ควรสร้างประโยคคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่สั้นที่สุด

7. พยายามถามในสิ่งที่มีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการตรวจ

8. เว้นที่ว่างสำหรับเติมคำตอบให้เพียงพอ เพราะนักเรียนแต่ละคนเขียนหนังสือโตไม่เท่ากัน และช่องว่างในแต่ละข้อควรมีขนาดเท่า ๆ กัน เพื่อป้องกันการแนะคำตอบ

9. คะแนนในแต่ละช่องควรให้เท่ากัน

 

ข้อดีของข้อสอบแบบเติมคำ

1. สร้างง่ายสะดวกและรวดเร็ว

2. โอกาสที่ตอบถูกโดยการเดามีน้อย

3. สามารถสร้างคำถามวัดในเรื่องหนึ่ง ๆ ได้หลายข้อ

 

ข้อจำกัดของข้อสอบเติมคำ

1. วัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ ซึ่งเป็นความรู้ขั้นต่ำ

2. ถ้าส่วนที่ต้องการเติมมีหลายเรื่อง ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างข้อสอบประเภทนี้ เพราะการเว้นที่อาจเป็นการแนะคำตอบ เช่น

-ธงชาติไทยมี........สี คือ 1.................. 2................... 3.....................

3. ขาดความเป็นปรนัยในกรณีที่เขียนประโยคนำไม่ดี เช่น

ไม่ดี : สบู่เป็น............................................................

ดีขึ้น : สบู่เป็นของผสมระหว่าง....(ไขมัน)....กับ....(ด่าง)....

 

ตัวอย่างข้อสอบ

1. จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทยปี พ.ศ. 2539 คือ ...............................

2. สีม่วงเกิดจากการผสมระหว่างสี..................................กับสี.................................... .

3. กษัตริย์ที่ทรงกอบกู้เอกราชพระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยาคือ.................................

 

3. ข้อสอบแบบจับคู่ (matching test)

ลักษณะข้อสอบ ข้อสอบจะประกอบไปด้วยภาคคำถาม และภาคคำตอบ โดยผู้ตอบจะต้องจับคู่ระหว่างคำถามและคำตอบที่กำหนดให้ตรงกัน หรือสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผล ตัวอย่าง เช่น

 

คำชี้แจง แถว ก ประกอบด้วยรายการที่เกี่ยวกับคำนาม จงเลือกลักษณะนามจากอักษรในแถว ข ที่เหมาะสม หรือสอดคล้องที่สุดกับข้อความในแถว ก คำตอบในแถว ข อาจนำไปใช้มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่ใช้เลยก็ได้

 

แถว ก
 แถว ข
.......1. เข็ม
.......2. ช้าง

......3. หนังสือ

......4. รถ

.......5. แห
 ก. ปาก
ข. เชือก

ค. เล่ม

ง. ตัว

จ. คัน

ฉ. ด้าม

ช. ผืน

ซ. หลัง
 

 

หลักการสร้าง

1. คำสั่ง หรือคำชี้แจงที่จะให้ผู้ตอบปฏิบัติอย่างไร ควรเขียนให้ชัดเจน

2. จำนวนข้อความในภาคคำตอบควรมีจำนวนมากกว่าข้อความในภาคคำถาม 3-5 ข้อ

(สุภาพ วาดเขียน และอรพินธ์ โภชนดา. 2520 : 59)

3. คำที่อยู่ในภาคคำถามและคำตอบควรเป็นชนิดเดียวกัน หรืออาจสร้างเป็นประโยค วลี เครื่องหมายใด ๆ รูปภาพ ตัวเลข หรือตัวอักษร โดยเมื่อนำภาคคำถามและคำตอบมาเข้าคู่กันแล้ว จะได้ข้อความที่สอดคล้องกัน

4. คำที่เข้าคู่กันควรจะวางตำแหน่งให้อยู่สลับกันหรืออาจจะจัดเรียงลำดับตามตัวอักษรเวลา หรือจากมากไปหาน้อย เพื่อที่จะได้สะดวกในการพิจารณาคำตอบและลดการเดา

5. พยายามให้ภาคคำถาม และภาคคำตอบสมดุลย์กัน จำนวนข้อย่อยในภาคคำถามควรอยู่ระหว่าง 5-8 ข้อย่อย

(อนันต์ ศรีโสภา. 2525 : 120) เพราะถ้าหากคำถามมากจะทำให้นักเรียนเสียเวลาในการหาคำตอบ เช่น

ถ้าภาคคำถามมี 5 ข้อย่อย ภาคคำตอบจะมี 8-10 ข้อย่อย

ถ้าภาคคำถามมี 7 ข้อย่อย ภาคคำตอบจะมี 10-12 ข้อย่อย

6. ทั้งภาคคำถามและภาคคำตอบจะต้องอยู่หน้าเดียวกัน

 

ข้อดีของข้อสอบแบบจับคู่

1. สร้างง่ายและประหยัดเวลา

2. สามารถถามได้มากข้อในเวลาจำกัด

3. เหมาะสำหรับการวัดความจำ

4. ตรวจให้คะแนนสะดวกรวดเร็ว เพราะสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจได้

5. สามารถพัฒนาเป็นข้อสอบเลือกตอบแบบตัวเลือกคงที่ได้

 

ข้อจำกัดของข้อสอบแบบจับคู่

1. เป็นการยากที่จะสร้างข้อคำถามให้เป็นเอกพันธ์กัน

2. วัดความสามารถชั้นสูงได้น้อย

3. ข้อสอบข้อท้าย ๆ มีโอกาสตอบถูกได้ง่าย

 

4. ข้อสอบแบบถูกผิด (true-false items)

ลักษณะข้อสอบ เป็นข้อสอบที่ให้พิจารณาข้อความที่เป็นปัญหานั้นว่าถูกหรือผิดตามหลักวิชา โดยผู้ตอบต้องทำรหัสหรือเครื่องหมายลงที่ข้อความนั้น ๆ ตามที่โจทย์กำหนด เช่น ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เป็นต้น

 

หลักการสร้าง

1. เขียนข้อสอบที่ต้องการจะถามให้อยู่ในรูปประโยคบอกเล่า โดยข้อความที่ถามไม่ควรจะยากเกินไปนัก

2. ควรใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่คลุมเครือหรือกำกวม เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเรียนทำ
ข้อสอบผิด เช่น

ไม่ดี : ถูก ผิด ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

โจทย์ข้อนี้นักเรียนอาจตีความหมายผิดจากที่ครูต้องการ เพราะคิดว่าคนเรามีความสามารถทางสมองต่างกัน รูปร่างต่างกัน เป็นต้น

ดีขึ้น : ถูก ผิด ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

3. หลีกเลี่ยงการใช้คำบางประเภทที่อาจเป็นการชี้แนะคำตอบได้ เช่น คำว่าทั้งหมด เสมอๆ ทุก ๆ ไม่มีเลย ฯลฯ คำประเภทนี้จะมีโอกาสทำให้ข้อความผิดมากกว่าถูก ส่วนคำว่า อาจจะ บางอย่าง บางครั้ง โดยทั่วไปคำประเภทนี้มีโอกาสที่จะทำให้ข้อความถูกมากกว่าผิด

ไม่ดี : ในสมัยกรุงสุโขทัยประเทศไทยทำสงครามกับพม่าบ่อย ๆ

ดีขึ้น : ในสมัยกรุงสุโขทัยประเทศไทยทำสงครามกับพม่ามากกว่า 5 ครั้ง

4. พยายามใช้ข้อความที่แสดงปริมาณมากกว่าข้อความแสดงคุณภาพ เพราะการใช้คำว่า มาก น้อย ดี เลว เป็นสิ่งที่ตัดสินใจลำบาก

ไม่ดี : คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หลายคน

ดีขึ้น : คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่า 1 ใน 4

5. ข้อความแต่ละข้อควรถามประเด็นเดียว ไม่ใช่ว่าส่วนแรกผิดส่วนหลังถูกเพราะจะทำให้ลำบากในการตอบ

ไม่ดี : ปลาโลมาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ดีขึ้น : ปลาโลมาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

ดีขึ้น : ปลาโลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

6. หลีกเลี่ยงการใช้คำที่เป็นคำสั่ง เพราะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าถูกหรือผิด

ไม่ดี : จงแปรงฟันทุกวัน วันละสามครั้ง

7. หลีกเลี่ยงการใช้คำปฏิเสธซ้อน เพราะจะทำให้เด็กตีความลำบาก แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้คำปฏิเสธควรจะขีดเส้นใต้ด้วย เช่น

ไม่ดี : เด็กไม่ดื้อ ไม่ใช่เด็กไม่ดี

ดีขึ้น : เด็กดื้อไม่ใช่ เด็กดี

8. ในกรณีออกข้อสอบประเภทถูกผิดทั้งหมดควรสร้างคำถามให้มีจำนวนข้อมาก ๆ เช่น 50, 100 หรือ 200 ข้อ และควรวางตำแหน่งข้อถูก-ผิด สลับกันอย่างไม่มีระบบ เพื่อป้องกันการเดา

9. ควรกำหนดคะแนนไว้ในคำชี้แจงให้แน่นอน เช่น กำหนดข้อละ 1 คะแนน และไม่ควรหักคะแนนหรือติดลบข้อที่ทำผิด

 

ข้อดีของข้อสอบแบบถูก-ผิด

1. ตรวจง่าย รวดเร็ว ยุติธรรม มีความเป็นปรนัย

2. สามารถวัดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้ความจำได้ดี

3. สามารถสอบเนื้อหาวิชาได้มากกว่าข้อสอบแบบอื่นในเวลาที่เท่ากัน

4. สามารถพัฒนาเป็นแบบทดสอบเลือกตอบได้

5. ออกข้อสอบง่าย และได้จำนวนมากข้อ แต่ผู้สอบใช้เวลาทำน้อย

 

ข้อจำกัดของข้อสอบแบบถูก-ผิด

1. นักเรียนได้คะแนนเนื่องจากการเดามีค่อนข้างสูง เพราะเลือกจากหนึ่งในสองอย่าง

2. ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่า สาเหตุที่นักเรียนทำข้อสอบผิดเนื่องมาจากอะไร

3. มีความเชื่อมั่นต่ำ ดังนั้นควรออกข้อสอบไม่น้อยกว่า 50 ข้อ (Stanley and Hopkins. 1972)

4. ส่วนมากวัดได้เฉพาะพฤติกรรมความรู้-ความจำ

5. ส่งเสริมการเรียนที่ไม่ดีแก่นักเรียน เพราะว่านักเรียนทำข้อสอบเพียงแค่ทำเครื่องหมายถูกผิดเท่านั้น

 

ตัวอย่างข้อสอบ

.......1. ผู้ชนะสิบทิศเป็นบทประพันธ์ของสุนทรภู่

.......2. ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือดอยสุเทพ

.......3. ราคาขายคือผลบวกของราคาซื้อและกำไร

5. ข้อสอบแบบเลือกตอบ (multiple choice test)

ลักษณะข้อสอบ จะประกอบด้วยโจทย์หรือข้อความที่เป็นประโยคที่สมบูรณ์เป็นตัวคำถาม (stem) เพื่อวัดความรู้ความสามารถ และตัวเลือกตั้งแต่ 3 ตัวเลือกขึ้นไปอีก 1 ชุด รวมเป็น 1 ข้อ ในตัวเลือกนั้นจะมีทั้งคำตอบถูก (key) และคำตอบผิด(distracter) ที่เป็นตัวลวงมาให้นักเรียนพิจารณา

 

หลักการสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ

1. คำถามควรเป็นประโยคคำถามที่สมบูรณ์ เพื่อจะช่วยให้มีความชัดเจน และเข้าใจง่ายกว่าประโยคบอกเล่า เช่น

ไม่ดี : ทองคำจัดเป็น

ก. แร่โลหะ ง. แร่เชื้อเพลิง

ข. แร่อโลหะ จ. แร่ประกอบหิน

ค. แร่รัตนชาติ

ดีขึ้น : ทองคำจัดเป็นแร่ชนิดใด (ตัวเลือกคงเดิม)

2. เน้นจุดที่เป็นคำถามให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นปรนัย เช่น

ไม่ดี : สัตว์ในข้อใดแตกต่างจากพวก

ก. ช้าง ง วัว

ข. ล่อ จ. ควาย

ค. ม้า

ไม่ดี เพราะไม่ได้บอกแง่มุมที่จะถามว่าต้องการเน้นด้านไหน หรือยึดสิ่งใดเป็นหลัก

ดีขึ้น : สัตว์ในข้อใดเกิดจากการผสมพันธุ์ที่แตกต่างจากพวก (ตัวเลือกคงเดิม)

3. หลีกเลี่ยงคำถามที่เป็นประโยคปฏิเสธ โดยเฉพาะปฏิเสธซ้อน แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ประโยคปฏิเสธควรขีดเส้นใต้ให้ชัดเจน

4. การถามคำถามจะต้องสั้น กระทัดรัดและได้ใจความ ไม่ควรใช้คำฟุ่มเฟือย เช่น

ไม่ดี : การแปรงฟันสม่ำเสมอ จะช่วยให้สุขภาพภายในช่องปากสมบูรณ์ การแปรงฟันผิดวิธี จะทำให้เกิดสิ่งใด

ดีขึ้น : การแปรงฟันผิดวิธี จะทำให้เกิดสิ่งใด

5. ถามในสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่ดีงาม เป็นการปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์ กล่าวคือ ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีสังคมยอมรับ ให้ถามในทางที่ดี แต่ถ้าสิ่งใดไม่ดีสังคมไม่ยอมรับ ให้ถามในทางที่ไม่ดี เช่น

ไม่ดี : การเป็นหวัดดีอย่างไร

ดีขึ้น : การเป็นหวัดแสดงว่าร่างกายอยู่ในสภาพใด

6. ถามในสิ่งที่สามารถหาข้อยุติได้ตามหลักวิชา เพื่อให้เด็กได้ใช้ความคิด ไม่ถามในสิ่งที่เป็นความเชื่อ เช่น

ไม่ดี : การแห่นางแมวเพื่อให้ฝนตก ควรทำพิธีเวลาใด จึงจะได้ผลดี

ไม่ดี เพราะเป็นการถามในสิ่งที่เป็นความเชื่อ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้

7. ควรถามพฤติกรรมที่ต้องใช้ความคิด และควรหลีกเลี่ยงการถามความจำจากตำรา

8. ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก เพราะถ้าใช้ภาษาที่ยากเกินไป เด็กก็จะไม่สามารถที่จะเข้าใจในความหมาย จึงไม่สามารถทำข้อสอบนั้นได้

9. ควรใช้คำถามที่ยั่วยุให้เด็กชวนคิด และบางครั้งคำถามหรือตัวเลือกอาจเป็นรูปภาพ สัญลักษณ์ สถานการณ์ เพื่อยั่วยุให้เด็กอยากทำ เช่น

ไม่ดี : (1/2) มีค่าเท่ากับเศษส่วนในข้อใด

ดีขึ้น : ส่วนที่แรเงามีค่าเท่าใด

10. ตัวเลือกควรสั้น กระทัดรัด และมีความหมาย คำฟุ่มเฟือยตัดทิ้ง

11. ตัวเลือกแต่ละตัวควรมีความยาวเท่า ๆ กัน ถ้าตัวเลือกยาวไม่เท่ากัน ควรเรียงจากสั้นไปหายาว แต่ทั้งนี้ถ้าเป็น วัน เดือน พ.ศ. ตัวเลขหรือจำนวน ให้เรียงจากน้อยไปหามาก

12. หลีกเลี่ยงการเขียนตัวเลือกซ้ำซ้อนกัน หรือมีความหมายเหมือนกัน เพราะจะทำให้ตัวเลือกมีคุณค่าลดน้อยลง

ไม่ดี : น้ำปูนใสจัดอยู่ในสารชนิดใด

ก. กรด ง. ด่างทับทิม

ข. ด่าง จ. กรดเกลือ

ค. กรดสารส้ม

 

ไม่ดี เพราะตัวเลือก ค และ จ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเลือก ก ส่วนตัวเลือก ง เป็นส่วนหนึ่งของตัวเลือก ข

13. ตัวเลือกต้องเป็นเอกพันธ์กัน (homogeneity) หรือไม่ก็มีโครงสร้างสอดคล้องกัน เช่น

ไม่ดี : การทำลายป่าเกิดจากสาเหตุใด

ก. ความยากจน ง. กฎหมายมีช่องว่าง

ข. ความเห็นแก่ตัว จ. เจ้าหน้าที่ไม่กวดขัน

ค. คนต้องการที่ทำกิน

 

ไม่ดี เพราะตัวเลือก ก,ข เป็นเพียงวลี ส่วน ค,ง,จ เป็นประโยค ดังนั้น ควรทำ
ตัวเลือกให้มีโครงสร้างที่เหมือนกัน

ดีขึ้น : ก. คนยากจนมีมากขึ้น

ข. คนเห็นแก่ตัวมีมาก

14. ควรระมัดระวังการใช้ตัวเลือกประเภท ปลายเปิด และปลายปิด ซึ่งได้แก่ ถูกทุกข้อ ไม่มีข้อถูก ผิดทุกข้อ สรุปแน่นอนไม่ได้ เป็นต้น

15. หลีกเลี่ยงการแนะคำตอบ เพราะเพียงแต่เด็กสังเกตก็สามารถหาคำตอบได้โดยไม่ได้ใช้ความคิดเลย เช่น

ข้อแรก ๆ ถามว่า สีเขียวในพืชเรียกว่าอะไร (คลอโลฟิล)

ข้อหลัง ๆ ถามว่า พืชสีเขียวซึ่งมีคลอโลฟิลจะปรุงอาหารได้ต้องอาศัยสิ่งใด (ไพศาล หวังพานิช. 2526 : 80)

16. ไม่ควรถามในสิ่งที่เด็กคล่องปาก เช่น

ไม่ดี : ใจคนคดเคี้ยวเหมือนสิ่งใด (เถาวัลย์)

17. ควรกระจายตัวเลือกที่เป็นตัวถูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ต่าง ๆ กัน และแต่ละตัวเลือกควรมีโอกาสเป็นตัวถูกในจำนวนที่เท่า ๆ กัน

18. หลีกเลี่ยงการเขียนตัวถูกที่พ้องเสียงหรือพ้องความหมายกับตัวคำถาม เพราะจะเป็น การแนะคำตอบ เช่น

ไม่ดี : จังหวัดใดผลิตเกลือสมุทรได้มากที่สุด

ก. อยุธยา

ข. นครราชสีมา

ค. สมุทรสาคร

 

ข้อดีของข้อสอบแบบเลือกตอบ

1. วัดพฤติกรรมทางการศึกษาได้หลายด้าน ตั้งแต่ความรู้ความจำไปจนถึงการประมาณค่า

2. เป็นข้อสอบที่ตรวจให้คะแนนง่าย ถูกต้อง รวดเร็ว และมีความเป็นปรนัย

3. สามารถควบคุมความยากง่ายของข้อสอบได้

4. เป็นข้อสอบที่ครูสามารถวินิจฉัยสาเหตุแห่งการทำข้อสอบผิด ว่าเนื่องมาจากสาเหตุอะไรบ้าง โดยพิจารณาจากตัวเลือกต่าง ๆ จากกระดาษคำตอบ

5. มีความเชื่อมั่นสูง เพราะมีจำนวนข้อสอบมาก และตอบถูกโดยการเดามีน้อย

6. สามารถใช้สัญลักษณ์ รูปภาพหรือกราฟมาเขียนข้อสอบได้

 

ข้อจำกัดของข้อสอบแบบเลือกตอบ

1. สร้างข้อสอบให้ดี ทำได้ยาก และใช้เวลาในการสร้างนาน

2. ไม่เหมาะที่จะวัดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเสนอแนวคิด หรือทักษะการเขียน

3. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงในการสร้างข้อสอบ

รูปแบบของข้อสอบแบบเลือกตอบ

ข้อสอบแบบเลือกตอบจะมีคุณภาพมากหรือน้อย มักเกิดจากการเขียนตัวคำถาม และตัวเลือก นอกจากนี้ควรเขียนคำถามที่วัดพฤติกรรมขั้นสูง ๆ โดยใช้รูปแบบคำถามที่เหมาะสม รูปแบบ

คำถามแบบเลือกตอบที่นิยมมี 3 ประเภท คือ

 

1. ประเภทคำถามเดี่ยว (single question) เป็นข้อสอบเลือกตอบที่แต่ละข้อมุ่งถามเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่เกี่ยวพันธ์กับข้ออื่น ๆ เลย ซึ่งแต่ละข้อจะเป็นอิสระต่อกัน เช่น

1. วุ้นที่อยู่รอบ ๆ ไข่กบมีหน้าที่สำคัญอะไร 2. ข้อใดกล่าวถูกต้องตามหลักสุขศึกษา

ก. เป็นเกราะป้องกันศัตรู ก. กินอาหารที่ร้อน

ข. เป็นทุ่นให้ไข่ลอยได้ ข. กินอาหารที่สะอาด

ค. เป็นอาหารให้ตัวอ่อน ค. กินอาหารที่ถูกปาก

ง. เป็นที่เกาะของเชื้อตัวผู้ ง. กินอาหารที่ถูกส่วน

จ. เป็นสิ่งเชื่อมให้ไข่ติดกัน จ. กินอาหารที่ปรุงเองในบ้าน

 

2. ประเภทตัวเลือกคงที่ (constant choice) ข้อสอบประเภทนี้ ในแต่ละตอนจะมี
ตัวเลือกอยู่ชุดหนึ่งให้นักเรียนพิจารณาตัวเลือกเหล่านี้ แล้วนำไปตอบคำถามที่กำหนดมาให้หลายคำถาม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อสอบที่มีคำถามหลายข้อแต่มีตัวเลือกอยู่ชุดเดียว ซึ่งข้อสอบชนิดนี้พัฒนามาจากข้อสอบแบบจับคู่ แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากข้อสอบแบบจับคู่ คือ (สมนึก ภัททิยธนี. 2537 : 78)

2.1 สามารถใช้ตัวเลือกซ้ำกันได้

2.2 ตัวเลือกมีเพียง 4-5 ตัว ส่วนตัวคำถามมีกี่ข้อก็ได้ แต่นิยมใช้ 2-10 ข้อ

 

 

 

 

ตัวอย่างข้อสอบแบบตัวเลือกคงที่

 

คำชี้แจง จากข้อ 1-5 ให้พิจารณาข้อความแต่ละข้อ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ในข้อ ก-จ มากที่สุด คำศัพท์เหล่านั้น จะใช้ครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้

ก. การแยกประเภท (differentiation)

ข. การผสมพันธุ์เลือดเดียวกัน (inbreeding)

ค. การผ่าเหล่า (mutation)

ง. การเลือกสรรโดยธรรมชาติ (natural selection)

จ. การแปรปรวน (variation)

1. การปรากฏลักษณะที่ไม่เคยมีในเผ่าพันธุ์มาก่อน (ค)

2. ความแตกต่างในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม (ง)

3. การทำให้สิ่งมีชีวิตมียีนส์บริสุทธิ์ (ข)

4. ความผิดแบบของบรรดาลูก ๆ ในครอบครัวเดียวกัน (จ)

5. การทำให้เกิดการแบ่งบานระหว่างเซล (ก)

(ชวาล แพรัตกุล. ม.ป.ป. : 352-353)

 

3. ประเภทสถานการณ์ (situational test) คำถามชนิดนี้จะประกอบด้วยข้อความ รูปภาพ ของจริง หรือเรื่องราวอะไรสักอย่างหนึ่งมาเสนอเร้าใจให้เด็กเกิดความคิดก่อนเป็นตอนนำ จากนั้นจึงตั้งคำถามหลาย ๆ ข้อ หลาย ๆ แง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น คำถามชนิดนี้มีคุณค่าตรงที่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์เบ็ดเสร็จของการศึกษาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถวัดสมรรถภาพสมองขั้นสูงได้ง่ายกว่าข้อสอบประเภทอื่น ๆ

 

ตัวอย่างข้อสอบประเภทสถานการณ์

 

คำชี้แจง พิจารณาคำประพันธ์ต่อไปนี้ แล้วตอบคำถามข้อ 1-2

จะหักอื่นขืนหักพอจักได้ หักอาลัยไม่หยุดสุดจะหัก

สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักไม่ขาดประหลาดใจ

1. สิ่งใดเป็นต้นเหตุของคำประพันธ์นี้ 2. ผู้เขียนคำประพันธ์นี้อยู่ในอารมณ์เช่นไร

ก. ความรัก ก. ว้าวุ่นใจ

ข. ความอาลัย ข. เศร้าโศก

ค. การหักใจ ค. ปลงตก

ง. ความทุกข์ใจ ง. ห่วงหา

จ. การพลัดพราก จ. ว้าวุ่น

(ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ. 2527 : 153)

ความแตกต่างของข้อสอบอัตนัยและปรนัย

ทั้งข้อสอบอัตนัยและปรนัยต่างก็เป็นข้อสอบที่มุ่งวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของ
นักเรียน ข้อสอบทั้งสองชนิดนี้ต่างก็มีข้อแตกต่างพอสรุปได้ ดังนี้ (อุทุมพร จามรมาน. 2530 : 62)

 

ลักษณะ
 ข้อสอบปรนัย
 ข้อสอบอัตนัย
 
1.วัดความมุ่งหมายของการเรียนการสอน - ความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์และการวิเคราะห์ ไม่เหมาะที่จะใช้วัดการสังเคราะห์และการประเมินค่า - ความเข้าใจ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่า ไม่เหมาะที่จะใช้วัดความรู้ ความจำ
2. การสุ่มเนื้อหา - ใช้จำนวนข้อสอบมาก ทำให้สุ่ม
เนื้อหาได้มาก
 - ใช้จำนวนข้อสอบน้อย ทำให้
สุ่มเนื้อหาได้น้อย
 
3. การเตรียมการ - ข้อสอบที่ดีสร้างยาก และใช้เวลา
สร้างนาน
 -ข้อสอบที่ดีสร้างยาก แต่ทำได้ง่ายกว่าแบบปรนัย
4. การให้คะแนน -ยุติธรรม ง่ายและมีความเชื่อมั่นสูง - ลำเอียงยากและมีความเชื่อมั่นต่ำ
5.ปัจจัยที่ทำให้
คะแนนคลาดเคลื่อน
 -เนื่องจากการอ่านข้อสอบ และการเดาของผู้สอบ - เนื่องจากลายมือ และวิธีเขียนของ
ผู้สอบ
 
6. ผลต่อการเรียนรู้ - กระตุ้นให้ผู้เรียนจำ แปลความ
วิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้อื่น
 - กระตุ้นให้ผู้เรียนจัดระบบผสมผสานและแสดงออกซึ่งความคิดของตน

 

 

บทสรุป

1. หลักการสร้างข้อสอบนั้นผู้สร้างจะต้องยึดจุดประสงค์ในการสอนเป็นหลัก และจะต้องเขียนข้อสอบให้เป็นไปตามตารางวิเคราะห์หลักสูตรที่ได้กำหนดไว้ โดยจะต้องออกข้อสอบให้มีจำนวนข้อมากกว่าจำนวนข้อสอบในตารางวิเคราะห์หลักสูตร ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อนำข้อสอบไปหาคุณภาพแล้วจะมีข้อสอบอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้คุณภาพ ต้องตัดทิ้งไป

2. ข้อสอบมีหลายประเภททั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดสิ่งใดเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง

3. ข้อสอบที่ดีควรมีลักษณะ 5 ประการเป็นอย่างน้อย คือ ความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น ความยาก อำนาจจำแนก และความมีประสิทธิภาพ

4. ข้อสอบอัตนัยจะมีเฉพาะคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบได้แสดงออกโดยการเขียนที่แสดงถึงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ส่วนข้อสอบปรนัยจะมีทั้งคำถามและคำตอบมาให้ แล้วให้ผู้ตอบเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด

5. ข้อสอบปรนัยสามารถแยกย่อยออกได้ 5 ประเภท คือ ข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ แบบเติมคำ แบบจับคู่ แบบถูกผิดและแบบเลือกตอบ

 

 

        บรรณานุกรมประจำบทที่ 3

 

ชวาล แพรัตกุล. เทคนิคการเขียนคำถามเลือกตอบ. กรุงเทพฯ : กิ่งจันทร์การพิมพ์ : ม.ป.ป.

นิภา เมธาวีชัย. การประเมินผลและการสร้างแบบทดสอบ. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูธนบุรี, 2533.

บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์. การวัดและประเมินผลการศึกษา : ทฤษฎีและการประยุกต์.

กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2526.

พิตร ทองชั้น. การวัดผลการศึกษา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2524.

ไพศาล หวังพานิช. การวัดผลการศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2526.

ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ. หลักการสร้างแบบทดสอบความถนัดทางการเรียน.

กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช, 2527.

วิเชียร เกตุสิงห์. หลักการสร้างและวิเคราะห์ข้อสอบ. กรุงเทพฯ : โอเดียนการพิมพ์, 2515.

สมนึก ภัททิยธนี. การวัดผลการศึกษา. กาฬสินธุ์ : ประสานการพิมพ์, 2537.

สุภาพ วาดเขียน และอรพินธ์ โภชนดา. การประเมินผลการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 2.

กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2520.

สุภาพ วาดเขียน. การประเมินผลการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2518.

อนันต์ ศรีโสภา. การวัดและประเมินผลการศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2525.

อุทุมพร จามรมาน. การวัดและประเมินการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เล่มที่ 3.

พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, 2530.

Stanley Julian C. and Hopkins D. Educational and Psychological Measurement and

Evaluation. Prentice-Hall, Inc., 1972.

Thorndike, Robert L., and Hagen, Elizabeth. Measurement and Evaluation in

Psychological and Evaluation. 3rd ed. John Willey and Sons, Inc., 1969.

แบบทดสอบบทที่ 3

 

    1.ข้อใดไม่เข้าพวก

        ก.   ข้อสอบแบบเติมคำ

        ข.   ข้อสอบแบบถูก-ผิด

        ค.   ข้อสอบแบบอัตนัย

        ง.   ข้อสอบแบบเลือกตอบ

    2. ถ้าต้องการวัดพฤติกรรมความตั้งใจเรียน ควรใช้เครื่องมือชนิดใด จึงจะเหมาะสมที่สุด

        ก.  แบบทดสอบ

        ข.  แบบสอบถาม

        ค.  การสัมภาษณ์

        ง.  การสังเกต

    3. ข้อใดกล่าวได้ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อสอบแบบใช้ความเร็ว (speed test)

        ก. เป็นข้อสอบที่ง่าย

        ข.   มีจำนวนข้อสอบมาก

        ค.   ให้เวลาในการทำมาก

        ง.   ตัวอย่างข้อสอบ เช่น การวัดทักษะทางตา

    4. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อสอบแบบอัตนัย

        ก.   ตรวจให้คะแนนได้ง่าย

        ข.   วัดทักษะกระบวนการคิดได้ดี

        ค.   วัดเจตคติหรือข้อคิดเห็นต่างๆ ได้ดี

        ง.   ผู้ตอบมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น

    5. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อดีของข้อสอบปรนัยแบบเลือกตอบ

        ก.   ตรวจให้คะแนนได้ง่าย

        ข.   วัดได้ครอบคลุมเนื้อหา

        ค.   ต้องใช้เวลาในการสร้างน้อย

        ง. ควบคุมความยากง่ายของข้อสอบได้

คำชี้แจง ข้อ 6-10 เป็นข้อความที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของแบบทดสอบปรนัย จงเลือกตัวเลือก ก-จ ที่สอดคล้องกับข้อความดังกล่าวมากที่สุด

                ก. ข้อสอบแบบจับคู่

                ข.   ข้อสอบแบบเลือกตอบ

                ค.   ข้อสอบแบบถูกผิด

                ง.   ข้อสอบแบบตอบสั้น

                จ. ข้อสอบแบบเติมคำ

 

        6. เหมาะสำหรับการจัดทำเป็นข้อสอบมาตรฐาน

        7. มีประโยชน์น้อยมากสำหรับการค้นคว้าหาข้อบกพร่องในการเรียน

        8. มีความยุ่งยากที่สุดในการให้คะแนน

        9. ช่วยให้นักเรียนได้คะแนนมากโดยการเดา

        10. เป็นข้อสอบที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในบรรดาข้อสอบปรนัยด้วยกัน

หมายเลขบันทึก: 203557เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท