เครือข่ายเบาหวานระดับจังหวัด


เห็นภาพความกระตือรือร้นของคนทำงาน

ดิฉันได้ความคิดนี้มาจากการไปเป็นวิทยากรที่ รพ.บ้านตากเมื่อเดือนก่อน แล้วได้ยินคุณหมอพิเชฐ บัญญัติ และคุณเกศราภรณ์ ภักดีวงศ์ พูดถึง จึงไปชักชวน "เพื่อน" ที่ รพร.ธาตุพนมว่ามาจัดตลาดนัดความรู้ เชิญ รพ.ต่างๆ ในจังหวัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันดีไหม จะได้เกิดเป็นเครือข่ายเบาหวานภายในจังหวัดขึ้น คุณหมอมนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล คุณหมอประกาศิต จิรัปปภา และทีมงานดูแลผู้ป่วยเบาหวานของ รพร.ธาตุพนม มีความสนใจที่จะทำเรื่องนี้และตอบตกลงมาแล้ว เราคาดว่าจะจัดงานได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙

วันนี้เวลาระหว่าง ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. ดิฉันไปร่วมปรึกษาหารือกับทีมงานจาก รพ.ต่างๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขายความคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายภายในจังหวัด ที่มาของการประชุมครั้งนี้เนื่องมาจาก รพ. บ้านโพธิ์ได้ติดต่อให้ดิฉันและทีมของ รพ.เทพธารินทร์ไปเป็นวิทยากรอบรมผู้ป่วยเบาหวานและญาติ ส่วน รพ.บางน้ำเปรี้ยวก็ติดต่อให้ไปเป็นวิทยากรอบรมบุคลากร อำเภอบ้านโพธิ์มีผู้ป่วยเบาหวานที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ ๑,๑๔๘ คน ส่วนบางน้ำเปรี้ยวมีจำนวนมากถึง ๑,๘๐๘ คน ดิฉันเสนอไปว่ามี รพ.มากกว่า ๑ แห่งที่สนใจจะพัฒนางานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จึงน่าจะทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด ลองเชิญ รพ.อื่นๆ มาคุยกันด้วยดีไหม คุณศุภลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้ช่วยหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รพ.บางน้ำเปรี้ยวและคุณแสงเดือน บุญเจริญ ฝ่ายวิชาการ รพ.บ้านโพธิ์ จึงได้ช่วยประสานงานให้เกิดการปรึกษาหารือในวันนี้

น่าดีใจที่การปรึกษาหารือในวันนี้ ผู้ที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานมากันครบทั้ง ๑๐ รพ. หลาย รพ.มากันถึง ๓-๔ คน บาง รพ.มีคุณหมอมาด้วย คือคุณหมอวิชัย รพ.แปลงยาวและ คุณหมอจำเนียร จาก รพ. พนมสารคาม รวมทั้งหมด ๒๐ กว่าคน เราเริ่มการปรึกษาหารือโดยให้ทุกคนแนะนำตนเอง เริ่มจากดิฉันซึ่งเล่ายาวกว่าเพื่อน ตั้งแต่บอกว่าเป็นคนนครนายกติดๆ กับฉะเชิงเทรานี่เอง เล่าว่าเครือข่ายของเราทำอะไรอยู่บ้าง

พอทำความรู้จักกันเสร็จ ดิฉันก็ขายความคิดว่าอยากทำอะไรที่ฉะเชิงเทรา และเล่าถึงกิจกรรมที่มีในตลาดนัดความรู้ คุณหมอวิชัยแสดงความคิดเห็นเป็นคนแรก เล่าถึงปัญหาการดูแลรักษา ข้อจำกัดในการทำงาน และความพยายามที่จะเรียนรู้จากที่อื่น พร้อมประโยคเด็ดที่ว่า "หมอมีน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด" คุณหมอจำเนียร เคยมีประสบการณ์ตลาดนัดความรู้เรื่องอาหารปลอดภัยที่กรมอนามัยจัดแล้ว เสนอแนะว่าควรมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันก่อนและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมให้ชัดเจนว่าเป็นใครบ้าง มองไปถึง สอ. และผู้ป่วยด้วย เราคิดกันว่าในจังหวัดมี รพ. ๑๐ แห่ง อาจให้โควตาสักแห่งละ ๕ คน มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดีๆ จากอีกหลายคน คุณหมอกสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ ผอ.รพ.บ้านโพธิ์ มาร่วมแจมด้วยหลังตรวจผู้ป่วยหมดแล้ว มีความคิดที่น่าสนใจมาคุยให้ฟังหลายเรื่อง

โดยสรุปแล้วทุกคนเห็นด้วยที่จะจัดตลาดนัดความรู้ และตกลงให้คุณศุภลักษณ์เขียนเป็นโครงการเสนอต่อจังหวัด เพราะอยากให้ทำแล้วมีความต่อเนื่อง ดิฉันเสนอให้คุณแสงเดือนช่วยทำงานนี้ด้วย โดยดิฉันรับเป็นที่ปรึกษาและอาสาจะไปคุยชี้แจงกับทาง สสจ.ให้ด้วย

ก่อนปิดประชุมดิฉันให้ทุกคนได้พูดว่าคิดอย่างไรต่อการจะจัดตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ บางคนก็เกรงว่าจะไม่มีสินค้าดีๆ มาขาย แต่หลายคนก็อยากเล่าเรื่องเสียแล้ว ต้อง brake ให้เก็บไว้เล่าในตลาดนัด น้องคนหนึ่งบอกว่า "ไม่ทันเปิดตลาด ก็ได้อะไรดีๆ ไปแล้ว" บางคนก็บอกว่า "จะเตรียมตะกร้ามาซื้อของ" ยิ่งคุยยิ่งเห็นภาพความกระตือรือร้นของคนทำงาน ดิฉันคาดว่าตลาดนัดของที่นี่คงจะเป็นตลาดนัดที่ดีแห่งหนึ่ง เราช่วยกันคิดว่าจะไปจัดงานที่ไหนดี ทุกคนอยากให้จัดเร็วๆ ภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีคนมากระซิบว่าไปจัดงานที่นครนายกกันเถอะ จะได้ทำงานกันได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องห่วงอะไร

เราคุยกันจนเลยเที่ยงไปเล็กน้อย หลังจากนั้นรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เป็นข้าวสวย แกงส้ม ไข่เจียว และปลาเล็กปลาน้อยทอดกรอบ ก่อนแยกย้ายกันกลับ ดิฉันคาดว่าหลายคนคงจะกลับไปค้นหา "ความสำเร็จเล็กๆ ที่ภาคภูมิใจ" ของตนเองเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า

ต้องขอขอบคุณ คุณศุภลักษณ์ คุณแสงเดือน และ รพ.บ้านโพธิ์ ที่ทำให้เกิดเวทีวันนี้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 20331เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดิฉันและพวกเราชาวสาธารณสุขฉะเชิงเทรารู้สึกว่าได้รับความกรุณาจากอาจารย์มากๆค่ะ ที่ช่วยมาขายความคิดเรื่องเครือข่ายระดับจังหวัดขึ้นมา โดยปกติแม้เราจะมีคณะทำงานเบาหวาน ความดันระดับจังหวัดซึ่งมีตัวแทนจากทุกอำเภออยู่แล้ว แต่เนื่องจากแต่ละคนก็มีภาระหน้าที่รับผิดชอบหลายด้าน ทั้งงานประจำ และงานมอบหมายพิเศษ การที่จะได้ประชุมร่วมกันคิด ร่วมกันทำจึงค่อนข้างยาก ทำได้ไม่บ่อยนัก การจัดตลาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของเครือข่ายระดับจังหวัด น่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้เราได้แบ่งปันความคิด นำไปต่อยอดการทำงานได้ดียิ่งๆขึ้น และเกิดการประสานความร่วมมือของเครือข่ายอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ขณะนี้ดิฉันกับคุณแสงเดือนกำลังร่างโครงการและงบประมาณ และจะส่งให้อาจารย์ช่วยพิจารณาความเหมาะสม เพื่อเสนอให้ผู้บริหารและประสานผู้เกี่ยวข้องต่อไป  ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่กระจายโอกาสในการเรียนรู้มาสู่พวกเรา และยังช่วยประสานความช่วยเหลือจากองค์กรธุรกิจให้เราอีกด้วยค่ะ

ศุภลักษณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท