ทำ AAR ให้มีพลัง (ได้อย่างไร)


หลายคำถามจะถูกคลี่คลายจากผู้เข้าร่วมกันเอง

คงไม่ต้องเอ่ยถึงคำถามหลักของการทำ After Action Review เพราะคนที่ใช้การจัดการความรู้ คงคุ้นเคยอยู่แล้ว และจากการทำกระบวนการหรือสังเกตการณ์หลายๆ ครั้ง ได้พบว่ามีการนำ AAR ไปใช้อย่างแพร่หลาย แต่ผู้เข้าร่วมก็ยังมีค้างคาใจว่า AAR กับการประเมินผลการทำงาน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ทำไปก็ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรโดดเด่น เป็นเวทีให้มาแก้ตัวกันมากกว่า เสร็จแล้วก็ไม่มองหน้ากันด้วยซ้ำ ฯลฯ

จึงเขียนบันทึกนี้ เพื่อเสนอแนวทางในการใช้ AAR ให้มีพลัง ส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกฝ่าย ดังนี้

1. ให้ผู้เข้าร่วม ทบทวนความคาดหวังที่มาร่วมกิจกรรม

2. เลือกคำถามที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และบรรยากาศการเรียนรู้   หากมีเวลาน้อย สคส. จะไม่ถามทุกข้อตามทฤษฎีเป๊ะ แต่เราจะดูจากภาพรวมของกลุ่มว่าตอนนี้ต้องเติมอะไร เช่น

ถ้าบรรยากาศของกลุ่มดีมาก มีการแลกเปลี่ยนกันดีระหว่างผู้เข้าร่วม  ในกรณีนี้ เราสามารถตั้งคำถาม "สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวังคืออะไร" ได้เลย

แต่ถ้าบรรยากาศการเรียนรู้ออกมาไม่ดีนัก มีการยกปัญหามาแทรกเป็นระยะ และผู้ถามยังค้างคาใจ เพราะไม่ได้คำตอบที่ต้องการ ในกรณีนี้ เราจะเลือกคำถาม "สิ่งที่ได้มากกว่าความคาดหวังคืออะไร"

3. หากผู้เข้าร่วม มีทักษะในการนำเสนอดีถึงดีมาก (พูดเก่ง) แต่เวลามีน้อย เราจะใช้วิธีให้เขียน 1 วลี ที่วาบขึ้นมาในใจ แล้วให้แต่ละคนพูดตามวลีที่เขียนนั้น  หากยังมีเวลาเหลือ เราจะให้พูดรอบที่ 2 คือ อธิบายเพิ่มเติมได้  และรอบที่ 3 คือ ให้พูดอิสระ 

เราพบว่าการทำ 3 รอบแบบนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ทักษะในการฟัง เพิ่มเติม และพบว่า รอบที่ 3 ที่เปิดอิสระ แต่ผู้เข้าร่วมจะพูดได้กระชับ ตรงจุด มากขึ้น

4. บางครั้ง เราให้ผู้เข้าร่วมเขียนตอบทุกคำถาม แต่เลือกพูดเพียง 1 คำถาม แล้วส่งกระดาษที่เขียนคำตอบให้ทีมงานเก็บเป็นข้อมูล (เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงกิจกรรม)

5. ควรให้ผู้เข้าร่วม สะท้อนจนครบทุกคน ก่อนที่ทีมงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันทางความคิด หลีกเลี่ยงการหาคนผิด หลีกเลี่ยงการอภิปราย แต่ใช้สุนทรียสนทนามากขึ้น ใช้การชื่นชมมากขึ้น ช่วยประหยัดเวลา

เพราะเคยเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ คนที่ 1 AAR แล้วผู้ที่ถูกพาดพิงโดยสุจริต ก็พยายามอธิบาย ที่ทำไปทำมาใกล้เคียงการอภิปรายหรือไปจนถึงขั้นปะทะกันทางความคิดเลยทีเดียว

ถ้าใครเคยเข้าอบรมสุนทรียสนทนา จะเห็นว่าการชะลอการแสดงความคิดเห็น โดยในขณะที่อยากจะอธิบาย เปลี่ยนเป็นให้คนอื่นพูดคั่น 2-3 คน แล้วเราค่อยพูด จะพบว่าอารมณ์ที่อยากอธิบายมากๆ น้อยลงไปอย่างน่าแปลกใจ แต่ที่ สคส. ใช้ คือ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพูดหลังจากที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนแล้วเท่านั้น  ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของวิธีนี้คือ หลายคำถามจะได้รับการอธิบายจากผู้เข้าร่วมกันเอง เหลือคำถามน้อยมากที่ สคส. ต้องอธิบายเพิ่มเติม และหากเป็นคำแนะนำ ก็น้อมรับแต่โดยดี ไม่จำเป็นต้องพยายาม "ทำให้ดูดี" เพราะบางอย่างก็เป็นเหตุสุดวิสัย เช่น เครื่องเล่น DVD ไม่ดี ทำให้วีดิทัศน์ที่นำเสนอสะดุดตลอดครึ่งชั่วโมง  เนื่องจากมีการเปลี่ยน "ม้ากลางศึก" (เปลี่ยนเครื่องก่อนถึงเวลา 10 นาที เพราะมีปัญหาเรื่องสัญญาณเสียง จึงต้องเลือกให้มีเสียงออกลำโพง แต่สะดุดบ้าง) 

เอ๊ะ นี่กำลังพยายามทำให้ดูดี อยู่หรือเปล่า หนอ

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #aar
หมายเลขบันทึก: 202025เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2008 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"เป็นการน้อมนำให้คนได้ใช้พลังทางบวกมากขึ้น...นะคะ"

และกำไรที่ได้ คือ ดูดี ตามที่ได้ดูอย่างความเป็นจริงค่ะ...

เพราะมนุษย์เราถนัดใช้พลังด้านลบ...มากกว่าน้อมนำด้านดีมาใช้...

(^____^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท