ตึกอะไรเอ่ย เก่าที่สุดในคณะแพทย์ ม.อ.


ตึกอะไรเอ่ย เก่าที่สุดในคณะแพทย์ ม.อ.

            คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 ปีเดียวกับที่กระผมเกิดออกมาดูโลกแห่งนี้ มันจึงจำได้แม่นว่าอายุของคณะตัวเองนั้นเท่าไหร่กันแล้ว ยิ่งนับก็ยิ่งแก่ เฮ้อ

            สมัยก่อน เป็นที่กล่าวขานกันว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์นั้นมีลักษณะโครงสร้างตึกที่ดีที่สุด เพราะดูโล่ง ทางเดินกว้างขวาง ไม่มีกลิ่นเหม็นยา (อันนี้ผมอ่านมาจากบทความที่คุณสุนทร อดีตเลขาฯคณะแพทย์เขียนลงในข่าวคณะแพทย์อีกทีครับ) แต่นั่นก็เป็นเมื่อก่อนนู้น ที่โรงพยาบาลมีตึกเพียง ตึก 13 ชั้น (ศัลย์ med) ตึก 8 ชั้น (เด็ก สูติ) ตึกพยาธิ-ออร์โธฯ 4 ชั้น และตึกผ่าตัดที่มี 3 ชั้นเท่านั้น

            ล่วงเข้ามาจนกระทั่งปีพ.ศ. 2538 เราก็มีตึกเพิ่มขึ้นมาอีกตึก นั่นก็คือ ตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือตึก 100 ปีสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งการมาของตึกนี้ก็ได้ทำให้บรรยากาศทางทิศตะวันตกของโรงพยาบาลเปลี่ยนแปลงไป

            แรกเริ่มเดิมที เราคงจะยังพอจำกันได้ ว่าชั้นใต้ดินด้านนี้จะเป็นห้องฉุกเฉิน ที่เมื่อขับรถเข้ามา ต้องเลี้ยวซ้ายเพื่อลงเนินมายังห้องฉุกเฉิน ความทรงจำของผมที่เกี่ยวกับห้องนี้ชักจะเลือนลางเต็มที นั่นก็เพราะว่า เมื่อต้องมาเป็นนักศึกษาแพทย์กองศัลย์ฯที่ต้องมาอยู่เวรที่ห้องฉุกเฉิน เขาก็ปิดให้บริการส่วนนี้ ไปเปิดห้องฉุกเฉินชั่วคราวอยู่ที่ห้องทำแผลฉีดยาในปัจจุบัน เนื่องจากมีการก่อสร้างตึกใหม่นั่นเอง

            คลินิกอายุรกรรมและนรีเวช ได้รับผลกระทบจากตึกนี้เต็มๆ เพราะแต่เริ่มเดิมทีเขาจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มองออกไปข้างนอกก็เห็นป่ายางเขียวขจี สลับกับฤดูใบไม้ยางร่วงราวเดือนเมษายนของทุกปี น่าจะสวยงามมากนัก แต่นั่นผมก็ไม่เคยเห็นเช่นเดียวกัน อาศัยจินตนาการเอา เพราะเมื่อมาเรียนในบริเวณนี้ เขาก็เริ่มเอาสังกะสีมาบังไว้เพื่อสร้างตึกไปซะแล้วเช่นเดียวกัน

            แต่ตึกร้อยปีที่เราภูมิใจนักหนา ก็เป็นที่ภูมิใจผมไปได้ไม่กี่ปี เพราะหลายๆอย่างนั้นไม่สามารถยืดอกได้เต็มๆนัก นั่นก็เพราะว่า ประตูลิฟท์ช่วงแรกขนาดเล็กกว่าปกติ เข็นเตียงคนไข้เข้าไม่ได้ ตัวตึกบดบังอากาศที่ควรไหลไปมาได้อย่างสะดวกบริเวณคลินิกอายุรกรรมและนรีเวช กลับกลายเป็นอากาศอับไปในทันที มืดทึบ และเสียงดังอื้ออึงจากพัดลมระบายอากาศ

            ระบบของภายในตัวตึกก็ค่อนข้างจะเป็นปัญหา เพราะว่าการระบายอากาศก็ไม่ค่อยดี ยิ่งยามบ่าย ที่พระอาทิตย์ส่องแสงเข้ามาทักทาย รับรองได้เลยว่า คนไข้หอผู้ป่วยศัลยกรรมประสาทและหอผู้ป่วยอุบัติเหตุต้องนอนชุ่มเหงื่อ ส่วนห้องผ่าตัดชั้น 3 ที่เคยวางแผนว่าจะได้ใช้ ก็ไม่ได้ใช้ดังใจหมาย อันนี้ผมก็ไม่ทราบสาเหตุ ว่าเป็นเพราะเหตุอันใด

            มาดูสภาพตัวตึกกันบ้างสิครับ สมัยก่อนเรามักจะเห็นเฉพาะตัวตึกด้านข้าง เพราะด้านหน้านั้นจะถูกบดบังไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย บางต้นอายุอานามก็น่าจะมากกว่าโรงพยาบาลด้วยซ้ำ แต่การเห็นเพียงด้านข้างก็เกินพอที่จะสาธยาย นั่นก็เป็นเพราะว่าสภาพของตัวตึกเก่าเร็ว ล่วงหน้ากว่าตึกใดๆในโรงพยาบาลนี้หลายเท่านัก ใครที่ไม่รู้จักโรงพยาบาลม.อ.มาก่อน ก็อาจจะเข้าใจว่า ตึกนี้สร้างมาร้อยปีแล้วเห็นจะได้ ทั้งโทรม ทั้งลอก แล้วยิ่งตอนนี้มีการตัดต้นไม้ด้านหน้าทั้งหมดออกไป เพื่อสร้างตึกใหม่ มองมาจากถนนหน้าห้างตราดอกบัวยามรถติดแล้วยิ่งใจหด เพราะเห็นตัวตึกร้อยปีนี้ได้อย่างชัดเจน ชัดแจ้งแดงแจ๋ จนในใจก็อดคิดไม่ได้เลยแม้แต่นิดว่า มันเป็นไปได้อย่างนี้เชียวหรือ ไม่อยากติดไฟแดงเลยครับ ต้องรีบๆไปดูกันนะครับ แบบนี้ อนาคตอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะตึกใหม่กำลังจะเจริญงอกงามขึ้นมาบัง

            ปล.ย่อความ สังเกตดูอีกที ตึกเก่าของโรงพยาบาลผ่านการใช้น้ำแรงอัดสูง ล้างมาทั้งตึก ผมจำไม่ได้แล้วว่า 1 หรือ 2 ครั้ง ตลอดการเป็นหมอของที่นี่ แต่ตึกร้อยปีกลับไม่ยักกะมีใครมาล้างตึก ท่าจะกลัวสีมันลอกออกจนหมดตึกเป็นแน่แท้ ฮา

            มาถึงตึกใหม่ล่าสุดที่เปิดใช้ไม่ถึง 10 ปีกันดีกว่า นั่นก็คือ ตึกเฉลิมพระบารมี ที่ได้รับงบประมาณมาจากกองสลาก ตึกนี้สวยครับ สีเหลืองอ่อนๆ ตั้งเด่นเป็นสง่า ยามเมื่อเราถ่ายรูปมาจากลานพระรูปพระราชบิดา สวยงามมากจริงๆนะครับ

            ตึกนี้ก็มี 13 ชั้น โดยที่ชั้น 13 นั้นไม่ได้เป็นหอผู้ป่วย ผมเคยขึ้นไปดูชั้นบนสุด ที่ยังสร้างไม่เสร็จ (จนถึงปัจจุบัน) มันน่าจะเป็นห้องโถงที่สามารถสร้างเป็นห้องจัดเลี้ยง จัดประชุมได้สบายมาก น่าเสียดายทะลุหัวใจ ที่มันไม่ยอมมีการก่อสร้างต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ผมเคยฝันหวาน ว่าสักวันหนึ่ง งานรับน้องใหม่ งานอำลา extern น่าจะได้จัดบนตึกนี้ที่ชั้น 13 คงจะซึ้งน่าดู

            แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งรู้สึกดีกันมากเกินไป เพราะมองให้ดีๆก็จะเริ่มเห็นรอยราดำกินตัวตึกบ้างแล้ว บนสุดบริเวณด้านหน้าของตัวตึกอาจจะเป็นคราบสนิมเหล็กที่ย้อยลงมาอาบสี ทำให้บริเวณตัวอักษรชื่อตึกเริ่มสกปรก มองลงมาเรื่อยๆก็จะเริ่มพบคราบสีดำเปื้อนๆมากขึ้นทุกวัน ดีที่ยังไม่มีการหลุดลอกของสีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์

            แปลกดีนะครับ วิทยาการสมัยใหม่ขึ้นทุกวัน เทคโนโลยีการผลิตสีมีมากมายมาแข่งขันกันในตลาด แต่ทำไมตึกของรัฐบาลกลับใช้สีที่โบราณอย่างรุนแรง หลุดลอกเป็นแผ่นๆง่ายดายเหลือเกิน ดูสิครับ ตึกไหนที่มีการสร้างขึ้นมาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมานี้ สีลอกจนแทบแยกไม่ออก ว่ามันลอกหรือเป็นเพราะตึกมันโบราณ อย่างตึกร้อยปีและตึกหอพักนักศึกษาแพทย์บินหลา 3 ซึ่งตอนนี้ต้องถูกปิดบูรณะเรียบร้อยโรงเรียนแพทย์ไปแล้ว ผมยังหมายความรวมไปถึงตึกของพวกเราคณะอื่นๆ หน่วยงานอื่นๆด้วยนะครับ ดูหอพักนักศึกษาที่อ่างน้ำก็เป็นตัวอย่างที่ดี ตอนนี้สีเขียวมันกลายเป็นสีเขียวด่างขาวไปเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน ตึกนี้นี่สุดยอดกว่าใครๆ เพราะมันเพิ่งถูกเปิดใช้มาไม่ถึง 3 ปีด้วยซ้ำ หรือว่า เราต้องการแต่ของถูก ใช้เงินให้มันน้อยๆ สีที่ใช้จึงมีคุณภาพแย่ถึงแย่มากๆ บ้านเราที่มองเข้ามาจึงไม่งามตากว่าที่ควรจะเป็น

            เป็นอย่างไรครับ เราๆท่านๆ อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง สำหรับผมนั้น รู้สึกสะท้อนในใจลึกๆ ว่าบ้านที่เรารัก เราไม่สามารถดูแลการก่อสร้าง การทำนุบำรุงรักษาให้เป็นไปด้วยดี ความภาคภูมิใจที่เป็นเจ้าของบ้านมันเลยเปล่งไม่ออก บอกไม่ถูก แต่ถึงอย่างไร ผมก็ยังรักบ้านของผมแห่งนี้ไม่เคยเสื่อมคลายครับ

           

หมายเลขบันทึก: 203281เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรื่องสีนี่รู้สึกจะเป็นเรื่องหลักที่ใช้ประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างครับ เห็นทุกตึกเป็นเหมือนกันหมดเลย ตอนตรวจรับตึกสีสรรก็สดใสดีแต่พอกรรมการตรวจรับเดินคล้อยหลังสีก็หลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ตึกใหม่ที่คณะผมตอนนี้กำลัง "ออกลายงา" สวยเชียวครับ

สงสัยต้องยืดเวลาตรวจรับเป็นช่วงๆ แล้วตรวจรับสีตอนท้ายสุดห้าปีหลังจากตึกสร้างเสร็จน่าจะดีครับ

ตอนนี้ผมมีมุมมองหนึ่งที่อยากแชร์กันเกี่ยวกับงานก่อสร้างรูปแบบหน้าตาทั้งด้านในและด้านนอกของสถานที่สาธารณะเช่นโรงพยาบาลรัฐ โรงเรียนรัฐ หอสมุดรัฐ สำนักงานต่างๆ ของรัฐ ทำไมเราต้องไปออกแบบให้ตัวอาคารให้มีความวิจิตรสวยงาม ให้ภายในดูโอ่อ่า สวยหรู ทั้งที่งบประมาณเดียวกันนี้เราก็สามารถสร้างตัวอาคารแบบธรรมดา ภายในเน้นการใช้สอยอย่างจริงๆ และเรายังสามารถนำเงินที่เหลือมาซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับสถานที่นั้นๆ เช่น โรงพยาบาลก็นำงบที่เหลือไปสร้างอุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิตคน ผมว่านำไปสร้างเครื่องไม้เครื่องมือสุดไฮเทคที่สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้อย่างจริงๆจังๆ ยังจะดีกว่า

ในความคิดผมอาคารของโรงพยาบาลต้องการแค่

1. ความโล่งของตัวอาคาร เพื่อที่จะถ่ายเทอากาศอันแสนสกปรกภายในโรงพยาบาลออกไปให้เร็วที่สุด

2. สวนและต้นไม้เยอะๆ เพื่อที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดูแลสดชื่นให้กับคนไข้และญาติๆ และต้นไม้ยังช่วยสร้างอ๊อกซิเจน และทำลายคาร์บอนด์อีกด้วย

3. ห้องพักผู้ป่วยต่างๆให้มีเยอะๆ เล็กหน่อยไม่เป็นไร ขอให้มีเตียงผู้ป่วยที่สามารถรองรับผู้ป่วยที่สัมพันธ์กับคณะแพทย์ที่มีอยู่

4. อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ วินิจฉัยโรคต่างๆ ต้องมีให้เต็มที่เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องแม่นยำ และรักษาชีวิตผู้ป่วยได้โดยเร็วที่สุด

5. ความสะอาดของโรงพยาบาล อย่างที่คุณหมอเคยบอกไว้ โรงพยาบาลคือสถานที่ที่สกปรกที่สุด ดังนั้นเราควระทำโรงพยาบาลสีเขียวให้ได้

ก็คงแค่ 5 ข้อหลักๆ ส่วนหน้าตานั้นชั่งมันเถอะ แต่นี้ผู้บริหารกลับมองว่าต้องสวยเด่นเป็นสง่า แล้วก็ไม่สามารถควบคุมงานได้เต็มที่ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือปล่อยทุกอย่างให้เป็นงานของสถาปนิกและinterior มากเกินไป โดยลืมนึกไปว่า ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ สถาปนิกหรือ interior ไม่สามารถรู้ขอบเขตการใช้งานได้เท่ากับพวกคุณหมอหรอกครับ เค้าไม่รู้หรอกว่าลิพท์ต้องกว้างเท่าไร ความเร็วของลิฟท์ต้องยังไง พื้นต้องเป็นแบบไหน พวกหมอทุกคนนี้แหละคือแหล่งข้อมูลชั้นดี

ไหงก็ฝากคุณหมอไว้ด้วยเผื่อได้เป็นคณบดีคณะแพทย์ในอนาคต จะได้สร้างอาคาร โรงพยาบาลสีเขียวในฝันได้ โดยเฉพาะสวนสีเขียว ที่มีต้นไม้ใหญ่เยอะๆ สร้างความร่มรื่นทั้งร่างกายและจิตใจได้อย่างดี

อีกหนึ่งข้อสังเกตุเกี่ยวกับโรงเรียน ผมเห็นหลายๆโรงเรียนชอบสร้างป้ายโรงเรียนอันใหญ่ๆ สวยๆ งามๆ ราคาแพงๆ ทั้งที่ด้วยงบประมาณเดียวกันคุณนำไปซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดหรือทำระบบการเรียนการสอนให้มันดีขึ้นได้อีกตั้งเยอะโดยเฉพาะหนังสือ

เออ พูดถึงหนังสือ วันก่อนเจอญาติที่เรียนชั้นมัธยมใน มอว. เด็กๆเค้าเลิกเรียนออกมาก็ขึ้นรถในสภาพที่อ่อนล้าเต็มที ถามเค้าเค้าก็บอกว่าเหนื่อยสุดๆ การบ้านก็เยอะ รายงานก็เยอะ แล้วยังมีเรียนพิเศษอีก (ไม่เหมือนพวกเด็กโรงเรียนนกฮูกเลยไม่เห็นมีใครบ่นเลยว่าเหนื่อย) เมื่อเช้าก็ยังคุยกับแฟนเลยว่า เอ๊ ถ้ายังงี้โรงเรียนน่าจะให้คะแนนโดยทิ้งน้ำหนักไปที่รายงานให้มากถึง 50-60% ไปเลย เด็กจะได้ทุ่มเทมากับการค้นคว้าหาความรู้โดยตัวเอง น่าจะมีรายงานชิ้นใหญ่แบบ ทีสิทของนักศึกษามหาวิทยาลัยก่อนจบไปเลย เด็กๆพวกนี้ก็จะไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพราะเรียนไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะคะแนนแค่ 40% ถ้าคุณทำรายงานไม่ดีคุณสอบได้ก็แค่นั้น แต่ถ้าคุณทำรายงานได้ดีอย่างน้อยคุณก็ไม่ตกแล้ว เห็นด้วยมั๊ยครับ

สวัสดีครับพ่อต้นไม้

ตึก วจก. ออกลายแล้วเหรอครับ ฮ่า ฮ่า

ลองสังเกตดูสิครับ หลวงชอบซื้อของแพง แต่คุณภาพไม่ถึงไหน

พี่หนึ่ง

สุดยอดไปเลยนะครับ เป็นความคิดที่ผมเองก็ไม่เคยนึกถึง

สร้างตึกไม่ต้องใหญ่เกินตัว สร้างป้ายไม่ต้องใหญ่เกินไป

โรงพยาบาลสร้างใหญ่โต แต่มีหมอและพยาบาลนิดเดียว ที่เหลือให้ผีมาเดินเล่น

เรื่องการเป็นคณบดี อย่าพูดถึงครับ impossibleeeee

และเรื่องรายงานสุดโต่งนี่ ก็เป็นความคิดที่ไม่เคยคิดว่าจะคิดได้เหมือนกัน ขอบใจหลายครับพี่

  • สงสัยเหตุที่เกิดขึ้น เป็นเพราะตึกในคณะแพทย์ ม.อ. เขาเลือกที่จะใช้สีกันคราบครับ.....แต่ไม่กันลอก....อิ อิ
  • ผมมาเยือนโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ครั้งแรกเมื่อปี 2531 นี่ก็ผ่านไปแล้ว 20 ปี ความรู้สึกของการมาเยือนครั้งแรกนั้น คือรู้สึกว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่เหมือนโรงพยาบาลหลายๆแห่งที่ผมเคยผ่านไปเยี่ยมเยียนมา สิ่งหนึ่งที่ปรากฎชัดเจน คือโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่มีกลิ่นโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อก่อนก็คงเป็นกลิ่นของน้ำยาทำความสะอาด ที่แสนจะขึ้นชื่อว่าเป็นกลิ่นประจำโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในขณะนั้น และอาจเป็นเพราะการออกแบบโรงพยาบาลที่ดี ทำให้มีการระบายอากาศที่ดี ก็ถือได้ว่าเป็นความประทับใจครั้งแรกในการมาเยือนครับ จนถึงปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็ยังไม่เคยมีกลิ่นโรงพยาบาลดังกล่าวเลย
  • ความสมบูรณ์ของการเป็นโรงพยาบาล คงไม่ใช่สิ่งที่เพียงมองเห็นได้จากภายนอกหรือภายในหรอกครับ ยังมีอีกหลายสิ่งที่มองไม่เห็นในนามแขกผู้มาเยือนในนามของคนไข้ ซึ่งถือเป็นด่านหลังในฐานะส่วนสนับสนุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนไม่ยิ่งหย่อนกว่าส่วนหน้า แม้ว่าในความเป็นจริงในปัจจุบันผู้บริหารจะไม่ได้รู้สึกหรือให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอก็ตาม การเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์การเป็นโรงพยาบาลที่ดี โดยไม่ได้ให้การสนับสนุนในทุกภาคส่วนที่สมควรนั้น ไม่สามารถทำให้โรงพยาบาลเติบโตเป็นโรงพยาบาลที่ดีได้หรอกครับ ทุกสิ่งไม่ได้ขึ้นกับเงินเป็นหลัก เพราะหัวใจของคนทำงาน ไม่ได้ตั้งต้นที่ทำงานเพื่อเงินครับ แม้ว่าเงินจะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็ตาม การสนับสนุนให้คนหลากหลายวิชาชีพทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีมงานที่ดีได้น่าจะเป็นคำตอบที่ดีครับ
  • ผมเห็นด้วยกับคุณพูนชัยครับ ว่าเด็กไม่ควรจะเรียนหนัก ชีวิตเด็กควรจะเป็นเด็กที่มีความสดใส มีอิสระ ที่จะคิด ที่จะเล่น ได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันระบบการศึกษาบ้านเรา ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กเป็นอย่างนั้น แต่เน้นสอนให้เด็กรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ สอนให้เด็กจำทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้ววัดความจำกัน ใครจำได้มากคนนั้นก็มีสิทธ์เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ก่อน โดยเราไม่เคยวัดกันที่ความคิดครับ ว่าใครคิดเป็น ใครคิดลึกกว่ากัน ใครต่อยอดจากความรู้เดิมได้  แม้ในปัจจุบันจะมีการโน้มเอียงของการปฏิเสธระบบการศึกษาแบบนี้ในระดับโรงเรียนบ้าง แต่ถือเป็นการพายเรือในน้ำเชี่ยวครับ เด็กที่เรียนมาในระบบที่ให้ประมวลผลความรู้เป็น คิดเป็น มักจะทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นการให้เด็กเรียนอย่างเป็นสุขในโรงเรียน แล้วไม่มีทางต่อยอดของการเรียนอย่างเป็นสุขไปจนจบระดับอุดมศึกษานั้น น่าจะเป็นทางตันครับ เพราะสุดท้ายเด็กก็ต้องออกไปหาเรียนพิเศษข้างนอกอยู่ดีเพื่อให้สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยภายในประเทศได้ ผมไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน ที่ระบบการศึกษาบ้านเราจะเปิดเพียงพอให้เด็ก ควรจะเรียนแบบที่เป็นเด็ก คือได้เล่น และได้เรียน พร้อมกับได้คิด และรู้ว่าเมื่อต้องการความรู้เขาจะไปหาความรู้เหล่านั้นได้จากที่ไหน โดยไม่ต้องจำทุกอย่างเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ แต่ให้เข้าใจค้นหาความรู้ที่หลากหลาย และประมวลผลความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม....ซึ่งคงเป็นฝันครับ....ฝันกลางฤดูฝนของเช้าวันนี้ 

ขอบคุณครับคุณ mitochondria ตอนนี้ก็กำลังสานฝันเกี่ยวกับระบบการศึกษาอยู่ครับ ไม่ได้ส่งลูกๆเรียนพิเศษเลย ในทางวิชาการ เรียนแต่ภาษา ดนตรี และศิลป์

ลูกๆก็ได้เรียนในระดับประถมที่ไม่ได้เน้นการท่องจำ แต่เน้นระบบความคิด แต่เวลานี้ถึงทางแยกที่ต้องเลือกในระดับ ม.ต้นในอีก2ปี ก็คงทำแบบเดิมไม่เรียนพิเศษ แล้วใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เค้าทำกิจกรรมที่หลากหลายให้เค้าเลือกทางตัวเองในอนาคตต่อไป

สวัสดีครับพี่ไมโตะคุง

เรื่องโรงพยาบาลนั้น พี่กำลังบอกอะไรกับผมอยู่ใช่ไหม ฮ่า ฮ่า

ส่วนเรื่องลูก ผมไม่อนุญาตให้เรียนพิเศษอื่นใด นอกจาก ภาษาอังกฤษ กีฬา และศิลปะเท่านั้น

ตอนนี้ทำได้ เพราะอยู่ ป.2 แต่อนาคตก็ไม่รู้เหมือนกันครับพี่

ประเทศไทยเราพัฒนายาก เพราะการศึกษาเราห่วย อันนี้พี่คงรู้ดี และคนที่มาแก้ปัญหาก็ทำอะไรไม่เป็นเรื่องเป็นราว

เฮ้อ ไม่ได้ฝันหรอก

  • ผมมีลูกสาวอยู่สองคนครับ คนโตตอนนี้อยู่ ม.1 คนเล็กอยู่ ป.1 ทั้งคู่เรียนอยู่ธิดานุเคราะห์ครับ
  • ผมเคยปฏิเสธการเรียนพิเศษ(เนื้อหาในบทเรียน)มาโดยตลอด สำหรับเจ้าคนโตนั้นให้เรียนนาฎศิลป์มาตั้งแต่อยู่อนุบาล 3 จนถึง ป.3 แล้วไปเรียน บาสเกตบอลต่ออีกปีครึ่ง จากนั้นไปเรียนยิมนาสติกต่ออีก 1 ปี ระหว่างนี้ก็มีเรียนอิเลคโทนเสริมบ้าง แต่ดูจะเอาดีไม่ค่อยได้ จนเขาเริ่มมาสนใจไวโอลิน และเริ่มเรียนไวโอลินเมื่อต้นปีนี้เอง แต่ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในเรื่องไวโอลินเป็นชิ้นเป็นอันกว่าเพื่อน ส่วนกีฬาอย่างอื่นตอนนี้หยุดหมดแล้วครับ เน้นแข่งกินจุอย่างเดียว
  • เจ้าคนโตมีเด็กมี positive thinking ชอบที่จะเก็บขยะอยู่กลางสนามมากกว่าจะมามั่วสุมด่ากับเพื่อน และไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจทำการบ้าน จนผมถูกคุณครูเรียกพบเป็นประจำทุกปี การเรียนอยู่ในระดับปานกลางครับ อาจเป็นเพราะไม่สนใจที่จะเรียนซะมากกว่า
  • ผมชั่งใจอยู่นานครับ ในการตกลงกับเจ้าตัวโตให้ไปเรียนพิเศษในเนื้อหาข้างนอก เหตุเพราะในอนาคตเราหนีไม่ได้ที่จะต้องแข่งกับคนอื่น การมีความสุขกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นความสุขที่สัมผัสได้ แต่ก็ไม่อาจทำให้ละเว้นการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคตได้
  • จนในที่สุด เจ้าตัวโตก็ตกลงใจไปเรียนพิเศษข้างนอก สิ่งที่ตามมา คือมีเวลาน้อยลง แต่ดูเหมือนเขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะอะไรเหรอครับ เพราะดูเหมือนกับเขาจะเข้าใจเนื้อหาในการเรียนมากขึ้น สอบได้คะแนนดีขึ้น เข้ากับเพื่อนได้ดีขึ้น แต่ก็ยังทำการบ้านส่งคุณครูน้อยเหมือนเดิม คราวนี้เป็นตราคุณแม่เขาบ้างครับ ที่ถูกเรียกพบคุณครูด้วยเหตุเจ้าตัวโตมีการบ้านน้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งนั่นเป็นปัญหาของคุณแม่ครับ ไม่เกี่ยวกับเขา จนถึงปัจจุบันเจ้าตัวโตก็มักจะมีการบ้านน้อยกว่าเพื่อนเสมอๆ
  • ผมเคยตั้งใจว่าเด็กๆ ควรได้เรียนในสิ่งที่ตัวเขาอยากจะเรียน ถ้ายังมีแรงส่งไหว และไม่ควรเป็นการเรียนพิเศษในเนื้อหาเหมือนบทเรียน แต่จากการส่งให้ไปเรียนมา 1 เทอม ผมชักเปลี่ยนใจแล้วครับ  ว่าหากเขาทำความเข้าใจในชั้นเรียนไม่ได้ การที่ให้เขามาทำความเข้าใจจากคุณครูคนใหม่ ที่มีวิธีการสอนที่แตกต่างจากเดิมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน และที่สำคัญคือ ต้องเป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่ามีความสุขที่จะได้ทำ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำครับ

พี่ไมโตะคุง

บางทีปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก ลองดูสิครับ มันอาจจะเป็นปัญหาที่ครูก็ได้

นี่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทำไมลูกจึงชอบเรียนพิเศษมากกว่าเรียนที่โรงเรียน

1. โรงเรียนมีนักเรียนต่อห้องมาก ครูให้ความสนใจได้ไม่ทั่วถึง และเด็กที่จะถูกครูสนใจมากๆก็มักจะเป็นเด็กที่หน่าตาดี (อันนี้เคยเห็นในงานวิจัย) หรือเด็กที่เรียนเก่งได้โดนใจครู

2. คุณครูในโรงเรียนชอบด่า แต่คุณครูสอนพิเศษไม่ค่อยด่า (ฮ่า ฮ่า อันนี้เพราะอะไรหนอ)

3. ครูที่สอนพิเศษสอนเทคนิกต่างๆมากมาย อันนี้เป็นจริงโดยเฉพาะสำหรับ ม.ปลาย เพราะเตรียมสอบเท่านั้น ส่วนในโรงเรียนอนตามกระทรวงสั่ง (ถ้าสอนเต็มที่ เดี๋ยวเด็กไม่มาเรียนพิเศษ จึ๋ย...โดนใจใครก็ต้องขอโทษที)

4. เรียนพิเศษไม่มีรูปแบบ เรียนในโรงเรียนต้องมีรูปแบบของกระทรวง (อันนี้ จัดเป็นความผิดของกระทรวงโบราณแห่งสยามประเทศนี้)

5. ลูกพี่เรียนที่เมืองไทยไง ถ้าไปเรียนที่ญี่ปุ่นหรือนิวซีแลนด์อาจจะชอบกว่านี้

เป็นไงครับ ว่าแล้วก็อามิตตาพุทธ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท