ความสมหวังของพ่อ (ตอนที่ 1)


ความหวังและความคาดหวังเป็นดาบสองคม มันสามารถนำไปสู่การสรรสร้างสรรพสิ่ง หรือ การลดทอนทำลายล้างก็ได้

ผมคิดอยู่นานเลยครับว่าอะไรควรเป็นบันทึกแรกของ Blog นี้...

สุดท้ายเรื่องเกี่ยวกับความหวังที่ผมมีต่อเจ้าหนูนาโนก็กินขาด ผมว่าเป็นเรื่องที่เหมาะที่สุดเพื่อวางรากฐานมุมมองทั้งหมด และที่สำคัญ "ผมสมหวังเรื่องลูกหมดทุกอย่างแล้วครับ"

ก่อนหน้าที่จะบันทึกลงใน Blog นี้ ผมพกเศษกระดาษเล็กๆติดตัวเสมอหลังจากที่ลูกคลอด ข้อความนั้นสั้นๆครับ "อย่างลืมความรู้สึกวันแรกที่ลูกคลอด" วันนี้ผมคงทิ้งเศษกระดาษนั้นไปเพราะได้ที่บันทึกใหม่ที่นี่เป็นการถาวรแล้ว

ความหวังเป็นดาบสองคมอันคมกริด มันสามารถสร้างหอคอยงาช้างหรือทำลายโลกให้ย่อยยับได้ โดยเฉพาะความรักของพ่อแม่ที่มีต่อบุตร เราคงเห็นเหตุการณ์มากมายถึงความสมหวังและผิดหวังในโลกนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้มนุษย์โลก ใช้ "ความหวังดี" มากกว่า "ความหวัง" ครับ โลกเรา สังคมเรา คงจะรื่นรมย์และมีความสุขมากขึ้นโขทีเดียว ทำไมหรือครับ ก็เพราะความหวังดีเป็นการให้ของมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข (ฝรั่งเรียก Un-conditional Love) ในขณะที่ความหวังมักจะมุ่งหาสิ่งตอบแทนหรือเติมเต็มอะไรสักอย่าง

ขอยกตัวอย่างง่ายๆในชีวิตประจำวันที่เห็นเป็นประจำนะครับ หลายๆท่านคงเคยให้เงินแก่ขอทาน หรือคนด้อยโอกาสในสังคม และเรามักจะอนุมานเอาเองว่า เราได้ทำบุญแก่ขอทานและคนด้อยโอกาส ผลบุญคงจะส่งผลให้เราไม่อดอยากในชาตินี้และชาติหน้า บางครั้งอาจถึงกับอนุโมสาธุกันว่าขอให้ร่ำให้รวยมีกินมีใช้กันทั้งชาติ (ทั้งหมดนี้ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้นเพียง 5 บาท) เห็นไม๊ครับคุณทำบุญยังหวัง(ผล)บุญเลย หรือไม่เช่นนั้นก็เพื่อเติมเต็มความไม่พอเพียงของทรัพย์สินที่มีอยู่อะไรเทือกนั้น ความหวัง หรือ ความคาดหวัง ก็เป็นทำนองนี้เหมือนกับหละครับ

เมื่อคนมีความหวังหรือความคาดหวัง ทุกคนก็อยากสมหวัง พอสมหวังก็เป็นสุข พอผิดหวังก็เป็นทุกข์ และไอ้เจ้าความหวังนี่ก็แปลก เพราะมากกว่าครึ่ง คนที่จะทำให้สมหวังหรือผิดหวังมักจะเป็นคนละคนกับคนที่ตั้งความหวังไว้เสมอ โดยเฉพาะพ่อแม่กับลูก ดังนั้นจึงต้องระวังให้ดีครับ เพราะความคาดหวังส่วนใหญ่คือภาพที่ผู้คาดหวังอยากจะเห็นหรืออยากให้เป็น มากกว่าสิ่งที่ตัวผู้ถูกคาดหวังควรจะเป็น ควรจะทำ หรือแม้แต่อยากจะทำ ไม่เช่นนั้นคงจะไม่มีงานประเภทแต่งชุดครุยขึ้นรับใบประกาศจบอนุบาล 3 (ซึ่งไม่รู้พ่อแม่ หรือลูกอยากเห็นกันแน่) หรือการที่เคี่ยวเข็นลูกที่อยู่ประถมต้นให้ได้ เกรดเฉลี่ย 4.0 แล้วไปคุยว่าลูกเราเก่งที่สุด ดูซิได้เกรดเฉลี่ย 4.0 เชียวนะ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่า การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต - สปช. สามารถวัดและตัดเกรดได้ด้วยหรือ)

หลายปีก่อนผมได้อ่านนิทานสั้นๆเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงผลเสียของการตั้งความหวังและความคาดหวังได้อย่างดี  ชาวนาพ่อลูกนอนพักผ่อนอยู่ใต้ร่มเงาไม้อันร่มรื่นในไร่อย่างอารมณ์ดี พ่อเปลยว่าปีนี้ผลผลิตทางการเกษตรดี เราคงได้ออกรถไถ่เครื่องแทนเจ้าทุยที่นับวันจะแก่ลงเรื่อยๆ พ่อบอกว่าถ้ามีรถไถ่ เราคงจะทำงานได้เร็วขึ้น มากขึ้น แถมยังไปพ่วงกับรถลากเอาของไปส่งเถ้าแก่ในอำเภอเองโดยไม่ต้องไปจ้างรถบรรทุกมาขน เจ้าลูกชายตื่นเต้นกับไอ้สรรพคุณของรถไถ่นี้เป็นอย่างมาก และ ยังบอกพ่ออีกว่า ตอนเย็นของทุกวันเค้าจะขับรถไถ่ใหม่นี้ไปตลาด ทีนี้เพื่อนๆคงอิจฉากันน่าดู หรือถ้าอยากนั่ง เค้าจะอนุญาติให้ทุกคนขึ้นมาบนรถไถ่แล้วขับไปรอบๆ (ไม่เหมือนไอ้ดำลูกผู้ใหญ่ที่ชอบห่วงของ) คงเท่ห์น่าดูเชียว ฝ่ายพ่อได้ยินอย่างนั้นก็ฟาดหัวเจ้าลูกชายซะหนึ่งทีพร้อมดุว่า เอ็งนี้เหลวไหลใหญ่แล้ว ข้าไม่มีวันให้แกเอารถคันใหม่ไปขับเล่นหรอบโว้ย ยิ่งให้เพื่อแกขึ้นมาเต็มคันรถสียิ่งถลอกปลอกเปิกกันไปหมด ข้าจะเก็บไว้โชว์นายกหรือนายอำเภอเวลามาเยี่ยมหมู่บ้านเราจะได้ดูเป็นหมู่บ้านสุดทันสมัย

เห็นไม๊ครับ ทะเลาะกัน โมโหกันไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่ทั้งพ่อและลูกลืมไปอย่างนึงก็คือ วันนี้...เวลานี้...ทั้งคู่พ่อลูกยังไม่มีรถไถ่ใหม่กันเลย และก็ยังไม่รู้ว่าจะซื้อกันเมื่อใหร่ แต่ โมโห และ ผิดหวังกันไปแล้วทั้งพ่อ และ ลูก

ความหวังไม่ใช่ไม่ดีไปทั้งหมดนะครับอย่างเข้าใจผิด แต่ต้องใช้มันอย่างพอดีมีสติ ความหวังนี่เป็นตัวผลักดันโลกให้หมุนไปข้างหน้า (ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะบอกว่าโลกหมุนรอบตัวเองก็เถอะ)

ทีนี้แล้วไอ้เจ้าความหวังดีหละครับดียังไง เอาไว้ตอนหน้าค่อยมาแลกเปลี่ยนกัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20259เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท