ฝึกแต่งโคลง ๔ สุภาพ (ภาค ๒)


การจะแต่งบทประพันธ์ใดนั้น ต้องเกิดความอยากจะแต่งเสียก่อน

ฝึกแต่งโคลง ๔ สุภาพ  (ภาค ๒)

 

            ครั้งที่แล้วพอทราบความเป็นมาของโคลง รูปแบบฉันทลักษณ์และความไพเราะของโคลงแล้ว    คราวนี้เราลองมาฝึกแต่งโคลง ๔ สุภาพเล่นๆ พอเพลินใจก็แล้วกัน  ไม่ยากครับ  ลองฝึกตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

 

        ขั้นที่ ๑  เกิดแรงบันดาลใจ

                   การจะแต่งบทประพันธ์ใดนั้น ต้องเกิดความอยากจะแต่งเสียก่อน เพราะถ้าไม่อยากแต่งแล้วก็จบกัน   และเหตุที่จะทำให้เกิดความอยากแต่งโดยมากจะต้องเกิดแรงบันดาลใจ คือ มีเหตุอันสะเทือนใจ กระทบใจจนอยากจะระบายความรู้สึกภายในออกมา  เหตุปัจจัยที่ว่า อาจจะเกิดจากได้พบได้เห็นสิ่งอันน่าสะเทือนใจ หมายถึง ดีใจ เสียใจ โศกเศร้า เวทนาสงสาร  ฮึกเหิม ปลื้มใจ ตื้นตันใจ ภาคภูมิใจ ก็เรียกว่าสะเทือนใจได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น บรรดานิราศทั้งหลาย ที่กวีพบเห็นสิ่งใดก็มักจะหวนระลึกนึกถึงนางหรือบุคคลอันเป็นที่รัก ที่กวีจากมา  เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงรำลึกถึงพระราชินีนาถจึงทรงพระราชนิพนธ์โคลงนิราศพระราชทานไว้ ๔๔ บท สำนวนโวหารไพเราะยิ่ง เช่น

                    ราตรีกรมอกอั้น                อิงเขนย

           คิดขนิษฐเคียงเคย                     ขาดเคล้า

           จักหลับมิหลับเลย                      หลายทุ่ม          ยามนา

           ตราบอรุณรุ่งเจ้า                         เร่งร้อนทรวงกระศัลย์

 

                    สี่วันเรียมจากเจ้า               เยาวมาลย์        แม่เอย

           ยลแต่ท้องคคณานต์                    กับน้ำ

           เกาะแก่งแห่งละหาร                    เหงห่าง            ห่างแฮ

           แลบ่ชัดสนัดซ้ำ                          เมื่อสิ้นสบสถาน

(เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ,

 ไกรฤกษ์  นานา : ๒๕๕๑)

 

               ตอนผมเดินทางไปเยี่ยมคุณแม่ที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลลพบุรี โดยขากลับขึ้นรถไฟด่วนพิเศษ (นอน)  ออกจากลพบุรี ๒ ทุ่มครึ่ง (ความจริงออก ๒ ทุ่มตรงแต่รถไฟเสียเวลา)  ผมอยู่เตียงบนครับ นอนไม่หลับทั้งคืนเพราะรถไฟค่อนข้างโคลงเคลงและเสียงค่อนข้างดัง  มิหนำซ้ำยังช้ามาก เสียเวลาไปเกือบ ๔ ชั่วโมง ตามกำหนดน่าจะถึงเชียงใหม่ ๗ โมงเช้า แต่ช้าไปจนถึง ๑๑ โมง  ระหว่างอยู่บนรถไฟก็เกิดความรู้สึกทั้งหงุดหงิด ทั้งเวทนาตัวเองที่ต้องมาติดแหง็กอยู่บนรถไฟที่ ๓๐ ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้พัฒนาอะไรดีขึ้นเลย ผมก็เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากแต่งโคลง ๔ สุภาพ เพื่อระบายความรู้สึกนั้นออกมาในขณะนั้น 

              แรงบันดาลใจนั้นอาจเกิดขึ้นเองหรือจงใจสร้างขึ้นก็ได้ครับแต่ถ้าเป็นอย่างแรกน่าจะดีกว่า เพราะเป็นความต้องการของเราที่เกิดขึ้นจริงๆ

แรงบันดาลใจของท่านคือ......................................................................

.............................................................................................................

 

         ขั้นที่ ๒  คิดประเด็นเรื่องทั้งหมดที่จะเขียน

             

                       ขั้นนี้สมองของเราต้องทำงานหน่อยครับ ต้องคิดประเด็นเรื่องที่อยากจะเขียน (Concept)   เช่น ตอนผมเกิดอารมณ์อยากจะแต่งโคลง ๔ สุภาพ ระบายความรู้สึกของตน  ผมก็คิดทันทีว่า  ประเด็นที่อยากจะเขียนคือ

ความล่าช้าของรถไฟไทย และข้อบกพร่องในด้านตัวรถไฟที่เก่าแก่และบริการบนรถไฟที่ควรจะปรับปรุงเสียที

                      ผมไม่ได้มุ่งหมายโจมตีรถไฟไทยนะครับ เพียงแต่ตอนนั้นเกิดอารมณ์เช่นนั้นจริงๆ  และมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการรถไฟเสียทีเท่านั้น

ประเด็นเรื่องที่ท่านจะเขียนคือ....................................................................

..................................................................................................................

 

           ขั้นที่ ๓  คิดประเด็นย่อยในแต่ละบท

 

                   ในขั้นนี้เราต้องคิดต่อไปว่า เรื่องทั้งหมดที่จะแต่งเป็นโคลง ๔ สุภาพ จะแต่งสักกี่บท  ผมคิดตอนนั้นว่าอยากจะแต่งสัก ๕ บท  เมื่อคิดแล้วก็ต้องคิดต่อไปว่าในแต่ละบทจะเขียนประเด็นย่อยอะไร ลองวางประเด็นแต่ละบทออกมาก่อนครับ

ตัวอย่าง   บท ๑   รถไฟไทยช้าจริงหนอ

              บท ๒  เตียงบนโคลงเคลง เสียงดังมาก นอนไม่หลับ

              บท ๓  รู้สึกกระสับกระส่าย อึดอัด เมื่อยขบ

              บท ๔  ห้องน้ำเก่า  เหม็น สกปรก น้ำรั่วนองพื้น

              บท ๕  เข็ดแล้ว จะไม่ขึ้นรถไฟอีกเลย

ประเด็นเรื่องย่อยแต่ละบทที่ท่านจะเขียนคือ.........................................

............................................................................................................

 

        ขั้นที่ ๔   ขยายประเด็นย่อยมาจัดวางในแต่ละบาท แต่ละบท

 

                     ในขั้นนี้นำเอาประเด็นย่อยแต่ละบท มาขยายเป็นข้อความธรรมดาก่อน โดยจัดวางตามลักษณะของโคลง ๔ สุภาพ คือ ๑ บท มี ๔ บาท  บาทละ ๒ วรรค ตัวอย่างเช่นในบทที่ ๑ ของผม ผมจะจัดวางอย่างนี้

                        ๑ รถไฟช่างเชื่องช้า                    ราวกับคลาน

                        ๒ จะถึงตามกำหนดหรือไม่            เขาคงไม่สนใจ

                          ะบอกให้เราใจเย็น                  ไม่ให้เครียดหรืออย่างไร

                       ๔ ไม่รู้หรือว่าถ้าขึ้นรถไฟไทย           ต้องไม่รีบไม่ร้อน

                        ตรวจสอบดูว่าเมื่อขยายแล้วตรงกับประเด็นย่อยที่วางไว้หรือไม่ด้วยครับ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ้างนิดหน่อยนะครับ

ท่านจัดวางประเด็นแต่ละบท แต่ละบาทไว้ดังนี้.....................................

............................................................................................................  

 

            ขั้นที่ ๕  ปรับแต่งข้อความให้เข้ากับฉันทลักษณ์ของโคลง        

              

                           ขั้นนี้ให้พิจารณาปรับแต่งข้อความให้เป็นไปตามลักษณะบังคับของโคลง ๔ สุภาพ ได้แก่  การเลือกสรรคำที่มีความหมายตรงตามข้อความมาใช้โดยวรรคหน้าแต่ละบาทบังคับไว้ ๕ คำ   วรรคหลัง ๒ คำ  เฉพาะวรรคหลังบาทที่ ๔ บังคับ ๔ คำ และอาจมีคำสร้อยได้อีก ๒ คำ ในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ และยังต้องพิจารณาคำบังคับเอก ๗ โท ๔  นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาคำสัมผัสสระบังคับในตำแหน่งบังคับต่างๆ  ดังที่ได้อธิบายไว้แล้ว   ผมขอเสนอแนะว่า ควรมีแผนผังบังคับของโคลง ๔ สุภาพมาไว้ใกล้ๆ ตัวด้วยจะได้ไม่หลง

                      0   0 /  0   เอก   โท              0      0                   ( 0   0 )

                 0   เอก  /   0    0     0                เอก  โท

                 0   0   /   เอก   0     0                 0     เอก                ( 0   0  )

                 0  เอก /   0      0    โท               เอก   โท  /  0    0    

 

0     สีแดง       คือตำแหน่งบังคับสัมผัสสระ

โท   สีน้ำเงิน    คือตำแหน่งบังคับสัมผัสสระ  และ คำโทบังคับ 

เอก  โท    สีดำ   คือตำแหน่งบังคับคำเอก คำโท

0     สีเขียว        คือ  คำสร้อยที่อาจมีหรือไม่ก็ได้

 

                การปรับแต่งข้อความเป็นคำโคลงมีเทคนิคอยู่ที่

               ๑. การเลือกสรรคำที่มีความหมายกว้าง ลึก  รวบคำไว้ได้หลายๆ คำ 

               ๒. คำที่ออกเสียงพยางค์ลงจังหวะพอดีกับจังหวะของโคลง

                  (ดูเครื่องหมาย / ที่แบ่งจังหวะโคลงไว้  หากคำใดออกเสียงพยางค์เกินจังหวะจะไม่ไพเราะ)

              ๓. เราสามารถตัดคำบางคำให้ตรงตามจังหวะของโคลงได้ เช่น  กระฉอก ตัดเป็น ฉอก คำเดียวได้แต่ต้องพอมีเค้าคำเดิมที่ผู้อ่านพอเดาได้  (ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง จะใช้เมื่อหมดทางจริงๆ)

              ๔. เลือกคำที่มีเสียงวรรณยุกต์ตามลักษณะความนิยมของโคลงที่ไพเราะ

              ๕. ปรับแต่งแล้วลองอ่านดังๆ หรืออ่านทำนองเสนาะดูว่าจะมีเสียงคำไพเราะลื่นไหลหรือไม่ ถ้าเสียงติดขัดก็ปรับคำให้มีวรรณยุกต์ขึ้นลงได้ไพเราะขึ้น

               

    ตัวอย่างโคลงที่ผมปรับแต่งแล้ว

                        รถไฟ/ช้าแช่มช้า                คืบคลาน

                  ถึงบ่/ถึงกี่นาน                          ก้อชั่ง                (เลียนเสียง ก็ช่าง)

                ช้าหน่อย/ค่อยเบิกบาน              อย่าเครียด       นะพ่อ

                ไป่เร่ง/ไป่รีบรั้ง                          รู้ไว้ ร.ฟ.ท.

 

ท่านปรับแต่งข้อความเป็นโคลงไว้ดังนี้

........................................................................................................

             

           ขั้นที่ ๖  ตรวจสอบความถูกต้อง และพิจารณาเพิ่มความไพเราะของโคลง

 

                     ขั้นนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก เพราะเป็นการตรวจสอบว่าเราแต่งถูกต้องตามลักษณะบังคับของโคลงครบถ้วนหรือไม่  และจะสามารถทำให้ไพเราะเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่  บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแต่งคำอีกครั้งเพื่อให้เข้ากับลักษณะที่เราต้องการ

ท่านตรวจสอบความถูกต้องและเพิ่มความไพเราะไว้ดังนี้

.........................................................................................................

 

แต่งโคลงเล่นบนรถไฟขบวนที่ ๑๑  ลพบุรี เชียงใหม่   (๑๒  สิงหาคม ๒๕๕๑)

                   รถไฟช้าแช่มช้า            คืบคลาน

            ถึงบ่ถึงกี่นาน                         ก้อชั่ง

            ช้าหน่อยค่อยเบิกบาน              อย่าเครียด      นะพ่อ

            ไป่เร่งไป่รีบรั้ง                        รู้ไว้ ร.ฟ.ท.

 

                   นอนเตียงตังตั่งเต้น        ตึงตึง

           เงียบบ่เงียบกังกึง                     ค่อนเช้า

           ข่มตาหลับนิดหนึ่ง                    เดี๋ยวตื่น

           ใครบ่เคยขึ้นเข้า                       บ่รู้รถไฟ

                  กระสับกระส่ายแสร้ง         หลับตา

          อึดอัดไต่ลงมา                          ยืดเส้น

          โยกเยกมุ่งมรรคา                       ห้องฉี่

          สายส่ายไป่จับเน้น                      ฉอกน้ำสาดเซ็น

 

                  ห้องน้ำสกปรกแท้            ทนเอา

           ขอบคราบเกาะแน่นเนา              ถ้วนที่

           จะหยิบจะจับเล่า                       เชื้อโรค       ซ่อนนา

           ฉุนกลิ่นน้ำรั่วนี้                          ท่วมพื้นเนืองนอง

 

                   ทรมานยิ่งหลาบแล้ว          รถไฟ           แท้เฮย

              เก่าซ่อมเสียเพลียใจ               ยิ่งแท้

              ซ่อมเบรกซ่อมแอร์ไย              เสียบ่อย

              ช้าแล่นช้าหลีกแล้                  หลบแล้วรถไฟ

 

              รับ  การแต่งโคลงเล่นพอเพลินใจตามที่ได้เสนอแนะมานี้คงจะพอเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในคำประพันธ์ไทยอยู่บ้าง  หากลองนำเอาเรื่องใกล้ๆ ตัวมาลองฝึกแต่งดูก็จะพบว่า น่าสนใจไม่น้อย  และเมื่อลองขับทำนองเสนาะดูก็จะยิ่งพบความไพเราะครับ  หากใครสนใจจะขอคำแนะนำการแต่งโคลง ๔ สุภาพอีกผมยินดีที่จะแบ่งประสบการณ์ให้ แม้จะไม่ไพเราะเพราะพริ้งเหมือนนักกวี แต่แต่งเอาอ่านเล่นพอเพลินใจก็ไม่ผิดกติกาครับ

       

 

 

 

 

   

  

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 201645เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2008 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอเอาเของเก่า(แต่งเมื่อโน้น...มัธยม)มาแจมคะ

งามเหลืองามยิ่งล้ำ พระเอย

งามยิ่งเกินเฉลย เล่าแจ้ง

งามเกินสิ่งเปรียบเปรย เทียมเทียบ

งามเลิศราวเทพแสร้ง เสกไท้ลงดิน

แต่งตอนเรียนกับครูภาษาไทย คุณครูให้ดูภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระเทพฯ ค่ะ

เลือดครูพลีท่วมพื้น พสุธา

ทุกร่องรอยน้ำตา ร่ำไห้

แสงเทียนแห่งปรารถนา ยังอยู่

ถึงชีพดับมอดไหม้ ใช่สิ้นอุดมการณ์

.............................

ดีใจครับที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ *ฝึกแต่งโคลง ๔ สุภาพ (ภาค ๒)*

สวัสดีครับ คุณจริยา

ขอบคุณโคลงเพราะแท้ จับใจ

โคลงแต่งเล่นอย่างไทย สุขแท้

เหมือนครั้งแต่นานใน อยุธเยศ รามแม่

โต้ตอบชอบชนแม้ แม่นแม้นนายประตู

กรเพชร

สวัสดีครับคุณสิทธิเดช

เปรียบครูคือผู้ให้ วิญญาณ

สมสั่งรู้วิชาการ เก่งกล้า

คิดเขียนพูดทำงาน พ้นโง่

รัฐจึ่งควรโอบอ้า โอบเอื้อดูแล

สวัสดีครับอาจารย์กรเพชร

บทความของอาจารย์เรื่องโคลงนี้น่าสนใจมาก

เพราะสะท้อนความรู้เชิงศาสตร์และคุณค่าเชิงศิลป์ของโคลงสี่สุภาพ

โดยผมสามารถนำเกร็ดความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์เข้ากับการสอนได้เป็นอย่างดี

วรรณนภา รุ่งเรืองศิลป์

ขอลองดูบ้างนะคะ

มาติเตียนกันทีค่ะ ว่าโคลงนี้ผ่านไหม

มะลิหอมกลิ่นฟุ้ง เบิกฟ้า

ดอกกลีบบานงามตา แก่นหล้า

ไฉไลยิ่งหนักหนา แสนเสน่ห์ นุชเอย

โฉมแม่มาลย์สี่หล้า เฟื่องฟุ้ง ความงาม

** *

เพี้ยนๆไปนิดนึงน๊ะคะ ไปลองแปลความหมายกันดูค่ะ

แต่ก็แต่งได้เท่านี้ก็ภูมใจสุดๆแล้วค่ะ

เดี๋ยวไว้จะลองดูใหม่

@ เพียงพากเพียรเพริศแพร้ว ....... พรรณราย

 กลอนกาพย์โคลงคลี่คลาย....... ขัดข้อง

 ขาดขยันขาดมุ่งหมาย ............ มนสิ -การนา

 คงบ่พาพจน์พร้อง ................ เพราะพริ้งพึงใจ๚๛

@ ลองถูกลองผิดพลั้ง ..........ไปพลาง

 แรกแรกย่อมหลงทาง ........ เที่ยงแท้

 สนใจไป่ปล่อยวาง ............ วิวัฒ -นานอ

 วันหนึ่งจักเลิศแล้ .............. และแล้วงดงาม๚๛

 ..........................​..........................​......

พระมหาวินัย ๑๑.๔๘ น. : ๑๒ ก.ย.๕๔

มาร่วมศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ ขออนุโมทนากับบันทึกนี้ เป็นประโยชน์สำหรับผู้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ช่วงนี้น้ำท่วมจึงเอาโคลงที่แต่งไว้เกี่ยวกับน้ำท่วมมาแลกเปลี่ยนศึกษา

@อุทกโถมท่วมท้น .............. ธรณี
 ถล่มทลายปถพี .................. ภาคพื้น
 ทุกข์เทวษประดามี .............. มาครอบ งำนา
 เสียงสะอึกสะอื้น ................. อกโอ้ประชาชน

 @หมองหม่นปนโศกซ้ำ ......... เสียสิน ทรัพย์แฮ
 น้ำเนตรหยดหยาดริน ............ หลั่งล้น
 ทุกถิ่นที่ธรณิน .................... นทีท่วม นองนอ
 ทุกข์เทวษท่วมท้น ............... ทั่วด้าวแดนไทย

 @อุทกภัยผิดเพี้ยน ............... ธรรมดา
 ไหลหลั่งจากภูผา ................ พนัสนั้น
 เพราะมนุษย์โลภา ............... ลอบตัด ไม้นอ
 เกินกว่าจะกีดกั้น ................. กอบกู้สถานการณ์

 @ดินดานเลยสไล้ด์ .............. ทลายลง
 บ้านพักมิอาจทรง ................ สภาพไว้
 สรรพสิ่งบ่ยืนยง .................. ยืนหยัด อยู่นา
 ทุกหย่อมย่านยากไร้ ............ เดือดร้อนทุกข์ระทม

 @บ้านเรือนจมเจิ่งน้ำ ............ นานวัน
 ขาดติดต่อสัมพันธ์ .............. พี่น้อง
 บ้างพลัดพรากอาสัญ .......... สูญสิ่ง รักนอ
 สุดที่จะปกป้อง .................. ปลดเปลื้องเภทภัย

 @ภัยใหญ่เฉกเช่นนี้ ............ มนุษย์ทำ
 เลยรับผลแห่งกรรม .............. ก่อไว้
 โปรดจงใส่ใจจำ ................. แจ้งจิต
 อย่าริทำลายไม้ .................. จะม้วยมรณา

 @น้ำที่ท่วมเอ่อล้น ............. หลากนอง
 ฝนหลั่งรินละออง .............. อีกแล้ว
 เกินกว่าจะรับรอง .............. รินหลั่ง ลงแล
 ทุกที่คงบ่แคล้ว ................ คลาดพ้นอุทกภัย

 @ไฉนจึงโหดร้าย ................ รุนแรง
 ธรรมชาติช่าิงเปลี่ยนแปลง ... ประหลาดแท้
 ฤาจักส่อสำแดง ................. สอนสั่ง มนุษย์นา
 ภัยใหญ่เกินกว่าแก้ ............. กอบกู้กลับคืน

 @ตื่นเถิดอย่าตัดไม้ ............. กันเลย
 อย่านิ่งอย่าเมินเฉย .............. เช่นนี้
 ฟื้นฟูดั่งที่เคย .................... คงอยู่
 เป็นนิทัศนะชี้ ..................... ช่องให้เห็นทาง

 @วางแผนพินิจแล้ว ............. รีบทำ
 วอนฝากถึงผู้นำ .................... แนะไว้
 โปรดเห็นว่านี้สำ .................... คัญยิ่ง
 อย่าหลบอย่าหลีกไซร้ ............. ส่อเค้าไม่ดี

 @ทุกปีทุกที่น้ำ ...................... ท่วมนาน
 นาไร่แหล่งอาหาร ................... หมดสิ้น
 ทรัพย์สินและเรือนชาน ............. ชอบฉิบ หายแฮ
 บ้างก็ชีพดับดิ้น ....................... ด่วนทิ้งญาติไป

 @อาลัยและโศกเศร้า ............... เสียขวัญ
 เคยอยู่เคยผูกพัน ..................... พวกพ้อง
 ต้องพลัดพรากจากกัน .............. เกินกอบ กู้แฮ
 เสียงคร่ำครวญร่ำร้อง ................ ร่ำไห้โหยหา๚๛
 ..........................​..........................​............
 พระมหาวิินัย ๒๐.๐๒ น. : ๒๒ ก.ย.๕๔

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท