การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่


การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่

การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ Longstay Tourism for Japanese Tourists in Chiang Mai. วารัชต์ มัธยมบุรุษ

สถานการณ์การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศไทยหรือ ภาคเหนือรวมทั้งยังสามารถเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายที่ครบในรูปแบบของการท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21 ที่องค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) (บุญเลิศ ตั้งจิตวัฒนา, 2548: 60 - 65) ได้กำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวไว้ 3 แบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยมีรูปแบบในการท่องเที่ยวประกอบด้วย 1) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (Natural Based Tourism) หมายถึงการท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ 2) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (Cultural Based Tourism) หมายถึงการท่องเที่ยวในแหล่งประวัติศาสตร์ และประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น และ 3) รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (Special Interest Tourism) หมายถึงการท่องเที่ยวที่ผสมผสานการท่องเที่ยว กับความต้องการอื่นเพิ่มเติมเช่นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism), การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (Longstay Tourism) เป็นต้น ข้อมูลการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถแยกตามรูปแบบของการท่องเที่ยวโลก ได้คือ 1) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (Natural Based Tourism) จะพบถึงร้อยละ 40 2) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (Cultural Based Tourism) จะพบถึงร้อยละ 40

3) รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (Special Interest Tourism) มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว อยู่ประมาณร้อยละ 20 
การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวนับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของรูปแบบการท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21 ที่มีวิวัฒนาการจากความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่มีพื้นฐานของการดำรงชีวิตรวมทั้งความต้องการที่ไม่เหมือนกัน แต่มีจุดมุ่งหมายที่คล้ายกันคือ การพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation) โดยที่การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวก็เป็นผลมาจากโครงสร้างของประชากรโลกมีการเปลี่ยนแปลง (Kotler, et al., 2006: 121) เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) รวมทั้งมีการพยากรณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในโลก 340 ล้านคนซึ่งในปัจจุบันมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ประมาณร้อยละ 28 โดยเฉพาะประชากรที่เกิดในปี พ.ศ.2489 – 2507 ในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่เรียกคนในยุคนี้ว่า “Baby Boomer” หรือ “Gen X“ และคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มคนที่เกษียณอายุจากการทำงานมีความสามารถในใช้จ่ายเงินเพื่อการพักผ่อน  ส่งผลทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนสูงขึ้น จากปี พ.ศ. 2539 จำนวน 1,126,800 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,422,496 คนในปี พ.ศ. 2543 คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.43 เป็นเหตุให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 ให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว โดยมีคณะกรรมการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวแห่งชาติและให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสนับสนุนการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวโดยเฉพาะ พร้อมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศเรื่องการออก วีซ่าพิเศษ (O-A) โดยมีอายุวีซ่าได้ 1 ปี ในขณะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวโดยปกติจะมีวีซ่าเพียง 1 – 3 เดือน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2549: ระบบออนไลน์) (www2.tat.or.th/longstay/thai/ index.html)

จุดประสงค์ของการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของประเทศไทยเริ่มแรก มีอยู่ 5 ประการ คือ 1) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสถานที่พำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังการใช้จ่ายสูง 2) เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย 3) เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 4) เพื่อขยายกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ 5) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ทางเลือกอื่น

กลุ่มนักท่องเที่ยวเกษียณอายุการทำงานหรือผู้สูงอายุ มีรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เฉพาะคือ 1) เน้นการท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพดี 2) มีความสามารถในการซื้อบริการในราคาสูง ขณะเดียวกันคำนึงถึงความคุ้มค่ามาก 3) ความมั่นใจด้านความปลอดภัย 4) ความมั่นใจด้านบริการ ดูแลสุขภาพที่ดี และ 5) กิจกรรมที่เหมาะกับวัยและสุขภาพ อีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ต้องกังวลต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต จึงมีความละเอียดรอบคอบในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการรองรับตลาดเหล่านี้จึงต้องมีการศึกษาในรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีการเตรียมการที่ดี
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้คำจำกัดความของนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว ว่า หมายถึง นักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ในเมืองไทยเกิน 30 วันขึ้นไป โดยจำแนกเป็น 4 ประเภทคือ 1) นักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว โดยเฉพาะฤดูหนาว รวมทั้งผู้ที่มารักษาสุขภาพในเมืองไทยเป็นครั้งคราว 2) นักท่องเที่ยวกลุ่มหลังเกษียณที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเน้นกลุ่มที่มีสุขภาพดีและช่วยเหลือตนเองได้ 3) กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มาศึกษาภายในประเทศไทย และ 4) กลุ่มนักกีฬาที่เข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมในประเทศไทย (กระทรวงการต่างประเทศ, 2549: ระบบออนไลน์) (www.mfg.go.th/web/1184.php) แต่อย่างไรก็ตาม องค์การท่องเที่ยวโลก ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพำนักระยะยาวไว้แน่นอน ว่าต้องพำนักนานเท่าใดเพียงกำหนดการอยู่อย่างน้อย 90 วัน (www.unwto.org) 
คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวแห่งชาติได้กำหนดจังหวัดและพื้นที่ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในระยะแรกไว้ 5 แห่ง(สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2545 : 35 - 43) ได้แก่ 1) จังหวัดเชียงใหม่ 2) จังหวัดสุโขทัย 3) หัวหิน-ชะอำ 4) จังหวัดกาญจนบุรี และ5) จังหวัดหนองคาย 

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้สำรวจข้อมูลลงวันที่ 1 มกราคม 2548 เกี่ยวกับ ชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวในเมืองไทย มากกว่า 90 วัน ถึง 1 ปี โดยมิได้นับเรื่องการทำงานในเมืองไทย เป็นชาวอเมริกา จำนวน1,409 คน ชาวญี่ปุ่น 719 คน ชาวอังกฤษ 574 คน และชาติอื่นๆรวม 2,556 คน(จำนวน 62 ชาติ) โดยมีเหตุผลที่หลากหลาย อาทิเช่น การใช้ชีวิตบั้นปลาย การท่องเที่ยว การอยู่กับครอบครัวที่เป็นคนไทย รวมทั้งการดูแลบุตรที่เล่าเรียนในเมืองไทย หรือ เป็นอาสาสมัครในองค์กรต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ให้เหตุผลเพื่อการใช้ชีวิตบั้นปลาย หรือพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีจำนวน 387 คนโดยได้รับวีซ่าพิเศษ (O-A) จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, 2549: ม.ป.น) และในปีพ.ศ. 2550 มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ให้เหตุผลเพื่อการใช้ชีวิตบั้นปลายในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 533 คน

ตารางที่ 1 ความเปลี่ยนแปลงจำนวนชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ ภูมิภาค/ ปี 1997 2000 2003 2006 ทั่วโลก 782,568 คน 811,712 คน 911,062 คน 1,063,695 คน เอเชีย 20.7% 20.1% 22.7 % 26.1% อเมริกาเหนือ 39.8% 40.9% 40.6% 39.0% ยุโรปตะวันตก 16.9% 17.5% 16.8% 16.4% Oceania 4.9% 6.4% 6.9% 7.3% ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนา โอกาสการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวสำหรับชาวญี่ปุ่น (2550)

ตารางที่ 2 จำนวน นักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวชาวญี่ปุ่น ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน/ปี 2548 2549 30 ตุลาคม 2550 เชียงใหม่ 271 คน 387 คน 533 คน ที่มา : สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (2550) * การนับเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ได้รับ Visa O-A เท่านั้น

คุณจุนโกะ โยโกตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาทางวิชาการ ในวาระโอกาสการครับครบความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 120 ปี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมโลตัสบางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ไว้อย่างน่าสนใจคือ ในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี 1997 – 2006 จำนวนของชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีอัตราเพิ่มทั่วโลกมากถึง 38% เมื่อพิจาณาในแต่ภูมิภาคแล้ว พบว่าภูมิภาคเอเชีย- Oceania(เช่นในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) มีอัตราเพิ่มสูงสุด คือ เพิ่มจาก สองแสนคนในปี 1997 ถึงสามแสนหกหมื่นคนในปี 2006 อัตราเพิ่ม80% จำนวนชาวญี่ปุ่นพำนักอยู่ในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น 80 % เท่ากับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย- Oceania สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 3.3 เท่า โดยเป็นตัวเลขที่รวมผู้พำนักระยะยาว, ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นและครอบครัวที่มาขึ้นทะเบียนกับสถานกงสุลใหญ่เท่านั้น และมีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนผู้พำนักระยะยาวชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2007 - 2010 ซึ่งมีการคาดว่าจะมีชาวญี่ปุ่นที่จะถึงอายุเกษียณ 60 ปี ประมาณ 7 ถึง 8 ล้านคน มีการคาดหมายในจำนวนนี้จะมีบางส่วนจะใช้ชีวิตในต่างประเทศซักระยะ 3 หรือ 6 เดือนต่อปี โดยที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากจะมาพำนักในจังหวัดเชียงใหม่ แต่สถานที่ที่ผู้พำนักระยะยาวจะเลือกจะมีที่ ฮาวายในอเมริกา, แวนคูเวอร์ในแคนนาดา, ซิดนีย์และโกลดโคซทในออสเตรเลีย, ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซีย ส่วนในไทยก็มี ภูเก็ต ชะอำ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นต้น จากสถานที่พำนักระยะยาวหลายเมืองที่ชาวญี่ปุ่นเลือกนี้เองจึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นจำเป็นเลือกปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการดำรงชีวิตปั้นปลาย เพราะการที่ถูกต้องก็ทำให้ชีวิตที่เหลือมีความสุข แต่ถ้าเลือกแล้วเกิดปัญหา จะไม่ใช่แค่ความเสียใจส่วนบุคคล ยังรวมถึงผลเสียไปถึงด้านทรัพย์สินและสุขภาพ การที่ชาวญี่ปุ่นที่เลือกมาพำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ชีวิตที่นี่อย่างมีความสุขและมีความรู้สึกว่าการตัดสินใจเลือกเชียงใหม่ถูกต้อง ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นรวมถึงตัวผู้พำนักระยะยาวเอง ต้องพยายามแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่างๆ ร่วมกัน และมีเหตุผลที่เลือกจังหวัดเชียงใหม่ คือ1) ความปลอดภัย 2) การรักษาพยาบาล 3) การบริการของภาครัฐ 4) ภาษาและข้อมูลที่สื่อสาร และ5) บทบาทหรือคุณค่าต่อสังคม (การเป็นอาสาสมัครในการทำกิจกรรมต่างๆ ของเชียงใหม่) สิ่งสำคัญในการท่องเที่ยวพำนักระยาวของชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่คือ การสื่อสารระหว่าง ผู้ใช้บริการกับ ผู้ให้บริการที่ไม่สามารถเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย รวมถึงความไว้วางใจในการให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามยังพบจุดแข็งของการก่อเกิดการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ คือ การที่มีวัฒนธรรมที่ดีงาม การเคารพซึ่งกันและกัน ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูมิอากาศที่บริสุทธิ์ อาหารการกินดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ค่าครองชีพไม่แพง มีระบบการรักษาความปลอดภัยหรือการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อประสบปัญหา และมีมาตรฐานทางการแพทย์ที่สูง โดยสรุป โอกาสของการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ จะโอกาสสูงที่จะทำให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเหตุผลนานาประการ รวมทั้งความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐ ภาคเอกชน ในประเทศไทย และการสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในองค์รวมกลับพบว่า หน่วยงานหลายหน่วยงานให้ความสนใจ สนับสนุนต่อการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว โดยมุ่งเพียงผลประโยชน์ของตนเอง เปรียบเสมือนการแข่งขันกันเอง มิได้รวมตัวเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน ภาคเอกชนก็แสดงให้เห็นภาครัฐมิได้ช่วยอย่างจริงจัง ภาครัฐเองก็มองเอกชนว่าเมื่อทำอะไรก็ทำไม่สนใจกฎระเบียบจะทำให้เกิดปัญหาซึ่งภาครัฐเองจะต้องเข้าแก้ไขปัญหาให้ทุกครั้งไป แต่หากทั้งสองฝ่ายได้มีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยมีแนวความคิดที่ทุกคนฝ่ายอยู่ในระนาบเดียวดันไม่มีใครสั่งการใคร ไม่มีใครเป็นเจ้านายใครทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องการทำเหมือนกัน รวมมือกันในการทำงานเป็นลักษณะเครือข่ายแต่อยู่ภายใต้การประสานงานจากคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวประสานงานระดับจังหวัด โดยแนวความคิดมาจากหลักการบริหารการท่องเที่ยวที่ประกอบด้วย การวางแผน(Planning) การจัดองค์กรหรือเครือข่าย (Organizing หรือ Networking) การควบคุมประเมิน ตรวจสอบดูแล (Control Assess และCheck) และการประสานงาน (Coordinate) รวมถึงแนวความคิดการสร้างเครือข่าย อีกทั้งการจัดองค์กรภายในอุตสาหกรรมกาท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ผู้ประกอบการเอง ก็ยังพบปัญหาเรื่องความสามารถของผู้ประกอบการเองที่จะรองรับการบริการนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ซึ่งหากยังคงใช้วีธีการบริการนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เหมือนกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ก็จะเกิดปัญหาในการบริการที่ไม่ตรงกับความต้องการ รวมทั้ง นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นผู้สูงอายุกับนักท่องเที่ยวปกติก็ไม่เหมือนกัน ในเรื่องความสามารถของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวสามารถแบ่งออกเป็น สอง ส่วนคือ ส่วนของเจ้าของที่พัก หรือเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว กับ ส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว (บริษัททางการท่องเที่ยว) ในส่วนของเจ้าของที่พัก หรือเจ้าของแหล่งจะมีปัญหาทางด้านการบริการ การต้อนรับ การศึกษาด้านธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ว่าเป็นอย่างไร ส่วนทางด้านบริษัททางการท่องเที่ยว จะมีปัญหาหลักคือการบริการนักท่องเที่ยว การทำตลาด และการจัดหาแหล่งที่พักที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น โดยปกตินักท่องเที่ยวจะไม่นิยมพักตามโรงแรม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่จะพัก บ้าน ร่วมกับคนไทย หรือ รีสอร์ต หรือ อพาร์ตเมนท์ เป็นต้น หน่วยงานภาครัฐ ควรจะต้องสร้างระบบการบริการสำหรับนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวโดยเฉพาะ เช่นทางด้านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้จัดทำช่อง หรือ เส้นทางการติดต่อขอวีซ่า( O-A) ไว้โดยเฉพาะให้แก่นักท่องเที่ยว ส่วนหน่วยงานอื่นควรมีล่ามภาษาญี่ปุ่นคอยช่วยสื่อสารระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ รวมถึงการจัดทำฟอร์มเอกสารที่เป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเชียงใหม่ส่วนใหญ่สามารถติดต่อพูดภาษาไทยได้อย่างง่ายๆ ใช้ในชีวิตประจำวันแต่ไม่สามารถอ่านออก หรือเขียนได้ (พูดได้อย่างเดียว) สำหรับหน่วยงานของภาครัฐควรจำต้องกำหนดนโยบาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อบุคคลกรหรือเจ้าหน้าสามารถดำเนินการได้ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือเขต 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์กีฬา ท่องเที่ยวและนันทนาการจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว โรงพยาบาลเอกชน บริษัทการท่องเที่ยว หรือ สถานที่ออกกำลังการ (เช่น กอล์ฟ) ควรมีสร้างความร่วมมือที่เป็นลักษณะเครือข่ายภายใต้การจัดตั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่รวมถึง เป็นศูนย์กลางในการบริการและแก้ไขปัญหา (One Stop Service) ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ประสบปัญหากับชาวญี่ปุ่นที่ท่องเที่ยวพำนักระยะยาว นอกจากนี้ ควรมีการอบรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้เข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือความต้องการในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว รวมทั้งการบริการและการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย

แผนยุทธศาสตร์ / นโยบายต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ในการรองรับระบบบริการสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวญีปุ่นที่พำนักระยะยาว เมื่อย้อยกลับไปวิเคราะห์ตามหน่วยงานต่างของภาครัฐและเอกชนพบว่า นโยบายของหน่วยงานจะเป็นนโยบายแต่ละหน่วยงานไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลย ขาดการประสานงานในการวางกรอบนโยบายที่ชัดเจน ภาครัฐ โดยทางสาธารณสุขและโรงพยบาลภาครัฐอาจจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องแต่มองภาพไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากการรักษาโรคของคนไทยเอง แทบจะทำไม่ทันอยู่แล้ว รวมทั้ง ทางภาครัฐไม่สามารถจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ เพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องประกอบด้วยบุคคลากรทางแพทย์ พยาบาล ระบบธุรการ ระบบสนับสนุน ที่เข้าใจ ภาษาและวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นหน่วยงานภาครัฐ ถ้าทำได้จะต้องจ้างบุคคลกรเพิ่มในฐานะลูกจ้าง (อาจจะเกิดความไม่มั่นคงของการดำรงชีวิต) ถ้ามองเฉพาะจำนวนเตียง ที่พัก จำนวนพยาบาล จำนวนแพทย์ ความสามารถของแพทย์เฉพาะทาง ประเทศไทยมีความสามารถสูง รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้รับการยอมรับ ซึ่งถ้าโรงพยาบาลของภาครัฐได้จัดทำทางพิเศษเพื่อนักท่องเที่ยวแล้ว การเข้าคิวคอยของคนไทยจะเป็นอย่างไร ?? ภาคเอกชน เมื่อได้สัมภาษณ์ผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนในเชียงใหม่ พบว่าโรงพยาบาลมีความสามารถเพียงพอทั้งทางด้านระบบธุรการ ระบบสนับสนุน แพทย์ พยาบาล เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และในแต่ละโรงพยบาลเอกชนได้มีระบบการประสานงานกันอยู่แล้ว รวมทั้ง

SWOT Analysis ของจังหวัดเชียงใหม่

การวิเคราะห์ภาพของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น พบว่า

  1. สถานที่ท่องเที่ยว จุดแข็ง จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก หลากหลายสามารถเลือกให้เหมาะสมกับ เพศ อายุ และสามารถตอบสนองความต้องการได้ตลอดปี สนราคาในการใช้บริการถูกเมื่อเทียบกับนานาชาติ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกัน รวมทั้งได้จัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับเวลาที่ต้องการเที่ยว และเป็นการท่องเที่ยวที่มีลักษณะของ Looping System จุดอ่อน จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวใดที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โอกาส จังหวัดเชียงใหม่ มีการพัฒนาบุคคลากรทางการท่องเที่ยวที่สามารถพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นจำนวนมาก สามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว อุปสรรค จังหวัดเชียงใหม่ ขาดงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการที่มีหลาประเทศได้เสนอตัวเป็นคู่แข่งในการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวโดยชูเรื่องราคาและแหล่งท่องเที่ยวที่ได้การรับรองเป็นมรดกโลก

  2. กิจกรรมการท่องเที่ยว จุดแข็ง จังหวัดเชียงใหม่มีสนามกอล์ฟ และสถานที่ออกกำลังกายได้มารตฐาน จำนวนมาก อีกทั้งราคาค่าใช้บริการเท่ากับคนไทย แต่ในบางแห่งถูกกว่าคนไทย จุดอ่อน จังหวัดเชียงใหม่บุคคลากรในสนามกอล์ฟ กับสถานที่ออกกำลังกาย ไม่สามารถพูดภาษาญีปุ่นได้ รวมทั้งป้ายคำแนะนำต่างๆ ไม่มีภาษาญี่ปุ่น โอกาส จังหวัดเชียงใหม่มีกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่มีราคาเหมาะสม นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้บริการได้ง่ายและสามารถจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมต่อเพศ อายุ รวมทั้งกลุ่มของนักท่องเที่ยว อุปสรรค จังหวัดเชียงใหม่ต้องมีการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเพิ่ม ในอนาคตอันใกล้และสร้างกิจกรรมใหม่ที่รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมทั้งไม่มีหน่วยงานที่รองรับอย่างจริงจัง

  3. สถานที่พำนัก จุดแข็ง จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนสถานที่พำนักจำนวนมากทั้ง คอนโดมิเนียม อาร์พาตเม้นท์ รีสอร์ท บ้านเช่า รวมทั้งอัตราค่าเช่า หรือซื้อ ได้ในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งทำเลที่ตั้งก็เหมาะสมต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว จุดอ่อน สถานที่พำนักจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่ตรงกับ ความต้องการของนักท่องเที่ยว ในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบโทรทัศน์ที่มีช่องรับจากญี่ปุ่น ระบบ Hi-speed Internet ที่มีเร็วมากกว่าปัจจุบันที่มีความเร็ว แค่ 2 Mbs. รวมทั้งพนักงานในสถานที่พักบางแห่งไม่สามารถติดต่อเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ โอกาส จังหวัดเชียงใหม่สามารถพัฒนาระบบโทรทัศน์ และ Hi-speed Internet โดยเป็นความร่วมมือกับเอกชน ได้ อุปสรรค ผู้ประกอบการทางด้านสถานที่พัก ที่ไม่ใช่โรงแรม ไม่มีองค์กรที่รองรับเพื่อพัฒนา (เช่นสมาคม) ความสามารถของผู้ประกอบการ หรือพนักงานผู้ให้บริการ ขาดการฝึกอบรมที่ดี

  4. อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต จุดแข็ง จังหวัดเชียงใหม่มีร้านอาหาร รวมถึงสถานที่ขายอาหาร หรือที่สิ่งมาปรุงมาทำอาหารญี่ปุ่นจำนวนมาก และราคาไม่แพง เหมาะสมและมีสถานที่ตั้งไม่ห่างไกลจากสถานที่พัก สินค้าหลายชนิดที่มีขายในญี่ปุ่นนำเข้ามาจากเมืองไทยทำให้ ราคาสินค้าไม่ได้แพง จุดอ่อน ราคาสินค้าบางอย่างที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น (ที่ผลิตเองไม่ได้ในประเทสไทย) โอกาส มีร้านอาหารและสถานที่ขายเครื่องปรุง อาหารสดสำหรับนักท่องเที่ยวที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมีสาเหตุที่มาจากชาวเชียงใหม่นิยมทางอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น อุปสรรค จังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ห่างไกลกับทะเลทำให้อาหารทะเลที่เป็นเชื่ฃนชอบของชาวญี่ปุ่นไม่สดเท่าที่ต้องการ

  5. สถาพยาบาล จุดแข็ง จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนสถานพยาบาล แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว จุดอ่อน จังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายทางการรองรับนักท่องเที่ยวไม่ชัดเจน ขาดการประสานงานและเจ้าภาพ และการที่อยู่ในระบบราชการทำให้ต้องรอหัวหน้าคนเดียวในการตัดสินใจ โอกาส โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่หากสามารถทำสัญญากับการประกันสุขภาพทางประเทศญี่ปุ่นได้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม อุปสรรค ขาดเจ้าภาพที่ทำงานอย่างแท้จริง ที่มิใช้ทำแต่หน้า หรือทำตามคำสั่งเท่านัน

  6. หน่วยงานอื่น ๆของภาครัฐ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , สถานีตำรวจ สำนักงานขนส่ง) จุดแข็ง จังหวัดเชียงใหม่มีหน่วยงานจำนวนมาก สามารถให้รองรับการบริการได้อย่างดี รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐบางแห่งได้มีแบบฟอร์มเป็นภาษาญี่ปุ่น จุดอ่อน หน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ ขาดการประสานงาน ขาดเจ้าภาพส่วนใหญ่ชอบโยนไปโยนมา ทำให้นักท่องเที่ยว และหน่วยงานส่วนใหญ่ไม่มีแบบฟอร์มภาษาญี่ปุ่น หรือพูดภาษาญี่ปุ่นได้ โอกาส หากหน่วยงานจังหวัดเชียงใหม่มีการประสานงานและสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ จะทำให้เกิดความพึ่งพอใจของนักท่องเที่ยวได้ดี และจะทำให้มีนักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย และเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มได้ อุปสรรค จังหวัดเชียงใหม่ควรมีการพัฒนา การอบรม การติดต่อสื่อสารให้แก่พนักงานผู้ให้บริการ

ความพร้อมของนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ที่จะลงทุนในธุรกิจ Long Stay ทั้งในปัจจุบันและอนาคต งบประมาณ จังหวัดเชียงใหม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่พร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ควรได้การสนับสนุนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ บุคคลากรและความสามารถของผู้ประกอบการ จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีความสามารถ และพร้อมที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เสมอ เพียงแต่ขาดโอกาส หรือช่องทางในการทำธุรกิจ รวมทั้ง การทำตลาดที่ต้องได้รับการสนับสนุนได้ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการ ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ ในการดำเนินงานธุรกิจแต่ความได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเสมอ เพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการบริหารจัดการตลอดเวลา สถานที่ สถานที่ของจังหวัดเชียงใหม่เหมาะสมทั้งสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ระดับมลภาวะอยู่ในระดับดี ระบบการคมนาคมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับดีเดินทางได้ง่าย สะดวกแลอดภัย

กฎเกณฑ์ / ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ Long Stay

กฎหมาย ของทางการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กฏหมายสถานที่พำนัก (โรงแรม) กฏหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 2551 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ ของเทศบาล กฏหมายทางภาษีอากร เป็นต้น

ความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือเขต 1, สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ จังหวัดเชียงใหม่ , BOI, เทศบาล นครเชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่, หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่, สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่, สาธารณสุข หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “เชียงใหม่จัดการลองสเตย์” “Chiangmai One Stop Service Longstay Management (COSSLM)” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางบริหารจัดการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว รวมทั้ง การให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทุกด้านในลักษณะของ Call Center โดยเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร เพื่อจะได้ไม่ได้ซ้ำรอยของ บริษัทไทยจัดการลองสเตย์ (www.Thailongstay.co.th) โดยการบริหารงานเป็นลักษณะคณะกรรมการ

ภาพของจังหวัดเชียงใหม่ ในอนาคตภายหลังกรอบความตกลง JTEPA บังคับใช้

สถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ น่าจะมีการขยายดัวจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่จะมีการขยายตัวเนื่องจากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวนั้นจะเกิดการหมุนของเงินในระบบถึง 10 เท่า (จากการศึกษาเรื่องการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจไทย) แต่ต้องระวังที่จะไม่ให้เชียงใหม่มีภาพลักษณ์เป็นนิคมของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่จะมีการพัฒนาที่รองรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่คงอยู่ตลอดไป

ปัญหาอุปสรรค (ข้อเสนอแนะ) 1. ควรพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ 2. ควรพัฒนาความสามารถในการติดต่อสื่อสารของพนักงานผู้ให้บริการ 3. ควรหาแหล่งเงินลงทุน ที่มีอัตราดอกเบี้ย ที่ถูก 4. ควรจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น “เชียงใหม่จัดการลองสเตย์” “Chiangmai One Stop Service Longstay Management (COSSLM)” 5. ควรจัดแหล่งข้อมูลทางวิชาการ การตลาด การจัดการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ ชื่อ นายวารัชต์ มัธยมบุรุษ

ตำแหน่ง       อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา 

นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาการบริหารศาสตร์(การบริหารอุตสาหกรรมบริการ) วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ งานวิจัย รูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ในจังหวัดเชียงใหม่

บทความ      1. แนวโน้มการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่
(2549-2550) 2. โอกาส กับการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่
        3. เหลียวหลังแลหน้าการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่

ในโอกาส ความสัมพันธ์ 120 ปี ประเทศไทย – ประเทศญี่ปุ่น 4. การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่

สถานที่ทำงาน    สาขาวิชาการท่องเที่ยว สำนักวิชาวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา จังหวัดพะเยา 56000

ติดต่อ      ที่ทำงาน    054-466-666 ต่อ1510 
        มือถือ 081-6713380 , 081-8844818
        Email:  [email protected], [email protected] 
        www.warach.org 

หมายเลขบันทึก: 201814เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท